ข่าว

เสียงครวญจากชาวสวนมะพรา้ว"ทับสะแก"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เสียงครวญจากชาวสวน "ทับสะแก"  "กลไกรัฐ" บิดเบี้ยวทำราคามะพร้าวตก   

 

     จับตาการประชุมคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืชที่มีรองนายกรัฐมนตรี "สมคิด จาตุศรีพิทักษ์" เป็นประธานในวันที่ 3 ต.ค.ว่าจะมีมาตรการเร่งด่วนอะไรออกมาหรือไม่ในการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนมะพร้าวที่กำลังได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักจากปัญหาราคามะพร้าวตกต่ำในขณะนี้ โดยราคาจำหน่ายหน้าสวนใน อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ ในเดือนกันยายน 2561 เหลือแค่ 4.65 บาทต่อผล ซึ่งต่ำกว่าต้นทุนอยู่ที่ 5.33 บาทต่อผล แต่หากให้ชาวสวนอยู่ได้ราคาจะต้องไม่ต่ำกว่า 8-10 บาท

     เห็นได้จากการวิพากษ์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวของ เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ระบุการตกต่ำของราคามะพร้าวในขณะนี้นับเป็นเหตุการณ์ที่ชาวสวนมะพร้าวและหลายๆ คน ไม่ได้คาดฝันไว้ก่อน เพราะเมื่อ 7 เดือนที่แล้ว ในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังแนะนำให้ชาวปัตตานี ปลูกมะพร้าวแทนยางอยู่เลย วันนั้นราคาของมะพร้าวที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยในเดือนพฤศจิกายน 2560 เท่ากับ 17.10 บาทต่ผล แต่วันนี้มะพร้าวหน้าสวนกลับอยู่ที่ราคา 4-5 บาทต่อผลเท่านั้น

     "เดือดร้อนหนักมากครับปีนี้ ราคาลงมาอยู่ที่ 4 บาทกว่าต่อผล ยังต่ำกว่าต้นทุนอีก ถามว่าราคาเท่าไหร่ชาวสวนจึงจะอยู่ได้ก็ต้องไม่ต่ำกว่า 8-10 บาท" เสียงสะท้อนกับ "คม ชัด ลึก" จากเกษตรกรชาวสวนมะพร้าวและเลขากลุ่มเครือข่ายพลังทับสะแก ต.ทับสะแก อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ “ดิเรก จอมทอง” ซึ่งเป็นแหล่งปลูกมะพร้าวกะทิมากที่สุดในประเทศไทยประมาณ 50 ล้านลูกและกว่า 35% มีแหล่งผลิตอยู่ใน จ.ประจวบคีรีขันธ์

     โดยปัญหาดังกล่าวเป็นผลมาจากกระทรวงพาณิชย์ได้เปิดให้มีการนำเข้ามะพร้าวในปีที่ผ่านมาเพื่อให้เอกชนผลิตและแปรรูปเพื่อการส่งออก  ซึ่งที่ผ่านมาไทยมีปัญหาโรคแมลงหนอนหัวดำระบาดทำให้มะพร้าวได้รับความเสียหาย ไม่เพียงพอต่อความต้องการในอุตสาหกรรมมะพร้าว

       จากข้อมูลกระทรวงพาณิชย์ระบุชัดในปี 2561 ยังคงนำเข้ามะพร้าวอย่างต่อเนื่อง โดยช่วงระหว่างพฤศจิกายน 2560 ถึงพฤษภาคม 2561 มีการนำเข้ามะพร้าว 500 ล้านผล หรือประมาณ 5 แสนตัน มากกว่าการบริโภคของประชากรหลายเท่า นอกจากนี้ยังมีการนำเข้ามะพร้าวแห้ง 194,251.62 ตัน มูลค่า 1,689.50 ล้านบาทมะพร้าวฝอย 1,438.64 ตัน มูลค่า 108.40 ล้านบาท น้ำกระทิสำเร็จรูป 21,569.50 ตันมูลค่า 870.62 ล้านบาท และส่งออกประมาณ 136,483.87 ตัน หรือมูลค่า 7,147.41 ล้านบาท โดยตลาดส่งออกที่สำคัญได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน ออสเตรเลีย และฮ่องกง

       “ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากการบิดเบี้ยวของกลไกภาครัฐ เอาง่ายๆ แค่ข้อมูลตัวเลขผลผลิตในประเทศ กระทรวงพาณิชย์กับกระทรวงเกษตรก็ถือกันคนละข้อมูล พาณิชย์ยึดข้อมูลเดิมเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ตอนหนอนหัวดำระบาดหนักทำลายต้นมะพร้าวทำให้ผลผลิตลดลงจริง แต่ช่วง 2-3 ปีมานี้กระทรวงเกษตรได้เร่งแก้ปัญหาโรคระบาดในมะพร้าวได้ผลจนผลผลิตออกมาอย่างเต็มที่ แต่พาณิชย์ยังยึดตัวเลขเดิม สั่งนำเข้าเท่าเดิม ลองไปดูนำเข้ามะพร้าวของปีที่แล้วเทียบกับปีนี้สิ ตัวเลขไม่แตกต่างกันเลย” ดิเรกยืนยัน

       ก่อนหน้านี้ "อดุลย์ โชตินิสากรณ์" อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) ก็ออกมาโต้แย้งในประเด้นดังกล่าว โดยระบุว่ากรมมีการตรวจสอบแล้ว พบว่าอาจมีความคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง เพราะเมื่อพิจารณาสถิติการนำเข้าในช่วง 8 เดือนของปี 2561 (ม.ค.-ส.ค.) มีการนำเข้ามะพร้าวจากต่างประเทศปริมาณ 195,303 ตัน ลดลง 27.03% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีการนำเข้า 268,672 ตัน ซึ่งการนำเข้าอาจจะไม่ใช่สาเหตุหลักตามที่กลุ่มเกษตรกรมีความเข้าใจ

       แต่อาจมีความเป็นไปได้ว่าเป็นมะพร้าวที่มีแหล่งที่มาไม่ถูกต้อง ซึ่งกรมได้ประสานไปยังกรมศุลกากรเพื่อให้เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบการนำเข้ามะพร้าวแล้วส่วนการใช้มาตรการห้ามนำเข้าไม่สามารถทำได้ เพราะจะเป็นการขัดต่อพันธกรณีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะภายใต้องค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) จึงได้พิจาณาแนวทางออกอื่นที่มิใช่ภาษีเข้ามาใช้ในการชะลอการนำเข้าได้ 

       การลักลอบนำเข้าตามแถบชายแดนก็เป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลให้กดดันราคามะพร้าวของชาวสวนตกต่ำ แม้ที่ประชุมคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2561 เห็นชอบให้ชะลอการนำเข้ามะพร้าวชั่วคราว 3 เดือน ระหว่างเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม 2561 แต่ในความเป็นจริงก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาโดยรวมได้

        แม้ปัจจุบันรัฐบาลสั่งงดการนำเข้ามะพร้าว 3 เดือน ตั้งแต่เดือนสิงหาคมถึงตุลาคม แต่ราคามะพร้าวไทยยังไม่ปรับสูงขึ้น เพราะยังคงมีมะพร้าวเถื่อนลักลอบเข้ามา  ส่วนใหญ่เป็นมะพร้าวที่มีการลักลอบนำมาจากอินโดนีเซีย ซึ่งปลูกมะพร้าวอันดับ 9 ของโลก แต่เนื่องจากมาตรฐานการผลิตในประเทศอินโดนีเซียค่อนข้างต่ำทำให้โรงงานในไทยไม่ไปสร้างฐานผลิตในอินโดนีเซีย

         “วันนี้ก็ยังมีการลักลอบนำเข้ามะพร้าวอยู่นะ แต่ไม่เห็นทางการมีมาตรการจัดการอะไรได้เลย ไม่เชื่อก็ลองมาดูที่ทับสะแกสิ ทุกวันจะมีมะพร้าวผลสีดำๆ บรรทุกรถกระบะมากองไว้ตามล้งต่างๆ ในพื้นที่ทับสะแกและอำเภอต่างๆ ของประจวบฯ เขาบอกว่าเป็นมะพร้าวจากปัตตานี ลูกละ 2-3 บาท แต่แท้ที่จริงเป็นมะพร้าวเถื่อนที่ลักลอบนำเข้ามาจากอินโดฯ ส่วนอีกทางลำเลียงผ่านมาจากฝั่งเกาะสอง มีมาทุกวัน  โดยทางล้งก็จะซื้อมะพร้าวพวกนี้เพราะราคาถูกกว่าของเรามาก"       

        ทั้งนี้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) รายงานว่าปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกมะพร้าวจำนวน 1.099 ล้านไร่ มีผลผลิตประมาณ 8.6 แสนตัน ผลผลิตต่อไร่ 783 กิโลกรัม มีความต้องการใช้ในประเทศ 1.137 ล้านตัน ต้นทุน 3,333 บาทต่อไร่ ต้นทุน 4.206 บาทต่อกิโลกรัม และต้นทุน 5.33 บาทต่อผล โดยแหล่งปลูกที่สำคัญคือประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และปัตตานี โดยเฉพาะ จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีพื้นที่ปลูกมะพร้าวมากที่สุดในประเทศไทย ประมาณ 4.5 แสนกว่าไร่ โดยผลผลิตจะออกมามากในช่วงมิถุนายนถึงตุลาคมของแต่ละปี

 

         เลขาฯ กลุ่มเครือข่ายพลังทับสะแก อธิบายต่อว่า ชาวสวนจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือกลุ่มที่มีพื้นที่ปลูกมาก 30 ไร่ขึ้นไปส่วนใหญ่จะเก็บเกี่ยวผลผลิตส่งล้งมะพร้าวโดยตรง ซึ่งราคาก็จะได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ส่วนอีกกลุ่มเป็นเกษตรกรรายย่อยมีพื้นที่ปลูก 5-10  ไร่ เกษตรกรกลุ่มนี้จะเก็บเกี่ยวผลผลผิตมากองรวมไว้ที่สวนแล้วจะมีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อต่อเพื่อส่งล้งอีกทอดหนึ่ง ทำให้เกษตรกรกลุ่มนี้จะถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง เนื่องจากเขาไม่มีค่าใช้จ่ายพอสำหรับนำส่งขายล้งโดยตรง

           “ตอนนี้ล้งในทับสะแกมีมะพร้าวไม่ต่ำกว่า 7-8 ล้านลูก ซึ่งมีทั้งมะพร้าวในพื้นที่และจากต่างถิ่นเตรียมรอไว้แล้วหากรัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือออกมา พวกล้งต่างๆ ก็เตรียมตีปีก เอาแค่ส่วนต่างเศษสตางค์พวกล้งเหล่านี้ก็รับเละแล้ว ไม่ถึงมือเกษตรกรหรอก ดังนั้นถ้ารัฐบาลจะช่วยเหลือเกษตรชาวสวนจริงๆ ก็ต้องยึดตามรายชื่อเกษตรกรที่ลงทะเบียนไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตร มาตรการช่วยเหลือก็จะถึงตัวเกษตรกรโดยตรง เพราะในนั้นจะมีข้อมูลทั้งหมดว่าเกษตรกรรายใดมีพื้นที่ปลูกเท่าไหร่ ผลผลิตมากน้อยแค่ไหน ฉะนั้นการเตรียมนัดชุมนุมใหญ่ที่ทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 17 ตุลาคมนี้ ก็พอจะเดาได้ว่าใครอยู่เบื้องหลัง”

          อย่างไรก็ตามยังมีการเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาราคามะพร้าวในระยะยาวว่าจะต้องเข้าสู่ระบบแปลงใหญ่ โดยมีการรวมกลุ่มเป็นสหกรณ์ดูแลด้านการตลาดส่งผลผลิตให้บริษัทแปรรูปมะพร้าวโดยตรง ไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลางหรือล้งมะพร้าวที่มารับช่วงต่ออีกทอดหนึ่ง นอกจากนี้ยังเสนอหน่วยงานภาครัฐจัดสร้างตลาดกลางมะพร้าวที่ทับสะแก ซึ่งเป็นทางออกในการแก้ปัญหาราคามะพร้าวในระยะยาวด้วย 

    

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ