ข่าว

 ความเข้าใจที่ถูกต้อง"ดินและปุ๋ย"สู่เกษตรยั่งยืน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 ความเข้าใจที่ถูกต้อง"ดินและปุ๋ย"ทางออกภาคเกษตรไทยสู่ความยั่งยืน

 

         เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.ที่ผ่านมา ผู้ตรวจการแผ่นดิน"พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์" ได้ลงนามในหนังสือถึงรัฐมนตรี 3 กระทรวง“เกษตรและสหกรณ์ อุตสาหกรรมและสำนักนายกรัฐมนตรี”เพื่อเสนอแนะให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ปรับปรุงกฎ หรือขั้นตอนการปฏิบัติงานในการควบคุมวัตถุอันตรายพาราควอต และขจัดหรือระงับความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อม 

        ทั้งยังให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องดำเนินการยกเลิกการใช้วัตถุอันตรายพาราควอต ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2563 หลังก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 23 พ.ย.ได้มีการประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงอันตราย มีความเสี่ยงต่อชีวิตและร่างกายของผู้ใช้ และผู้ที่ได้รับสารเคมีดังกล่าวโดยไม่ตั้งใจ อันเกิดจากการใช้และการสัมผัสสารเคมีที่ปนเปื้อน 

 

     สมาคมดินและปุ๋ยแห่งประเทศไทยร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และภาควิชาปฐพีวิทยา คณะเกษตร ได้จัดเสวนาทางวชิาการเรื่อง“ดิน ปุ๋ยและการเกษตรยั่งยืน ความเข้าใจที่ถูกต้อง” ณ อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน เพื่อสร้างความเข้าใจการใช้ดินและปุ๋ยที่ถูกต้องนำไปสู่การทำเกษตรอย่างยั่งยืนในอนาคต ภายใต้กฎ ระเบียบ กติกาตามกฎหมายที่เรียกว่า"พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน"

        "พ.ร.บ.เกษตรยั่งยืนเป็นเรื่องที่ดี แต่อาจมีปัญหาการนำสู่การปฏิบัติ กระแสเกษตรอินทรีย์ของโลกกำลังมาแรง ผู้คนต่างอยากได้อาหารปลอดภัยไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่ทำจริงไม่ง่าย อย่างในสวีเดนเขาทำได้เพียง 5 % ผลิตภัณฑ์ของเขาคือผลิตภัณฑ์จากนม เพราะโคนมกินหญ้า หรือญี่ปุ่นก็ทำได้แค่ 8% มีประเทศไทยนี่แหละที่กล้าหาญชาญชัยอยากจะผลักดันทั้งประเทศเป็นเกษตรอินทรีย์"

         รศ.ดร.พีรเดช ทองอำไพ ผู้อำนวยการสถาบันคลังสมองแห่งชาติกล่าวตอนหนึ่งในวงเสวนาว่าเกษตรยั่งยืนสามารถจำแนกออกเป็น 3 ส่วนคือความมั่นคงด้านเศรษฐกิจ จะต้องไม่มีผลกระทบสิ่งแวดล้อมและอาศัยวัฒนธรรมภูมิปัญญาดั้งเดิมเข้ามามีส่วนในการดำเนินการ จึงได้ผลิตภัณฑ์ออกมาที่เรียกว่าเกษตรปลอดภัย กล่าวคือทำแล้วมีรายได้ต่อเนื่อง อยู่ดีกินดี สุขภาพดีและต้องไม่ไปทำลายธรรมชาติ

        เขาย้ำว่าแม้ที่ผ่านมามีการพูดถึงการใช้สารเคมีเกษตรเยอะมากแล้วก็พยายามจะยกเลิกหยุดยั้งในขณะทีี่เรายังไม่มีทางออกที่จะไปเสริมหรือทดแทนกันได้  จึงไม่แน่ใจว่าสิ่งที่เป็นปัญหาถกเถียงกันอยู่นั้นเป็นเรื่องทางการตลาดหรือไม่ เนื่องจากสารเคมีอันตรายที่เรียกร้องให้มีการยกเลิกนั้นเป็นตัวที่หมดสิทธิบัตรแล้วทั้งสิ้น ซึ่งใครก็สามารถผลิตได้ ทว่าตัวที่จะมาใหม่มีสิทธิบัตร เจ้าของเท่านั้นที่สามารถผลิตได้ 

       "ถ้าไม่มีสิทธิบัตรใครก็ผลิตได้ แต่ตัวใหม่ที่ออกมา มีสิทธิบัตรก็จะมีราคาที่สูงลิ้ว เขาจะมาอาศัยช่องโหว่ของกฎหมายเราหรือเปล่า มันเหมือนน้ำมันเบนซินถ้าเกิดใครเอาไปเผาบ้านเผาเมืองแล้วบอกว่าตัวผู้ร้ายคือน้ำมัน จริงๆ คนละเรื่องกันตัวผู้ร้ายไม่ใช่อยู่ที่ตัวน้ำมันแต่อยู่ที่คน ทำไมเราไม่จัดการที่คนแทนที่จะไปยุ่งกับสารเคมี ผมคิดว่าการแก้ปัญหาอาจจะไม่ถูกทางนัก"

        ผอ.สถาบันคลังสมองชาติยังย้ำว่าปุ๋ยเคมียังมีความจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช เนื่องจากพืชจะได้สารอาหารที่ครบถ้วนทั้ง 3 ตัวคือไนโตรเจน(N) ฟอสฟอรัส(P)และโปแตซเซียม(K) ขณะที่ปุ๋ยอินทรีย์นั้นมีไม่ครบหรือมีน้อยกว่าความต้องการของพืชที่ควรจะได้รับ โดยยกตัวอย่างการปลูกข้าวในพื้นที่ 1 ไร่  ข้าวจะความต้องการไนโตรเจนเฉลี่ยอยู่ที่ 19 กิโลกรัม ขณะโปแตซเซียมประมาณ 100 กิโลกรัม แต่หากใส่ปุ๋ยอินทรีย์ธาตุอาหารเหล่านี้อาจไม่มีหรือไม่เพียงพอ             "เหมือนกับเราเปิดบัญชีธนาคารไว้ 1,000 บาท ถอนออกมา 100 บาท แต่ใส่กลับไป 5 บาท แป๊บเดียวก็หมด ลักษณะดินก็เช่นเดียวกัน ดินจืดเกิดขึ้นเพราะการจัดการดินที่ไม่ถูกต้อง ถามว่าธาตุอาหารพืชมาจากไหนก็มาจากที่เราเรียกว่าปุ๋ยนั่นแหละ ความจริงปุ๋ยอินทรีย์ผมไม่อยากจะเรียกว่าปุ๋ยอินทรีย์ แต่อยากจะเรียกว่าอินทรีย์วัตถุมากกว่า" 

         รศ.ดร.พีรเดชชี้ว่าประโยชน์ของอินทรีย์วัตถุที่ใส่ไปในดินเพื่อไปปรับโครงสร้างของดินเท่านั้นไม่ใช่การให้ธาตุอาหารแก่พืช เพราะสารอาหารที่เป็นประโยชนืต่อการเจริญเติบโตของพืชมีน้อยมาก  เหมือนการสร้างบ้านปุ๋ยอินทรีย์เป็นการจัดทำให้บ้านปลอดโปร่งอยู่สบาย แต่ไม่ใช่อาหารเพื่อหล่อเลี้ยงผู้อยู่อาศัย  หากไม่มีปุ๋ยเคมีที่มีธาตุอาหารNPK สุดท้ายต้นไม้ต้องตายหรือไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควร 

     "ธาตุอาหารนั้นไม่ได้มากจากอินทรีย์วัตถุแต่มาจากปุ๋ยที่เราใส่ เรียกว่าNPK เกษตรกรยั่งยืนคือคุณทำแล้วมีรายได้เพียงพอในระยะยาวไม่ใช่ระยะสั้น ฉะนั้นการเกษตรรูปแบบใหม่ ทำเกษตรผสมสานเป็นเรื่องที่ดี เกษตรปลอดภัยเป็นเรื่องที่เราอยากได้ ส่วนเกษตรอินทรีย์ใครทำได้ก็ทำ เพราะใคร ๆ ก็อยากได้"รศ.ดร.พีรเดชกล่าว 

          ขณะที่ ผศ.อรรถศิษฐ์ วงศ์มณีโรจน์ อาจารย์ภาควิชาปฐพีวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขนกล่าวเสริมว่าสำหรับคุณภาพดินที่ใช้ในการเพาะปลูกของประเทศไทยส่วนใหญ่มีความอุดมสมบุรณ์ต่ำและเมื่ออยู่ในสภาพภุมิอากาศที่ร้อนชื้นหากเกษตรกรละเลยการปรับปรุงบำรุงดินก็จะทำให้คุณภาพดินเสื่อมลงอย่างรวดเร็วทัง้ทางด้านกายภาพ เคมีและชีวภาพ

          “การใส่ปุ๋ยเป็นการชดเชยธาตุอาหารที่พืชต้องการแต่ดินให้ได้ไม่เพียงพอ ซึ่งจะประเมินได้จากการวิเคราะห์ดินและใช้แบบจำลองการเติบโตของพืชหรือ crop model ส่วนปุ๋ยที่ให้จะเป็นปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยชีวภาพก็ได้ แต่ข้อสังเกตุคือปุ๋ยชีวภาพจะให้ปริมาณธาตุอาหารต่ำ ส่วนปุ๋ยอินทรีย์ให้ธาตุอาหารมากกว่าปุ๋ยชีวภาพและบถรุงดิน แต่ไม่สามารถปรับสัดส่วนของธาตุอาหารให้ตรงกับที่ดินขาดอยู่ได้”นักวิชาการด้านดินเผย

        รศ.ดร.ยงยุทธ โอสถสภา อุปนายกสมาคมดินและปุ๋ยแห่งประเทศไทยแจงรายละเอียดการกินอาหารของพืช โดยระบุว่าพืชจะกินอาหารในสภาพประจุไอออน หมายความว่าการใส่ปุ๋ยเคมีหรือปุ๋ยอินทรีย์จะต้องผ่านการละลายหรือถูกย่อยสลายจนเป็นประจุก่อนที่พืชจะดูดเข้าสู่เซลล์พืชได้ ซึ่งอาหารที่จำเป็นต่อพืชโดยมีธาตุอหารหลักที่สำคัญอย่างน้อย 3 ตัวได้แก่ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัสและโปแตซเซียม โดยอาหารเหล่านี้พืชจะนำไปสร้างเป็นสารอินทรีย์ต่าง ๆ ตามที่พืชต้องการทั้งโครงสร้างของพืชและเอนไซม์ต่าง ๆ ในการเจริญเติบโต        

        ส่วน เปรม ณ สงขลา เจ้าของและบรรณาธิการบริหารวารสารเคหการเกษตร กล่าวถึงรากฐานของการเกษตรยั่งยืนคือการจัดการดินให้มีประสิทธิภาพสูงและที่สำคัญขาดน้ำไม่ได้ต้องน้ำมีอย่างเพียงพอ นอกจากนี้ยังต้องมีมาตรการดำเนินการและมาตรการควบคุมทีี่จริงจัง โดยยกตัวอย่างการทำเกษตรกรอินทรีย์ในต่างประเทศ หลังมีโอาสไปประชุมพืชสวนนานาชาติที่ประเทศออสเตรเลีย และลงพื้นที่ดูการทำสวนมะม่วงในประเทศออสเตรเลียที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาจัดการเกือบจะทั้งหมด ไม่มีการจ้างแรงงานคน ตั้งแต่การปลูก การตัดแต่งกิ่ง การจัดการผลผลิตต่าง ๆ   แต่ก็มีปัญหาเรื่องการตลาด ซึ่งก็ไม่ต่างจากบ้านเราที่เป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ 

      "เกษตรยั่งยืนนั้น จะใช้ปุ๋ยจะใช้สารเคมีอะไรจะต้องมีความแม่นยำแล้วก็ดินน้ำปุ๋ยจะต้องไปด้วยกัน ถึงดินดีถ้าน้ำไม่มีจบครับ ฉะนั้นน้ำเรื่องใหญ่ที่สุดเลย"เจ้าของวารสารเคหการเกษตรกล่่าวทิ้งท้าย

 

       อย่างไรก็ตามหลังจากการเสวนาแล้วเสร็จได้มีการสาธิตการใช้แอพพลิเคชั่นปุ๋ยสั่งตัดมีชื่อว่า“TFT ปุ๋ยสั่งตัด” โดยผศ.ดร.เสาวนุช ถาวรพฤกษ์ อาจารย์จากภาวิชาปฐพี ซึ่งจะช่วยในการค้นหาข้อมูล“ชุดดิน”ได้อย่างง่ายโดยผ่านสมาร์ทโฟนเพียงเกษตรกรเก็บตัวอย่างดินให้ถูกวิธี วิเคราะหืดิน โดยใช้ชุดตรวจสอบดินแบบรวดเร็วของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เปิดแอพฯเลือกชุดดินแล้วป้อนค่าวิเคราะห์ดิน ซึ่งโปรแกรมจะคำนวนปุ๋ยทีี่แนะนำให้ในทันที 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ