ข่าว

แวะดูไร่ชาที่เมือง"ปิงหลิน"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์ – ทำกินถิ่นอาเซียน โดย - รศ.ดร.พิชัย ทองดีเลิศ   [email protected]

 ต่อจากอาทิตย์ที่แล้ว

         ในคราวที่แล้วผมได้พาทุกท่านไปเยี่ยมชมการปลูกข้าวในไต้หวันที่เมืองซินจู๋ ซึ่งเป็นเมืองเล็ก ๆ ที่ไม่ห่างจากเมืองหลวงไทเปมาก โดยได้ทราบถึงการปลูกข้าวของเกษตรกรไต้หวันซึ่งปลูกข้าวลูกผสมเป็นหลัก และวิธีการทำนาก็ไม่ต่างจากไทยเรามากนัก เพียงแต่มีการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรกันมากหน่อย ซึ่งผมขอเพิ่มข้อมูลให้อีกนิดในเรื่องของผลิตข้าวที่ได้ โดยข้าวเปลือกที่ได้ก็มีจะมีวิธีการสีข้าวที่แตกต่างกันออกไปเหมือนบ้านเราคือสีแบบข้าวกล้องและข้าวขาว และมีการบรรจุเป็นแบบถุงสูญญากาศน้ำหนัก 1-3 กิโลกรัมเลือกซื้อหากันตามอัธยาศัยและความชอบในการบริโภค 

แวะดูไร่ชาที่เมือง"ปิงหลิน"

 

             จากการเยี่ยมชมในครั้งนี้ทีมงานเราก็ได้ข้าวที่เป็นผลผลิตจากที่นี่ติดไม้ติดมือกันมาคนละกิโลสองกิโลกลับมาลองกินที่เมืองไทย จริง ๆ อยากได้กันมามากกว่านี้แต่คิดว่าน้ำหนักกระเป๋าคงจะเกินโควต้าที่สายการบินให้ เดี๋ยวจะเป็นเรื่องราวต้องจ่ายค่าน้ำหนักเพิ่มกันอีก ถัดจากเมืองซินจู๋ เราได้เดินทางต่อไปที่เมือง Pinglin ผมเรียกเป็นภาษาไทยว่า“ปิงหลิน”แล้วกัน ซึ่งทางผู้ประสานงานได้บอกว่าถ้าจะดูเรื่องชาอย่างเป็นเรื่องเป็นราวต้องมาที่เมืองนี้ ไต้หวันเองเป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์เรื่องชามาเป็นเวลายาวนาน ซึ่งผมได้ฟังเรื่องราวแล้วชาที่นี่มีความสำคัญจริง ทั้งต่อด้านสังคมวัฒนธรรม การเมือง เศรษฐกิจ โดยเพิ่งทราบเหมือนกันว่าชานี่ก็เคยทำให้เกิดความขัดแย้งกันมาแล้วในอดีต

แวะดูไร่ชาที่เมือง"ปิงหลิน"

              ในเมืองปิงหลินนี่ถือว่ามีชื่อเสียงในการผลิตชาที่เป็นที่รู้จักกันไปทั่วโลก เป็นเมืองที่ยังคงเป็นธรรมชาติมีพื้นที่ไม่มาก แต่ภูมิประเทศก็เป็นที่สูงทั้งสภาพแวดล้อมและอุณหภูมิมีความเหมาะสมกับการปลูกชาเป็นอันมาก ตอนที่เรานั่งรถเข้ามาในเมืองนี้ก็รู้ได้เลยว่าเป็นที่สูง เพราะเป็นทางขึ้นเขาตลอดคล้าย ๆ กับทางเชียงรายของเราดูแล้วใกล้เคียงกันมาก หลายคนในทีมถึงกับออกปากว่าเหมือนเชียงรายจริง ๆ 

              โดยพื้นที่ปลูกชาที่นี่ก็จะปลูกกันในพื้นที่สูงเรียกได้ว่าทั้งเทือเขาเลยก็ได้ ก็จะมีบริษัทผู้ผลิตกระจายกันออกไป แต่ในครั้งนี้ทางผู้ประสานงานได้เลือกให้เรามาดูการปลูกและแปรรูปชาที่บริษัท Bai Qing Chang Tea Factory ซึ่งเจ้าของบริษัทเป็นผู้สืบทอดการผลิตในรุ่นที่สี่แล้ว เรียกได้ว่าทำกันมาเป็นร้อยปี แต่ยังคงใช้วิธีการผลิตแบบดั้งเดิม แต่เพิ่มเติมเรื่องของเทคโนโลยีมาช่วยในการเพิ่มปริมาณผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพที่ดีขึ้น 

แวะดูไร่ชาที่เมือง"ปิงหลิน"

              ในวันที่เราไปเยี่ยมชมได้มีโอกาสพบกับผู้สืบทอดกิจการคนหนุ่มรุ่นใหม่ที่จบการศึกษามาด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ แต่เลือกที่จะมาดูแลสืบทอดการทำไร่ชาต่อจากบรรพบุรุษ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมครับสำหรับคนหนุ่มรุ่นใหม่แต่เห็นความสำคัญในการสืบทอดธุรกิจที่สำคัญและเป็นประวัติศาสตร์ของครอบครัว ซึ่งผลิตภัณฑ์ชาของตระกูลนี้ได้รับรางวัลในระดับประเทศของไต้หวันมาต่อเนื่องและเป็นสิ่งที่ทางครอบครัวนี้ภูมิใจเป็นอย่างมาก 

 

              เราได้เดินดูเครื่องไม้เครื่องมือและกระบวนการขั้นตอนในการผลิต ก็ต้องยอมรับว่ามีความพยายามที่จะรักษาสืบทอดเอกลักษณ์ของการผลิตแบบดั้งเดิมเพื่อรักษาเอกลักษณ์และคุณภาพ แต่ในทางตรงกันข้ามก็มีการปรับความทันสมัยในด้านรูปลักษณ์ของเครื่องหมายการค้า บรรจุภัณฑ์และวิธีการในการทำการตลาด โดยมีแนวคิดว่าแม้ผลิตภัณฑ์จะดีมีชื่อเสียงมายาวนาน แต่ก็ต้องทำให้ลูกค้าใหม่ๆรู้จักและมีจำนวนเพิ่มขึ้น ประกอบการใช้สื่อ Social สมัยใหม่ช่วยในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ก็จะช่วยให้เป็นที่รู้จักของผู้บริโภคนอกไต้หวันด้วยเช่นกัน ในส่วนตัวผมว่าแนวคิดที่ทันสมัยทางการตลาดกับผลิตภัณฑ์ที่ดและมีเทคโนโลยีสนับสนุนบวกกับมีเรื่องราวอันยาวนานช่วยทำให้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและความหลากตามความต้องการของผู้บริโภคหลากหลายเติบโตได้อย่างต่อเนื่องอย่างผลิตภัณฑ์ชาไต้หวันที่ปิงหลินครับ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ