ข่าว

เกษตรฯลุยส่งเสริมปลูกพืชหลังนาพื้นที่ 2.8 ล้านไร่ทั่วประเทศ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เกษตรฯลุยส่งเสริมปลูกพืชหลังนาพื้นที่ 2.8 ล้านไร่ทั่วประเทศ

 

            กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ผนึกกำลัง 5 หน่วยงาน เดินหน้าส่งเสริมปลูกพืชหลังนาพื้นที่ 2.8 ล้านไร่ทั่วประเทศ แทนการทำนาปรัง ปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวกันมาปลูกข้าวโพด พืชตระกูลถั่ว และพืชผัก ซึ่งมีตลาดรองรับและให้ผลตอบแทนสูงกว่ารายได้จากการทำนา  เตรียมเสนอมาตรการจูงใจเกษตรกรให้ครม.พิจารณาประกันภัยพืชผลให้เกษตรกร ไร่ละ 3,000 บาท พร้อมให้สนับสนุนเงินทุนเพื่อนำไปลงทุนเพาะปลูกโดยสามารถขอกู้ผ่านธกส.ไร่ละ 2,000 บาท  อัตราดอกเบี้ย 0.01 % โดยรัฐบาลช่วยชดเชยดอกเบี้ย คาดต้องใช้งบประมาณ 800 ล้านบาท

            นายกฤษฎา  บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประชุมชี้แจงนโยบายในการส่งเสริมการปลูกพืชหลังนาทดแทนการปลูกข้าวนาปรังให้กับเจ้าหน้าที่จากกรมชลประทาน กรมส่งเสริมการเกษตร กรมพัฒนาที่ดินและ                       กรมส่งเสริมสหกรณ์ในระดับภูมิภาคทั่วประเทศกว่า 400 คน รับฟังเพื่อทำความเข้าใจในแนวทางการสนับสนุนให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนพื้นที่การปลูกข้าวหันมาปลูกพืชชนิดอื่น ๆ ที่ตลาดมีความต้องการและให้ผลตอบแทนสูง เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาข้าวไม่ให้ตกต่ำ โดยใช้กลไกสหกรณ์เข้ามาบริหารจัดการผลผลิตของเกษตรกรตั้งแต่การส่งเสริมการปลูก การถ่ายทอดความรู้ การรวบรวมผลผลิต และการเชื่อมโยงกับเอกชนในการเข้ามารับซื้อผลผลิตของเกษตรกร  

            รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า เหตุผลของการส่งเสริมชาวนาหันมาปลูกพืชชนิดอื่น แทนการทำนารอบที่ 2-3  เนื่องจากหากมีการทำนารอบเดียวจะได้ผลผลิต 33 ล้านตันข้าวเปลือก นำไปสีเป็นข้าวสารได้ 12-13 ล้านตัน คนไทยบริโภคข้าวปีละ 7-8 ล้านตัน ที่เหลือส่งออกไปต่างประเทศ 5 ล้านตัน ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณ                   ที่เหมาะสม และส่งผลทำให้ราคาข้าวมีเสถียรภาพ อยู่ที่ตันละ 10,000 บาท ดังนั้น รัฐบาลจึงเพิ่มทางเลือกให้ชาวนาปรับเปลี่ยนจากการปลูกข้าวแบบเดิม ๆ มาปลูกข้าวเพียงรอบเดียว หลังหมดฤดูทำนาแล้วเกษตรกรสามารถหันมา                 ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งแต่ละปีประเทศไทยต้องการใช้ข้าวโพดภายในประเทศ 7-8 ล้านตัน ขณะที่เกษตรกรผลิตได้ 3-4 ล้านตันเท่านั้น  ดังนั้น ตลาดจึงยังมีความต้องการอีกจำนวนมาก หรือจะหันไปปลูกพืชตระกูลถั่ว ทั้งถั่วเหลืองและถั่วเขียว  หรือพืชผักทดแทนก็ได้ ในเบื้องต้นได้มีการสำรวจพื้นที่เป้าหมายที่จะปรับเปลี่ยนการปลูกพืชหลังนา 2.8 ล้านไร่ ทั่วประเทศ โดยกรมพัฒนาที่ดินและกรมชลประทานจะร่วมกับสำรวจสภาพดินและแหล่งน้ำและกำหนดให้ชัดเจนว่าแต่ละพื้นที่เหมาะสำหรับปลูกพืชชนิดใด

            นอกจากนี้ ยังมีมาตรการจูงใจแก่เกษตรกรที่มาทะเบียนเพื่อเข้าร่วมโครงการ โดยกรมชลประทานจะดูแลระบบน้ำในพื้นที่ 2.8 ล้านไร่ที่เป็นพื้นที่เป้าหมาย และทางกระทรวงเกษตรฯได้มีการเจรจากับภาคเอกชน ผ่านทางสมาคมผู้ค้าอาหารสัตว์และสมาคมผู้ค้าเมล็ดพันธุ์ ประสานบริษัทเอกชน 3-4 แห่ง เข้ามารับซื้อผลผลิต เพื่อให้มีตลาดรองรับที่แน่นอนและมีการกำหนดราคาซื้อขายล่วงหน้า ซึ่งจะพิจารณาเงื่อนไขของเอกชนที่จะมารับซื้อเพื่อเลือกข้อเสนอที่ดีที่สุดให้แก่เกษตรกร โดยใช้กลไกสหกรณ์เป็นตัวกลาง รับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรในพื้นที่เพื่อรวบรวม                 ส่งขายให้บริษัทเอกชน  และในช่วงเริ่มต้นการเพาะปลูก ทางบริษัทเอกชนซึ่งเป็นคู่ค้าจะร่วมกับส่วนราชการ                           ส่งเจ้าหนาที่เข้ามาถ่ายทอดความรู้เทคโนโลยีการผลิตปลูกพืชชนิดอื่นและดูแลพื้นที่เพาะปลูกให้แก่เกษตรกรด้วย              ซึ่งโครงการดังกล่าวทุกหน่วยงานในกระทรวงเกษตรฯต้องร่วมขับเคลื่อนไปพร้อมกันทั่วประเทศ ต้องช่วยกันไปชี้แจงทำความเข้าใจเกษตรกรได้รับทราบ  ถึงมาตรการในจูงใจว่ารัฐบาลจะให้การสนับสนุนเพื่อปรับเปลี่ยนปลูกพืชหลังนาแก่เกษตรกรอย่างไร พร้อมทั้งเชิญชวนให้เกษตรกรตัดสินใจเข้ามาร่วมโครงการ

            "โครงการนี้ถ้าไม่มีตลาดรับซื้อจะไม่ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกแน่นอน และเรายังได้วางมาตรการเพื่อป้องกันความเสี่ยงให้เกษตรกร โดยจะมีการประกันภัยพืชผลให้หากผลผลิตเกิดความเสียหายจากไฟไหม้ น้ำท่วม                          เจอโรคระบาดหรือศัตรูพืชทำลายผลผลิต จะประกันภัยพืชผลไร่ละ 2-3,000 บาท และจะจัดสรรเงินกู้ผ่านธกส.                  ดอกเบี้ย 0.01%  ให้เกษตรกรกู้ยืมไปลงทุนเพาะปลูก ไร่ละ 2,000 บาท แต่ขอกู้ได้ไม่เกิน 15 ไร่ โดยรัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยให้ คาดว่าต้องใช้งบประมาณ 800 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ เตรียมจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาประกันภัยพืชผลและเงินกู้ผ่านธกส. ภายในวันที่ 18 กันยายน นี้" 

       

   อย่างไรก็ตามการสนับสนุนให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนมาปลูกพืชอื่นทดแทนการทำนาตามแนวทางนี้ จะช่วยประหยัดงบประมาณแทนที่จะต้องนำไปใช้แก้ปัญหาเมื่อราคาข้าวตกต่ำ ซึ่งต้องใช้เงินประมาณ 7-8 แสนล้านบาท เพื่อรับจำนำข้าว และยังต้องเจอกับปัญหาการเก็บรักษาข้าวตามมา แต่ถ้าเราสามารถจูงใจเกษตรกรหันมาปลูกพืชชนิดอื่นแทนการทำนา นำงบประมาณมาใช้ในการอบรมถ่ายทอดความรู้และให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อเกษตรกรมีเงินทุนไปปลูกพืชชนิดอื่นแทนการทำนา และทำประกันภัยพืชผลให้ น่าจะวิธีที่ดีกว่า คาดว่าโครงการนี้จะเริ่มได้กลางเดือนพฤศจิกายน หลังจากเสร็จสิ้นฤดูทำนาแล้ว ซึ่งโครงการนี้เป็นโครงการสำคัญของรัฐบาล ที่จะช่วยดูแลคุณภาพชีวิตให้เกษตรกรมีรายได้ ขายผลผลิตได้ราคาดี หากโมเดลของการดำเนินโครงการนี้สำเร็จ ก็จะนำไปต่อยอดกับพืชชนิดอื่น เช่น มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมันและผลไม้ต่อไป 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ