ข่าว

"ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ"เสียงวิพากษ์จากแกนนำเครือข่ายชาวสวนยาง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ"เสียงวิพากษ์จากแกนนำเครือข่ายชาวสวนยาง

 

     วิจารณ์กันขรมว่าโครงการประชานิยมของรัฐบาลเริ่มแล้วในการเตรียมพร้อมสำหรับการเลือกตั้งกับมาตรการช่วยเหลือพี่น้องชาวสวนยาง ตามคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อวันที่ 20 พ.ย.ที่ผ่านมาที่อนุมัติเงินช่วยเกษตรกรชาวสวนยางเป็นเงิน 18,604 ล้านบาทที่ขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย(กยท.)ใว้ 999,065 ราย คนกรีดยาง 304,266 ราย โดยช่วยเหลือใร่ละ 1,800 บาท แต่ใม่เกิน 15 ไร่ต่อราย  ในจำนวนนี้ให้แบ่งจ่ายกับเจ้าของสวน 1,100 บาท คนกรีด 700 บาท

       ขณะที่เกษตรกรส่วนใหญ่ใม่เห็นด้วย โดยมีความต้องการให้ราคายางสูงขื้นดีกว่ารับเงินโดยใม่ทั่วถึง  เนื่องจากยังมีอีก 8 ล้านกว่ารายใม่ใด้รับสิทธิ์ดังกล่าว เพราะเป็นสวนยางที่จดทะเบียนไม่ใด้เพราะใม่มีเอกสารสิทธิ์ ทั้ง ๆ ที่ต้องเสียเงินเซส(cess) 2 บาทต่อกิโลกรัมเหมือนกัน 

     "สยยท.เคยเตือนแล้วว่าวิธีการแจกเงินจะใม่ได้ผล เพราะจนวันนี้อนุมัติเงินมา 7-8 วันแล้ว แต่ราคายางยังไม่กระดิกเลย มันเหมือนตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ พี่น้องได้เงินมาไม่กี่วันก็ใช้หมด ราคายางก็ไม่ดีขึ้น ทำไมไม่เอาเงินก้อนนี้ไปรับซื้อน้ำยางสดจากเกษตรกรในพื้นที่ในราคา 60 บาทต่อกิโลกรัมแล้วเอามาราดถนนทำพาราซอยซีเมนต์ในหมู่บ้าน มันจะยั่งยืนมากกว่า" 

"ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ"เสียงวิพากษ์จากแกนนำเครือข่ายชาวสวนยาง

       อุทัย สอนหลักทรัพย์  ประธานสภาเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรยางพาราแห่งประเทศไทย (สยยท.)กล่าวถึง"คมชัดลึก"ถึงมาตรการรัฐในการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางตามมติครม.เมื่อวันที่ 20 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยมองว่ามาตรการเช่นนี้มันง่ายเกินไปและไม่ยั่งยืน ที่สำคัญยังเป็นมาตรการ 2 มาตรฐานที่จะสร้างความแตกแยกและเกลียดชังให้กับพี่น้องชาวสวนยาง เนื่องจากผู้ได้อานิสงค์จากมาตรการดังกล่าวเป็นผู้ที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกยท.เท่านั้น ส่วนที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเพราะพื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์จะไม่ได้รับผลจากมาตรการดังกล่าว

      "แทนที่จะแจก สยยท.เห็นว่าควรนำเงินจำนวนนี้มาดูดซับยางออกจากตลาด ซึ่งจะทำให้เกิดการซื้อจริงและควรที่จะจัดซื้อนำ้ยางจากเกษตรกรโดยตรงในราคา 60 บาทต่อกก. จะทำให้เกิดการซื้อจริงในตลาด ซึ่งเป็นวิธีที่ดีกว่าแจกเงิน 1,800 บาทต่อไร่ ไม่เกิน 15 ไร่ และจะได้รับเฉพาะผู้ที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกยท. เท่านั้นและผู้ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ จะขึ้นทะเบียนไม่ได้ไม่มีสิทธิ์ใด้เงิน แต่ทุกคนต่างเสียเงินเซส(cess) 2บาทต่อกก. โดยไม่มีการยกเว้น"

      เขาระบุอีกว่าไม่เพียงเท่านั้น ถ้ารัฐบาลซื้อนำ้ยางสด 60 บาทต่อกก. ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯประกาศไว้เมื่อต้นปีที่ผ่านมาก็จะทำให้ตลาดซื้อจริงปั่นป่วน โดยผู้ส่งออกที่ไปขายไว้ในราคาต่ำกว่าต้นทุนการผลิตยางแท่งเอสทีอาร์20(str20) ขายล่วงหน้าไว้ 40 บาทต่อกก. จะไม่มียางไปส่ง เขาจะรีบออกมาแข่งกันซื้อเพื่อส่งตามที่เปิดแอลซี(LC)ไว้และจะทำให้ผู้ขายล่วงหน้าไว้มีปัญหาทันที

      “ตอนนั้นรัฐมนตรีกฤษฎา(บุญราช)พูดเองว่าจะทำให้ราคายางขึ้นเป็น 60 บาทต่อกิโล นี่มันผ่านมา 7-8 เดือนแล้วยังไม่เห็นเป็นไปตามที่รับปากไว้ วิธีการนี้น่าจะมีความเป็นไปได้มากที่สุดที่จะทำให้ราคายางปรับตัวสูงขึ้น”ประธานสยยท.กล่าวย้ำ

"ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ"เสียงวิพากษ์จากแกนนำเครือข่ายชาวสวนยาง

      กล่าวสำหรับมุมมองของอุทัยไม่ต่างจาก“ทศพล ขวัญรอด”  ประธานภาคีเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยาง ปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย ที่ระบุว่าก่อนหน้านี้ทางภาคีเครือข่ายฯได้ออกแถลงการณ์ในนามภาคีเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยาง ปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย  เนื่องจากเมื่อวันที่ 14/11/61. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายกฤษฎา บุญราช ได้เชิญตัวแทนเกษตรกร 5 องค์กร เพื่อหาทางออกในการแก้ไขปัญหายางพาราตกต่ำ แล้วรัฐมนตรีได้นำเสนอมาตรการจ้างชาวสวนยางหยุดกรีด แต่ตัวแทนทั้ง 5 องค์กร ไม่เห็นด้วย เพราะเห็นว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณเหมือนตำน้ำพริกละลายแม่น้ำเหมือนคราวก่อนและให้ตัวแทนทั้ง 5 องค์กรมาถามชาวสวนยางก่อน 

       "ตอนเช้าของวันที่ 20 พ.ย. ก่อนจะมีมติครม.ออกมา ทางภาคีเครือข่ายฯ ได้ออกแถลงการณ์ผ่านเฟสบุ๊คคัดค้านมาตรการนี้ สุดท้ายบ่ายมติ ครม.อนุมัติงบประมาณ18,600 ล้านบาทออกมาเพื่อจ้างชาวสวนยางหยุดกรีดไร่ละ 1,800 บาท ไม่เกิน 15 ไร่ ตามธงที่ตั้งเอาไว้โดยไม่ฟังเสียงคัดค้านจากชาวสวนยางภาคีเครือข่ายฯเห็นว่าไม่สมเหตุและผลแต่ประการใด ที่จะนำมาสู่การแก้ไขที่ยั่งยืน และทำให้เสถียรภาพราคาที่สูงขึ้นได้ ฉะนั้นภาคีเครือข่ายฯจึงได้มติร่วมกันว่าเราไม่ยอมรับมตินี้โดยสิ้นเชิง"ทศพลเผยกับ“คมชัดลึก”     

"ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ"เสียงวิพากษ์จากแกนนำเครือข่ายชาวสวนยาง

       ขณะที่ สุนทร รักษ์รงค์ นายกสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้และเลขาธิการสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย(สคยท.)ได้สะท้อนมุมมองมาตรการดังกล่าวผ่านเฟสบุ้คส่วนตัว“สุนทร รักษ์รงค์” โดยระบุว่าใครจะแจกเงิน ก็ตามสบายครับไม่ขัดคอใคร พูดมากเจ็บคอ แต่มีพี่น้องชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ที่ขึ้นข้อมูลไว้ 300,000 ครัวเรือน พื้นที่ 5 ล้านไร่และที่ยังไม่ได้แจ้งข้อมูลก็ยังมีอีกมากที่ไม่ได้ประโยชน์จากโครงการนี้ เขาคงออกมาเคลื่อนไหวเอง

         ส่วนที่กรมบัญชีกลางได้ประกาศราคากลางให้รัฐบาลทำ MOU กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะให้อบจ.ไปทำถนนพาราซอยล์ซีเมนต์ในพื้นที่ของ อบต.ทำถนนตำบลละ 10 กิโลเมตร 7,000 ตำบลทั่วประเทศ จะใช้ยางพารา 350,000 ตัน(น้ำหนักยางแห้ง) แค่รัฐบาลประกาศภายในเดือนธันวาคม และมีการจับมือกันระหว่าง อบจ.และการยางแห่งประเทศไทยจังหวัด เพื่อให้เครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางจังหวัด จัดหาน้ำยางสดมาทำถนนพาราซอยล์ซีเมนต์ ผมเชื่อว่าราคายางจะขยับสูงขึ้นทันทีครับ 

                               

 

  กว่าจะมาเป็นนวัตกรรม"ถนนยางพาราดินซีเมนต์"

          “ถนนยางพาราดินซีเมนต์ (Para Rubber Soil Cement )”นับเป็นนวัตกรรมใหม่ โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ผู้บุกเบิกและค้นคิดงานวิจัยดังกล่าว โดยเริ่มจากนำยางพาราธรรมชาติ ทั้งยางพาราสด และยางพาราข้น มาดัดแปรโครงสร้างของยางพารา เพื่อให้ยางพาราสามารถนำมาใช้ร่วมกับ วัสดุดิน ปูนซีเมนต์ และน้ำยาดัดแปร เพื่อเป็นการก่อสร้างหริือปรับปรุงคุณสมบัติของชั้นพื้นทางของถนนด้วยวิธีแบบดินซีเมนต์(Soil Cement) ตามมาตรฐานที่มีอยู่ในแบบมาตรฐานดินซีเมนต์ผสมโพลิเมอร์ ของกรมทางหลวงชนบท เพื่อตอบรับกับนโยบายของรัฐบาลในการผลักดันนวัตกรรม ในการนำยางพารามาแปรรูปเพื่อช่วยเหลือชาวเกษตรกรสวนยางพาราทั่วประเทศ 

        ทั้งการใช้ยางพาราสดจากเกษตรกรผ่านสหกรณ์) และยางพาราข้น จากโรงงานน้ำยางข้นให้มากขึ้น และช่วยผลักดันราคายางที่ตกต่ำให้มีราคาเพิ่มขึ้น ตามกลไกของตลาด ซึ่ง มจพ. ได้ดำเนินการทดลองและทดสอบ“น้ำยาดัดแปร” ด้วยการก่อสร้างจริงเป็นผลสำเร็จมาแล้ว และมีผลทดสอบว่าสามารถนำยางพารามาใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในการก่อสร้างปรับปรุงถนนได้จริงตามมาตรฐาน รวมไปถึงติดตามการตรวจสอบ ประเมินผลค่าต่างๆ จากภาควิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ร่วมกับกรมทางหลวงชนบท เช่น ค่าการรับน้ำหนัก-UCS (ASTM D2166), ค่าความทึบน้ำ-Permeability (ASTM D2434), ค่าแรงดึง-Indirect Tensile (ASTM C496) มาเป็นระยะเวลากว่า 2 ปี

     โดยจะใช้น้ำยางพาราสด 2 กิโลกรัม น้ำยาดัดแปร 0.25 ลิตรและปูนซีเมนต์ 5% ของน้ำหนักวัสดุดิน ซึ่งคำนวณปริมาณการใช้ในการก่อสร้างชั้นโครงสร้างถนน 1 กิโลเมตรหน้ากว้าง 6 เมตรจะใช้ยางพาราสดถึง 12,000 กิโลกรัมหรือ12 ตัน หรือคิดเป็นเนื้อยางแห้งถึง 4 ตัน  ซึ่งมจพ.ได้นำนวัตกรรมนี้จดอนุสิทธิบัตรเลขที่ 11828 มาตั้งแต่ปี 2559  โดยได้นำเสนอทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนให้เกิดการใช้งานอย่างแพร่หลายตามหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยผลักดันการใช้ยางพารามากถึงร้อยละ 20 - 30 ของยางพาราที่มีอยู่ และจะช่วยสร้างรายได้ให้เกษตรกรชาวสวนยางเพิ่มขึ้น 

        ทว่าก่อนหน้านี้สถาบันวิจัยยาง เมื่อครั้งยังสังกัดกรมวิชาการเกษตรก็ได้เคยทำวิจัยถนนยางพาราและสามารถไปทดลองใช้จริงจนประสบความสำเร็จมาแล้ว เป็นนวัตกรรมที่ง่ายมาก โดยใช้ยางแห้งผสมกับยางมะตอย   วิธีการทำ โดยนำยางแห้งมาผสมกับยางมะตอย สัดส่วน 1 ต่อ 1 ใส่ลงในเครื่องผสมให้เข้ากัน ประมาณ 45 นาที ก็จะได้ยางผสม ซึ่งจะนำไปใช้เป็นหัวเชื้อ ขั้นตอนต่อไปนำยางผสมที่ได้ไปละลายรวมกับยางมะตอย เพียงเท่านี้ก็นำไปราดถนนได้แล้ว  

       อย่างไรก็ตามหากภาครัฐมีการสนับสนุนให้ใช้ยางพาราผสมยางมะตอยราดถนนอย่างเป็นรูปธรรม คาดว่า จะมีการนำยางแห้งมาใช้ปริมาณมาก เนื่องจากถนนกว้าง 11 เมตร ระยะทาง 1 กิโลเมตร จะใช้ยางแห้ง ประมาณ 3.3 ตัน และต้องผลิตหัวเชื้อที่จะใช้ผสมกับยางมะตอยถึง 6.6 ตัน ซึ่งทำให้มีปริมาณมากพอที่จะดำเนินการทางอุตสาหกรรมได้

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ