ข่าว

หอมกลิ่นกาแฟล้านนา ตอน2

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์ - ทำกินถิ่นอาเซียน โดย - รศ.ดร.พิชัย ทองดีเลิศ  [email protected]

 

              ในสัปดาห์ที่แล้วผมพูดถึงเรื่องของกาแฟล้านนาในเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเน้นไปที่เรื่องของกิจกรรมเกี่ยวกับกาแฟของร้าน Hillkoff ในเชิงการการผลิต การทำกิจกรรมร่วมกับชุมชน การสร้างมาตรฐานให้ร้านกาแฟ แต่ในวันนี้ยังมีอีกด้านหนึ่งที่ผมอยากพูดถึง เพราะคิดว่าเป็นแนวคิดเชิงธุรกิจผสมผสานไปกับเทคโนโลยีและนวัตกรรม สำหรับคอกาแฟเราก็มักจะบอกตัวเองว่าการดื่มกาแฟมันเป็นความสุขเป็นความชอบเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์  

หอมกลิ่นกาแฟล้านนา ตอน2

               แต่สำหรับคนที่ไม่ชอบดื่มกาแฟก็มองว่ากาแฟเป็นของที่ไม่มีประโยชน์และเป็นโทษต่อร่างกาย แต่อีกในมุมมองหนึ่งนอกเหนือจากการบริโภคกาแฟโดยนำเมล็ดมาคั่วบดแล้ว ก็ยังมีการนำเมล็ดกาแฟที่ยังไม่ได้คั่วและบดมาทำเป็นอาหารเสริมเพื่อสุขภาพ รวมถึงนำมาทำเป็นชาหรับดื่มเพื่อสุขภาพอีกด้วยเช่นกัน ซึ่งตรงนี้ก็เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นจากงานวิจัยร่วมระหว่างผู้ประกอบการกับสถาบันการศึกษาและหน่วยงานด้านการวิจัยของรัฐ เรียกว่าเป็นการพัฒนาธุรกิจต่อยอดจากกาแฟนอกเหนือจากการดื่มตามกระแสของสังคมรักสุขภาพ ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ได้ก็มีงานวิจัยรองรับและมีมาตรฐานความปลอดภัยสำหรับการบริโภค 

              นอกเหนือจากนี้ก็มีการนำเมล็ดกาแฟมาแปรสภาพโดยการทำเป็นอาหาร เบเกอรี่ ขนมขบเคี้ยว แต่ที่ผมสนใจและชื่นชอบก็น่าจะเป็นทอฟฟี่ที่ทำจากเมล็ดกาแฟจริงๆ ทั้งกินและรสรวมถึงสรรพคุณนี่เหมือนกับการดื่มกาแฟจากแก้วจริงๆ และยังมีไอเดียที่ดีสำหรับการนำกล้วยตากมาเคลือบด้วยกาแฟซึ่งก็ให้รสชาติที่ดีและน่าจะเป็นที่ชื่นชอบของคอกาแฟได้อีกประเภทหนึ่ง เรียกว่าเป็นการประยุกต์เอากาแฟมาใช้กับการทำอาหารได้ทุกประเภทนอกเหนือจากการดื่มได้แต่เพียงอย่างเดียว 

                ในแง่ของสังคมและวัฒนธรรมของการดื่มกาแฟในเมืองไทยหรืออีกหลายๆ ประเทศก็เป็นที่ทราบกันว่าร้านกาแฟเปรียบเสมือนที่นัดพบเพื่อพูดคุยสนทนากันไม่ต่างไปจากการเป็นสังคมหรือชุมชนของคนกลุ่มหนึ่งที่มาดื่มกาแฟเพื่อที่จะได้เจอเพื่อนฝูงและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ซึ่งวิถีของสังคมแบบนี้ได้ปรับเปลี่ยนใหม่เป็น CO Space ของคนรุ่นใหม่เพื่อใช้เป็นพื้นที่ทำงานพักผ่อนหรือทำกิจกรรมที่สนใจร่วมกัน 

                ซึ่งแนวคิดนี้ที่ Hillkoff นำมาทำได้เพิ่มเติมในเรื่องของเป็นพื้นที่สาธารณะในการเรียนรู้ร่วมกันในศาสตร์และศิลป์ในเรื่องราวของกาแฟ ในลักษณะของการเรียนรู้ตั้งแต่เรื่องของการผลิต การแปรรูป การชงกาแฟ การพัฒนาเมนูอาหารจากกาแฟ มาตรฐานกาแฟ รวมไปจนถึงเรื่องเรื่องของการตลาดไปจนถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับกาแฟ         

              ประเด็นที่ผมรู้สึกว่าเป็นจุดเด่นคือเรื่องของการเรียนรู้ร่วมกันในเรื่องของกาแฟแบบครบวงจรบนพื้นที่แห่งนี้  ไม่ว่าจะเป็นใครมาจากไหนอยากได้ความรู้ แลกเปลี่ยนความรู้หรือโชว์ไอเดียใหม่ๆ อะไรก็สามารถทำได้ และที่เป็นประโยชน์ไปมากกว่านั้นคือผู้ที่สนใจก็สามารถนำไอเดียแปลกๆ ใหม่ไปทำต่อยอดได้เลย เรียกได้ว่าเป็นเส้นทางใหม่สำหรับกลุ่มสตาร์ทอัพ ได้เลยทีเดียว 

               ตรงนี้ทำให้เห็นภาพของการเรียนรู้แล้วช่วยกันสร้างสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมา ซึ่งในการทำธุรกิจทุกวันนี้ก็มีความจำเป็นเพราะมีร้านกาแฟเกิดขึ้นมาก นอกเหนือจากคุณภาพและมาตรฐานแล้วเรื่องของความแปลกใหม่ของเมนูที่ให้บริการลูกค้าก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งเช่นกัน 

               จากสิ่งที่ผมได้เห็นมาพอจะกล่าวได้ว่าการทำธุรกิจเชิงการเกษตรควรต้องให้ความสำคัญและให้ความสุขแก่คนในชุมชนและสังคม การสร้างสังคมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ผลิตและคุณภาพการผลิต การร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้งานวิจัยและเทคโนโลยีเพื่อสร้างนวัตกรรมให้แก่ตัวผลิตภัณฑ์ การพัฒนาแนวคิดเชิงธุรกิจให้เข้ากับยุคสมัย แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ต้องไม่ลืมในเรื่องของการรักษาสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยในสุขภาพควบคู่ไปด้วยด้วยเช่นกันจึงจะทำให้เกิดความยั่งยืนในการทำการเกษตรควบคู่ไปกับการทำธุรกิจอย่างแท้จริงครับ!

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ