ข่าว

"แอพ"ทางการเกษตรกับเกษตรกรไทย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์ - ทำกินถิ่นอาเซียน โดย - รศ.ดร.พิชัย ทองดีเลิศ  [email protected] 

 

                 เมื่อสัปดาห์ที่แล้วผมได้คุยกับเพื่อนๆ ในแวดวงการเกษตรในเรื่องสภาพการเกษตรในเมืองไทย ท้ายที่สุดก็มีประเด็นหนึ่งที่ดูจะคุยกันเป็นจริงเป็นจังและดูว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวเกษตรกรไทยขึ้นทุกวันและหลายๆ ท่านก็คงมีโอกาสสัมผัสและได้ใช้กันไปบ้าง ในทุกวันนี้เรียกได้ว่าเป็นยุคทองของบรรดาแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนอย่างแท้จริง 

              เพราะผู้ที่ใช้สมาร์ทโฟนส่วนใหญ่มีการใช้งานการคุยด้วยเสียงลดลง โดยมีการใช้งานด้านการรับส่งเป็นข้อมูลและข้อความเสียมากกว่า ซึ่งแทบจะกลายเป็นพฤติกรรมส่วนใหญ่ของคนสมัยนี้ไปเลยทีเดียว ดังนั้นแอพพลิเคชั่นที่อยู่ในสมาร์ทโฟนจึงเป็นสิ่งที่ตอบสนองความต้องการและการใช้งานได้สะดวกและมีการขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว

             ในยุคแรกๆ ผมจะเห็นเป็นแอพพลิเคชั่นที่เกี่ยวกับความบันเทิง และการให้บริการทางธุรกิจ และอำนวยความสะดวกในการดำเนินชีวิตประจำวันค่อนข้างมาก โดยมีผู้บริการทั้งแบบทำกันในรูปของบริษัทและเก็บค่าบริการกันอย่างชัดเจน นอกเหนือจากนั้นก็จะมีประเภทสมัครเล่นที่ชอบคิดชอบทำมาให้ใช้กันฟรีๆ หรือให้ทดลองใช้และถ้าดีจริงก็ค่อยเสียค่าบริการและใช้กันแบบจริงจังกันต่อไป

             ช่วงหลังๆ แอพพลิเคชั่นที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรเริ่มเกิดขึ้นเรื่อยๆ มีทั้งของไทยของต่างประเทศ ทั้งหน่วยงานของรัฐและเอกชน สถาบันการศึกษา รวมถึงนักพัฒนาแอพพลิเคชั่นแบบอิสระก็เข้ามาร่วมด้วยช่วยกันสร้างแอพพลิเคชั่นขึ้นมากมายครอบคลุมเรื่องของความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับการเกษตรในหลายสาขา ซึ่งถ้ามองในภาพรวมก็น่าจะเป็นเรื่องดีสำหรับภาคการเกษตรของเราที่มีแหล่งทรัพยากรทางความรู้และความช่วยเหลือทางการเกษตรรองรับและการสนับสนุนขึ้นมากมายให้เป็นทางเลือกในการใช้งานได้อย่างตรงความต้องการและเลือกใช้กันได้ตามอัธยาศัย 

             แต่ถ้ามองในอีกด้านหนึ่งวลีที่ที่มีการกล่าวถึงการพูดถึงในยุคนี้ที่ว่า information overload ก็คือสารสนเทศมีจำนวนมากจนล้นเกินความต้องการ หรือมีสารสนเทศเกินความจำเป็น มีสารสนเทศที่ถูกบ้างผิดบ้างปนๆ กันไป มีสารสนเทศที่ไม่มีการปรับปรุงและปรับเปลี่ยนให้ทันสมัยตามเวลาที่เปลี่ยนไป ตรงจุดนี้อาจทำให้เกิดผลลบในอีกด้านต่อผู้ที่ใช้แอพพลิเคชั่นทางการเกษตร ซึ่งในสถานการณ์ในเมืองไทยเราตอนนี้ดูแล้วว่าในหน่วยงานไหนไม่มีแอพพลิเคชั่น ให้บริการสารสนเทศการเกษตรก็จะไม่ทันสมัยและทันต่อสถานการณ์ 

              ดังนั้นจึงทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความตั้งใจในการสร้างแอพพลิเคชั่นขึ้นมาเพื่อให้บริการกันถ้วนหน้า ซึ่งถ้าลองเปิดสมาร์ทโฟนแล้วค้นดูแอพพลิเคชั่นที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรจะพบว่ามีให้บริการอย่างหลากหลาย ตั้งแต่เรื่องการปลูก การดูแลรักษา การวิเคราะห์พื้นที่ การแปรรูป การตลาด การพยากรณ์อากาศและผลผลิต นอกจากจากนี้การวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ก็จะชัดเจนเป็นแบบจำลองที่เข้าใจได้ง่ายและได้ข้อมูลที่เป็นเรียลไทม์ ทันต่อสถานการณ์ในขณะนั้นจริงๆ ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เป็นผลมาจากเทคโนโลยีดิจิทัลที่พัฒนาขึ้นไปทุกวัน

 

           ถ้าเป็นเมื่อยุคก่อนเราคงต้องทำสิ่งเหล่านี้กันบนเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่และประสิทธิภาพสูง แต่ในทุกวันนี้สามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้บนสมาร์ทโฟนขนาดเล็กๆ ที่เราใช้กันอยู่และทุกวันนี้เกษตรกรส่วนใหญ่ก็ใช้สมาร์ทโฟนกันเป็นเรื่องปกติในชีวิต ทั้งดูข้อมูลข่าวสาร ความบันเทิง การสนทนาพูดคุย การสร้างกลุ่มสร้างเครือข่ายทางสังคมเกษตร หากเราสามารถสนับสนุนให้เกษตรกรได้รู้จักและสร้างความสนใจให้สามารถใช้แอพพลิเคชั่นต่างๆ ได้มากขึ้น ก็น่าจะเป็นสิ่งที่คุ้มค่ากับการสร้างแอพพลิเคชั่นทางการเกษตรของหน่วยงานต่างๆ ที่ลงทุนงบประมาณในการพัฒนากันไปไม่ใช่น้อย

               ตรงนี้นับว่าเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรไทยอย่างมาก ถ้าหากรู้จักวิธีการเลือกแอพพลิเคชั่นและใช้อย่างเหมาะสมตรงกับความต้องการและการนำผลที่ได้ไปปรับใช้กับการทำการเกษตรของตน รวมถึงการรู้เท่าทันสารสนเทศทางการเกษตรที่ได้รับก็จะเป็นความคุ้มทุนและคุ้มค่ากับแอพพลิเคชั่นทางการเกษตรที่ทุกหน่วยงานได้ทุ่มเทช่วยสร้างกันขึ้นมาเพื่อภาคเกษตรไทยของเรา

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ