ข่าว

นักวิชาการเตือนมหันตภัยร้าย"โรคใบด่าง"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

นักวิชาการเตือนมหันตภัยร้าย"โรคใบด่าง" จากแอฟริกาลามสู่ภูมิภาคอาเซียน  

 

                    “อย่าทำเป็นเล่น เป็นมหันภัยที่ร้ายแรงมาก แอฟริกาเจ๊งเกือบทั้งทวีป จากเคยส่งออกมากที่สุดในโลกตอนนี้ผลผลิตมีน้อยมาก  บางประเทศอย่างแทนซาเนียที่เคยส่งออกมันสำปะหลังสร้างรายได้หลักก็ได้รับความเสียหายเพราะโรคใบด่าง วันนี้ไทยเป็นประเทศส่งออกมันมากทีุ่สดในโลกกำลังจะเจอเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแอฟริกาเมื่อกว่า 10 ปีก่อน”

นักวิชาการเตือนมหันตภัยร้าย"โรคใบด่าง"

                รศ.ดร.วิจารณ์ วิชชุกิจ อดีตคณบดีคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ในฐานะนักวิชาการเชี่ยวชาญด้านมันสำปะหลังและนักวิจัยผู้คิดค้นสายพันธุ์มันสำปะหลังเกษตรศาสตร์ 50 และห้วยบง 60 เผยกับ “คม ชัด ลึก” ถึงมหันตภัยร้ายโรคใบด่าง ซึ่งเขามองว่าเป็นโรคที่น่ากลัวมากเนื่องจากยังไม่มียาหรือสารเคมีมาทำลายล้างได้ นอกจากจะกำจัดด้วยวิธีการเผาทำลายหรือฝังดินในระดับความลึก 3-5 เมตรในส่วนของลำต้นและเหง้าที่มีการระบาดเท่านั้นถึงจะปลอดภัย

นักวิชาการเตือนมหันตภัยร้าย"โรคใบด่าง"

              ขณะเดียวกันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องบอกความจริงแก่เกษตรกรเพื่อจะได้เตรียมพร้อมในการรับมือได้ทันและป้องกันไม่ให้มีการแพร่ระบาดไปมากกว่านี้ แม้วันนี้รัฐบาลได้ประกาศให้ 12 จังหวัดติดแนวชายแดนกัมพูชาเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการระบาดของโรคดังกล่าว แต่ในความเป็นจริงโรคนี้อาจแพร่ระบาดอยู่ในหลายพื้นที่แล้วก็อาจเป็นได้เนื่องจากโรคนี้จะไม่แสดงอาการให้เห็นในระยะเริ่มแรก

                รศ.ดร.วิจารณ์ ระบุอีกว่า สำหรับโรคดังกล่าวเกิดจากเชื้อคาสซาวา โมเสด ไวรัส  ซึ่งในโลกนี้มีทั้งหมด 12 สายพันธุ์ แต่ที่ระบาดในประเทศไทยและแถบประเทศในภูมิภาคอาเซียน เวียดนามและกัมพูชาในขณะนี้เป็นสายพันธุ์ศรีลังกา คาสซาวา โมเสด ไวรัส ซึ่งเป็นสายพันธุ์เดียวกับที่ระบาดในทวีปแอฟริกา โดยการระบาดมาจาก 2 ทางคือการนำท่อนพันธุ์ที่ติดเชื้อมาปลูกและแมลงหวี่ขาวยาสูบเป็นพาหะนำเชื้อในการแพร่กระจายของโรค ลักษณะอาการของโรคคืออาการแตกตาข้าง ลำต้นแคระแกรน ยอดเป็นพุ่ม ใบเล็กสีเหลืองซีด เมื่อตัดส่วนของลำต้นและหัวมันสำปะหลัง พบท่ออาหารและหัวมันสำปะหลังเป็นเส้นสีน้ำตาลดำ

               “รัฐต้องบอกความจริงต่อประชาชน ต้องบอกเกษตรกรว่าโรคนี้มันเกิดขึ้นในไทยแล้วจริงๆ อย่าอ้อมแอ้ม ให้ข้อมูลว่าคล้ายโรคใบด่าง แต่จริงๆ เพราะมันใช่เลย จะได้หาทางช่วยกันแก้ไขป้องกัน ยิ่งเร็วเท่าไหร่ยิ่งดี  ไม่เช่นนั้นอีกไม่นานประเทศไทยก็ไม่ต่างจากแอฟริกา เรื่องนี้เราประชุมกับหน่วยราชการเมื่อ 3 เดือนแล้ว แต่ไม่คิดว่าจะเร็วขนาดนี้ ที่เจ้าหน้าที่ตรวจเจอไม่ว่าจะศรีสะเกษ สุรินทร์ หรือปราจีนบุรี ยังมีพื้นระบาดไม่กว้างมาก แต่ที่ยังไม่เจออีกเท่าไหร่ เราก็ไม่รู้”

               รศ.ดร.วิจารณ์ ย้ำว่า เนื่องจากโรคนี้ยังไม่มียาหรือสารเคมีใดๆ การแก้ไขมีทางเดียวคือทำลายท่อนพันธุ์ติดเชื้อเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดและใช้สารเคมีฉีดพ่นแมลงหวี่ขาวยาสูบ ซึ่งเป็นพาหะสำคัญ แต่สำหรับแมลงหวี่ที่เป็นพาหะนั้นมีวงจรชีวิตที่สั้นอายุเฉลี่ย 20-30 วัน และบินไม่ได้ไกลมากประมาณ 2-3 กิโลเมตรเท่านั้น  สามารถจำกัดพื้นที่การแพร่ระบาดได้ง่าย แต่ที่น่ากลัวมากกว่าก็คือการเคลื่อนย้ายท่อนพันธุ์ที่ติดเชื้อของเกษตรกรจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งทำให้การระบาดมีการแพร่กระจายได้รวดเร็วมากกว่า

                 “ไม่ใช่แค่เกษตรกรนะที่ได้รับผลกระทบแต่เป็นอุตสาหกรรมมันทั้งระบบ เป็นแสนล้านนะมูลค่าที่ไทยส่งออกมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมัน ส่วนพื้นที่ปลูกหากปลูกมันสำปะหลังไม่ได้ก็ไม่รู้ว่าจะปลูกพืชอะไร เพราะพื้นที่ปลูกมันส่วนใหญ่จะเป็นดินดาน ปลูกพืชอะไรไม่ค่อยขึ้น”

                ส่วนการแก้ปัญหาในระยะยาว นักวิชาการคนเดิมย้ำว่ามีทางเดียวจะต้องทำการศึกษาวิจัยเพื่อหาพันธุ์ใหม่ที่ต้านทานโรคใบด่างซึ่งก็ต้องใช้ระยะเวลานานประมาณ 6-7 ปี อาจจะไม่ทันการณ์ต่อการระบาดของโรคในเวลานี้แต่ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นจะต้องทำ นอกจากนี้การนำเข้าพันธุ์ต้านทานจากประเทศในแอฟริกาที่เขาศึกษาวิจัยจนประสบความสำเร็จและเห็นผลมาแล้วมาผสมกับพันธุ์ดีของไทยก็จะสามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาการระบาดโรคนี้ได้เช่นกัน"

             "เมื่อก่อนแอฟริกาส่งออกมันสำปะหลังมากที่สุดในโลก อย่างแทนซาเนียมันสำปะหลังเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญสร้างรายได้หลักให้ประเทศเขา  พอมาเจอโรคใบด่างก็เจ๊งหมดเลย เขาก็พยายามศึกษาค้นคว้าหาพันธุ์ต้านโรคนี้จนประสบความสำเร็จได้สายพันธุ์ใหม่มาปลูก แต่ก็ใช้เวลาหลายปี มาตอนนี้ไทยส่งออกมันสำปะหลังมากที่สุดในโลกแต่สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ก็ไม่ต่างจากแอฟริกาที่เกิดขึ้นเมื่อ 10 กว่าปีก่อนหากไม่รีบจัดการ"

             นอกจากนี้ นักวิชาการคนเดิมยังพูดถึงการระบาดของโรคใบด่างในมันสำปะหลังในประเทศไทย หลังมีการพบปะพูดคุยเสวนากับนักวิชาการด้านมันสำปะหลังจากแอฟริกาและภูมิภาคอาเซียนเมื่อไม่นานมากนี้ โดยระบุว่ามีต้นตอการระบาดมาจาก จ.เตนิญ ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของนครโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม ถือเป็นแหล่งปลูกมันสำปะหลังมากที่สุดของเวียดนามและยังเป็นที่ตั้งของโรงงานแปรรูปมันสำปะหลังอีกไม่ต่ำกว่า 10 แห่ง

             จากนั้นได้แพร่ขยายการระบาดไปยังกัมพูชา สาเหตุเนื่องจากนำท่อนพันธุ์ที่เป็นโรคมาปลูก ซึ่งสร้างความเสียหายรุนแรงในหลายจังหวัด เช่น รัตนคีรี สตรึงแตรง กำปงทม กำปงจาม มนดูคีรี และอุดรมีชัย ซึ่งเป็นจังหวัดที่ติดกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ความรุนแรงของโรคใบด่างมันสำปะหลังหากมีการระบาดทำให้ผลผลิตเสียหายถึงร้อยละ 80–100 ของจำนวนผลผลิต 

               “เมื่อเดือนที่แล้วได้คุยกับนักวิชาการของเวียดนาม เขาบอกว่าตอนนีี้ที่เวียดนามมีการระบาดแล้วไม่ต่ำกว่า 10 จังหวัดอยู่ทางภาคใต้ โดย จ.เตนิญ มีพื้นที่ระบาดมากที่สุดไม่ต่ำกว่า 4 หมื่นเฮกตาร์ หรือเกือบ 3 แสนไร่ และกำลังขยายการระบาดขึ้นไปสู่ภาคกลางของประเทศ ส่วนที่กัมพูชาตอนนี้การระบาดลามเกือบทั้งประเทศแล้ว โดยมี 2 จังหวัดที่ได้รับความเสียหายอย่างหนักคือ จ.รัตนคีรี กับ กำปงจาม ซึ่งเป็นพื้นที่เขตรอยต่อของเวียดนามที่มีการปลูกมันสำปะหลังมากที่สุด”

              อย่างไรก็ตามล่าสุดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีหนังสือด่วนไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีแนวชายแดนกับประเทศกัมพูชาให้ประสานกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดและคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนงานนโยบายและการแก้ไขปัญหาภาคการเกษตรระดับจังหวัดให้เฝ้าระวังตรวจสอบปราบปรามการลักลอบน้ำเข้าท่อนพันธุ์และส่วนใดส่วนหนึ่งของมันสำปะหลังในช่องทางแนวชายแดนอย่างเข้มงวดแล้ว 

 

 ติวเข้มจนท.รับมือ“โรคใบด่าง”มันสำปะหลัง

               วราภรณ์ จรจรัญ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ สำนักงานเกษตรจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวถึงการเตรียมรับมือการแพร่ระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นอีกจังหวัดที่มีพื้นที่ติดกับประเทศกัมพูชาและมีเกษตรกรปลูกมันสำปะหลังกันมาก โดยระบุว่าขณะนี้ในพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ ยังไม่มีการแพร่ระบาดของโรคใบด่างแต่อย่างใด แต่มีการเตรียมพร้อมเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดทั้งในส่วนของเจ้าหน้าที่และเกษตรกร มีการทำแปลงทดลองเพื่อเปรียบเทียบระหว่างที่เป็นโรคและไม่เป็นโรค แนะนำชาวบ้านให้รู้จักวิธีการสังเกตอาการของโรคอย่างใกล้ชิด  หากพบลักษณะอาการต้องสังสัยก็ให้แจ้งสำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่ทันที  

               “ที่บุรัรัมย์ช่วงนี้มันสำปะหลังส่วนใหญ่มีอายุประมาณ 5-6 เดือน มีหัวแล้วแต่อัตราส่วนของแป้งยังไม่มากพอ ต้องรออีกประมาณ 1-3 เดือน จึงจะสามารถเก็บเกี่ยวได้ ส่วนเชื้อจะระบาดแค่ต้นและเหง้า ไม่มีผลกับหัวมัน แต่สิ่งที่กังวัลในฤดูการผลิตหน้าหากนำท่อนพันธุ์ที่ติดเชื้อไปปลูกจะเสียหายมาก เพราะเจ้าของแปลงไม่มีโอกาสรู้เลย จะรู้ได้ว่าติดเชื้อโรคใบด่างหรือไม่ก็ตอนที่มีอายุ 2-3 เดือนแล้ว แต่สิ่งที่ลงทุนลงแรงไปแล้วก่อนหน้าก็จะสูญเปล่า” นักส่งเสริมการเกษตรคนเดิมกล่าว

            ขณะที่ อรรถพร เฉยพันธ์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ สำนักงานเกษตรจังหวัดอุทัยธานี บอกว่าแม้ จ.อุทัยธานี จะมีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังกว่า 1.4 แสนไร่มากเป็นอันดับ 3 รองจากข้าวและอ้อย ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดอีกตัวหนึ่ง แต่ถึงขณะนี้ยังไม่พบการแพร่ระบาดของโรคใบด่างในมันสำปะหลังจะมีก็เพียงเพลีี้ยแป้งและไรแดงที่ระบาด แต่ปีนี้ได้รับผลกระทบน้อยเนื่องจากมีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะต้องเฝ้าระวังหลังจากนี้ที่จะเข้าสู่ฤดูหนาวและหน้าร้อนที่มักมีการระบาดของแมลงศัตรูมันสำปะหลังดังกล่าว

               “ตอนนี้พื้นที่ จ.อุทัยธานี ยังไม่พบการแพร่ระบาดของโรคใบด่างในมันสำปะหลัง แต่ได้เตรียมพร้อมเฝ้าระวังอยู่เหมือนกัน ผมเพิ่งกลับจากกรุงเทพฯ ไปรับฟังนโยบายจากกรมมาสำหรับการเตรียมพร้อมรับมือโรคใบด่างในมันสำปะหลังที่กำลังเป็นปัญหาอยู่ในหลายพื้นที่ขณะนี้” อรรถพรกล่าวย้ำ

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ