ข่าว

"ฟิโลหูช้าง"ใบมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ตอน5

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์ - ไม้ใบทำเงิน โดย - อุดม ฐิตวัฒนะสกุล   [email protected] 

 

          ฟิโลหูช้าง(Philodendron giganteum) หรือ Giant Philodendron ไม้เลื้อยใบใหญ่ที่คนทั่วไปให้ความสำคัญ อย่างที่ไม่มีไม้ชนิดอื่นจะใช้ปลูกประดับได้อย่างเสมอเหมือน และที่ผ่านมาไม้ชนิดนี้ได้รับกระแสให้เกิดการปลูกจนไปสู่การใช้งานได้อย่างดี ทำให้ไม้กลุ่มนี้เป็นที่รู้จักมากขึ้น จะด้วยขนาดและลักษณะของใบที่ดูใหญ่โต เป็นแผ่นเกือบเรียบ ขอบใบหยักริ้วเป็นลอนดูคล้ายกับใบหูของช้าง จึงมีการเรียกให้ได้จดจำได้โดยง่ายในกลุ่มเฉพาะคนปลูกเลี้ยง และมีการเรียกขานที่กว้างออกไปเรื่อย ๆ จากการค้าและการใช้จนขยายมากขึ้นอย่างเป็นที่ยอมรับในชื่อและส่วนการนำมาใช้งาน

"ฟิโลหูช้าง"ใบมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ตอน5

              นับได้ว่าเป็นไม้ประดับที่สวยแปลกสะดุดตาอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งฟิโลหูช้างนี้มีลำต้นที่ทอดเลื้อยและต้องอาศัยหลัก หากจะปลูกเป็นไม้กระถางคงได้เพียงช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น หากใส่หลักเพื่อเพิ่มพื้นที่ให้ลำต้นได้อิงอาศัยก็จะช่วยให้เพิ่มอายุการใช้งานประดับได้ด้วยเช่นกัน ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมที่เรากำหนด ซึ่งบางครั้งเรามักใช้เสาหรือต้นไม้ก็ทำให้ฟิโลต้นนี้มีพื้นที่เฉพาะและเติบโตขึ้นได้เป็นอย่างดี โดยการปลูกในครั้งแรกควรผูกยึดต้นให้ยอดแนบกับหลักที่เราต้องการก่อน จากนั้นรากที่ออกตามข้อจะยึดเกาะได้เองไปตลอดช่วงเวลาที่เจริญเติบโต 

               ฟิโลชนิดนี้มักปลูกประดับในพื้นที่ที่มีขนาดกว้างพอควร ซึ่งจะให้ใบกว้างและใหญ่พอควร ซึ่งก็จะปกคลุมไปตามแนวของลำต้นที่มีการเจริญเติบโตตามไปด้วยอย่างไม่ทิ้งใบล่างโดยง่าย แต่หากเป็นการปลูกเพื่อตัดใบสำหรับจำหน่ายหรือใช้ตบแต่งด้วยแล้วคงต้องใส่ใจในรายละเอียดเรื่องความเหมาะสมในด้านต่าง ๆ ทั้งจำนวนต้นที่ปลูกต่อจุด ซึ่งอาจจะต้องมีมากกว่าหนึ่งต้น รวมถึงระยะความห่างระหว่างจุดปลูกที่ต้องพอดีกับสภาพแวดล้อมของเรา มิฉะนั้นอาจเกิดปัญหาต่างๆตามมาก็เป็นได้ ด้านการพรางแสงที่พอดีโดยอาจจะให้ได้รับแสงจากธรรมชาติมากสักหน่อย หากได้รับแสงน้อยเกินไปคุณภาพของใบก็จะด้อยลงไปด้วย การผลิตที่มีประสิทธิภาพก็จะช่วยส่งผลไปถึงคุณภาพของผลผลิตด้วยเช่นกันนั่นเอง

              ในการควบคุมทรงต้นให้อยู่ในวิสัยของการเก็บเกี่ยวใบ ความสูงก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยในการจัดการให้ได้ผลผลิตที่ดี โดยทั่วไปเรามักใช้วิธีการปลูกขึ้นใหม่ หากเราเรียนรู้ว่าช่วงเวลาที่เราปลูกนั้นผลผลิตจะขาดช่วงไปเลย เราจึงต้องใช้เทคนิคการตัดต้นแทน เพื่อให้ได้ต้นรุ่นใหม่จากต้นตอเดิมโดยทำการตัดเหนือพื้นดินไม่มากนักราว 35-50 ซ.ม. ก่อนที่ยอดเดิมจะสูงเกินไป หากปลูกภายใต้สแลน(ตาข่ายพรางแสง) ก็ควรตัดด้วยวิธีดังกล่าวก่อนที่ต้นจะสูงชนสแลน 

               ซึ่งการตัดแบบนี้จะไม่ส่งผลถึงการเจริญเติบโต รวมถึงคุณภาพใบก็ยังได้คงเดิมและส่วนยอดก็ยังสามารถให้ใบได้ต่อเนื่องต่อไปได้อีกด้วย อันเนื่องจากจำนวนรากที่มากยังคงดูดซับความชื้นและสารอาหารได้เหมือนเดิม และด้วยการที่มีลำต้นขนาดยาวก็ยังคงเก็บสะสมอาหารไว้อย่างมากพอด้วยเช่นกัน ส่วนต้นตอที่ถูกตัดจากกันในส่วนล่างก็จะเกิดยอดขึ้นมาได้ใหม่ตรงปลายที่ถูกตัดในช่วงระยะเวลาหนึ่งค่อย ๆ โตไล่รุ่นขึ้นไป พร้อมที่จะให้ผลผลิตอย่างต่อเนื่องโดยไม่ต้องรื้อปลูกใหม่เลย

 

"ฟิโลหูช้าง"ใบมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ตอน5

               ถิ่นกำเนิดของพืชกลุ่มฟิโลโดยส่วนใหญ่มักพบเห็นในดินแดนอเมริกากลางลงไปถึงอเมริกาใต้ ซึ่งฟิโลหูช้างชนิดนี้มีการพบในพื้นที่ที่น้อยคนจะรู้จักแถบทะเลแคริบเบียน เป็นเกาะเล็กๆเรียก สหพันธรัฐเวสต์อินดีส์(West Indies) ซึ่งทุกวันนี้มีการกระจายตัวมากจากการค้าแบบไร้พรมแดน แต่ปริมาณยังคงมีไม่มากนัก ด้วยความสามารถในการผลิตรวมถึงต้องใช้พื้นที่ในการจัดวางที่ต้องมีอย่างพอควรอันเนื่องมาจากขนาดใบที่แผ่ใหญ่จึงเป็นข้อจำกัดของการผลิตนั่นเอง

         

 

                 การที่จะผลิตพืชชนิดนี้ให้ได้ต้นที่เล็กสะดวกต่อการจัดวางให้ได้จำนวนมากหรือการขนส่งที่สะดวก คงต้องใช้เทคนิควิธีการตัดยอดแยกชำ และทำให้เกิดตาข้างพร้อม ๆ กันตามแต่ละข้อของลำต้น ด้วยการใช้ฮอร์โมนไซโตไคนิน(Cytokinin)สเปร์ยที่ต้นจะช่วยชักนำให้เกิดตายอดได้ดี จากนั้นจึงตัดชำเมื่อมีความพร้อมโดยคอยให้มีใบอย่างน้อย 2-3 ใบ ใช้วัสดุที่เหมาะสม ปลูกเลี้ยงจนแข็งแรงก็สามารถจำหน่ายต้นขนาดเล็กได้ หรือจะใช้ปลูกก็สามารถทำได้ด้วยเช่นกัน หากจะเลี้ยงให้มีขนาดใหญ่ต่อไปควรให้ธาตุอาหารที่เหมาะสม ด้วยการผลิตแบบนี้คงต้องมีทิศทางการวางแผนที่ดีเพื่อให้สอดคล้องต่อการตลาด 

              และด้วยไม้ประดับที่มีชื่อว่า หูช้าง อาจไม่ใช่มีแค่ฟิโลชนิดนี้เพียงอย่างเดียว การที่ได้ผลิตไม้ในทิศทางที่ถูกต้องตรงความต้องการของตลาดนั้น วันนี้อาจต้องเลือกให้เหมาะกับเราเป็นสำคัญนะครับ!

 

"ฟิโลหูช้าง"ใบมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ตอน5 "ฟิโลหูช้าง"ใบมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ตอน5 "ฟิโลหูช้าง"ใบมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ตอน5 "ฟิโลหูช้าง"ใบมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ตอน5 "ฟิโลหูช้าง"ใบมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ตอน5 "ฟิโลหูช้าง"ใบมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ตอน5

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ