ข่าว

" องคมนตรี"ติดตามการบริหารจัดการน้ำ เขื่อนวชิราลงกรณ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

องคมนตรี ติดตามการบริหารจัดการน้ำ เขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี

" องคมนตรี"ติดตามการบริหารจัดการน้ำ เขื่อนวชิราลงกรณ

       เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 13 กันยายน 2561 เวลา 13.00 น. พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ในฐานะประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคกลาง พร้อมคณะอนุกรรมการฯ เจ้าหน้าที่จากสำนักงาน กปร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เดินทางไปยังเขื่อนวชิราลงกรณ อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำของลุ่มน้ำแม่กลอง การบริหารจัดการน้ำของเขื่อนวชิราลงกรณ  และรับฟังการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในเขตพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี 

" องคมนตรี"ติดตามการบริหารจัดการน้ำ เขื่อนวชิราลงกรณ


          เขื่อนวชิราลงกรณ เป็นโครงการหนึ่งของแผนพัฒนาลุ่มน้ำแม่กลอง ตั้งอยู่บนแม่น้ำแควน้อย เป็นเขื่อนหินถมแห่งแรกของประเทศไทยที่ดาดผิวหน้าด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี 2522 แล้วเสร็จในปี 2527 และเมื่อปี 2529 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร  เสด็จฯ ไปทรงประกอบพิธีเปิดเขื่อน ต่อมาในปี 2544 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานนาม “เขื่อนวชิราลงกรณ” ตามพระนามาภิไธยในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร แทนชื่อ “เขื่อนเขาแหลม” 

" องคมนตรี"ติดตามการบริหารจัดการน้ำ เขื่อนวชิราลงกรณ
       เขื่อนวชิราลงกรณ สามารถเก็บกักน้ำสูงสุดปกติ 8,860 ล้านลูกบาศก์เมตร มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำเฉลี่ยประมาณปีละ 5,500 ล้านลูกบาศก์เมตร นอกจากจะสร้างประโยชน์ในด้านชลประทาน และการเกษตรในพื้นที่แล้ว ภายในเขื่อนยังประกอบด้วยโรงไฟฟ้าซึ่งได้ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาดกำลังผลิตเครื่องละ 100,000 กิโลวัตต์ จำนวน 3 เครื่อง รวมกำลังผลิต 300,000 กิโลวัตต์ และให้พลังงานเฉลี่ยปีละ 777 ล้านกิโลวัตต์/ชั่วโมง นอกจากนี้ ยังช่วยบรรเทาอุทกภัยให้กับราษฎรในพื้นที่ ซึ่งในช่วงฤดูฝน ลำน้ำแควน้อยและแควใหญ่จะมีปริมาณน้ำมาก เมื่อไหลมารวมกันจะทำให้เกิดน้ำท่วมลุ่มแม่น้ำแม่กลองเป็นประจำ หลังจากมีเขื่อนวชิราลงกรณ รวมถึงเขื่อนศรีนครินทร์ ทั้งสองเขื่อนทำให้สามารถบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ดังกล่าวอย่างถาวร 


         สำหรับสถานการณ์น้ำของเขื่อนวชิราลงกรณ ณ วันที่ 13 กันยายน 2561 มีปริมาณน้ำ 8,351 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 94 ของความจุอ่างฯ ระบายน้ำออกเฉลี่ย 58 ล้านลูกบาศก์เมตร /วัน (โดยผ่านทางช่องทางปกติ 43 ล้านลูกบาศก์เมตร และผ่านทางน้ำล้น 15 ล้านลูกบาศก์เมตร) และยังสามารถรับน้ำได้อีก 509 ล้านลูกบาศก์เมตร สำหรับการดำเนินงานนั้นได้มีการติดตามสถานการณ์น้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่ควบคุมได้ มีการตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของเขื่อนเป็นประจำเพื่อให้การดำเนินงานบังเกิดประสิทธิภาพเกิดประสิทธิผลสูงสุดเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนและป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป   

          จากนั้นวันที่ 14 กันยายน 2561 เวลา 09.30 น. พลอากาศเอก ชลิต  พุกผาสุข องคมนตรี ในฐานะประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคกลาง พร้อมคณะอนุกรรมการฯ เดินทางไปติดตามความก้าวหน้า และตรวจเยี่ยมพื้นที่การดำเนินงานโครงการด้านพัฒนาแหล่งน้ำเป็นวันที่สองในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี ประกอบด้วย โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยตะกวดอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลเขาโจด อำเภอศรีสวัสดิ์ และโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ตะกึงพร้อมระบบส่งน้ำและอาคารประกอบ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลสมเด็จเจริญ อำเภอหนองปรือ จังหวัดกาญจนบุรี
          องคมนตรี และคณะเดินทางไปยังโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยตะกวดอันเนื่องมาจากพระราชดำริ  เพื่อรับฟังสรุปผลการดำเนินงานโครงการฯ พร้อมกับรับฟังสรุปแผนการดำเนินงานโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ตะกึงฯ ซึ่งทั้งสองโครงการเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำตะเพินที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระราชดำริไว้ เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2533 สรุปความว่า "ควรพิจารณาก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่บริเวณตอนบนของห้วยตะเพิน อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี และอำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งมีทำเลที่เหมาะสมมาก พร้อมกับสร้างฝายทดน้ำทางด้านท้ายอ่างเก็บน้ำดังกล่าวในลำน้ำสายนี้เป็นระยะๆ เพื่อช่วยเหลือการเพาะปลูกของราษฎรตำบลต่าง ๆ ในช่วงเวลาที่ขาดแคลนน้ำ และเพื่อช่วยบรรเทาอุทกภัยที่มักจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูน้ำหลาก"
      หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้ดำเนินงานสนองพระราชดำริก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยตะกวดอันเนื่องมาจากพระราชดำริขึ้นโดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากคณะกรรมการพิเศษเพื่ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หรือ กปร. ในปี 2560 เพื่อดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บที่มีขนาดความจุ 432,000 ลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันมีผลการดำเนินงานรวม 92% ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนตุลาคม 2561 เมื่อโครงการฯ แล้วเสร็จสมบูรณ์ก็จะสามารถช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกของราษฎรได้ประมาณ 1,230 ไร่ รวมทั้งเป็นแหล่งน้ำสำหรับอุปโภค - บริโภค และเลี้ยงสัตว์ ในฤดูแล้ง ของราษฎรที่อยู่อาศัยในเขตโครงการ หมู่ที่ 4 ตำบลเขาโจด และพื้นที่ใกล้เคียง จำนวน 65 ครัวเรือน 320 คน นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำให้กับราษฎรได้มีแหล่งอาหารโปรตีนและเป็นรายได้เสริมจากการทำประมงในอนาคตต่อไป พร้อมกันนี้องคมนตรี และคณะได้พบปะเยี่ยมราษฎรที่ได้รับประโยชน์จากโครงการฯ 

" องคมนตรี"ติดตามการบริหารจัดการน้ำ เขื่อนวชิราลงกรณ
     จากนั้นเวลา 11.00 น. องคมนตรี และคณะ เดินทางไปยังพื้นที่ก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ตะกึง พร้อมระบบส่งน้ำและอาคารประกอบอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลสมเด็จเจริญ อำเภอหนองปรือ จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่จะดำเนินการก่อสร้าง ปัจจุบันกรมชลประทานได้วางแผนดำเนินการก่อสร้างในปี 2562 และเมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จก็สามารถส่งน้ำช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกในฤดูฝนประมาณ 3,000 ไร่ และพื้นที่เพาะปลูกในฤดูแล้งได้ประมาณ 1,000 ไร่ 
      ทั้งนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้เร่งดำเนินการโครงการฯ เพื่อสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ให้บังเกิดประโยชน์กับราษฎรตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต่อไป 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ