ข่าว

 "สทนช."เชื่อมศาสตร์แห่งน้ำพระราชา ขับเคลื่อน"นโยบายน้ำ"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 "สทนช."เชื่อมศาสตร์แห่งน้ำพระราชา ขับเคลื่อน"นโยบายน้ำ"ของประเทศ

 

            “...หลักสำคัญว่า ต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้เพื่อการเพาะปลูก เพราะว่าชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำคนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้าคนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้า ไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้...”

             พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2529

 "สทนช."เชื่อมศาสตร์แห่งน้ำพระราชา ขับเคลื่อน"นโยบายน้ำ"

            เป็นที่มาของบทสรุป “น้ำคือชีวิต” ปัจจัยประการสำคัญที่สำแดงความสำคัญของน้ำคือการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรทุกจังหวัดแทบทุกตารางนิ้ว ที่ใดมีปัญหาเรื่องน้ำ ที่นั่นมีพระองค์อยู่ด้วยเสมอ จนกว่าจะหาวิธีแก้ปัญหาได้

            พระองค์ไม่เพียงทรงเข้าใจปัญหา หากทรงเข้าถึงทั้งพื้นที่และความรู้สึกนึกคิดของราษฎรอย่างถ่องแท้ อันเนื่องด้วยพระวิริยอุตสาหะอันแรงกล้า จนเป็นที่มาของการพัฒนาหรือจัดการน้ำแบบยั่งยืนตามมา ราษฎรมีน้ำทำกินก็มีอาหาร มีรายได้ และอยู่ได้อย่างมั่นคงยั่งยืน

             การพัฒนาแหล่งน้ำเริ่มที่ปัญหาของราษฎร ประเภทและขนาดของแหล่งน้ำที่จะพัฒนา พระองค์ทรงพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ เช่น ขนาดของแหล่งน้ำต้องเหมาะสมกับสภาพความต้องการใช้ ไม่ใหญ่โตเกินความจำเป็น เพราะจะใช้งบประมาณมาก หรือเล็กเกินไปจนใช้งานไม่คุ้มค่า ทรงใช้วิธีรับฟังความเห็นจากชาวบ้าน ฟังปัญหาฟังความต้องการ จนตกผลึกเป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อที่ดินทำกินของราษฎร รวมทั้งธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประหนึ่งการจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)  

              ในการจัดการน้ำในบริบทเดิม หน่วยงานหลักจะเป็นกรมชลประทาน ต่อมามีการขยายไปหน่วยงานอื่น และพ่วงภารกิจเรื่องน้ำเข้าไปด้วย ทำให้เจ้าภาพจัดการเรื่องน้ำกระจายตัวไปหลายหน่วยงาน และไม่มีการประสานแผนงานโครงการ หากแต่เป็นลักษณะต่างคนต่างทำ โดยไม่ได้กำหนดนโยบาย รวมถึงทำงานสอดประสานกัน ทำให้การแก้ปัญหาหนึ่งอาจเป็นการสร้างอีกปัญหาหนึ่งตามมา อีกทั้งน้ำไม่ได้มีบทบาทเพียงการเกษตรเท่านั้น หากยังมีบทบาทต่อการขยายเมือง ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ ซึ่งล้วนต้องการใช้น้ำ และได้รับผลกระทบจากน้ำทั้งการขาดแคลนน้ำและปัญหาน้ำท่วม 

             หลายรัฐบาลมีความกังวลใจต่อสถานการณ์นี้ และมีความพยายามที่จะสร้างหน่วยงานกลางขึ้นทำหน้าที่เป็นกลไกกำหนดนโยบายการบริหารทรัพยากรน้ำทั้งประเทศ จนถึงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งรับทราบปัญหาการจัดการน้ำในภาพรวมของประเทศมาแต่ต้น จึงได้มีคำสั่ง ม.44 จัดตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่บูรณาการข้อมูลเกี่ยวกับน้ำทั้งประเทศและทำหน้าที่กำหนดนโยบายการจัดการทรัพยากรน้ำ (Regulator) โดยมีหน่วยงานที่มีอยู่แล้วทำหน้าที่เป็นผู้ปฏิบัติ (Operators)

             โดยการออกแบบนี้จะทำให้มีผู้กำหนดนโยบายเพียงหน่วยงานเดียวที่มองภาพรวมของทิศทางน้ำทั้งประเทศ และสามารถให้หน่วยงานอื่นมาบูรณาการข้อมูล แผนงานและงบประมาณเข้าด้วยกัน ทำให้การจัดการน้ำมีทิศทางชัดเจน มีความเป็นเอกภาพสูง เป็นการบูรณาการแก้ไขปัญหาได้ดีกว่าต่างคนต่างทำ โดยไม่มีการกำกับควบคุม

 "สทนช."เชื่อมศาสตร์แห่งน้ำพระราชา ขับเคลื่อน"นโยบายน้ำ"

             ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสทนช.กล่าวกับ “คม ชัด ลึก” ว่าการกำเนิดขึ้นของ สทนช. นอกจากเป็นหน่วยงานระดับนโยบายด้านน้ำของประเทศแล้ว ยังมีสถานภาพที่ชัดเจนกว่าทุกยุคที่ผ่านมา คือเป็น Regulator ไม่ใช่ Operator เป็นช่องทางชัดเจน สำหรับติดต่อประสานงานและแสวงหาความร่วมมือด้านน้ำจากนานาชาติ ในฐานะผู้กุมนโยบายหนึ่งเดียว (Regulator) ด้านน้ำของประเทศไทย ในภาวะวิกฤติก็จะทำหน้าที่เป็น Operator หลัก ร่วมกับกระทรวงมหาดไทยที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเพียงคนเดียว

               “ทิศทางการดำเนินงานของ สทนช. ว่าไปแล้วยึดโยงกับแนวทางพระราชดำริ ว่าด้วยการบูรณาการหน่วยงานแก้ปัญหาน้ำร่วมกัน ดังกรณีการก่อสร้างเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำริให้ทุกหน่วยงานบูรณาการการทำงานด้วยกัน แทนที่จะเป็นเพียงหน่วยงานเดียวอย่างที่เคยทำมา ทำให้ขับเคลื่อนงานได้อย่างรวดเร็ว ตอบโจทย์ปัญหาความเดือดร้อน ความต้องการของเกษตรกร และประชาชน ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและการใช้จ่ายงบประมาณอย่างเหมาะสมไม่ซ้ำซ้อนกัน เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติอย่างชัดเจน" 

                สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงยึดถือ และพระราชทานแนวพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ให้หน่วยงานราชการ รวมถึงพสกนิกร ยึดถือเป็นแนวปฏิบัติ ด้วยทรงตระหนักดีว่า ศาสตร์พระราชานั้นได้ผ่านการคิด กลั่นกรองปฏิบัติและพัฒนาจนเป็นรูปธรรมชัดเจนมาแล้วทั้งสิ้น เป็นที่ยอมรับของสังคมไทยและในระดับนานาชาติ

     

           ดร.สมเกียรติเผยต่อว่า สทนช.นอกจากบูรณาการข้อมูลและโครงการจากหลายหน่วยงาน เพื่อกำหนดให้เป็นไปตามนโยบายที่วางไว้แล้ว เนื้อหานโยบาย ยึดถือสืบสานศาสตร์พระราชาในตัวอยู่แล้ว อีกทั้งยังต้องพิจารณาหาทางต่อยอดอีกด้วย อาทิ โครงการแก้มลิง เป็นที่ประจักษ์ว่าเป็นเครื่องมือในระดับพื้นที่ที่ช่วยในการจัดการน้ำดีขึ้น ช่วยลดผลกระทบน้ำท่วมพื้นที่ในคันกั้นน้ำริมแม่น้ำ และเชื่อมโยงกับแผนการปรับปฏิทินการเพาะปลูกให้เก็บเกี่ยวก่อนช่วงน้ำหลาก ทำให้ลดความเสียหายของผลผลิตในชั้นหนึ่ง จากนั้นยังได้ประโยชน์จากการจับปลาเป็นอาชีพเสริม และยังมีโอกาสใช้น้ำเพาะปลูกอีกครั้งเมื่อย่างเข้าสู่ฤดูแล้ง เป็นการสร้างความมั่นคงมั่งคั่งให้เกษตรกรอย่างเป็นรูปธรรม 

                 แม้มิติการขับเคลื่อนทรัพยากรน้ำจะอยู่ในกรอบเดิมที่ส่วนใหญ่เป็นงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แต่มิติใหม่ของ สทนช. จะขยายขอบเขตที่กว้างขึ้น โดยเชื่อมโยงกับหน่วยงานที่ต้องการใช้น้ำ อาทิ กระทรวงอุตสาหกรรม หน่วยงานป้องกันภัยจากน้ำหรือน้ำอุปโภคบริโภคในครัวเรือน เช่น กระทรวงมหาดไทย หรือหน่วยงานที่เป็นแหล่งต้นน้ำเช่นกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หน่วยงานรับผิดชอบทางน้ำเช่นกระทรวงคมนาคม หน่วยงานด้านพลังงานเช่นกระทรวงพลังงาน ฯลฯ รวมทั้งเชื่อมต่อหน่วยงานน้ำหรือเกี่ยวข้องในระดับนานาชาติ ภาพลักษณ์ของ สทนช.จึงมีมิติที่กว้างใหญ่ขึ้นสมดังเป็นหน่วยงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติอย่างแท้จริง 

                                                                   

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ