ข่าว

 ผ่าแผน "สทนช." พัฒนาแหล่งน้ำฝั่งอ่าวไทย 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 ผ่าแผน "สทนช." พัฒนาแหล่งน้ำฝั่งอ่าวไทย    ตอบโจทย์อีอีซี-ป้องท่วมคาบสมุทรสทิงพระ

 

                   พื้นที่ชายฝั่งทะเลอ่าวไทยทั้งในชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกและใต้ เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้วางแผนในการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพแหล่งน้ำ เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และการรุกล้ำของน้ำเค็ม

                     โดยเฉพาะพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกนั้น รัฐบาลได้ให้ความสำคัญ ภายใต้โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิตภาคตะวันออก (อีอีซี) ตามแผนยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 ที่ต่อยอดความสำเร็จมาจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ Eastern Seaboard ที่ดำเนินมาตลอดกว่า 30 ปีที่ผ่านมา  หวังผลักดันให้ประเทศมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด            

 “อีอีซีจะประสบผลสำเร็จได้หรือไม่นั้น “น้ำ” เป็นปัจจัยสำคัญที่สุด”

             คำให้สัมภาษณ์ของ “สมเกียรติ ประจำวงษ์” เลขาธิการสทนช. ระหว่างร่วมคณะรองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรีติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่จ.จันทบุรี โดยสทนช.ได้วางแผนในการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพแหล่งน้ำ สนับสนุนอีอีซี ซึ่งมีครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง เพื่อรองรับใช้น้ำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกๆ ปี เนื่องจากมีการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม และภาคการท่องเที่ยว โดยในระยะแรก (10 ปี) ได้วางเป้าหมายที่จะจัดหาแหล่งน้ำและจัดสรรนํ้าเพื่อการอุปโภคบริโภค อุตสาหกรรม ให้สมดุลกับภาคการเกษตรที่จะเจริญเติบโตควบคู่ไปด้วยกันทั้งใน ปัจจุบันและอนาคต รวมถึงการป้องกันนํ้าท่วมในพื้นที่สําคัญของอีอีซีด้วย 

              โดยแนวทางในการพัฒนาประกอบด้วยการปรับปรุงแหล่งน้ำเดิม โดยการเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำเดิมที่มีศักยภาพ 7 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล อ่างเก็บน้ำหนองค้อ อ่างเก็บน้ำมาบประชัน อ่างเก็บน้ำบ้านบึง อ่างเก็บน้ำคลองหลวง และอ่างเก็บน้ำคลองสียัด รวมแล้วสามารถเก็บกักนํ้าได้เพิ่มอีก 102 ล้านลบ.ม. จากความจุเดิม 770 ล้านลบ.ม. และการพัฒนาอ่างเก็บนํ้าแห่งใหม่ ในลุ่มนํ้าคลองวังโตนด จ.จันทบุรี จำนวน 4 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำคลองประแกด อ่างเก็บน้ำคลองพะวาใหญ่ อ่างเก็บน้ำคลองหางแมว และอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด โดยจะส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตรในลุ่มนํ้าวังโตนด 170 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี และสามารถบริหารจัดการนํ้าเพื่อผันนํ้า ส่วนเกินในฤดูฝนด้วยระบบท่อ คลองวังโตนด-อ่างเก็บน้ำประแสร์ เพื่อส่งน้ำให้พื้นที่อีอีซีได้ 100 ล้านลบ.ม.ต่อปี

     นอกจากนี้ยังมีการเชื่อมโยงแหล่งนํ้าและระบบผันนํ้าในระยะ 5 ปี จะเชื่อมโยงแหล่งน้ำและผันนํ้าภายในประเทศให้เต็มศักยภาพ โดยการปรับปรุงคลองพานทองให้สามารถผันมาเติมอ่างเก็บน้ำบางพระให้ได้อีก 20 ล้านลบ.ม. จากปัจจุบันที่ผันได้ปีละ 30 ล้านลบ.ม. และพัฒนาท่อผันนํ้า อ่างเก็บน้ำประแสร์-อ่างเก็บน้ำหนองค้อ-อ่างเก็บน้ำบางพระ เพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายเพิ่มเติมเพื่อการบริหารจัดการและรองรับนํ้าต้นทุนที่จะเพิ่มขึ้นจากการผันมาจากลุ่มนน้ำคลองวังโตนด ขณะเดียวกันจะสูบกลับน้ำท้ายอ่างเก็บนํ้า เป็นการบริหารจัดการปริมาณนํ้าท้ายอ่างเก็บนํ้าให้สามารถมีนํ้าใช้การได้เพิ่มขึ้น โดยมีแผนงานสูบนํ้าจากคลองสะพานไปอ่างเก็บน้ำประแสร์ได้น้ำ 50 ล้านลบ.ม.ต่อปี และ ปรับปรุงระบบสูบน้ำกลับท้ายอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหลได้นํ้า 5 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี

                    ส่วนการป้องกันนํ้าท่วม สทนช.มีแผนการป้องกันน้ำท่วมเมืองระยอง โดยการก่อสร้างสถานีสูบและท่อระบายนํ้าหลากจากคลองทับมาสู่ทะเลเพื่อลดปริมาณน้ำหลากที่เกิดจากคลองทับมา และแผนงานป้องกันน้ำท่วมพื้นที่อุตสาหกรรม อ.พนัสนิคม และอ.พานทอง จ.ชลบุรี โดยการปรับปรุงคลอง ก่อสร้างประตูระบายน้ำเพื่อ บรรเทานํ้าท่วมพื้นที่ชุมชนและอุตสาหกรรม  นอกจากนี้ยังมีแหล่งน้ำสํารองภาคเอกชน โดยบริษัท East Water มีแผนดําเนินการจัดหาแหล่งน้ำเพิ่มเติมโดยการพัฒนาบ่อดินในพื้นที่เอกชน และการขุดสระทับมา มีความจุรวม 77 ล้านลบ.ม.

                  “ปัจจัยแห่งความสำเร็จที่จะทำให้แผนพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการจัดสรรน้ำเพื่อสนับสนุนอีอีซีนั้น เราดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลที่เน้นโครงการที่ทำได้ก่อนทำทันที ทำให้การเก็บกักน้ำบางส่วนเพิ่มขึ้น โดยการเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำเดิมที่มีอยู่แล้ว รวมทั้งการจัดสรรน้ำจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นเดียวกัน ส่วนแนวทางดําเนินการเพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำในระยะยาวในพื้นที่อีอีซี ซึ่งจําเป็นต้องจัดหาปริมาณนํ้าต้นทุนเพิ่มอีกประมาณ 220 ล้านลบ.ม.ต่อปีนั้น สทนช.ให้ความสำคัญในการพัฒนาแหล่งน้ำและจัดหาน้ำต้นทุนในทุกรูปแบบทั้งน้ำผิวดิน น้ำบาดาล น้ำทะเล รวมถึงการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่  โดยขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการศึกษาเพื่อเป็นรากฐานการพัฒนาและการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนต่อไป” 

                    เลขาธิการสทนช.ยังกล่าวถึงการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ก็เป็นอีกพื้นที่ที่เป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของประเทศ แต่ในช่วงฤดูฝนของทุกปีก็มักจะประสบปัญหาอุทกภัยเนื่องจากได้รับอิทธิพลจากมรสุมและพายุที่พัดเข้ามาโดยตรง สร้างความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจอย่างมาก ที่ผ่านมา สทนช. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดพื้นที่การแก้ไขอุทกภัยและภัยแล้งอย่างเป็นระบบ โดยได้ดำเนินการโครงการบริหารจัดการน้ำคาบสมุทรสทิงพระเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยและปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งทุกโครงการจะแล้วเสร็จตามแผนงานในปี 2564 ไม่ว่าจะเป็น โครงการแก้ไขปัญหาอุทกภัย  เพื่อกันน้ำจากทะเลสาบสงขลาไหลเข้าสู่พื้นที่คาบสมุทรสทิงพระในฤดูน้ำหลาก และกันน้ำเค็มเข้าพื้นที่เกษตรกรรมในช่วงฤดูแล้ง โดยการก่อสร้างคันกั้นน้ำริมทะเลสาบสงขลาต่อจากคันกั้นน้ำกระแสสินธุ์ ด้วยการยกระดับถนนสายแยก ทล.4083–ม. ควนชะลิก และก่อสร้างคันดันน้ำจากบ้านเกาะใหญ่ถึงบ้านท่าคุระ 

โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพคลองระบายน้ำในพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระ เพื่อพิ่มช่องทางระบายน้ำหลาก โดยการผันน้ำจากทะเลสาบสงขลา ผ่านคลองหนังออกสู่อ่าวไทย โครงการแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำ โดยการปรับปรุงคลองพลเอกอาทิตย์ฯ เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักในคลอง และบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งก่อสร้างอาคารกั้นน้ำเค็มเข้าคลองสทิงหม้อ เพื่อบริหารจัดการแบ่งโซนน้ำจืด-น้ำเค็ม ระหว่างพื้นที่ตำบลรำแดงและพื้นที่ตำบลทำนบ อ.สิงหนคร จ.สงขลา และสุดท้าย โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาระโนด–กระแสสินธุ์  เนื่องจากเป็นโครงการเก่าแก่ ก่อสร้างตั้งแต่ปี 2512 คลองส่งน้ำเกิดการชำรุดจำนวนมากจึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการส่งน้ำ

            “หากการบูรณาการแก้ไขปัญหาคาบสมุทรสทิงพระประสบผลสำเร็จ จะทำให้มูลค่าความเสียหายจากอุทกภัยลดลงและมีปริมาณน้ำต้นทุนสำหรับการเพาะปลูกในฤดูแล้งที่เพิ่มขึ้น โดยสามารถเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกฤดูแล้งได้ประมาณ 12,000 ไร่ โดยคาดว่าจะใช้งบทั้งหมดประมาณ 5,337 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการทั้งสิ้น 7 ปี" เลขาธิการ สทนช.กล่าวในที่สุด 

                   อย่างไรก็ตามการเตรียมความพร้อมจัดการน้ำหลากในพื้นที่ภาคใต้ปีนี้ (2561) ครอบคลุม 14 จังหวัด  สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดพื้นที่การแก้ไขอุทกภัยและภัยแล้งอย่างเป็นระบบใน 66 พื้นที่ทั่วประเทศ รวม 29.70 ล้านไร่ โดยมีโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญที่สามารถแก้ปัญหาในพื้นที่ซึ่งเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (ปี 2561-2580) รวมทั้งสิ้นกว่า 300 โครงการ และในช่วงปี 2562-2565 มีโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญจำนวน 31 โครงการ แบ่งเป็น ภาคเหนือ 4 โครงการ ภาคกลาง 13 โครงการ ภาคอีสาน 10 โครงการ ภาคตะวันออก 2 โครงการ ภาคใต้ จำนวน 2 โครงการ โดยมีโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.นครศรีธรรมราช เป็น 1 ใน 9 โครงการสำคัญที่รัฐบาลจะเริ่มขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมได้ในปี 2562 ด้วย 

                                                                                             

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ