ข่าว

 สสก.3 พาดูความสำเร็จโครงการ "ไทยนิยม ยั่งยืน"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 สสก.3 พาตะลุยสวนไม้ผลภาคตะวันออก ดูความสำเร็จโครงการ "ไทยนิยม ยั่งยืน"

 

              การสร้างทักษะและส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตรเสริมสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรรายย่อยนั้นถือเป็นหนึ่งในโครงการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินการ ภายใต้โครงการไทยนิยม ยั่งยืน เพื่อให้เกษตรกรได้รับการเรียนรู้ สามารถปรับตัวอยู่กับบริบทของสังคม เศรษฐกิจ ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปในอนาคตได้อย่างยั่งยืนและสามารถพัฒนาต่อยอดเชิงธุรกิจ เกิดแนวทางการพัฒนาในรูปแบบของโครงการที่เกิดจากความร่วมมือของชุมชนอย่างแท้จริง 

              “ท่องโลกเกษตร” อาทิตย์นี้ตาม ชาตรี บุนนาค ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จ.ระยอง ไปดูแนวทางการส่งเสริมอาชีพและรายได้แก่เกษตรกรรายย่อยในพื้นที่ภาคตะวันออก ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรฯ โดยกรมส่งเสริมการเกษตรที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินโครงการดังกล่าวเพื่อเสริมทักษะทั้งด้านองค์ความรู้และเทคโนโลยีการผลิต ด้านการบริหารจัดการผลผลิต และการบริหารจัดการในเชิงธุรกิจ รวมถึงต้องส่งเสริมให้เกษตรกรรายย่อยสามารถเข้าถึงแหล่งความรู้และนวัตกรรมด้านการเกษตร 

                “เกษตรกรจะได้รับความรู้จากการอบรม การรวมกลุ่ม การคิดวิเคราะห์ การนำเสนอ ถือเป็นการติดอาวุธทางปัญญาให้แก่เกษตรกร สามารถนำไปปรับใช้ได้จริงในพื้นที่การเกษตรของตนเอง สร้างโอกาสในการต่อยอดความสำเร็จของโครงการต่างๆ กลุ่มเกษตรกรมีความเข้มแข็งมากขึ้น เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน สามารถแข่งขันในเชิงธุรกิจการตลาดยุคไทยแลนด์ 4.0 ได้”

                 ชาตรีเผยระหว่างนำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ดูการทำกิจกรรมของเกษตรกรในพื้นที่ จ.ระยอง โดยสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง และหน่วยงานในสังกัดภาคตะวันออกได้ร่วมกันแปลงนโยบายมาสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม มีหน้าที่กำกับดูแล ติดตาม พร้อมให้คำปรึกษาแนะนำการปฏิบัติงานของหน่วยงานต่างๆ ในระดับพื้นที่ ประกอบด้วยศูนย์ปฏิบัติการ 5 ศูนย์ และสำนักงานเกษตรจังหวัดทั้ง 9 จังหวัด ซึ่งมีหน้าที่ขับเคลื่อนงาน โดยการอบรมให้ความรู้ในหลักสูตรหรือวิชาที่มีความถนัด/เชี่ยวชาญ เน้นพัฒนาให้เกษตรกรรายย่อยมีการรวมกลุ่มกัน

               โดยการเรียนรู้ฐานวิธีคิด หลักการสำคัญของการรวมกลุ่ม การสร้างความเข้มแข็ง การเริ่มต้นการประกอบธุรกิจขนาดเล็ก การจัดแผนธุรกิจ การเลือกใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิต เพื่อลดต้นทุน และเพิ่มมูลค่าผลผลิต จนสามารถมองเห็นถึงช่องทางการดำเนินธุรกิจแบบกลุ่มและจัดทำโครงการ พร้อมเสนอแผนธุรกิจของกลุ่มเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานร่วมกันและเสนอโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุน ภายใต้กรอบโครงการ 9 ด้าน ได้แก่ ด้านการผลิตพืช/พันธุ์พืช ด้านการผลิตปุ๋ยอินทรีย์และการปรับปรุงบำรุงดิน ด้านการจัดการศัตรูพืช ด้านฟาร์มชุมชน ด้านการผลิตอาหารและการแปรรูปผลผลิต ด้านปศุสัตว์ ด้านประมง ด้านการผลิตแมลงเศรษฐกิจ และด้านการเกษตรด้านอื่นๆ

       "จังหวัดระยองมีจำนวนชุมชนทั้งหมด 72 ชุมชน ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจำนวน 70 ชุมชน ใน 8 ด้านกรอบโครงการ ซึ่งโครงการด้านการผลิตอาหารและแปรรูปผลผลิตและด้านผลิตปุ๋ยอินทรีย์และการปรับปรุงบำรุงดิน เป็นกรอบโครงการที่ได้รับการเสนอขอรับงบประมาณในลำดับต้นๆ ดังเช่นในพื้นที่อำเภอวังจันทร์ ประกอบด้วย 4 ชุมชน 14 กลุ่มย่อย เสนอขอรับงบประมาณใน 14 โครงการ แบ่งเป็นโครงการด้านผลิตปุ๋ยอินทรีย์และการปรับปรุงบำรุงดิน จำนวน 7 โครงการ โครงการด้านการผลิตอาหารและแปรรูปผลผลิตจำนวน 5 โครงการ โครงการด้านฟาร์มชุมชนและโครงการด้านการจัดการศัตรูพืช จำนวนด้านละ 1 โครงการ”

      สำหรับการดำเนินงานโครงการทั้ง 14 โครงการจะเน้นการลดต้นทุนการผลิต เพิ่มมูลค่าของผลผลิต ผู้ผลิตและผู้บริโภคปลอดภัยจากสารเคมี เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ตัวอย่างโครงการที่เห็นผลเป็นรูปธรรมชัดเจน ได้แก่ โครงการผลิตปุ๋ยอินทรีย์หมักชีวภาพของกลุ่มปุ๋ยหมักชีวภาพบ้านตะเคียนทอง โครงการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรบ้านหนองเขินและโครงการแปรรูปผลผลิตเกษตรของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรรุ่นใหม่ตำบลวังจันทร์

  “อย่างโครงการผลิตปุ๋ยอินทรีย์หมักชีวภาพของกลุ่มปุ๋ยหมักชีวภาพบ้านตะเคียนทอง เป็นโครงการที่เกิดจากการรวมกลุ่มของเกษตรกรในชุมชนวังจันทร์  ด้วยในพื้นที่อำเภอวังจันทร์มีการปลูกผลไม้และไม้ยืนต้น เป็นจำนวนมาก เกษตรกรส่วนใหญ่ใช้ปุ๋ยเคมีในการบำรุงรักษา ทำให้สภาพดินเกิดการเสื่อมโทรม จากการตรวจวิเคราะห์ดินทำให้ทราบว่าดินมีสภาพเป็นกรด ขาดอินทรียวัตถุที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช ส่งผลให้ผลผลิตต่อไร่ลดลงในขณะที่ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น เกษตรกรจึงมีความต้องการผลิตปุ๋ยหมักเพื่อใช้ในการเกษตร โดยมองว่าเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะสามารถลดต้นทุน”

 

               ผอ.สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 (ระยอง) ระบุว่าการเพิ่มผลผลิตต่อไร่โดยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ควบคู่ไปกับปุ๋ยเคมี ส่งผลให้ดินมีสภาพที่ดีขึ้น มีความสมบูรณ์ ผลผลิตมีคุณภาพ พืชผลทางการเกษตรทนทานต่อโรคและแมลงมากขึ้น และนอกจากจะผลิตเพื่อจำหน่ายให้สมาชิกในกลุ่มแล้ว ยังผลิตเพื่อจำหน่ายให้เกษตรกรในชุมชนวังจันทร์และชุมชนใกล้เคียงอีกด้วย ถือเป็นการสร้างรายได้ให้แก่สมาชิกเกิดเป็นเงินทุนหมุนเวียนภายในกลุ่มจากการดำเนินกิจกรรมดังกล่าวด้วย 

              อย่างไรก็ตามการพัฒนามุ่งให้เกษตรกรมีความเข้มแข็ง เพิ่มศักยภาพให้เกษตรกรในทุกมิติ ตอบโจทย์ในการสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่เกษตรกรให้สามารถพึ่งตนเองได้ในทุกๆ สถานการณ์ เน้นการสร้างความเข้มแข็งจากภายในในระดับฐานรากของระบบเกษตรกรรม สร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ในภาคการเกษตรต่อไป 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ