ข่าว

"บิ๊กฉัตร"ลงพื้นที่เขื่อนอุบลรัตน์จี้ทุกหน่วยเตรียมแผนรับมือ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"บิ๊กฉัตร" ลงพื้นที่เขื่อนอุบลรัตน์ จี้ทุกหน่วยเตรียมแผนรับมือ หลังประเมินน้ำน้อยใกล้เคียงปี'58

 
             พลเอก ฉัตรชัย พร้อมเลขา สทนช. ลงพื้นที่เขื่อนอุบลรัตน์ ถกหน่วยเกี่ยวข้องหามาตรการแก้ไขผลกระทบก่อนแล้งเยือนล่วงหน้า หลังพบปริมาณน้ำในเขื่อนมีเพียง 35% ยันไม่กระทบน้ำอุปโภค-บริโภค-ระบบนิเวศ พร้อมเร่งแจ้งเตือนเกษตรกรปรับแผนผลิต
     


               วันที่ 9 ต.ค. 61  พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายสมเกียรติ  ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การบริหารจัดการน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ และประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งในปี 2561/62 ล่วงหน้าก่อนประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบ ณ เขื่อนอุบลรัตน์ ต.อุบลรัตน์ อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ที่เป็นแหล่งน้ำสำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยปัจจุบันมีปริมาณน้ำในเขื่อน ณ วันที่ 8 ต.ค. 61 จำนวน 871 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 36 มากกว่าปี 2558 ซึ่งเป็นปีที่มีปริมาณน้ำในเขื่อนน้อยเพียง 28 % ซึ่งในเบื้องต้นการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนต้องดำเนินการอย่างระมัดระวัง โดยความต้องการใช้น้ำเขื่อนอุบลรัตน์ในช่วงฤดูแล้ง ปี 2561/62 (พ.ย. 61 - เม.ย. 62) รวม 446 ล้าน ลบ.ม. แยกเป็น น้ำอุปโภคบริโภค 123 ล้าน ลบ.ม., น้ำรักษาระบบนิเวศ 37 ล้าน ลบ.ม., น้ำเพื่ออุตสาหกรรม 20 ล้าน ลบ.ม. รวมถึงการระเหยหรือรั่วซึมอีก 266 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งคาดว่าจะไม่มีน้ำเพียงพอที่จะสนับสนุนภาคการเกษตร 
               ขณะที่ปริมาณน้ำใช้การ ณ วันที่ 1 พ.ย. 61 ซึ่งถือว่าสิ้นฤดูฝน คาดว่าจะมีน้ำใช้การได้ 350 ล้าน ลบ.ม. ดังนั้น ในฤดูแล้งนี้อาจจะต้องใช้น้ำจาก Dead Storage 96 ล้าน ลบ.ม.ดังนั้น ได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการป้องกันและบรรเทาผลกระทบ ทั้งแผนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยการแก้ปัญหาระยะสั้น ต้องเร่งระดมการปฏิบัติการฝนหลวงเติมน้ำ วางแผนจัดสรรน้ำให้เพียงพอสำหรับอุปโภคบริโภค น้ำรักษาระบบนิเวศ น้ำเพื่อการเกษตรต่อเนื่อง และต้องแจ้งเตือนเกษตรกรล่วงหน้า และส่งเสริมอาชีพอื่นๆ ทดแทนรายได้ เพื่อให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด อย่าให้เกษตรกรลงทุนเสียเปล่า ต้องเตรียมการช่วยเหลือในทุกวิถีทาง 
                ส่วนการแก้ไขปัญหาระยะกลางในปี 2562 จะต้องมีการปรับเกณฑ์เก็บกักน้ำ (Rule Curve) ให้มีความยืดหยุ่นสอดคล้องกับสภาพอากาศในแต่ละปี โดยมี สทนช. ทำหน้าที่กำกับการบริหารจัดการในภาพรวม ขณะที่แผนระยะยาวจะต้องวางแผนปรับเพิ่มความจุเขื่อนอุบลรัตน์ และ เพิ่มการผันน้ำจากแม่น้ำโขงมาเขื่อนอุบลรัตน์ ผ่านโครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง ซึ่งอยู่ในแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำอยู่แล้วโดยทุกหน่วยต้องเตรียมแผนงาน มาตรการรองรับและบูรณาการทำงานร่วมกัน เพื่อให้ผ่านวิกฤตไปได้  โดยมอบให้ สทนช. เป็นหน่วยงานกลางในการกำกับดูแล
              พลเอก ฉัตรชัย กล่าวว่า การวางบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้ง จะต้องทำอย่างเป็นระบบ โดยปีหน้ามีแนวโน้มเข้าสู่แอลนิโญ ที่จะส่งผลทำให้ฝนตกน้อย ซึ่งเราจะต้องวางแผนการบริหารจัดการน้ำในระยะยาว โดยมองอนาคตและใช้ข้อมูลที่มีอยู่ของทุกหน่วยงาน รวมทั้งนำผลการศึกษาในอดีตมาประเมินและวิเคราะห์ร่วมด้วย          ณ ปัจจุบัน ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มี 2 เขื่อน ที่น่าเป็นห่วง คือ เขื่อนอุบลรัตน์และเขื่อนลำนางรอง จึงอยากให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมแผนการบริหารจัดการน้ำในฤดูแล้งไว้ล่วงหน้า โดยเฉพาะในพื้นที่จะต้องรายงานสถานการณ์อย่างตรงไปตรงมาและรวดเร็ว รวมทั้งบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แม้ว่า ปริมาณน้ำในเขื่อนจะเหลืออยู่ที่ 36% แต่มั่นใจว่า รัฐบาลจะสามารถบริหารจัดการน้ำให้สามารถผ่านพ้นวิกฤติแล้งนี้ไปได้ ซึ่งจะต้องให้ข้อมูลข่าวสารที่มีความถูกต้อง รวมทั้งแนวทางการช่วยเหลือให้กับประชาชนไว้ล่วงหน้า เพื่อประชาชนจะสามารถเตรียมการป้องกัน ลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นให้น้อยที่สุด
           ด้านนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เปิดเผยว่า สทนช. ได้มอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งรับผิดชอบเขื่อนใหญ่ ปรับแผนการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมกับสถานการณ์ เพราะช่วงหลังจาก 15 ต.ค. ไปแล้ว ปริมาณฝนจะลดน้อยลง จึงควรพิจารณาเก็บน้ำไว้ในเขื่อนให้มากที่สุดโดยลดการระบายน้ำลง ซึ่งจากข้อมูลสถานการณ์น้ำพบว่าเขื่อนอุบลรัตน์ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ปัจจุบันมีปริมาณน้ำในเขื่อนอยู่ที่ 36 % ซึ่งหากปริมาณฝนลดลงตามการคาดการณ์ เขื่อนอุบลรัตน์จะต้องวางแผนปรับลดการระบายน้ำให้สามารถรับมือกับภัยแล้งได้ไปตลอดจนถึงช่วงต้นฤดูฝนหน้า
    
 
    
    

       อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นเพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดความเสียหายในช่วงฤดูแล้งของปี 2561 ต่อ 2562 จนกว่าฝนใหม่จะมา สทนช. ได้มอบหมายให้มีการจัดทำแผนบูรณาการร่วม เพื่อรับมือกับสถานการณ์ โดยในส่วนของเขื่อนอุบลรัตน์ได้ประเมินสถานการณ์และวางแผนปรับลดการระบายน้ำลง พร้อมกันนี้กรมชลประทานเองก็จะนำแนวทางการรับมือกับภัยแล้งในปี 2559 มาใช้ ซึ่งคาดว่าน้ำจะใช้การหมดในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน และใช้น้ำที่ต่ำกว่า dead storage ในช่วงกลางตุลาคมนี้ และจะระดมความร่วมมือของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำจังหวัดขอนแก่น โดยประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง ประมง ปศุสัตว์ เกษตร อุตสาหกรรม และสิ่งแวดล้อม เพื่อกำหนดมาตรการงดนาปรัง ลดการเลี้ยงปลากระชัง เฝ้าระวังคุณภาพน้ำพอง  กำจัดผักชวาที่ขวางทางระบายน้ำ รวมถึงร่วมกันบริหารจัดการน้ำโดยใช้น้ำท่าธรรมชาติเป็นหลัก โดยสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติจะกำกับ ติดตาม เพื่อสรุปข้อมูลรายงานต่อรองนายกรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีต่อไป

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ