ข่าว

"เกษตรคือประเทศไทย"ผนึก3หน่วยงานส่งสารผ่านสื่อสู่เกษตรกร

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"เกษตรคือประเทศไทย"ผนึก3หน่วยงานส่งสารผ่านสื่อสู่เกษตรกร

 

                กรมส่งเสริมการเกษตร ผนึกสถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์(สถานีวิทยุ ม.ก.) และสมาคมสื่อมวลชนเกษตรแห่งประเทศไทย(สกท.) ลงนามบันทึกความเข้าใจ(เอ็มโอยู) เพื่อสร้างความร่วมมือในการถ่ายทอดองค์ความรู้และข้อมูลข่าวสารด้านการเกษตรให้เข้าถึงเกษตรกรผ่านสื่อของสถานีวิทยุ ม.ก. และสมาคมสื่อมวลชนเกษตรฯ ร่วมสร้างสรรค์องค์ความรู้ด้านการเกษตรในรูปแบบใหม่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเผยแพร่ให้เข้าถึงเกษตรกรมากยิ่งขึ้น 

"เกษตรคือประเทศไทย"ผนึก3หน่วยงานส่งสารผ่านสื่อสู่เกษตรกร

             สมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวระหว่างร่วมพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจเรื่อง “ความร่วมมือด้านการเผยแพร่และพัฒนาองค์ความรู้เพื่อการส่งเสริมการเกษตร” กับสถานีวิทยุ ม.ก. และ สกท. เมื่อวันที่ 24 กันยายน ที่ห้องประชุมกรมส่งเสริมการเกษตร โดยระบุว่า การลงนามครั้งนี้เพื่อประสานความร่วมมือด้านการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและองค์ความรู้เพื่อการส่งเสริมการเกษตร ผ่านเครือข่ายสื่อสารมวลชนและสื่ออื่นๆ ทุกประเภท โดยถ่ายทอดข้อมูลข่าวสารที่ครอบคลุมการเกษตรทุกด้านที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการเกษตรของประเทศ เกิดเป็นเครือข่ายเพื่อการส่งเสริมการเกษตรที่เข้มแข็ง

                “กรมส่งเสริมการเกษตรให้การสนับสนุนบุคลากรและทรัพยากรทั้งในส่วนกลางและพื้นที่ เพื่อนำข้อมูลด้านการส่งเสริมการเกษตรมาเผยแพร่ ข้อมูลข่าวสารและองค์ความรู้เพื่อการส่งเสริมการเกษตรผ่านเครือข่ายสื่อสารมวลชนและสื่ออื่นทุกประเภท ทำให้มีเครือข่ายสื่อเพื่อการส่งเสริมการเกษตรที่เข้มแข็ง มีความร่วมมือในการพัฒนาบุคลากรด้านสื่อสารมวลชน ด้านบูรณาการความรู้ ด้านวิชาการและด้านทักษะวิชาชีพ ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรที่มีความรู้ความสามารถด้านสื่อสารมวลชน เข้าสู่ยุคสังคมสารสนเทศ”

                อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เผยต่อว่า นอกจากนี้ สถานีวิทยุ ม.ก. จะสนับสนุนบุคลากรและทรัพยากรในการเผยแพร่ข้อมูลผ่านทุกช่องทางที่ดำเนินการ รวมทั้งสนับสนุนความรู้ทางวิชาการสื่อสารมวลชนให้แก่เจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตร และ สกท.จะสนับสนุนบุคลากรและช่องทางในการเผยแพร่ข้อมูลด้านการส่งเสริมการเกษตรไปสู่สาธารณชน   “สถานีวิทยุม.ก.เป็นที่ยอมรับในแวดวงการเกษตรและมีความเชื่อมั่น ทั้ง 3 องค์กรจะทำหน้าที่ให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง กรมส่งเสริมการเกษตรมีข้อมูลที่พร้อมจะเผยแพร่แต่สื่อและวิธีการสื่อจะออกไปในรูปแบบที่น่าเชื่อถือ ต้องมาจากสื่อมวลชนที่มองไกลกว่าและหลากหลายกว่า”

              สมชาย ยังกล่าวถึงการนำเสนอข้อมูลสู่เกษตรกรนั้นจะต้องมองในภาพรวมให้ครบทุกมิติ ทั้งในรายสาขาวิชา รวมทั้งฤดูกาลผลผลิตและปัญหาในแต่ละช่วงเวลาว่ามีอะไรที่น่าสนใจและเป็นปัญหาเร่งด่วนที่มีผลกระทบต่อเกษตรกรและประเทศชาติ ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรจะทำหน้าที่เป็นแหล่งข้อมูลในการนำมาเผยแพร่ว่าช่วงนี้มีประเด็นอะไรที่น่าสนใจบ้าง  

               “วันนี้สมมุติเราพบว่าประเทศเพื่อนบ้านมีการแพร่ระบาดโรคด่างในมันสำปะหลัง ประเทศไทยมีมันสำปะหลังไม่พอในบางปีเราต้องนำเข้า เราก็มีสื่อที่จะคอยเตือนและเฝ้าระวังเรื่องการนำเข้า สื่อมวลชนจะเข้าใจและสามารถตามประเด็นเหล่านี้ต่อได้  เพราะถ้าาเกิดขึ้นจะเสียหายกับประเทศไทยได้”

               อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ย้ำด้วยว่า สถานการณ์ด้านการเกษตรวันนี้ต่างจากเมื่อ 40 ปีที่แล้ว เกษตรกรจะต้องเร่งปรับตัวเพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ การทำการเกษตรแบบเดิมๆ ไม่มีการปรับเปลี่ยนวิธีการ ไม่มีการปรับเปลี่ยนการใช้เทคโนโลยี สิ่งเหล่านี้ต้องเปลี่ยน วันนี้โลกเปลี่ยน เราก็ต้องปรับ ถ้าไม่ปรับก็จะอยู่ไม่ได้ ส่วนความคาดหวังในการร่วมมือครั้งนี้ หลังจากที่ได้มีการวางแผน แนวทางปฏิบัติแล้ว หลังจากนี้ 3 เดือนจะมีการติดตามและประเมินผล ทั้งผู้ส่งสารและผู้รับสารว่าประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน แน่นอนการทำอะไรครั้งเดียวไม่มีทางสำเร็จ เมื่อมีครั้งแรก ต้องมีครั้งต่อๆ ไป และจะต้องมีการปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ตลอดเวลา 

             “ก่อนจะมีการลงนามในครั้งนี้ ทั้ง 3 หน่วยงานได้มีการวางแผนมาล่วงหน้าและมีการดำเนินการเบื้องต้นมาแล้ว ทำให้มั่นใจได้ว่า สุดท้ายจะเป็นการถ่ายทอด การนำสารข้อมูลที่ดีที่ถูกต้องสู่ประชาชน” อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรกล่าวย้ำ

              ผศ.อนุพร สุวรรณวาจกกสิกิจ ผู้อำนวยการสถานีวิทยุ ม.ก. กล่าวถึงช่องทางการเผยแพร่ข่าวสารของสถานีวิทยุม.ก.ในปัจจุบันว่ามีทั้งระบบอนาล็อกผ่านระบบเอเอ็มที่มีศูนย์ข่ายในทุกภูมิภาค ภาคเหนือที่ จ.เชียงใหม่ ภาคอีสานที่ขอนแก่น และภาคใต้ที่สงขลา โดยมีแม่ข่ายอยู่ที่บางเขน ซึ่งเป็นระบบที่ดำเนินการมากว่า 57 ปีแล้วตั้งแต่เริ่มสถานี ต่อมาปี 2540 สถานีได้พัฒนาการส่งสัญญาณผ่านอินเทอร์เน็ตรายแรกของประเทศ กระทั่งปัจจุบันได้มีการพัฒนาเครือข่ายเพิ่มขึ้นทั้งระบอนาล็อกและดิจิทัล โดยระบบอนาล็อกก็ยังคงมีทั้ง 4 ภูมิภาคเช่นเดิม ส่วนสื่อใหม่ที่เป็นสื่อโซเชียล ขณะนี้มีทั้งเฟซบุ๊ก ไลน์ ยูทูบ อินสตาแกรม ที่มีการถ่ายทอดทั้งภาพและเสียงไปพร้อมๆ กันกับระบบอนาล็อก 

"เกษตรคือประเทศไทย"ผนึก3หน่วยงานส่งสารผ่านสื่อสู่เกษตรกร

              “โดยเฉพาะยูทูบ เรามีช่องใหม่เพิ่มมาเสมือนเป็นช่องทีวีย่อมๆ ขึ้นมาอีก 1 ช่อง  ที่ผ่านมาเราพยายามหาคอนเทนต์จากแหล่งข่าวจริิงๆ ความร่วมมือในครั้งนี้ จึงเป็นการต่อจิกซอว์ให้มากที่สุด วันนี้จะเป็นอีกหน้าประวัติศาสตร์หนึ่งในการทำงานร่วมกัน เราคาดหวังว่าสิ่งที่ทำวันนี้จะเป็นประโยชน์กับเกษตรกรอย่างสูงสุด”

   

          ถวิล สุวรรณมณี นายกสมาคมสื่อมวลชนเกษตรแห่งประเทศไทย(สกท.) กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า ในแง่ของสื่อเนื่องจากปัจจุบันในโลกของโซเชียลมีเดีย ทำให้ความคลาดเคลื่อนมีสูง เราก็ต้องอาศัยของจริงจากสถาบันหรือหน่วยงานที่มีความน่าเชื่อถือจากองค์กรภาครัฐในการนำเสนอสู่ผู้บริโภค ซึ่งมีอาชีพเกษตรกรรมที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ  เพราะการเกษตรคือประเทศไทย  ฉะนั้นสิ่งที่เราจะเชื่อมโยงกับหน่วยงานที่มีทีมวิจัยและส่งเสริมได้อย่างทันท่วงที จึงจำเป็นต้องมอนิเตอร์จากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือเท่านั้น

                 “วันนี้โลกการสื่อสารไร้พรมแดน เรามาร่วมมือกันนำความรู้มาหลอมรวมกันเพื่อส่งต่อให้แก่ผู้บริโภคหรือประชาชน ประเทศไทยมีอาชีพเกษตรเป็นพื้นฐาน เกษตรกรจึงจำเป็นต้องรับงานวิชาการเพื่อนำพางานวิชาการงานวิจัยต่างๆ มาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและประเทศชาติบ้านเมือง” นายกสกท. กล่าวย้ำทิ้งท้าย

               นับเป็นมิติใหม่ความร่วมมือของ 3 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับด้านการเกษตรเพื่อการพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้สู่ผู้บริโภคในทุกช่องทางการสื่อสารได้เข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องและสามารถนำมาประยุกต์สู่การพัฒนาอาชีพของตนเองให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและก้าวให้ทันกับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จึงเป็นที่มาของคำว่า “เกษตรคือประเทศไทย”   

   

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ