ข่าว

รัฐยึด"ศาสตร์พระราชา"พัฒนาลุ่มน้ำพุง-น้ำก่ำ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รัฐเดินหน้าขับเคลื่อนโครงการพระราชดำริ ยึด"ศาสตร์พระราชา"พัฒนาลุ่มน้ำพุง-น้ำก่ำ

 

               แม้เจ้า “มังคุด” มฤตยูร้ายจะสลายไปแล้ว เหลือทิ้งไว้แต่ร่องรอยความย่อยยับนับตั้งแต่จีนตอนใต้ไล่ลงมาถึงภาคเหนือของไทยที่โดนหางเลขไปด้วย แม้ช่วงนี้จะเริ่มย่างเข้าสู่ปลายฤดูฝนต้นหนาว แต่จากข้อมูลกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) ยืนยันว่า ช่วงปลายเดือนกันยายนไปจนถึงตุลาคมยังคงจะมีฝนตกหนักต่อไป ขณะที่ “จิสด้า” สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิศาสตร์สารสนเทศ (องค์การมหาชน) โดย “อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา” ผู้อำนวยการจิสด้า ก็ออกมาย้ำอีกครั้งว่าการที่เกิดฝนตกหนักในช่วงนี้ไม่ถือว่าเป็นเรื่องผิดปกติ เพราะประเทศไทยยังอยู่ในช่วงฤดูฝน 

รัฐยึด"ศาสตร์พระราชา"พัฒนาลุ่มน้ำพุง-น้ำก่ำ

            แน่นอนว่าหากพายุพัดเข้าไทย คงหนีไม่พ้นภาคอีสานเป็นด่านแรก  ด้วยสภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นแอ่งกระทะ ทุกครั้งที่ฝนตกหนักและติดต่อกันเป็นเวลานานมักจะเกิดน้ำท่วมขัง มีทางเดียวที่แก้ปัญหาได้ต้องระบายลงสู่แม่น้ำโขงโดยเร็วที่สุด หลายคนคงจำกันได้ผลพวงจากพายุ "เซินกา” ที่ทำให้ฝนกระหน่ำลงมา 3 วัน 3 คืน เมื่อกรกฎาคม 2560 ส่งผลให้ตัวเมืองสกลนครต้องจมอยู่ใต้บาดาลในพริบตา สร้างความเสียหายคณานับ ชาวบ้านต่างตกอยู่ในอาการหวาดผวา ไม่นึกไม่ฝันว่าจะต้องเจอเหตุการณ์เช่นนี้ในรอบหลายสิบปี 

            แต่หากย้อนไปดู “ศาสตร์พระราชา” ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้มีพระราชดำริให้เตรียมการป้องกันการเกิดอุทกภัยในเมืองสกลนครไว้ล่วงหน้า เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2535 หรือกว่า 30 ปีที่แล้ว

           เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรสภาพพื้นที่บริเวณฝั่งตะวันออกของห้วยน้ำพุง และลำห้วยต่างๆ ในเขตบ้านตองโขบ รวมทั้งบริเวณหนองคำฮุย บ้านหนองแข้ ต.ตองโขบ อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร ได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับงานชลประทานความตอนหนึ่งว่า

            “...ควรพิจารณาก่อสร้างอาคารบังคับน้ำที่ปากลำห้วยร่องช้างเผือกทางฝั่งตะวันออกของลำห้วยน้ำพุง เพื่อควบคุมการไหลของน้ำในลำห้วยต่างๆ ตามที่ต้องการ ควรพิจารณาวางโครงการขุดลอกลำห้วยต่างๆ ที่ปัจจุบันมีสภาพตื้นเขิน เช่น ห้วยร่องช้างเผือก ห้วยชัน และควรขุดคลองต่อเชื่อมกับหนองน้ำธรรมชาติต่างๆ พร้อมก่อสร้างอาคารบังคับน้ำให้สามารถระบายน้ำท่วมออกจากพื้นที่เพาะปลูกไปลงลำน้ำก่ำได้สะดวกในฤดูฝน และรับน้ำจากห้วยน้ำพุงผ่านลำห้วยร่องช้างเผือกและลำห้วยอื่นๆ เข้าเก็บในหนองน้ำต่างๆ เพื่อให้ราษฎรได้ใช้ทำการเกษตรและอุปโภคบริโภคในฤดูแล้ง...”

             สกลนคร ถือเป็นจังหวัดที่มีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมากที่สุดในภาคอีสาน  มีอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 34 แห่ง ขนาดเล็กอีก 78 แห่ง โดยมี 3 อ่างฯ หลักที่คอยรับน้ำไว้ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้น อ่างเก็บน้ำห้วยเดียก และอ่างเก็บน้ำน้ำพุง

           ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์  เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เคยให้สัมภาษณ์ “คม ชัด ลึก” ถึงการน้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” มาแก้ปัญหาพื้นที่ภาคอีสาน ภายใต้โครงการประตูระบายลำน้ำพุง-น้ำก่ำ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และโครงการประตูระบายน้ำบ้านก่อ พร้อมระบบส่งน้ำ จ.สกลนคร โดยมองว่าสกลนครเป็นจังหวัดที่พระองค์ท่านทรงห่วงใยเป็นพิเศษ เนื่องจากตั้งอยู่ในบริเวณที่ราบลุ่มแอ่งกระทะ ฝั่งตะวันตกติดเทือกเขาภูพาน ส่วนตะวันออกติดหนองหาร เมื่อฝนตกลงมา ปริมาณน้ำจะไหลอย่างรวดเร็วลงสู่หนองหาร เสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมได้ง่าย ก่อนมวลน้ำทั้งหมดจะถูกระบายลงสู่แม่น้ำโขงทางลำน้ำก่ำ อยู่ทางฝั่งตะวันออกของหนองหาร 

             “สกลนครมี 2 ลุ่มน้ำหลักๆ คือลุ่มน้ำศรีสงครามและลุ่มน้ำก่ำ ที่ผ่านมาเมื่อฝนตกหนักติดต่อกันเป็นเวลานานมักมีปัญหาการระบายน้ำออกช้า เพราะการพร่องน้ำมีช่องทางเดียวคือการระบายน้ำจากหนองหารสู่ลำน้ำก่ำโดยผ่านทางประตูระบายน้ำสุรัสวดีเพื่อลงแม่น้ำโขงผ่านทางประตูระบายน้ำธรณิศนฤมิต"

               จากบทเรียนน้ำท่วมเมืองสกลนครครั้งนี้ จึงทำให้ทุกภาคส่วนต้องนำมาประมวลแก้ไขและเร่งดำเนินการเตรียมการป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอย่างน้อย 4 เรื่อง โดยเริ่มจากการขุดลอกหนองหารซึ่งอยู่ในสภาพที่ตื้นเขิน ที่มาจากการทับถมของดินตะกอน ซึ่งเรื่องนี้ได้บรรจุอยู่ในนโยบายรัฐบาลตามโครงการขุดลอกบึงขนาดใหญ่ทั่วประเทศแล้ว การปรับปรุงอ่างเก็บน้ำใหม่ทั้งหมดให้มีสภาพมั่นคงแข็งแรงกว่าเดิม รวมทั้งพิจารณาสร้างอ่างเก็บน้ำเพิ่มเติมในอนาคต เนื่องจากอ่างเก็บน้ำที่ใช้การอยู่ในปัจจุบันได้ก่อสร้างมานานเมื่อประมาณ 40-50 ปีที่แล้ว จึงทำให้โครงสร้างเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา 

             ต่อมาเป็นเรื่องกำลังคนดูแลประตูระบายน้ำแต่ละแห่ง ลำพังเจ้าหน้าที่คงมีไม่เพียงพอ วิธีการแก้ก็คือจำเป็นอย่างยิ่งให้มีการจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำที่เข้มแข็งเพื่อดูแลการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำ และสุดท้ายความเจริญเติบโตของเมือง มีการขยายสิ่งปลูกสร้างกีดขวางทางไหลของน้ำ ทำให้เกิดน้ำท่วมขังในที่สุด ซึ่งเรื่องนี้จะต้องบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประเมินกันใหม่ 

              เลขาธิการ สทนช. ยังได้อธิบายเส้นทางระบายน้ำจากหนองหารผ่านลำน้ำก่ำเพื่อลงสู่แม่น้ำโขง ว่าเกิดจากแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 โปรดเกล้าฯ ให้กรมชลประทานพิจารณาวางโครงการเพื่อก่อสร้างโครงการพัฒนาลุ่มน้ำก่ำ จ.สกลนคร และ จ.นครพนม เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2535 ภายใต้โครงการพัฒนาลุ่มน้ำก่ำ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยเริ่มจากหนองหาร อ.เมือง จ.สกลนคร ไหลไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ลงสู่แม่น้ำโขงที่ ต.น้ำก่ำ อ.ธาตุพนม จ.นครพนม ผ่านประตูระบายน้ำ(ปตร.) 5 แห่ง ได้แก่ ปตร.สุรัสวดี ปตร.หนองบึง ปตร.นาขาม ปตร.นาคู่ และ ปตร.ธรณิศนฤมิต ซึ่งเป็นประตูสุดท้ายก่อนลงสู่แม่น้ำโขง รวมความยาวประมาณ 123 กิโลเมตร และเป็นช่องทางเดียวเท่านั้นที่จะระบายน้ำจากหนองหารลงสู่แม่น้ำโขงในขณะนี้  

             “สำหรับแผนพัฒนาหนองหาร ประกอบด้วยการเพิ่มความสามารถในการเก็บกักน้ำก่อนลงหนองหาร ปรับปรุงสิ่งกีดขวางทางน้ำ พัฒนาโครงการผันน้ำส่วนเกิน โดยการก่อสร้างโครงการประตูระบายน้ำพุง-น้ำก่ำ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ พร้อมปรับปรุงร่องช้างเผือก ซึ่งจะสามารถระบายน้ำเพิ่มได้ 53 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)ต่อวินาที รวมทั้งใช้ ปตร.น้ำพุงควบคุมน้ำเข้าสู่ทางระบายน้ำร่องช้างเผือก และคลองหนองแซง-ห้วยซัน-ห้วยยาง ลงสู่ลำน้ำก่ำ ซึ่งจะสามารถระบายน้ำเลี่ยงหนองหารได้ ประมาณ 4.58 ล้านลบ.ม.ต่อวัน”

              นอกจากนี้จะทำการขุดลอกตะกอนดินหนองหาร และขุดลอกตะกอนปากแม่น้ำที่ไหลลงหนองหารจำนวน 10 แห่ง เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำลงสู่หนองหาร และปรับปรุงขุดลอกลำน้ำก่ำและสิ่งกีดขวางทางน้ำในลำน้ำก่ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำออกจากหนองหารลงสู่แม่น้ำโขง รวมทั้งเร่งกำจัดวัชพืช และเพื่อให้การใช้น้ำจากหนองหารให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะฤดูแล้งจะต้องสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า และระบบกระจายน้ำอีก 15 แห่ง 

รัฐยึด"ศาสตร์พระราชา"พัฒนาลุ่มน้ำพุง-น้ำก่ำ

              ส่วนแผนการดำเนินโครงการนั้น ดร.สมเกียรติ ระบุว่า ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2560 เห็นชอบให้กำหนดพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งอย่างเป็นระบบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (Area-Based) โดยมีโครงการประตูระบายน้ำลำน้ำพุง-น้ำก่ำ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร อยู่ในแผนดังกล่าว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างขอความเห็นชอบในหลักการจากคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) โดยมอบให้กรมชลประทานดำเนินโครงการ มีระยะเวลาดำเนินโครงการ 5 ปี (ปี 2562-2566) ในกรอบวงเงิน 2,100 ล้านบาท 

            ทั้งนี้เพื่อบรรเทาน้ำท่วมในเขต อ.เมืองสกลนคร และ อ.โคกศรีสุพรรณ โดยการตัดยอดน้ำจากลำน้ำพุงก่อนไหลลงสูหนองหารได้ร้อยละ 40 ช่วยเหลือราษฎรได 10,857 ครัวเรือน 33 หมูบ้าน ครอบคลุมพื้นที่ 4 ตำบล พื้นที่รับประโยชน์ 78,358 ไร่ 

                                                                  

  สนองพระราชดำริ“โครงการพัฒนาลำน้ำพุง-น้ำก่ำฯ”

โครงการพัฒนาลุ่มน้ำก่ำ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เกิดจากแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2535 ให้กรมชลประทานพิจารณาวางโครงการเพื่อก่อสร้างโครงการพัฒนาลุ่มน้ำก่ำ จ.สกลนคร และ จ.นครพนม และทรงวางโครงการด้วยพระองค์เอง เพื่อช่วยแก้ปัญหาในเรื่องน้ำท่วมพื้นที่เพาะปลูกในฤดูฝน และช่วยราษฎรในท้องถิ่นบริเวณ 2 ฝั่งลำน้ำก่ำ ให้มีน้ำใช้ในการเกษตร และเพื่อการอุปโภคบริโภคในฤดูแล้งด้วย

จากนั้นวันที่ 22 มิถุนายน 2542 ให้กรมชลประทานพิจารณาดำเนินการก่อสร้างอาคารบังคับน้ำในลำน้ำก่ำเพียงเตี้ยๆ เพื่อให้เก็บน้ำท่วมพื้นที่เพียงเล็กน้อยก่อนแล้วพิจารณาก่อสร้างอาคารบังคับน้ำให้สามารถเก็บกักได้มากยิ่งขึ้น ลักษณะโครงการประกอบด้วยประตูระบายน้ำ 5 แห่ง เพื่อเก็บกักน้ำยกระดับน้ำให้สูงขึ้นและบรรเทาอุทกภัย ระบบส่งน้ำ จำนวน 16 แห่ง เพื่อส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทาน 165,000 ไร่ และพัฒนาหนองบึงขนาดใหญ่ 15 แห่ง เพื่อเป็นแก้มลิงเก็บกักน้ำ

จากการดำเนินงานที่ผ่านมา ปรากฏว่าเป็นแหล่งน้ำต้นทุนสามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ 165,000 ไร่ ส่งน้ำให้แก่พื้นที่การเกษตรในฤดูแล้งได้ประมาณ 47,000 ไร่ เป็นแหล่งน้ำสำหรับอุปโภค-บริโภค และอุตสาหกรรมบริเวณลุ่มน้ำในเขต อ.เมือง อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร และ กิ่ง อ.วังยาง อ.นาแก อ.ปลาปาก อ.เรณูนคร และ อ.ธาตุพนม จ.นครพนม นอกจากนี้ยังช่วยบรรเทาผลกระทบจากน้ำท่วมพื้นที่เพาะปลูกบริเวณสองฝั่งลำน้ำก่ำในฤดูฝน ในเขต จ.สกลนคร และนครพนม ทำให้ประชาชนมีน้ำใช้ประโยชน์ทางการเกษตรตลอดปี

ส่วนลำน้ำพุง สายเลือดหลักที่สร้างความอุดมสมบูรณ์ให้แก่เมืองสกลนคร มีต้นกำเนิดในเขตเทือกเขาภูพาน ไหลผ่านหุบเขาภูพานที่อุดมสมบูรณ์ แล้วไหลไปบรรจบกับหนองหาร มีความยาวประมาณ 90 กิโลเมตร ลำน้ำแห่งนี้มีมนต์เสน่ห์ คือท้องน้ำจะเป็นทรายตลอดทั้งสาย ซึ่งต่างจากลำน้ำอื่นๆ ในสกลนคร เหมาะแก่การเล่นน้ำ ชมหาดทราย และล่องแก่ง

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ