ข่าว

 เปิดผลงานวิจัย "ลานสกาโมเดล"อินโนเวชั่น ฮับ ภาคใต้ตอนบน   

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 เปิดผลงานวิจัย "ลานสกาโมเดล" "อินโนเวชั่น ฮับ" ภาคใต้ตอนบน   

 

         จากที่รัฐบาลได้มุ่งเน้นการขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมและให้ความสำคัญแก่ชุมชนท้องถิ่นที่จะเป็นเศรษฐกิจฐานรากของไทย โดยใช้ความร่วมมือในการนำนวัตกรรมจากงานวิจัยระดับอุดมศึกษามาสร้างสรรค์และบูรณาการร่วมกับศักยภาพชุมชนเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดนั้น ด้วยเหตุนี้สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จึงร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) สร้าง “UCC Network” ศูนย์กลางกระจายเทคโนโลยีและนวัตกรรมและเครือข่ายวิจัยอุดมศึกษา 9 แห่งเพื่อดำเนินการโครงการ “อินโนเวชั่น ฮับ"  ในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ซึ่งปัญหาสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไขโดยด่วน ได้แก่ความไม่สมดุลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ความไม่สมดุลระหว่างมนุษย์กับมนุษย์และความไม่สมดุลระหว่างมนุษย์กับเทคโนโลยีเพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมของประเทศไทยตามนโยบาย 4.0 ของรัฐบาล

        “โครงการกลุ่มเศรษฐกิจสร้างสรรค์อินโนเวชั่นฮับนี้เป็นการวิจัยมุ่งเน้นสิ่งที่เป็นต้นทุนของชุมชนท้องถิ่นไม่ว่าจะเป็นเรื่องของศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาหรือแม้กระทั่งทรัพยากรธรรมชาติบูรณาการความรู้ที่เกิดจากงานวิจัยในมหาวิทยาลัยในสถาบันการศึกษาในท้องถิ่นมาพัฒนาทำให้เกิดนวัตกรรมใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไป สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่อย่างยั่งยืน”

       ผศ.ดร.อริศร์ เทียมประเสริฐ ประธานคณะกรรมการอินโนเวชั่นฮับ กลุ่มเศรษฐกิจสร้างสรรค์เผยระหว่างนำคณะสื่อมวลชนแขนงต่างๆ กว่า 20 ชีวิตลงพื้นที่ อ.ลานสกา จ.นครศรีธรรมราช เพื่อดูผลสำเร็จของงานวิจัย “การพัฒนาศักยภาพวิสาหกิจชุมชนเครือข่ายการท่องเที่ยวชุมชนอำเภอลานสกาสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงคุณภาพตามแนวทางไทยแลนด์ 4.0” ที่ดำเนินการโดยทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์  โดยโครงการดังกล่าวเกิดขึ้นจากงบประมาณกลางปี 2560 จำนวน 282 ล้าน ที่รัฐบาลมอบหมายให้เครือข่ายของสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษาจำนวน 9 แห่งทั่วประเทศทำการวิจัยในพื้นที่ โดยแบ่งเป็นกลุ่มภาคเหนือตอนบน ตอนล่าง ภาคอีสานตอนบน ตอลล่าง ภาคกลางตอนบน ตอนล่างและภาคใต้ตอนบน ตอนล่าง 

          "สำหรับที่นี่ที่เรามาดูเป็นของภาคใต้ตอนบน ม.วลัยลักษณ์ เป็นเจ้าภาพหลัก ลานสกาเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ดีในการพัฒนาโดยใช้แนวคิดงานบริการที่ใช้ทรัพยากรธรมชาติเป็นต้นทุนของพื้นที่ทำให้เกิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนที่เป็นอัตลักษณ์ของเขาเอง เป็นเรื่องของการใช้ระบบการจัดการใช้ความรู้มหาวิทยาลัยมาเพิ่มพูนหรือเติมเต็มสิ่งที่เป็นต้นทุนในพื้นที่ที่มีอยู่ไม่ว่าจะเป็นแหล่งธรรมชาติที่สวยงาม พืชพรรณผลไม้หรือแม้กระทั่งต้นทุนทางด้านศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ที่ซ่อนอยู่ สิ่งสำคัญที่สุดคือการมีส่วนร่วมของชุมชนเป็นโจทย์ที่ออกมาจากชาวบ้านจริงๆ

             ประธานคณะกรรมการอินโนเวชั่น ฮับ เผยต่อไปว่า ความยั่งยืนจะเกิดขึ้นจากความต้องการของชุมชน โดยนักวิจัยแค่ช่วยทำให้มันเป็นระบบ ต่อยอดชี้แนะว่าสิ่งที่มีอยู่นั้นจะดำเนินการต่อไปอย่างไร อาจมีตัวอย่างสิ่งดีๆ จากที่อื่นๆ มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งสิ่งที่เป็นตัวตนของตัวเองและรักษาสิ่งที่เป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่น นี่คือหัวใจสำคัญที่สุดของการวิจัยครั้งนี้ โดยยืนยันได้ว่าลานสกาโมเดลเป็นงานวิจัยที่ดีที่สุดของเครือข่ายงานวิจัยกลุ่มภาคใต้ตอนบนที่มีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เป็นแม่ข่าย 

           ดร.รุ่งระวี จิตภักดี รองคณบดีสำนักวิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยการพัฒนาศักยภาพวิสาหกิจชุมชนเครือข่ายการท่องเที่ยวชุมชนอำเภอลานสกาสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงคุณภาพตามแนวทางไทยแลนด์ 4.0 กล่าวถึงปัญหาอุปสรรคในการวิจัยครั้งนี้ว่า ยังขาดการรวมกลุ่มที่ชัดเจนระหว่างกลุ่มงานผลิตภัณฑ์และชุมชนท่องเที่ยว ดังนั้นงานวิจัยนี้มีการออกแบบสินค้าใหม่ที่สามารถเชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวลานสกา ภายใต้อัตลักษณ์ “มังคุด” มาเป็นองค์ประกอบในการออกแบบทุกผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นชุดชามังคุด หมวกหมอนน้องมังคุด ราวตากผ้ามังคุด โดยนำผลิตภัณฑ์เหล่านี้มาใช้ในแหล่งท่องเที่ยวเช่นที่พัก ร้านอาหาร ตามเส้นทางท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ  

             “ประเด็นปัญหาตอนแรกไม่มีใครรู้จักลานสกา คนรู้จักแต่คีรีวงและมีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามาในคีรีวงมากมาย ทำให้สภาพในคีรีวงค่อนข้างแออัด เราต้องการกระจายแหล่งท่องเที่ยวในคีรีวงออกมา เพราะลานสกามีของดีมากมายจึงเกิดงานวิจัยชิ้นนี้ เราจึงเริ่มต้นด้วยการสร้างอัตลักษณ์หรือสร้างแบรนด์ลานสกาขึ้นมาก็คือมังคุด ซึ่งเป็นผลไม้ขึ้นชื่อของลานสกา”

             หัวหน้าทีมวิจัยเผยต่อว่า หลังจากมีการประเมินศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวมากมายในลานสกา โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร จึงมีการทำแผนการตลาดในเชิงสร้างสรรค์ เช่นการจัดทำสวนผลไม้บุฟเฟ่ต์แล้วก็จัดภูมิทัศน์เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวและเป็นการกระจายรายได้สู่ชุมชนด้วย เนื่องจากชาวบ้านในบริเวณใกล้เคียงสามารถนำผลิตภัณฑ์มาจำหน่ายในสวนผลไม้ได้ด้วย โดยจะร่วมทำกันเป็นเครือข่าย  

            "โครงการนี้เริ่มเมื่อเดือนพฤษภาคม 2560 เสร็จสิ้นกุมภาพพันธ์ 2561 เป็นโครงการวิจัยค่อนข้างสั้นแต่เกิดชิ้นงานได้เพราะนักวิจัยไม่ได้ทำเองเดี่ยวๆ แต่เป็นการทำวิจัยร่วมกับชุมชน จากผลการวิจัยจะเห็นว่าจุดเด่นของลานสกาคือความหลากหลายทรัพยากร ถ้าได้ยืินในแหล่งท่องเที่ยวที่อากาศดีที่สุดในโลก เมื่ออากาศดีที่สุดสิ่งอื่นๆ ก็ตามมาไม่มีมลพิษ ดังนั้นมันมีความโดดเด่น ใครที่มาก็จะได้ความหลากหลาย อาหาร บรรยากาศและความเป็นมิตรที่ดีของผู้คนตรงนี้สำคัญมากๆ” 

            ปัณฑริดา ชัยจิตร   เจ้าของสวนปัณฑริดา ต.ขุนทะเล อ.ลานสกา จ.นครศรีธรรมราช หนึ่งในสวนผลไม้ที่เข้าร่วมโครงการวิจัยครั้งนี้บอกว่าเดิมทีที่บ้านทำสวนผลไม้ สวนยางพารา บนเนื้อที่ประมาณ 100 ไร่ แต่มีรายได้ไม่ค่อยดี  แต่ละปีมีรายได้ประมาณ 2 แสนกว่าบาท จึงคิดหาวิธีและดูงานมาหลายที่ทั้งในภาคกลางและภาคตะวันออก จึงไปคลิกที่สวนผลไม้แห่งหนึ่งใน จ.จันทบุรี ที่เปิดเป็นบุฟเฟ่ต์ผลไม้ในรูปแบบของเครือข่าย ซึ่งดำเนินการมา 3 ปีแล้ว ปรากฏว่ามีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ที่สำคัญเราได้เครือข่ายจากชาวบ้านในบริเวณใกล้เคียงด้วย

          "ที่สวนเริ่มเปิดให้บริการบุฟเฟ่ต์ผลไม้ตั้งแต่ 7 โมงเช้าจนถึง 6 โมงเย็น คิดหัวละ 390 บาทอิ่มไม่อั้น อยู่ได้ทั้งวัน ภายในสวนยังมีฐานการเรียนรู้ไม้ผลต่างๆ ให้นักท่องเที่ยวได้เที่ยวชมด้วย ส่วนบริเวณปากทางเข้าเราก็จัดแผงให้สมาชิกในเครือข่ายนำสินค้ามาวางขายฟรีอีกด้วย

           เจ้าของสวนปัณฑริดา ยังกล่าวถึงกลยุทธ์ด้านการตลาดในการบริหารจัดการนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมสวนว่ามีการจัดทำคูปองจำหน่ายในระบบออนไลน์ โดยระบุวันอย่างชัดเจนเพื่อป้องกันจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาชมสวนมากเกินไปจนอาจเป็นปัญหาการบริหารจัดการสวนได้ ซึ่งปกติจะรับได้ไม่เกิน 400 คนต่อวันเท่านั้น และที่สำคัญไม่มีปัญหาด้านการตลาดอีกต่อไป เพราะลูกค้าเข้ามาซื้อถึงในสวน

           “หลังจากเข้าร่วมในโครงการวิจัยครั้งนี้ทำให้ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ มากมาย คิดว่าปีหน้าคงมีการปรับปรุงสวนให้ดีขึ้นกว่านี้อย่างแน่นอน เพราะตั้งใจว่าจะพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวครบวงจรอันดับหนึ่งของภาคใต้ให้ได้” ปัณฑริดา ย้ำความตั้งใจทิ้งท้าย  

 วช.ยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนลานสกา 

     ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เปิดเผยว่าโครงการอินโนเวชั่นฮับ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมของประเทศตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ภายใต้บันทึกข้อตกลงระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และเครือข่ายวิจัยอุดมศึกษา 9 ภูมิภาคเพื่อพัฒนาโครงสร้างการจัดการและกำลังคนเพื่อให้เกิดการบูรณาการความรู้ หรือเทคโนโลยีที่เกิดจากผลงานวิจัยภายในมหาวิทยาลัยกับต้นทุนภูมิปัญญาหรือทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น ตลอดจนการพัฒนาจนเกิดเป็นนวัตกรรมที่ทำให้เกิดเป็นสินค้าหรือบริการที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจในพื้นที่ด้วยความคิดสร้างสรรค์

   สำหรับโครงการ “พัฒนาศักยภาพวิสาหกิจชุมชนเครือข่ายการท่องเที่ยวชุมชนอำเภอลานสกาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงคุณภาพทางไทยแลนด์ 4.0” เป็นโครงการหนึ่งในโครงการเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมของประเทศตามนโยบายไทยแลนด์  4.0 กลุ่มเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งมีการทำวิจัยแบบมีส่วนร่วมรวมทั้งหมด 6 กิจกรรม ได้แก่ 1.การค้นหาอัตลักษณ์ และแบรนด์ทางการตลาดของแหล่งท่องเที่ยวในอำเภอลานสกา 2. การยกระดับที่พักและร้านอาหาร 3.การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ 4.การเตรียมความพร้อมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร 5.การออกแบบสินค้าที่

สื่อถึงอัตลักษณ์ความเป็นลานสกา และ 6.การออกแบบท่องเที่ยวลานสกา 

"จุดเด่นของแหล่งท่องเที่ยวลานสกา คือมังคุดที่มีอายุยืนยาวกว่า 100 ปี ซึ่งมีประวัติศาสตร์เชื่องโยงกับหลวงพ่อมังคุด ดังนั้น ‘มังคุด’ จึงเป็นจุดขายของอำเภอลานสกา และนำมาซึ่งผลงานที่สื่อถึงการท่องเที่ยวของอำเภอลานสกา โดยใช้มังคุดเป็นต้นแบบของผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในแหล่งท่องเที่ยวในรูปแบบต่างๆ รวมถึงการออกแบบเป็นหมวกหมอนมังคุด ผลิตภัณฑ์

ที่เป็นอัตลักษณ์ของลานสกา ‘น้องมังคุด’ ซึ่งขณะอยู่ระหว่างการยื่นขอจดทะเบียนสิทธิบัตร" เลขาธิการวช.กล่าวย้ำ 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ