ข่าว

"เกษตรอัจฉริยะ"ทางรอด"เอสเอ็มอี"ธุรกิจการเกษตรไทย...?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"เกษตรอัจฉริยะ"ทางรอด"เอสเอ็มอี"ธุรกิจการเกษตรไทย...?

"เกษตรอัจฉริยะ"ทางรอด"เอสเอ็มอี"ธุรกิจการเกษตรไทย...?

                 แม้ว่าภาคการเกษตรจะมีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ ทว่าที่ผ่านมาขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าเกษตรไทยกลับถดถอยลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่าอาชีพเกษตรกรส่วนใหญ่เป็นไปเพื่อการยังชีพ ขาดกระบวนการในเชิงธุรกิจ เห็นได้จากตัวเลขผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีมากกว่า 3 ล้านรายทั่วประเทศในขณะนี้ แต่เป็นกลุ่มธุรกิจการเกษตรเพียง 46,000 รายเท่านั้น ขณะที่โลกปัจจุบันได้เข้าสู่ยุคอินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงกิ้ง (IOT) เทคโนโลยีใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นเอไอ หรือบิ๊กดาต้า จึงถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนารูปแบบธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

"เกษตรอัจฉริยะ"ทางรอด"เอสเอ็มอี"ธุรกิจการเกษตรไทย...?

                 ด้วยเหตุนี้ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) จึงได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี(มจธ.) จัดเสวนาหัวข้อ “เกษตรอัจฉริยะ: ทางรอดเอสเอ็มอี ธุรกิจการเกษตรไทยจริงหรือ ?” โดยมีเป้าหมายเพื่อศึกษาการพัฒนาธุรกิจการเกษตรเพื่อรองรับเกษตรกรรม 4.0 และการบูรณาการความร่วมมือระหว่าง สสว.กับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนผ่านการศึกษาต้นแบบธุรกิจการเกษตรในพื้นที่นำร่อง

                 ผศ.ดร.วรพจน์ อังกสิทธิ์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัยการจัดการและนวัตกรรม มจธ. ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยการพัฒนาธุรกิจการเกษตรเพื่อรองรับเกษตรกรรม 4.0 กล่าวในเวทีเสวนาตอนหนึ่ง โดยระบุว่า จากการศึกษาวิจัยรูปแบบการส่งเสริมและพัฒนาเอสเอ็มอีในธุรกิจเกษตรที่ผ่านมาพบว่าสามารถแบ่งออกได้ 5 โมเดล ได้แก่ การส่งเสริมผ่านหน่วยงานภาครัฐ การส่งเสริมผ่านกลไกการตลาด มีการวิเคราะห์ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล ผู้ประกอบการต้องพัฒนาสินค้าอยู่ตลอดเวลา การส่งเสริมผ่านคอนแทร็กฟาร์มมิ่ง เป็นการว่าจ้างเป็นกลุ่มๆ ระหว่างผู้ว่าจ้างกับผู้รับจ้างโดยมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีระหว่างกัน  เกิดจากการผลักดันโดยผู้ประกอบการเอง และสุดท้ายเกิดจากการผลักดันโดยนักวิจัยหรือผู้เชี่ยวชาญ

               ขณะที่ เรืองชัย เจริญสุพัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์บ่มเพาะและพัฒนานวัตกรรมเอสเอ็มอีเกษตร ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) กล่าวถึงภารกิจของ ธ.ก.ส.ในการพัฒนาธุรกิจเอสเอ็มอีว่ามีอยู่ 5 ประการ โดยมุ่งเน้นคนรุ่นใหม่ ผู้ประกอบการ มาตรฐาน คุณภาพสินค้าและการตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ซึ่ง ธ.ก.ส.ร่วมกับ สสว. และสถาบันการศึกษาในแต่ละภูมิภาคสนับสนุนนักศึกษาและคนรุ่นใหม่เข้าสู่ธุรกิจเอสเอ็มอีโดยในปีนี้มีเป้าหมายอยู่ที่ 5,000 ราย 

                “กลุ่มเป้าหมายที่ ธ.ก.ส.พัฒนาอันดับแรกคือลูกค้า ธ.ก.ส. ซึ่งประกอบไปด้วยผู้ที่เป็นลูกค้าและที่เป็นทายาทเกษตรกร ปัจจุบันทายาทเกษตรกรมาถึงรุ่น 2 แล้ว มีทั้งจบปริญญาตรีและโทที่สนใจอยากมาทำการเกษตร เพราะในอนาคตมองว่าภาคเกษตรเป็นภาคที่สำคัญ เลี้ยงอาหารชาวโลก ทุกคนต้องกิน เรามีมือถือแต่ไม่มีอาหารกินก็เปล่าประโยชน์ ซึ่งหลายคนมองเห็นแล้วว่าตรงนี้มีความสำคัญ นอกจากลูกค้า ธ.ก.สและทายาทเกษตรกรแล้วยังมีอีกกลุ่มที่เราดูแลก็คือผู้ประกอบการที่อยู่ระหว่างการศึกษา”

              ส่วนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ประสบความสำเร็จ อย่าง ปนัดดา เคปเปิล กรรมการบริษัท ดี.เอ.ที.ที จำกัด เจ้าของแบรนด์มะเขือเทศ “เทคมีโฮม"(Take Me Home) ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ตั้งอยู่ถนนวงแหวนรอบกลาง อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเดิมทำธุรกิจจำหน่ายเมล็ดพันธุ์มะเขือเทศนำเข้าจากเนเธอร์แลนด์ เมื่อเห็นเกษตรกรถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง ไม่มีอำนาจต่อรอง จึงต้องการทำเกษตรสมัยใหม่ให้เป็นตัวอย่าง โดยเลือกปลูกมะเขือเทศบนพื้นที่กว่า 10 ไร่ ที่ ต.โป่งแยง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เพื่อพัฒนาให้เป็นโรงเรือนอัจฉริยะที่มีการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการเพาะปลูก ซึ่งนำเข้าทั้งวัสดุอุปกรณ์ เครื่องควบคุมต่างๆ รวมถึงเมล็ดพันธุ์จากเนเธอร์แลนด์ทั้งหมด เพราะเป็นประเทศได้ชื่อว่ามีเทคโนโลยีการเกษตรที่ทันสมัยและเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่ของโลก

                 “เราทำมะเขือเทศแบรนด์เทคมีโฮม ทั้งแบบลูกใหญ่เหมือนแอปเปิล และมะเขือเทศเชอรี่เริ่มต้นเมื่อปี 2547   เริ่มจากการขายเมล็ดพันธุ์ ตอนนั้นขายเมล็ดพันธุ์พริกหวาน ซึ่งเมื่อกว่าสิบปีก่อนพริกหวานตื่นตูมกันมาก เพราะเป็นผักชนิดใหม่ ดีมานด์ในตลาดสูงมาก เราขายเมล็ดพันธุ์กันสนุก ตอนนั้นกระแสไฮโดรโปนิกส์ หรือการปลูกในโรงเรือนเริ่มเข้ามาพร้อมกัน ทุกคนเลยมีโรงเรือนปลูกพริกหวานกันหมด จากเคยมีราคาสูงสุดถึง 80 บาทต่อกิโลกรัม แต่พอคนมาทำกันมากขึ้น ราคาตกลงเหลือแค่ 10 บาท เกษตรกรจึงอยู่ยาก ชาวบ้านจึงมาคุยกับเราว่าทำอย่างไรขายไมได้เลย ก็เป็นจุดเริ่มต้นของเราที่คิดว่าทำอย่างไรให้เกษตรที่เป็นเจ้าของผลผลิตสามารรถเรียกราคาสินค้าของตัวเองได้”

        เจ้าของแบรนด์มะเขือเทศ“เทคมีโฮม"เผยต่อว่าปัจจุบันผลผลิตของฟาร์มมีทั้งมะเขือเทศพันธุ์เนื้อ มะเขือเทศพวง มะเขือเทศเชอร์รี่และอีกหลายชนิด ภายใต้แบรนด์เทคมีโฮมและโตมาโต้ เฮ้าส์ ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นแบรนด์มะเขือเทศที่ใหญ่ทีี่สุดของประเทศไทยในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังทำการจัดหาและให้การสนับสนุนวัตถุดิบ อุปกรณ์คุณภาพสูงที่นำเข้าจากต่างประเทศให้กับเกษตรกร พร้อมจัดตั้งศูนย์วิวัฒนาการเรียนรู้เพื่อเป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนเรียนรู้และทักษะแก่เกษตรกรในเครือข่ายที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีสมาร์ทฟาร์ม รวมถึงเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เพิ่มประสิทธิภาพการปลูกด้วย 

               ว่าที่ร.ต.ชนะ ไชยชนะ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนพัฒนาผลิตภัณฑ์พืชผักสมุนไพรและผลไม้ ต.บ้านโฮ่ง อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน ผู้นำในการริเริ่มการปลูกผักแลไม้ในระบบเกษตรอินทรีย์ที่สั่งสมประสบการณ์จากนักขายประกัน จนเติบโตในอาชีพถึงระดับผู้บริหาร ก่อนลาออกมาทำสวนเกษตรและศูนย์การเรียนรู้ด้านการเกษตรที่พระบาทมสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 โปรดให้จัดตั้งขึ้นที่ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ โดยได้รับมอบหมายให้ดูแลแปลงเกษตรอินทรีย์บนเนื้อที่กว่า 300 ไร่ ถือเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตนับแต่นั้นมา

             ด้วยความเป็นนักคิดไม่หยุดนิ่งที่จะแก้ปัญหาและพัฒนาต่อยอดผลผลิตทางการเกษตรอยู่ตลอดเวลา จึงมีความคิดที่จะแปรรูปผลผลิตเพื่อแก้ปัญหาสินค้าล้นตลาด กระทั่งประสบความสำเร็จเมื่อมหาวิทยาสลัยแม่โจ้เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการสมัครเข้ารับการสนับสนุนเรื่องการพัฒนาวัตกรรมและเป็นจุดเริ่มต้นการนำเทคโนโลยี Freeze Dry ในการแปรรูปผลผลิตเช่นลำไย สตรอเบอรี่ มะม่วงมหาชนก กระเทียมฯลฯ นอกจากนี้ยังมีการแปรรูปด้วยเทคโนโลยีในการอบเช่น กระเทียมดำ มะม่วงอบแห้ง มะม่วงกวน ฯลฯ ซึ่งการแปรรูปดังกล่าวได้สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์แบบก้าวกระโดด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระเทียมดำ ซึ่งได้รับความนิยมจากผู้บริโภคทั้งชาวไทยและต่างประเทศ

"เกษตรอัจฉริยะ"ทางรอด"เอสเอ็มอี"ธุรกิจการเกษตรไทย...?

             “วิสาหกิจเราก่อตั้งเมื่อปี 2548 เป็นการรวมกลุ่มเกษตรกรที่มีแนวคิดเดียวกันช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ที่เกิดจากปัญหาลำไย สมัยนั้นลำไยในฤดูมีเยอะมาก ลำพูนกับเชียงใหม่รวมกันมีพื้นที่ปลูกลำไยถึง 6 แสนไร่ คิดง่าย ๆ ว่าไร่ละกิโล ก็ 6 แสนตันเข้าไปแล้ว แม้ภาครัฐพยายามทำให้ลำไยราคาไม่ตก แต่มันเป็นการยาก เพราะเราพึ่งตลาดแค่จีนกับอินโดนีซัย คนไทยกินลำไยกันไม่เยอะ เราจึงรวมกลุ่มกันเพื่อหาทางช่วยเหลือช่วยกันและกัน ทั้งลำไย กระเทียม และหัวแดง นี่เป็นจุดเริ่มต้นของเรา”ว่าที่ร.ต.ชนะย้อนจุดเริ่มต้นก่อนจะประสบความสำเร็จในวันนี้     

    

        ส่วนกาแฟอาข่า อ่ามา กาแฟแบรนด์ไทยจากหมู่บ้านแม่จันใต้ อ.แม่สรวย จ.เชียงรายก็เป็นอีกผลิตภัณฑ์ที่ประสบความสำเร้จ เกิดขึ้นจากหนุ่มชาวเขาเผ่าอาข่ารุ่นใหม่“ลี-อายุ จือปา”ที่มุ่งมั่นพัฒนาการแฟให้เป็นสินค้าที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนและแก้ปัญหาที่ไม่สามารถตั้งราคาขายผลผลิตได้เอง จนถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง โดยเขาได้นำประสบการณ์ที่เคยทำงานที่มูลนิธิเกื้อฝันเด็กมาใช้สร้างธุรกิจในโมเดลวิสาหกิจเพื่อสังคม แม้จะเจอปัญหาอุปสรรคมากมาย แต่ก็ไม่หยุดฝันมีการสร้างแผนธุรกิจที่ชัดเจน โดยให้พ่อและแม่ดูแลการผลิตที่เน้นเกษตรอินทรีย์ ส่วนตัวเองเรียนรู้ขั้นตอนการเพาะปลูก การแปรรูป การตลาด การจัดเก็บข้อมูล รวมถึงการวางแผนการดำเนินธุรกิจอย่างเป็นขั้นเป็นตอน

       ขณะเดียวกันยังได้ส่งเสริมให้ชาวบ้านเห็นคุณค่าของกาแฟ โดยพัฒนากระบวนการทำกาแฟที่ดีมีคุณภาพ  นำผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศเข้าไปให้ความรู้ในพื้นที่ ซึ่งความสำเร็จของกาแฟอาข่า อ่ามาเป็นทัพหน้าที่สร้างชื่อเสียงให้กับชุมชนแม่จันใต้ จึงทำให้กาแฟอาข่า อ่ามาได้ก้าวข้ามทัศนคติเชิงลบที่ว่ากาแฟไทยมักคุณภาพไม่ดี จนกลายเป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับในระดับโลกในปัจจุบัน

“กาแฟของเราได้ส่งเข้าประกวดกับองค์กรกาแฟชนิดพิเศษแห่งยุโรปเพื่อทดสอบการยอมรับคุณภาพกาแฟของตัวเอง ผลก็คือได้รับคัดเลือกทั้ง 3 ปีให้เป็นหนึ่งในกาแฟที่ใช้ในเวทีการชิมกาแฟนานาชาติ” ลีอายุ จือ ปากล่าวอย่างภูมิใจ

              นี่เป็นส่วนหนึ่งมุมมองของผู้ประกอบการธุรกิจภาคการเกษตรที่ประสบความสำเร็จ ก่อนจะยกระดับเป็นเอสเอ็มอีในปัจจุบัน

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ