ข่าว

 เฉพาะกิจเกษตรอินทรีย์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์ – ทำกินถิ่นอาเซียน โดย – รศ.ดร.พิชัย ทองดีเลิศ  [email protected] 

 

                  เวลาช่างผ่านไปอย่างรวดเร็ว เผลอไม่นานก็เข้าสู่เดือนสุดท้ายของปี 2561 กันแล้ว ช่วงปี 2561 ที่ผ่านมาผมได้เล่าเรื่องการเกษตรของประเทศไทย และกลุ่มประเทศ CLMV รวมถึงปิดท้ายด้วยการเกษตรในไต้หวันเป็นลำดับสุดท้าย จากการประมวลเรื่องราวที่เล่าให้ท่านผู้อ่านฟังในเกือบหนึ่งปีที่ผ่านมาทำให้เห็นภาพการเปลี่ยนแปลงทางการเกษตรที่เกิดขึ้นในบ้านเราและประเทศเพื่อนบ้านข้างเคียง ซึ่งทำให้เห็นหลายแง่มุมของภาคเกษตรไทยว่าทุกวันนี้เกิดอะไรขึ้นและอนาคตต่อไปเราจะเดินไปอย่างไร ด้วยความเป็นประเทศไทยเองอย่างไรก็ตามเรื่องของเกษตรก็คงต้องเดินกันต่อไปครับ

 

            สำหรับในช่วงปี 2561 ที่ผ่านมาคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องของเกษตรอินทรีย์เป็นนโยบายสำคัญที่เดินหน้ากันอย่างต่อเนื่องและส่งเสริมให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพื่อเป็นการเพิ่มผลิตให้มีทั้งปริมาณและคุณภาพเพิ่มมากขึ้นเพื่อตอบสนองการบริโภคภายในประเทศที่กลุ่มผู้บริโภคเห็นความสำคัญในเรื่องความปลอดภัยในการบริโภคเพิ่มมากขึ้น ซึ่งตลาดส่วนนี้ก็เติบโตและมีความต้องการจากผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น โดยถ้าสามารถทำราคาให้สมเหตุสมผลกับคุณภาพ รวมถึงสร้างความรู้ความเข้าใจกับผู้บริโภคได้ดีกว่านี้ตลาดของเกษตรอินทรีย์จะไปได้ไกลมากกว่านี้

          เมื่อไม่นานมานี้ผมไปเดินซื้อของกินของใช้ในซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่งใกล้ๆ บ้านและมีโอกาสได้คุยกับผู้บริโภคส่วนหนึ่งที่มาซื้อสินค้าเกษตรเพื่อการบริโภคในครัวเรือน เท่าที่พูดคุยก็ได้ความคร่าวๆ ว่า ผู้บริโภคที่มีจุดมุ่งหมายเข้ามาซื้อสินค้าในโซนนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่รักความปลอดภัยและใส่ใจสุขภาพ และเข้าใจตรงกันว่าสินค้าในโซนนี้จะมีราคาสูงกว่าสินค้าปกติอยู่แต่อยู่ในราคาที่ยอมรับได้และเข้าใจว่าผลที่ได้จากการบริโภคสินค้าเกษตรเหล่านี้ดีอย่างไร 

          แต่พอลองถามไปลึกๆ เกี่ยวกับความรู้เรื่องของสินค้าเกษตรอินทรีย์และเกษตรปลอดภัย รวมถึงเรื่องของตราสัญลักษณ์ต่างๆ ที่ปรากฏอยู่บนตัวสินค้า ปรากฏว่าตรงนี้สอบตกกันเกือบหมด เพราะว่ามีผู้บริโภคน้อยรายมากที่มีความรู้และเข้าใจเรื่องพวกนี้ถูกต้อง และบางส่วนก็เข้าใจข้อมูลผิดพลาดกันไปมาก บางส่วนซื้อกันไปตามกระแสแฟชั่นก็ยังมี ฟังดูแล้วผู้บริโภคเราก็มีหลายแนวเหลือเกิน 

           แต่ในบริเวณนี้ผู้บริโภคส่วนใหญ่เดินมาตามป้ายที่ชี้มาโซนนี้จริงๆ และเข้าใจว่าสินค้าเกษตรในโซนนี้มีความปลอดภัยกว่าสินค้าเกษตรที่อยู่ในโซนปกติและปลอดภัยกว่าสินค้าเกษตรที่ขายกันในตลาดสดทั่วไป แต่ก็มีความเชื่อว่าการซื้อสินค้าเกษตรในพื้นที่จริงๆ ที่เป็นแหล่งผลิต และตามตลาดนัดที่ชอบจัดกิจกรรมสินค้าเกษตรอินทรีย์ในที่ต่างๆ เป็นสินค้าเกษตรที่มีความปลอดภัย

         อีกเรื่องที่น่าเป็นห่วงก็คือตราสัญลักษณ์ที่แสดงถึงมาตรฐานต่างๆ นี้ ผู้บริโภคส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ให้ความสนใจในรายละเอียด ขอเพียงแต่มีรูปมีตราอะไรที่ดูแล้วสอดคล้องแปะอยู่ก็ถือว่าใช้ได้แล้ว ในส่วนตัวแล้วผมค่อนข้างเป็นห่วงเรื่องตรงนี้ค่อนข้างมากในเรื่องของความรู้ความเข้าใจทั้งในเรื่องของสินค้าเกษตรอินทรีย์ สินค้าเกษตรปลอดภัย และรวมไปถึงสินค้าเกษตรที่ผลิตกันด้วยความปลอดภัยในมาตรฐานของตนเอง

         

           

             แต่จริงๆ แล้วคงต้องแล้วแต่ความต้องการของผู้บริโภคว่ามีความสุขหรือความพอใจกับการบริโภคสินค้าเกษตรแบบไหน ในราคาเท่าไร และมีมาตรฐานแบบไหน แต่สิ่งที่ควรสร้างความเข้าใจให้ตรงกันก็คือในแง่ของความรู้ทั้งคนซื้อและคนขาย การรณรงค์ให้รู้เท่าทันจึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลย คนขายรู้ตัวว่าขายของดีมีคุณภาพและปลอดภัย คนซื้อรู้ตัวว่าจ่ายแพงกว่าเพื่อความปลอดภัยและสุขภาพ และถ้าทั้งคนขายและคนซื้อสามารถสื่อสารกันด้วยความชัดเจนและมีความรู้ความเข้าใจอย่างแท้จริง น่าจะช่วยให้เกษตรอินทรีย์ในบ้านเราเติบโตไปได้อีกไกลครับ

                                                     ....................................................

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ