ข่าว

"เตยหอม"พืชปลูกง่ายรายได้น้ำซึมบ่อทราย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์ - ไม้ใบทำเงิน โดย - อุดม ฐิตวัฒนะสกุล   [email protected]

 

                หลายคนคงเคยสัมผัสและรู้จักพืชกลิ่นหอมที่ขึ้นง่ายและถูกนำมาใช้แปรรูปได้อย่างหลากหลายมากมายสารพัน ในช่วงเวลาที่ผมต้องเดินทางและเข้าที่พัก ฝ่ายต้อนรับก็มักนำเครื่องดื่มสมุนไพรอย่างน้ำใบเตยมาบริการให้เป็นที่ประทับใจในการเจอะเจอครั้งแรก หรือในงานเลี้ยงที่ต้องการฉายความเป็นไทยให้เป็นทางเลือกในการลิ้มลองเครื่องดื่มที่มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ดับกระหาย มีทั้งคุณค่าและความพิเศษด้านกลิ่นอันเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัว 

             

                ทำให้ต้นเตยหอมจากพืชที่เคยปลูกแบบไม่ใส่ใจ กลับได้ประโยชน์จากพืชชนิดนี้ที่ปลูกแบบกำหนดทิศทางสร้างคุณค่าอย่างอเนกอนันต์ เตยหอมพืชที่เน้นใช้ใบ ปลูกง่ายขึ้นได้เกือบทุกสภาวะทั้งกลางแจ้งและร่มรำไร อยู่ได้ในพื้นที่ชื้นแฉะและน้ำขังท่วมโคนลำต้นก็ยังเติบโตได้ดี 

               โดยปลูกครั้งเดียวสามารถเก็บเกี่ยวได้ยาวนานหลายปี เพียงใช้พื้นที่ว่างจากข้างพื้นที่แปลงผลิตพืชที่มีอยู่ ปลูกแทรกเสริมเข้าไปที่ดูแล้วจะไม่เป็นอุปสรรคต่อการผลิตแม้แต่ชายขอบร่องแหล่งน้ำ เตยหอมก็สามารถเจริญเติบโตได้ดี แถมยังมีรากที่ออกจากโคนและข้างของลำต้นช่วยยึดเกาะดิน ลดการพังทลายของพื้นที่ที่มีระดับความต่างของพื้นผิวดิน กระทั่งเส้นทางน้ำไหลที่เราไม่อยากให้หน้าดินถูกพัดพาไปกับน้ำ เรียกว่าได้ช่วยรักษาระบบนิเวศจากพืชยึดผิวหน้าดินอีกทางหนึ่งนั่นเอง 

              นอกเหนือจากนั้นส่วนของลำต้น รากและใบ เรายังนำมาใช้ตามภูมิปัญญาที่ให้ทั้งสีและกลิ่นในการทำขนมนานาชนิด ที่เป็นทั้งผลิตภัณฑ์หลักและเสริมองค์ประกอบให้เป็นของพิเศษกว่าสารสังเคราะห์ทั่วไป การให้สีและกลิ่นของเตยหอม ผู้ปลูกต้องรู้จักและเข้าใจถึงสภาพแวดล้อมและพันธุ์ ที่บางครั้งแม้จะดูทางกายภาพคล้ายกันแต่พันธุ์จะต้องเป็นเตยหอมเฉพาะ 

             จากนั้นต้องปลูกที่ถูกวิธีมีธาตุอาหารที่เหมาะต่อการสร้างกลิ่น (Fragrant screw pine) โดยเน้นการให้สารอินทรีย์ในปริมาณที่สูงพอดีและมีสภาพร่มรำไร เพื่อช่วยให้ใบมีสีเขียวสดมากขึ้นจากการพรางแสงดูแตกต่างจากที่ปลูกกลางแจ้งทีเดียว ซึ่งความหอมเมื่อขยี้ใบเตยจะมีกลิ่นคล้ายคลึงกับดอกชมนาด มะพร้าวน้ำหอม หรือข้าวขาวดอกมะลิ ที่มีสารหอมระเหยชนิดเดียวกันโดยเรียกสารนั้นว่า 2AP(2-Acetyl-1-Pyrroline) ซึ่งล้วนแล้วมีอยู่ในผลิตผลทางการเกษตรจากประเทศไทยที่ดังไกลไปทั่วโลกเลยก็ว่าได้ 

              ส่วนรูปแบบการนำไปใช้ในประเทศที่เรามักเห็นอย่างคุ้นตา ตั้งแต่การตัดลำต้นสดมามัดกำร่วมกับดอกไม้ใส่แจกันถวายพระ ตลอดจนการทำช่อใบเตยที่พับใบให้ดูคล้ายช่อดอกไม้ ช่วยเพิ่มมูลค่าทางการค้าจากงานฝีมือ หรือตัดเฉพาะกาบใบใช้เรียงรองจานอาหาร ถาดผลไม้ก็ทำให้ดูน่ารับประทานไม่น้อย หากจะพับเป็นกระทงใส่ขนมยิ่งจะทำให้ส่งกลิ่นหอมเข้าไปถึงเนื้อของวัตถุดิบที่ใส่ลงไปทั้งยังเพิ่มมูลค่าทางการขายเป็นผู้ค้าสมัยใหม่ที่ใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 

              หรือจะนำใบใช้คั้นให้ได้น้ำใช้ผสมเป็นวัตถุดิบหลักหรือวัตถุดิบเสริมเพิ่มโอกาสของสินค้าก็เป็นสิ่งที่เราจะเลือกใช้ตามใจและตามช่องทางทางการตลาดทั้งขนาดย่อมในครัวเรือน และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในประเทศและถึงขั้นสกัดหัวน้ำหอมเพิ่มมูลค่าได้อย่างมากมาย 

              เกษตรกรอาจใช้ช่องทางเหล่านี้ศึกษาและกำหนดทิศทางการผลิตให้สอดคล้องกันบนพื้นฐานภายใต้เงื่อนไขความปลอดภัยเพราะสิ่งเหล่านี้มีการบริโภคเข้าสู่ร่างกาย รวมถึงการนำไปใช้ก็ต้องสัมผัสโดยตรง แม้จะมีข้อบ่งชี้ทางการใช้และการได้ถึงคุณประโยชน์ของเตยหอมอีกนานัปการ 

            เราพึงต้องวิเคราะห์ถึงความเชื่อมโยงทางการผลิต การแปรรูปและการตลาดให้เหมาะสมและสอดคล้องกับตัวเรา อันเป็นการต่อเชื่อมภูมิปัญญาไปสู่การค้าการลงทุน ผ่านช่องทางเกษตรแบบพื้นบ้านของไทยให้ก้าวไกลอย่างมีระบบ สู่เกษตรอุตสาหกรรมในระดับสากลได้ต่อไปด้วยครับ !

                                                     ..........................................................

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ