ข่าว

"แอพ"ทางการเกษตรกับเกษตรกรไทย ตอน2

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์ - ทำกินถิ่นอาเซียน โดย - รศ.ดร.พิชัย ทองดีเลิศ  [email protected]

 

                   ครั้งที่แล้วผมพูดถึงเรื่องของ “แอพพลิเคชั่น” ทางการเกษตรแบบภาพรวมทั่วๆ ไปรวมถึงประโยชน์ที่ได้จากการใช้งาน ความทันสมัยและทันต่อสถานการณ์แวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป เคยมีเพื่อนๆ ที่อยู่นอกวงการเกษตรถามผมว่า แอพพลิเคชั่นที่ทำกันขึ้นมาจะเหมาะกับเกษตรไทยหรือ แล้วเกษตรกรตัวจริงเสียงจริงเขาจะใช้กันได้หรือเปล่า การไปถามข้อมูลจากคนหรือหน่วยงานจะสะดวกและเหมาะสมกับเกษตรไทยเรามากกว่าหรือเปล่า 

               ซึ่งก็เป็นคำถามที่ตรงๆ สั้นๆ แต่ได้ใจความตามลักษณะของคนทั่วไปที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตรสงสัยในความเป็นจริงแล้วทั้งการวิจัยและการสำรวจโดยหลายๆ หน่วยงานจะพบว่าเกษตรกรไทยส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุและมีประสบการณ์ในการทำการเกษตรค่อนข้างมากเรียกได้ว่าเป็นเกษตรกรโดยอาชีพและก็เป็นมืออาชีพในการทำการเกษตร ซึ่งเกษตรกรกลุ่มนี้ทำการเกษตรจากประสบการณ์ของตัวเองจริงทั้งร่ำรวยและล้มเหลวก็เจอมาหมดแล้ว 

                 แก้ปัญหาในการทำการเกษตรแบบสารพัดวิธีทั้งจากภูมิปัญญาของตนเองและคำแนะนำจากการส่งเสริม สุดแท้แต่ว่าสถานการณ์แบบไหนจะใช้วิธีการอย่างไร นั่นคือภาพในอดีตนะครับ ช่วงที่ยังไม่มีเรื่องโลกร้อนและภาวะอากาศเปลี่ยนแปลง รวมถึงเรื่องเรื่องของฤดูกาลสับสนที่ทุกวันนี้เอาแน่ไม่ได้ ทั้งฝนตก แดดออก น้ำท่วม ขาดน้ำ มรสุม เจอสถานการณ์แบบนี้ต่อให้เป็นเกษตรกรมืออาชีพขนาดไหนก็ยากจะจัดการไขปัญหาที่เกิดขึ้นตามมาได้ยาก 

                 ในช่วงหลังๆ เวลาผมลงพื้นที่และมีโอกาสได้พูดคุยกับเกษตรกร ทำให้เห็นภาพว่าแม้จะเป็นเกษตรกรที่สูงอายุแต่ก็รู้เรื่องและสนใจพวกสารสนเทศทางการเกษตรอยู่บ้าง อย่างพวกราคาสินค้าเกษตร การพยากรณ์อากาศ การระบาดของศัตรูพืช นโยบายการเกษตร ซึ่งเป็นการสนใจโดยที่ไม่มีใครไปบังคับ แต่เป็นการสนใจเพราะว่าในช่วงหลังๆ เจอปัญหาแบบนี้ซ้ำๆ ซากๆ ทำให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิตและปัจจัยการผลิตที่ลงทุนลงแรงไป 

                  เรียกได้ว่าเป็นการตื่นตัวที่จะรู้สารสนเทศแบบมาจากความต้องการของตนเองเพื่อประโยชน์ของตนเอง ถือเป็นความต้องที่แท้จริงในการใช้สารสนเทศเพื่อการทำการเกษตรของตนเอง แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นการใช้งานตลอดและสม่ำเสมอ แต่เป็นการใช้ในช่วงที่ประสบปัญหาหรือได้ข่าวคราวมาว่าจะมีปัญหา แต่ผมได้ยินแล้วก็สบายใจว่าเกษตรกรไทยบางส่วนทุกวันนี้ไม่ได้เป็นประเภทตั้งรับรอปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้น แต่ปรับเปลี่ยนมาเป็นประเภททราบปัญหาล่วงหน้าและเตรียมการหาวิธีป้องกันหรือทำให้ปัญหาที่จะเกิดขึ้นเบาบางลง 

                 เกษตรกรอาวุโสหลายๆ ท่าน บอกผมว่าก็ได้ประโยชน์จากแอพพลิเคชั่นต่างๆ บนโทรศัพท์นี่แหละ มากบ้างน้อยบ้างเท่าที่ดูรู้เรื่อง บางทีก็ถามเด็กๆ หรือคนที่พอรู้เอา ซึ่งแอพพลิเคชั่นการเกษตรที่เกิดขึ้นในยุคหลังๆ นี่ ส่วนใหญ่ผมว่าใช้งานค่อนข้างง่ายขึ้นเยอะ เพราะในยุคก่อนส่วนใหญ่พวกเมนูการใช้งานต่างๆ จะป็นภาษาอังกฤษ หรือเป็นอังกฤษปนไทยบวกกับพวกสัญลักษณ์ที่เข้าใจยากพอสมควร 

       

            แต่ทุกวันนี้ผมว่าคนสร้างแอพพลิเคชั่นเริ่มรู้จักและเข้าใจกลุ่มคนใช้งานมากขึ้น ดังนั้นเรื่องยากๆ จึงกลายเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น ประกอบกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นเอื้ออำนวยให้คนทำแอพพลิเคชั่นทำงานได้ง่ายขึ้น เราจึงเห็นแอพพลิเคชั่นทางการเกษตรเกิดขึ้นและเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และก็แข่งกันทำให้ใช้งานได้ง่ายขึ้นแต่มีข้อมูลและประโยชน์เพิ่มมากขึ้น โดยประโยชน์ตรงนี้ตกอยู่กับเกษตรกรและผู้สนใจที่ต้องการใช้งานอย่างแท้จริง เรามักจะได้ยินกันบ่อยว่า” ของฟรีของดีมักไม่มีในโลก” 

               ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่าแอพพลิเคชั่นบางตัวจะให้ใช้งานฟรีได้ตลอดไป บางตัวให้ลองใช้งานไประยะหนึ่งแล้วถึงเก็บค่าบริการ หรือบางตัวที่มั่นใจว่าดีจริงก็จะเก็บค่าบริการเลย ประเด็นนี้ผมมองว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นการลงทุนและมีต้นทุน ของดีและฟรีมักถูกมองว่าไม่มีคุณค่า แต่ถ้าเราลองมองแบบสองด้านว่าเกษตรกรเห็นความสำคัญของแอพลิเคชั่นและผู้สร้างแอพพลิเคชั่นก็เข้าอกเข้าใจเกษตรกรก็น่าจะทำให้ให้เกิดประโยชน์และรายได้รวมถึงความสบายใจกันทุกฝ่ายครับ!

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ