ข่าว

"ไมซ์เพื่อชุมชน" เพิ่มช่องทางตลาด"สินค้าสหกรณ์"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

  ผนึก"ทีเส็บ"จัดงานไมซ์เพื่อชุมชน เพิ่มช่องทางตลาด"สินค้าสหกรณ์"

 

     หลังจากเปิดตัวโครงการ “ไมซ์เพื่อชุมชน” และมีสหกรณ์การเกษตรนำร่องที่มีศักยภาพรองรับอุตสาหกรรมไมซ์ จำนวน 35 แห่ง ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง 3 องค์กร กรมส่งเสริมสหกรณ์สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)และสำนักงานส่งเสริมการประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเสบ TCEB เพื่อพัฒนาสหกรณ์ให้เป็นแหล่งศึกษาดูงานที่มีเสน่ห์ 

   

    ทว่าปัจจุบันยังมีสหกรณ์จำนวนไม่น้อยที่ไม่ตอบโจทย์ในมิติของการเป็นแหล่งศึกษาดูงาน เนื่องจากผลิตภัณฑ์ไม่น่าสนใจ จึงมีความจำเป็นในการพัฒนาต่อยอดทั้งการพัฒนาตัวผลิตภัณฑ์และการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้สามารถสะท้อนอัตลักษณ์ของสหกรณ์และชุมชนให้มีจุดขายด้านผลิตภัณฑ์ที่ไม่เหมือนใครสะท้อนอัตลักษณ์ชุมชนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสร้างความประทับใจให้กับผู้เยี่ยมชมศึกษาดูงาน 

     “สิ่งหนึ่งที่ต้องการต่อยอดสินค้าเกษตรของพี่น้องสมาชิกสหกรณ์ในส่วนที่ผลิตสินค้าออกมาแล้วก็เจอปัญหามากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการตลาด คุณภาพ ราคา เราได้หาหน่วยงานพันธมิตรที่เกี่ยวข้องเพื่อยกระดับต่อยอดสินค้าโดยให้สหกรณ์เป็นตัวกลาง ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์จากวว. ได้เข้ามาช่วยในการที่จะให้สหกรณ์ภาคการเกษตรที่เข้ามาศึกษาดูงานในเรื่องของการพัฒนาสินค้า ผลิตภัณฑ์ และออกแบบบรรจุภัณฑ์”

   พิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์เผยกับ“คมชัดลึก”ถึงปัญหาผลิตภัณฑ์ของสหกรณ์ที่ผ่านมา ทั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากรองนายกรัฐมนตรี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์  ได้มอบนโยบายให้กรมส่งเสริมสหกรณ์เร่งดำเนินการในเรื่องของการขับเคลื่อนสหกรณ์ภาคการเกษตร ซึ่งกรมฯก็ได้มาดำเนินการให้ใน 1 อำเภอจะต้องมีสหกรณ์การเกษตรเข้ามาดูแลพี่น้องเกษตรกร  โดยให้สหกรณ์มาเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย โดยสหกรณ์จะเข้าไปดูแลจัดการสินค้า ยกระดับการแปรรูปสินค้า การเพิ่มมูลค่าสินค้า ให้กับพี่น้องสมาชิกสหกรณ์ และหวังว่าในแต่ละอำเภอหรือตำบลหรือชุมชนจะมีสินค้าสหกรณ์ที่เป็นอัตลักษณ์ในแต่ละแห่ง  โดยดึงผู้ที่ไปประชุมของทีเสบ(TCEB) เข้าไปในสหกรณ์ภาคการเกษตรเพื่อซื้อสินค้าและรับรู้สินค้าของชุมชนและสหกรณ์นั้น ๆ            

        สายันต์ ตันพานิช รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศ (วว.) เผยว่าโดยปกติแล้ว วว. คือผู้ผลิตเทคโนโลยี รวมถึงการพัฒนาคุณภาพผลิตผลและการรับรองคุณภาพ การที่วว.ลงพื้นที่ไปถ่ายทอดเทคโนโลยี ถือเป็นก้าวกระโดดในการพัฒนาผู้ประกอบการ เนื่องจากสหกรณ์การเกษตรมีความเข้มแข็งอยู่แล้ว แต่อาจจะขาดในเรื่องของเทคโนโลยีบางส่วนที่พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานและให้มีความน่าเชื่อถือและน่าซื้อยิ่งขึ้น และคิดว่าการร่วมมือทั้ง 3 ฝ่าย ในครั้งนี้เป็นความร่วมมือที่ดี เนื่องจากสหกรณ์เป็นกลุ่มที่เข้มแข็ง วว. มีเทคโนโลยี และมี TCEB เป็นผู้ดูแลด้านการตลาด ซึ่งจะพัฒนาสหกรณ์ เกษตรกร หรือผู้ประกอบการภายใต้สหกรณให้ก้าวกระโดด พร้อมกับเป็นการพัฒนาประเทศในที่สุด 

         นิยม อิงคสุรวัฒน์ ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายส่งเสริมตลาดในประเทศ สสปน.(ทีเสบ)ระบุว่าว่าสปปน.เป็นหน่วยงานภาครัฐภายใต้การกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี มีพันธกิจในการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมการจัดประชุมนานาชาติ รวมทั้งการเดินทางเพื่อเป็นรางวัลและการแสดงสินค้านานาชาติ การทำการตลาดและประชาสัมพันธ์ให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายและและศูนย์กลางในการจัดงานไมซ์แห่งเอเชีย รวมถึงการพัฒนาศักยภาพบุคลากร ยกระดับสถานที่จัดงานให้ได้มาตรฐานสากล เพื่อเพิ่มจำนวนนักเดินทางธุรกิจไมซ์เข้ามาร่วมงานหรือจัดงานในประเทศไทย เนื่องจากเป็นนักเดินทางมีคุณภาพสามารถสร้างรายได้สู่เศรษฐกิจไทยมากกว่านักท่องเที่ยวทั่วไปถึง 3 เท่า 

       "ทีเส็บได้พยายามกระตุ้นส่งเสริมให้เมืองต่าง ๆ มีความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพในการจัดงานไมซ์ ส่งเสริมให้องค์กรหน่วยงานภาครัฐและเอกชนจัดประชุมในประเทศ กระตุ้นให้เกิดการเดินทางประชุมสัมมนานอกพื้นที่ รวมถึงการยกระดับคุณภาพการจัดงานแสดงสินค้าและงานจัดแสดงสินค้าใหม่ และการกระจายงานต่าง ๆ ไปทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ" 

        อย่างไรก็ตามในปีงบประมาณ 2562 ทีเสบได้ร่วมกับกรมส่งเสริมสหกรณ์และพันธมิตร เพื่อพัฒนาชุมชนสหกรณ์ทั่วประเทศเพิ่มเติม ให้สามารถยกระดับพื้นที่ของตนเองให้มีความพร้อมในการเป็นจุดหมายปลายทางใหม่สำหรับการรองรับการจัดประชุมฝึกอบรม การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ รวมถึงการศึกษาดูงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

       ขณะเดียวกันทีเส็บยังมีแผนที่จะยกระดับเพื่อเชื่อมโยงผลิตภัณฑ์สินค้าสหกรณ์ที่ได้มาตรฐานกับตลาด GMS หรือ Greater Mekong Subregion หมายถึงประเทศในอาเซียน + จีน โดยอาศัยกลไกการประชุมสัมมนาการแสดงสินค้านานาชาติ ภายใต้โครงการประชุมสัมมนาเพื่อการเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ GMS-THAILAND E-COMMERCE ECONOMIC CORRIDOR อันจะเป็นการเปิดโอกาสให้ผลิตภัณฑ์ชุมชนจากสหกรณ์สามารถเข้าถึงตลาด GMS ได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคตอันใกล้นี้อีกด้วย 

                                          

 

  เปิดใจสหกรณ์“บ้านลาด-บุรีรัมย์”อานิสงค์จากไมซ์  

           สหกรณ์การเกษตรบ้านลาด จำกัด อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี  1 ใน 35 สหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการไมซ์เพื่อชุมชน โดยใช้สหกรณ์ฯเป็นศูนย์กลางในการประสานงานด้านต่าง ๆ ทั้งการท่องเที่ยวในชุมชนและเป็นที่ศึกษาดูงานของผู้มาเยือน  โดย ฟื้น พูลสมบัติ ประธานสหกรณ์การเกษตรบ้านลาด จำกัดยอมรับกับ"คมชัดลึก"ว่าหลังจากที่สหกรณ์เข้าร่วมโครงการไมซ์เพื่อชุมชน ทำให้สมาชิกสหกรณ์มีกิจกรรมเพิ่มขึ้น มีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สหกรณ์เพิ่มมากขึ้น อันนำมาซึ่งรายได้แก่สมาชิกและชุมชน ปัจจุบันสหกรณ์การเกษตรบ้านลาด จำกัดมีสมาชิกกว่า 400 ราย มีรายได้หลักการส่งออกกล้วยหอมทองไปยังต่างประเทศ 

           "สินค้าหลักของสหกรณ์บ้านลาดคือส่งออกกล้วยหอมทอง ตลาดหลักมีทั้งญี่ปุ่นและเกาหลี เริ่มส่งออกมาตั้งแต่ปี 2539 จนปัจจุบัน ตอนนี้นอกจากมีกล้วยหอมทองแล้วยังรับซื้อข้าวเปลือกจากสมาชิกมาแปรรูปบรรจุถุงขายด้วย แต่หลังเข้าร่วมโครงการไมซ์เพื่อชุมชน ทำให้สหกรณ์มีกิจกรรมเพิ่มขึ้น มารับงานท่องเที่ยวชุมชน พากรุ๊ปทัวร์เยี่ยมชมสถานที่สำคัญ ๆ อย่างเช่นสวนตาลลุงหนอม แหล่งเรียนรู้เรื่องต้นตาลบโตนดหรือวิถีชีวิตชาวโซ่ง  อย่างอาทิตย์ที่แล้วทางสมาคมท่องเที่ยวก็พากรุ๊ปของแรลลี่มาศึกษาดูงานที่สหกรณ์ด้วย"

          ประธานสหกรณ์ฯบ้านลาดย้ำด้วยว่าจากนี้ไปสหกรณ์จะมุ่งเน้นที่ท่องเที่ยวชุมชนมากขึ้น เพราะที่บ้านลาดมีสถานที่น่าสนใจมากมาย ซึ่งสหกรณ์จะมีการจัดทำปฏิทินโปรแกรมกิจกรรมสำคัญของชุมชนเพื่อให้นักท่องเที่ยวหรือผู้สนใจมีเวลาและวางแผนสำหรับการท่องเที่ยวได้ โดยปัจจุบันบ้านลาดยังมีปัญหาในเรื่องที่พักประเภทโฮมสเตย์ไว้สำหรับรองรับผู้มาเยือน ซึ่งจะต้องประสานกับชุมชนให้เพิ่มกิจกรรมในส่วนนี้ด้วย

          ไม่เพียงแต่สหกรณ์การเกษตรบ้านลาด จำกัดที่ได้รับอานิสงค์จากการเข้าร่วมโครงการไมซ์เพื่อชุมชน ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรบุรัรัมย์ จำกัด ต.บ้านยาง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ก็เป็นหนึ่งในสหกรณ์ที่ได้รับผลจากโครงการนี้เช่นกัน รุ่งอรุณ เชาวกรกุล ผู้จัดการชุมชนสหกรณ์การเกษตรบุรีรัมย์ จำกัดเล่าว่าบุรีรัมย์มีสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญหลายแห่ง ไม่ว่าสนามฟุตบอล สนามแข่งรถ อุทยานประวัติศาสตร์เขาพนมรุ้ง และที่สำคัญเป็นแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิภูเขาไฟแห่งเดียวของประเทศเพียงแต่ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักมากนัก ดังนั้นการที่ได้เข้าร่วมโครงการไมซ์เพื่อชุมชนของชุมนุมสหกรณ์ฯ นอกจากสมาชิกจะมีรายได้จากการให้บริการนักท่งอเที่ยวหรือผู้มาศึกษาดูงานที่ชุมนุนสหกรณ์แล้ว ยังเป็นตลาดสำคัญสำหรับการจำหน่ายสินค้าสหกรณ์อีกด้วย

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ