ข่าว

ชมวิถีเกษตรกรไต้หวัน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์ – ทำกินถิ่นอาเซียน โดย - รศ.ดร.พิชัย ทองดีเลิศ  [email protected]

 

                ครั้งที่แล้วผมได้เล่าให้ฟังถึงภาพรวมของการเกษตรทั่วไปในไต้หวันว่าเป็นประเทศเล็ก แต่มีศักยภาพด้านเกษตรค่อนข้างสูง และมีเทคโนโลยีทางการเกษตรค่อนข้างทันสมัย ซึ่งเป็นธรรมดาของประเทศมีขนาดเล็กและประชากรน้อยที่มีโอกาสในการพัฒนาประเทศในทุกด้านอย่างทั่วถึง

 ชมวิถีเกษตรกรไต้หวัน

 ชมวิถีเกษตรกรไต้หวัน

 ชมวิถีเกษตรกรไต้หวัน

                 ซึ่งไต้หวันเองก็มีปัญหาของประเทศอยู่ในหลายด้าน แต่ขออนุญาตไม่กล่าวถึง ยกเว้นปัญหาด้านภัยธรรมชาติโดยไต้หวันเองมีสภาพภูมิประเทศที่เป็นเกาะ มีทะเลล้อมรอบ ดังนั้นเรื่องของภัยธรรมชาติที่พบเจอบ่อยก็จะเป็นเรื่องของลมพายุต่าง ๆ ที่แวะเวียนกันเข้ามา มากบ้าง น้อยบ้างก็แล้วแต่สภาวะอากาศของโลก ซึ่งในปีนี้ช่วงที่ผ่านมาก็มาเอาเรื่องพอสมควร และก็มีผลกระทบกับเรื่องการทำการเกษตรโดยเฉพาะพื้นที่เพาะปลูกพอสมควร

               วกกลับมาที่พื้นที่ ๆ เราไปดูงานกันต่อในทริปนี้ โดยในวันนี้ทางผู้ประสานงานการดูงานได้พาเราไปดูพื้นที่การปลูกข้าวที่เมือง Hsinchu ซึ่งถ้าเรียกกันเป็นภาษาไทยก็คือเมืองซินจู๋ ทางผู้ประสานงานได้พาเราไปพบกับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวชื่อคุณ Yuh-Tzong Gwo ซึ่งเป็นเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในพื้นที่เมืองซินจู๋และมีประสบการณ์ในการปลูกข้าวในพื้นที่นี้มานานพอสมควร

              โดยได้พาเราเยี่ยมชมพื้นที่และเล่าให้เราฟังว่าในบริเวณนี้มีพื้นที่การปลูกข้าวอยู่มากพอสมควรและสามารถทำนาได้ปีละสองครั้ง โดยใช้น้ำจากระบบชลประทานที่มีการวางท่อจากแม่น้ำในบริเวณนั้นเข้าไปถึงที่นาของเกษตรกรแต่ละคน โดยทางรัฐบาลเป็นผู้ดูแลจัดสรรน้ำให้กับเกษตรกรและมีนโยบายให้ทำนาได้ปีละหนึ่งครั้งเป็นหลัก

                ในการเข้าไปดูพื้นที่ตรงนี้ได้สังเกตเห็นว่าในพื้นที่ ๆ ที่ว่างเว้นจากการปลูกข้าวก็จะมีการปลูกปอเทืองเพื่อเตรียมปรับสภาพพื้นที่ก่อนปลูกเหมือนกับในเมืองไทยเรา จริง ๆ แล้วพื้นที่ตรงนี้พอผมเห็นทุ่งปอเทืองที่มีดอกสีเหลืองอร่ามเต็มไปหมดทำให้นึกถึงเมืองไทยขึ้นมาในทันที เพียงแต่ที่นี่ไม่ได้พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ให้มาถ่ายรูปกัน คนไต้หวันคงมีความรู้สึกต่างคนไทยเราในเรื่องพวกนี้ครับ

               นอกจากนี้เกษตรกรบอกเราว่าเป็นข้อแนะนำจากภาครัฐให้ปฏิบัติเพื่อปรับสภาพดินรองรับการปลูกข้าวให้มีคุณภาพและผลผลิตที่ดี โดยรัฐให้การสนับสนุนจัดหาเมล็ดพันธุ์ให้แต่เกษตรกรก็ต้องซื้อจากรัฐเช่นกัน ส่วนพันธุ์ข้าวที่ปลูกในบริเวณนี้เป็นพันธ์ข้าวลูกผสมหรือ Hybrid rice ลักษณะเมล็ดสั้น ๆ เหมือนข้าวญี่ปุ่น ซึ่งผมได้มีโอกาสลองกินก็ถือว่ามีความนุ่มและรสชาติที่ดีในระดับหนึ่ง โดยเป็นข้าวลูกผสมที่นิยมปลูกและใช้บริโภคกันภายในประเทศ เมล็ดพันธุ์ข้าวลูกผสมเกษตรกรก็ต้องซื้อจากรัฐอีกเช่นกัน

               ในส่วนตัวผมว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะทำให้เกษตรกรรู้ถึงคุณค่าของการลงทุนในการทำการเกษตร ซึ่งจะต้องทำให้เกิดผลผลิตที่คุ้มค่ากับการลงทุน ในด้านผลผลิตข้าวบริเวณนี้จากการวิเคราะห์เปรียบเทียบของนิสิตที่ร่วมดูงานที่ทำงานกรมการข้าวบอกว่าถ้าดูจากพื้นที่และพันธุ์ข้าวและการดูแลรักษาน่าจะได้ผลผลิตที่สูงกว่านี้อีกสักนิด ส่วนเครื่องจักรกลการเกษตรนั้นทุกครัวเรือนมีใช้กันครบทุกประเภทตั้งปลูกจนถึงเก็บเกี่ยว

              และเราก็อดถามไม่ได้ในเรื่องการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีในการปลูกข้าว ก็ได้รับคำตอบว่าที่นี่ใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีกันเป็นเรื่องปกติ เพราะเน้นในเรื่องความสมบูรณ์และปริมาณของผลผลิต ซึ่งในนโยบายด้านการเกษตรในช่วงนี้ของไต้หวันเองก็พยายามที่จะลดปริมาณการใช้สารเคมีในการทำการเกษตร ก็คงเพราะว่าใช้กันมากจริง ๆ

 

             ถ้าฟังเหตุผลของคนที่นี่ก็คงเป็นความจำเป็นของประเทศเล็ก ๆ ที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าเกษตร จึงมีความจำเป็นต้องผลิตผลผลิตทางการเกษตรเองให้ได้มากเพียงพอต่อการบริโภคทดแทนการนำเข้าให้ได้มากที่สุด

             ในครั้งหน้าจะพาไปเยี่ยมชมไร่ชาที่เมือง Pinglin กันต่อครับ

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ