ข่าว

 ตรวจแนวพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย14จังหวัดภาคใต้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 ตรวจแนวพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคใต้ ระวัง"คาบสมุทรสะทิ้งพระ-นครศรีฯ"จุดเสี่ยง  

 

          ช่วงนี้ทุกปีพื้นที่ภาคใต้จะอยู่ในช่วงฤดูฝน ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมรับมือการเกิดอุทกภัย โดยเฉพาะกรมชลประทานถือเป็นหน่วยงานหลักที่มีความพร้อมทั้งบุคลากร อุปกรณ์เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ ตลอดจนเครื่องจักรกลต่าง ๆ เข้าช่วยเหลือในทันทีหากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ขณะเดียวกันก็มีการเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำในพื้นที่เสี่ยง 4 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ตรัง สงขลา พัทลุง และสตูล 

          "ขณะนี้เป็นช่วงเข้าหน้าฝนของภาคใต้ ในส่วนของสำนักงานชลประทานที่ 16 รับผิดชอบ 4 จังหวัด คือ ตรัง สงขลา พัทลุง และสตูล เริ่มมีฝนตกมาตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม ปัจจุบันปริมาณน้ำฝนสะสมน้อยกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 5-10 แต่ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลางทั้ง 8 แห่ง มีความจุรวมร้อยละ 52 ของความจุทั้งหมด ซึ่งยังสามารถรับน้ำได้อีกประมาณ 83 ล้านลบ.ม. ในส่วนของน้ำท่าตามลำน้ำต่าง ๆ ในพื้นที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าตลิ่ง ไม่มีรายงานพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมขัง สถานการณ์ในฤดูฝนโดยรวมทั้งหมดยังอยู่ในภาวะปกติ

             จงกรม สมพงษ์ ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษา สำนักงานชลประทานที่ 16 กรมชลประทาน เผยต่อว่าปกติฤดูฝนของภาคใต้จะสิ้นสุดในเดือนมกราคม ดังนั้นกรมชลประทาน จึงต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำต่อไป โดยเฉพาะจากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาว่า ปริมาณฝนจากนี้ไปอีก 3 เดือนข้างหน้า ประมาณ 600 มิลลิเมตร ซึ่งจะมีค่าใกล้เคียงปริมาณฝนเฉลี่ย

           โดยขณะนี้สำนักงานชลประทานที่ 16 ได้เตรียมเครื่องสูบน้ำจำนวน 186 เครื่องทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ เครื่องผลักดันน้ำจำนวน 100 เครื่อง ติดตั้งกระจายอยู่ทุกพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม เช่น ตำบลบางกล่ำ ตำบลท่าช้าง ตำบลคลองแห ในเขตลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภา และ ตำบลท่าบอน ตำบลระวะ ตำบลระโนด ในเขตคาบสุมทรสทิงพระ เป็นต้น หากเกิดภาวะวิกฤติน้ำหลากฉับพลัน จะสามารถสูบน้ำออกจากพื้นที่ท่วมขังได้หมดภายใน 7-10 วัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณคาบสมุทรสทิงพระซึ่งเป็นพื้นที่ติดกับทะเลสาบสงขลา 

          ทั้งนี้ในส่วนของทะเลสาบ ซึ่งเป็นที่รับน้ำทั้งหมดจากด้านบน ไม่ว่าจะน้ำจากจังหวัดพัทลุง น้ำจากลุ่มน้ำคลองรัตภูมิ จ.สงขลา น้ำจากคลองอู่ตะเภา หรือแม้แต่น้ำจากพรุควนเต็ง จ.นครศรีธรรมราช ทำให้เกิดน้ำท่วมได้ง่ายมาก ซึ่งบริเวณนี้กรมชลประทานได้ทำการสำรวจ พร้อมกำหนดจุดที่จะติดตั้งและวางเครื่องจักร เครื่องสูบน้ำไว้เรียบร้อยแล้ว โดยเครื่องจักรบางส่วนนำไปติดตั้งไว้ล่วงหน้า บางส่วนเตรียมพร้อมรอเข้าปฏิบัติการ จะใช้เครื่องสูบน้ำทั้งขนาด 24 นิ้ว 30 นิ้ว และ 42 นิ้ว วางตลอดแนวคาบสมุทรฯ พร้อมเครื่องผลักดันน้ำอีกจำนวน 43 เครื่อง สามารถระบายน้ำที่จะไหลบ่าลงมาจากพื้นที่ด้านบนออกสู่อ่าวไทยได้อย่างรวดเร็ว กรมชลประทานมั่นใจว่าจะช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยที่เคยเกิดขึ้นในพื้นที่ได้มาก ลดปริมาณความเดือดร้อนของราษฎรในพื้นที่ได้ดีขึ้น 

            สำหรับการแก้ไขปัญหาอุทกภัยบริเวณคาบสมุทรสทิงพระ เป็นหนึ่งในโครงการบริหารจัดการน้ำคาบสมุทรสทิงพระ จ.สงขลา ปัจจุบันงานระบายน้ำอยู่ระหว่างดำเนินการขุดขยายคลอง 5 สาย ได้แก่ คลองศาลาหลวง คลองพังยาง คลองโคกทอง-หัวคลอง คลองโรง คลองหนัง ความยาวรวม 19.1 กิโลเมตร และก่อสร้างประตูระบายน้ำบ้านท่าเข็น งานทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายในปี 2564 ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำออกอ่าวไทยได้อีกราว 300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที 

           ส่วนงานก่อสร้างคันกั้นน้ำ ได้แก่ ประตูระบายน้ำ (ปตร.) คลองระโนด จะแล้วเสร็จภายในปีนี้ และจะเป็นเครื่องมือหลักช่วยปิดกั้นไม่ให้น้ำจากทะเลสาบทะลักเข้าไปในพื้นที่อำเภอระโนด โดยปตร.คลองตะเครียะและคันกั้นน้ำบ้านเกาะใหญ่-บ้านท่าคุระ เริ่มดำเนินการปี 2562 และคันกั้นน้ำต่อจากคันกระแสสินธุ์ เริ่มดำเนินการปี 2563 

          นอกจากนี้กรมชลประทานยังดำเนินการแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร และปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาระโนด-กระแสสินธุ์ ทั้งนี้เพื่อช่วยให้ราษฎร 1,485 ครัวเรือน บนพื้นที่ 51.21 ตารางกิโลเมตร ไม่ได้รับความเดือดร้อนจากภัยน้ำท่วม และมีน้ำจืดเป็นต้นทุนไว้ปลูกพืชในฤดูแล้งเพิ่มได้อีก 12,000 ไร่  

         ขยับขึั้นมาทางเหนือของคาบสมุทรสะทิ้งพระเป็นพื้นที่จ.นครศรีธรรมราชก็เจอปัญหาน้ำท่วมทุกปีในช่วงฤดูฝนเช่นกัน โดยเฉพาะในตัวเมืองนครศรีฯ เนื่องจากเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำเป็นแอ่งกระทะที่รองรับน้ำมาจากทั่วสารทิศ โดยแนวทางแก้ไขรปัญหาดังกล่าวรัฐบางจึงได้เร่งดำเนินการโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราช อันเนื่องมาจากพระราชดำริที่ในหวงรัชกาลบที่9ได้พระราชทานเอาไว้

        "กรมชลประทานเคยทำการศึกษาทางอุทกวิทยาพบว่า น้ำที่ท่วมตัวเมืองนครศรีฯนั้นมาจากคลองท่าดีที่จะไหลไปลงคลองต่าง ๆ และออกทะเลที่คลองท่าซักและคลองปากนคร แต่ทั้ง 2 คลองนี้ มีขีดความสามารถระบายน้ำรวมกันได้เพียง 268 ลบ.ม./วินาที ในขณะที่ปริมาณน้ำในคลองท่าดีช่วงฝนตกหนัก มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 750 ลบ.ม./วินาที ซึ่งมากกว่าขีดความสามารถของคลองท่าดีที่ระบายน้ำได้เพียง 100 ลบ.ม./วินาที จึงทำให้เกิดน้ำท่วมทุกปี"

          ประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทานแจงเหตุน้ำท่วมตัวเมืองนครศรีฯ พร้อมน้อมนำแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่9มาเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว ประกอบด้วยงานสำคัญ ๆ คือ การขุดคลองระบายน้ำสายใหม่จำนวน 3 สาย สามารถระบายน้ำได้ 650-750 ลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.)ต่อวินาที พร้อมกับปรับคลองวังวัว เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการระบายน้ำเป็น 850 ลบ.ม.ต่อวินาที และปรังปรุงคลองหัวตรุด ให้สามารถระบายน้ำได้ 100 ลบ.ม.ต่อวินาที เมื่อแล้วเสร็จจะสามารถบรรเทาอุทกภัยในเขตเมืองนครศรีธรรมราชและลดพื้นที่น้ำท่วมได้ประมาณร้อยละ 90 ครอบคลุม 12 ตำบล มีประชาชนได้รับประโยชน์ 32,253 ครัวเรือน และยังสามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งได้ประมาณ 5.5 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่ได้รับประโยชน์ 17,400 ไร่

     ส่วนความคืบหน้าของโครงการฯ กรมชลประทานได้ทำการศึกษาวางโครงการและการสำรวจ–ออกแบบแล้วเสร็จเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการประชาสัมพันธ์และชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการฯ ซึ่งรัฐบาลได้เร่งรัดดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี (ปี 2561-2563) ตามมติคณะรัฐมนตรี วงเงินงบประมาณโครงการทั้งสิ้น 9,580 ล้านบาท

 

                                              

 คนนครศรีฯร้องเร่งป้องกันน้ำท่วมเมือง

        ดวงเด่น ภูมิพงษ์ อายุ 33 ปี ชาวบ้านต.ไชยมนตรี อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช เจ้าของอู่ซ่อมรถจักรยานยนต์กล่าวยอมรับว่าปีนี้บ้านถูกน้ำท่วมเป็นครั้งที่ 2 ทำให้อุปกรณ์ซ่อมรถจักรยานยนต์ได้รับความเสียหาย เนื่องจากขนย้ายไม่ทันเพราะถูกน้ำท่วมช่วงกลางคืน น้ำท่วมทุกครั้งมีความกังวลมากเนื่องจากระดับน้ำค่อนข้างสูงเป็นห่วงพ่อกับแม่ โดยเฉพาะพ่อที่ขาพิการต้องขึ้นไปอยู่ที่ชั้นสองของบ้าน จึงอยากให้กรมชลประทานเร่งดำเนินโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ให้เสร็จโดยเร็ว เพราะมั่นใจว่าการขุดคลองผันน้ำเลี่ยงเมืองจะสามารถแก้ไขปัญหาอุทกภัยในระยะยาวได้ 

          เช่นเดียวกับ นัด สมบันดาล อายุ 85 ปี ชาวบ้าน ต.ไชยมนตรี กล่าวว่า บ้านถูกน้ำท่วมทุกปี ไม่สามารถอยู่ในบ้านได้ ต้องอพยพขึ้นไปอยู่ที่อื่น การขุดคลองผันน้ำเลี่ยงเมืองนครศรีธรรมราช ทำให้ได้ประโยชน์ น้ำไม่ไหลบ่ามาท่วมบ้านเรือนของประชาชน ทรัพย์สินจะได้ไม่เสียหาย จึงอยากให้ขุดคลองแล้วเสร็จโดยเร็ว รวมทั้ง หนูราย แสงสุวรรณ์ อายุ 56 ปี เป็นชาวบ้านอีกคน ที่ต้องการให้ขุดคลองผันน้ำ เพราะถือว่าประชาชนได้ประโยชน์มาก ที่ผ่านมาน้ำท่วมทุกครั้งตนต้องอพยพสัตว์เลี้ยงไปไว้บนถนน ส่วนคนก็ไม่สามารถขึ้นไปอยู่บนชั้นสองของบ้านได้เพราะน้ำสูงถึง 2 เมตร และยังท่วมถึงปีละ 5 ครั้งอีกด้วย 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ