ข่าว

สานพลังประชารัฐ "ข้าวโพดหลังนา"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สานพลังประชารัฐ "ข้าวโพดหลังนา"การันตีขั้นต่ำโล8บ.ที่ความชื้น14.5%

 

              หลังหารือร่วมกันระหว่างกรมส่งเสริมสหกรณ์กับสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ เพื่อกำหนดจุดรับซื้อข้าวโพดจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการในพื้นที่เป้าหมาย 33 จังหวัด โดยตั้งเป้าทุกอำเภอจะต้องมีจุดรับซื้อข้าวโพดอย่างน้อย 1 จุด  กำหนดมาตรฐานการรับซื้อเป็นมาตรฐานเดียวทั่วประเทศ เบื้องต้นตกลงราคารับซื้อข้าวโพดแห้งความชื้นไม่เกิน 14.5% กิโลกรัมละไม่ต่ำกว่า 8 บาท เชิญชวนเกษตรกรเข้าร่วมโครงการได้ถึงวันที่ 15 ธันวาคมนี้

                 วิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์เผยความคืบหน้าการดำเนินโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา ซึ่งกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้รับมอบหมายให้ร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน กรมชลประทานและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ส่งเจ้าหน้าที่ในจังหวัดเป้าหมาย 33 จังหวัด ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพเหมาะสมต่อการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา โดยมีการชี้แจง ทำความเข้าใจแก่เกษตรกรได้เห็นถึงรายได้และมาตรการในการจูงใจให้เข้าร่วมโครงการ ซึ่งรัฐบาลให้การสนับสนุน ทั้งด้านสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 การทำประกันภัยพืชผลเพื่อป้องกันความเสี่ยงในการเพาะปลูกและการหาตลาดเข้ามารับซื้อผลผลิต ซึ่งสหกรณ์การเกษตรจะเป็นกลไกสำคัญในการบริหารจัดการผลผลิต ตั้งแต่เริ่มการจัดหาปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพให้แก่เกษตรกรสมาชิก การดูแลพื้นที่เพาะปลูก การเก็บเกี่ยวจนถึงการประสานกับภาคเอกชนเพื่อเปิดจุดรับซื้อข้าวโพดจากเกษตรกร

              ทั้งนี้ที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม ที่ผ่านมา มีรายงานความก้าวหน้าว่าขณะนี้มีจำนวนเกษตรกรที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการ 110,346 ราย พื้นที่ 962,22.50 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ทั้งที่อยู่ในเขตชลประทานและนอกเขตชลประทานในจังหวัดเป้าหมาย 33 จังหวัด และคาดว่าเกษตรกรจะเริ่มฤดูเพาะปลูกข้าวโพดหลังนาตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายนไปจนถึง 15 มกราคม 2562 และผลผลิตจะเริ่มทยอยเก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-เมษายน ซึ่งเป็นช่วงหน้าแล้ง คาดว่าข้าวโพดที่เก็บเกี่ยวจะมีคุณภาพและความชื้นในเกณฑ์ที่ดีโดยมีการประมาณการผลผลิตต่อไร่เฉลี่ยอยู่ที่ 1,000 กิโลกรัม

               สำหรับการประสานตลาดรับซื้อข้าวโพดจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้หารือร่วมกับสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์และบริษัทเอกชน 15 บริษัทที่เป็นสมาชิกของสมาคม เรื่องการกำหนดราคารับซื้อ และเห็นชอบร่วมกันว่าราคารับซื้อข้าวโพดแห้งความชื้นไม่เกิน 14.5% ราคาไม่ต่ำกว่า 8 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นราคาจำหน่ายที่หน้าโรงงานในกทม.และปริมณฑล ส่วนราคารับซื้อในแต่ละพื้นที่อาจจะแตกต่างกันไปตามคุณภาพ ความชื้น สิ่งเจือปนและค่าขนส่ง ซึ่งจะยึดตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงพาณิชย์และใช้มาตรฐานในการรับซื้อเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ

               “ได้ขอความร่วมมือจากสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์กำหนดจุดรับซื้อข้าวโพดอย่างน้อย 1 อำเภอ จะมีจุดรับซื้อ 1 จุด ซึ่งขณะนี้มีการกำหนดจุดรับซื้อและชื่อบริษัทที่จะเข้าไปรับซื้อในแต่ละพื้นที่แล้วเกือบทุกจังหวัด  ก็จะมีสหกรณ์การเกษตรและลานรับซื้อผลผลิตตั้งอยู่ในพื้นที่อยู่แล้ว ยกเว้นในบางจังหวัดโดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น สุรินทร์ บุรีรัมย์และร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นพื้นที่ใหม่ที่ยังไม่เคยรวบรวมข้าวโพดมาก่อน กรมก็ได้แจ้งให้สหกรณ์การเกษตรในพื้นที่ประสานกับบริษัทเอกชนที่เป็นสมาชิกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งมั่นใจว่าจุดรับซื้อข้าวโพดใน 33 จังหวัดไม่น่าจะมีปัญหา เพื่อสร้างความมั่นใจแก่เกษตรกรที่หันมาลองปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา” รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าว

              ส่วนการดูแลเรื่องต้นทุนการผลิต  วิศิษฐ์ย้ำว่าสหกรณ์การเกษตรจะสำรวจเครื่องจักรกลการเกษตรในพื้นที่ ว่ามีเครื่องจักรกลประเภทใดบ้าง เพื่อขึ้นทะเบียนไว้และขอความร่วมมือจากผู้รับจ้างให้ลดค่าบริการในการไถปรับพื้นที่ เครื่องหยอดเมล็ดพันธุ์ หรือรถเกี่ยว เพื่อช่วยลดต้นทุนให้แก่เกษตรกร นอกจากนี้ยังเจรจากับสมาคมผู้ค้าเมล็ดพันธุ์เพื่อขอลดราคาเมล็ดพันธุ์ที่จะจำหน่ายให้แก่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ขณะนี้มีบริษัทเอกชนที่จำหน่ายเมล็ดพันธุ์ บางแห่งให้ความร่วมมือลดราคาเมล็ดพันธุ์ให้กิโลกรัมละ 30 บาท และการใช้เมล็ดพันธุ์เพื่อการเพาะปลูก เกษตรกรสามารถเลือกใช้เมล็ดพันธุ์ของบริษัทใดก็ได้ ไม่มีการผูกขาดการใช้เมล็ดพันธุ์ของบริษัทใดบริษัทหนึ่ง แต่ขอให้ใช้เมล็ดพันธุ์จากบริษัทที่เป็นสมาชิกของสมาคมผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์เป็นผู้ผลิต เพื่อป้องกันการใช้เมล็ดพันธุ์ที่ไม่ได้มาตรฐานและอาจส่งผลต่อผลผลิตที่ไม่ได้คุณภาพและมาตรฐานตามที่ผู้ผลิตอาหารสัตว์ต้องการ

               “อยากให้เกษตรกรมั่นใจว่าการเข้าร่วมโครงการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนาแล้วจะมีตลาดรับซื้อแน่นอน จึงขอเชิญชวนเกษตรกรที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการได้ถึงวันที่ 15 ธันวาคมนี้ โดยสอบถามรายะเอียดได้ที่สหกรณ์การเกษตรที่ตนเองสังกัดหรือสำนักงานสหกรณ์จังหวัดทั้ง 33 จังหวัดเป้าหมาย” รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์กล่าว

                                     

            

 ซีพีผนึกภาครัฐชูโครงการ "เกษตรกรพึ่งตน ข้าวโพดยั่งยืน” 

           ไพศาล เครือวงศ์วานิช รองกรรมการผู้จัดการบริหาร บริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด (มหาชน) ผู้จัดหาวัตถุดิบอาหารสัตว์ให้บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ได้กล่าวเชิญชวนเกษตรกรที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังนาของรัฐบาล ให้มาลงทะเบียนกับโครงการ “เกษตรกรพึ่งตน ข้าวโพดยั่งยืน” ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งในการสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังนา โดยบริษัทยินดีรับซื้อผลผลิตข้าวโพดหลังนาโดยตรงจากเกษตรกรที่ลงทะเบียนดังกล่าว

            ทั้งนี้บริษัทได้เปิดโรงงานอาหารสัตว์ของซีพีเอฟ 15 แห่งทั่วประเทศ อำนวยความสะดวกให้เกษตรกรในการขายผลผลิต ทั้งยังได้เพิ่ม “จุดรับซื้อและรวบรวมผลผลิต” ที่อยู่ใกล้แหล่งปลูกของเกษตรกรอีก 2 แห่ง ได้แก่ ลานรับซื้อ อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา และลานรับซื้อ อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดหลังนาในปี 2561/62 ว่ามีตลาดรองรับแน่นอน

                “ขอเชิญเกษตรกรที่เข้าร่วมปลูกข้าวโพดหลังนามาลงทะเบียนกับโครงการ “เกษตรกรพึ่งตน ข้าวโพดยั่งยืน” ซึ่งเป็นไปตามระบบตรวจสอบย้อนกลับได้ถึงแหล่งปลูกที่ถูกกฎหมายและช่วยให้เกษตรกรไม่ต้องกังวลใจเรื่องตลาดและราคารับซื้อ” 

               ไพศาลกล่าวต่อไปว่าบริษัทจะทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐลงพื้นที่สำรวจเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการส่งเสริมปลูกข้าวโพดหลังนา และให้เกษตรกรที่สนใจลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ “เกษตรกรพึ่งตน ข้าวโพดยั่งยืน” เพื่อที่จะเข้าไปช่วยส่งเสริมและดูแลการปลูกข้าวโพดแก่เกษตรกรตั้งแต่เริ่มปลูกจนถึงการเก็บเกี่ยวส่งเข้าโรงงานอาหารสัตว์ ให้การปลูกเป็นไปอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ สามารถควบคุมต้นทุนและผลผลิตได้คุณภาพตรงตามตลาดต้องการ ซึ่งจะตามมาด้วยการได้ผลตอบแทนที่ดี

             นอกจากนี้บริษัทยังสนับสนุนนโยบายของกระทรวงเกษตรฯ ในการร่วมมือกับสหกรณ์การเกษตร โดยให้สหกรณ์เป็นตัวกลางในการรวบรวมผลผลิตจากเกษตรกรที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ แล้วส่งผลผลิตให้แก่โรงงานอาหารสัตว์ หรือสหกรณ์ในเครือข่าย เพื่ออำนวยความสะดวกให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงแหล่งรับซื้อผลผลิตที่มีมาตรฐานมากที่สุด อันเป็นการช่วยเพิ่มผลตอบแทนให้แก่เกษตรกรอีกทางหนึ่ง ขณะที่ผู้รวบรวม สหกรณ์ หรือเกษตรกรรายอื่นๆ บริษัทก็ยินดีสนับสนุนในเรื่องของการรับซื้อผลผลิตเข้าโรงงานตามกลไกราคาตลาดด้วยเช่นกัน 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ