ข่าว

 ใช้กลไก"สหกรณ์"ปฏิรูปภาคเกษตร 1 ก.ย.เริ่มขับเคลื่อนทั่วไทย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 ใช้กลไก"สหกรณ์"ปฏิรูปภาคเกษตร   1 ก.ย.เริ่มขับเคลื่อนทั่วไทย

 

              การปักธงไปที่ “สหกรณ์ภาคการเกษตร” เพื่อปรับโครงสร้างภาคเกษตรโดยกลไกสหกรณ์ นับเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาลกับการขับเคลื่อนการปฏิรูปภาคการเกษตร เพื่อยกระดับและสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรไทย จนเป็นแรงส่งที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง  

 ใช้กลไก"สหกรณ์"ปฏิรูปภาคเกษตร 1 ก.ย.เริ่มขับเคลื่อนทั่วไทย

             “รัฐบาลต้องการให้ทุกหน่วยงานเข้ามาร่วมกันทำให้สหกรณ์เป็นฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศ เพราะสหกรณ์ถือเป็นกลไกที่จะพัฒนาภาคการเกษตรได้อย่างแท้จริง แต่ที่ผ่านมาคนส่วนใหญ่อาจมองข้ามความสำคัญของสหกรณ์ไป ดังนั้นจึงอยากให้ทุกภาคส่วนได้มาร่วมมือพัฒนาสหกรณ์ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจัง ให้เป็นกำลังสำคัญของสังคม ที่จะทำให้ภาคเกษตรของไทยดีขึ้น โดยเชื่อว่า ปัจจุบันนี้สหกรณ์มีศักยภาพและความสามารถสูงพอที่จะเปลี่ยนแปลงภาคเกษตรของประเทศได้”

         ความตอนหนึ่งที่ "สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี กล่าวบนเวทีในการประชุมเชิงปฏิบัติการ “การปรับโครงสร้างภาคเกษตรโดยกลไกสหกรณ์” ณ หอประชุมกองทัพอากาศ เมื่อวันก่อน โดยมีตัวแทนสหกรณ์การเกษตรที่ผ่านการคัดเลือกว่าเป็นสหกรณ์ที่เข้มแข็ง มีมาตรฐานในการบริหารจัดการในระดับดีเด่น และมีการดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการรวบรวมผลผลิตการเกษตรที่สำคัญ ทั้งข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพด ผลไม้ โคเนื้อ นม และสินค้าแปรรูป จำนวน 777 แห่ง เข้าร่วมรับฟังนโยบายจากรองนายกรัฐมนตรี พร้อมระดมสมองจากทุกภาคส่วนในการหาทางยกระดับความเข้มแข็งของสหกรณ์เพื่อให้ทำหน้าที่เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลเดินหน้าปฏิรูปภาคการเกษตร 

 

 ใช้กลไก"สหกรณ์"ปฏิรูปภาคเกษตร 1 ก.ย.เริ่มขับเคลื่อนทั่วไทย

            “สหกรณ์บ้านเรามีประมาณ 4,000 แห่ง ที่เชิญมาวันนี้คือสหกรณ์ที่เข้มแข็งพอสมควรแล้ว และเป็นความหวังของภาคการเกษตรของประเทศ เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่ยังอ่อนแออยู่ ถ้าทำคนเดียวขายคนเดียว ย่อมไม่มีทางที่จะแข็งแรงได้ แต่ถ้าเราร่วมกันทำ ทำให้ทันสมัย ก็จะสร้างความเข้มแข็งได้ เชื่อว่าสหกรณ์เหล่านี้จะเป็นตัวอย่างให้สหกรณ์ที่ยังไม่เข้มแข็งได้เดินรอยตามและเข้ามาร่วมมือกันเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ได้ การได้มาพบกับตัวแทนสหกรณ์วันนี้ เพื่อมาทำความเข้าใจว่ารัฐบาลอยากให้สหกรณ์ทำอะไร แล้วสหกรณ์มีอะไรให้รัฐบาลช่วย รัฐบาลยินดีช่วยเต็มที่ และวันนี้ประเทศไทยนั้นกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น ความมั่นใจทางเศรษฐกิจในวันนี้กำลังกลับคืนมา โลกต้อนรับเรา” 

           รองนายกรัฐมนตรี ฉายภาพให้เห็นว่า ประชากรของไทย 20 ล้านคนอยู่ในภาคการเกษตร แต่ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือจีดีพี ในภาคการเกษตรต่ำกว่า 10% อำนาจซื้อก็ไม่มี ทำให้ไทยต้องเน้นผลิตเพื่อส่งออก เมื่อผลิตเพื่อส่งออก คนที่มีรายได้จริงๆ อยู่ในคนเพียงกลุ่มเดียว ทำให้รายได้กระจุกตัวไม่สามารถกระจายสู่คนระดับฐานรากได้ ขณะเดียวกันทรัพยากรมนุษย์นับว่าเป็นทรัพย์สินที่มีค่าของประเทศ ฉะนั้นจึงถึงเวลาแล้วที่ต้องเปลี่ยนแปลงให้เกษตรกรเป็นทรัพย์สินที่ยิ่งใหญ่ เพื่อทำให้ประเทศมีความเจริญก้าวหน้ามากขึ้น

         “อนาคตของเกษตรกรไม่ได้ขึ้นอยู่กับเกษตรกรรายย่อย แต่ขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งของสหกรณ์ ถ้าสหกรณ์เข้มแข็ง เกษตรกรรายย่อยจะไปได้ดี ฉะนั้นโฟกัสจะต้องอยู่ที่สหกรณ์  เพราะเราต้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิตภาคการเกษตร”

           สำหรับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิตภาคการเกษตร สมคิดระบุว่าล่าสุดมีข้อมูลเชิงพื้นที่ทั่วทั้งประเทศแล้วว่า แต่ละพื้นที่ควรปลูกอะไร โดยไม่จำเป็นต้องเน้นการปลูกข้าวเพียงอย่างเดียว สิ่งเหล่านี้ต้องมีการเริ่มต้นโดยใช้หลักการตลาดนำการผลิต เจ้าภาพเรื่องนี้คือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องช่วยกันชี้เป้าว่าแต่ละพื้นที่ปลูกอะไรได้บ้างและปลูกในปริมาณเท่าไหร่ จากนั้นจึงให้สหกรณ์เข้ามาบริหารจัดการผลผลิต รวบรวมและแปรรูปเพิ่มมูลค่า รวมถึงหาตลาดจัดจำหน่าย ซึ่งคาดว่าการดำเนินการดังกล่าวจะเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนนี้ เป็นต้นไป

           “คนส่วนใหญ่อาจจะยังไม่กล้าเปลี่ยนแปลง ดังนั้นจึงต้องมีกลุ่มคนที่กล้าจะเปลี่ยนแปลงและเริ่มสิ่งใหม่ ซึ่งก็คือสหกรณ์ทั้ง 777 แห่ง ที่จะต้องไปหาทางพัฒนาสมาชิกให้เป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ ค้นหาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาช่วยพัฒนา หาองค์ความรู้มาถ่ายทอดให้กับเกษตรกรที่เป็นสมาชิก โดยต้องการให้สหกรณ์จะเป็นความหวังของเกษตรกร”

           ส่วนในเรื่องการตลาดนั้นรัฐบาลต้องการให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงภาคเอกชน เข้ามาช่วยดูแลเพื่อวางแนวทางร่วมกันในการดึงเทคโนโลยีมาใช้และเรียนรู้ด้านการตลาดค้าขายผ่านช่องทางตลาดออนไลน์ หรือร่วมกับห้างค้าปลีกสมัยใหม่หรือจับมือกับไปรษณีย์จัดส่งสินค้าสหกรณ์ถึงผู้บริโภคทั่วประเทศ

           “ขณะนี้ได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์เข้ามาช่วยสนับสนุนสหกรณ์สร้างเว็บไซต์ขายสินค้า ระบบโลจิสติกส์ โดย ทีโอที, กสท โทรคมนาคม เข้ามาช่วยเรื่องระบบดิจิทัล เพื่อผลักดันให้สหกรณ์สามารถค้าขายผ่านเว็บไซต์ได้ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็คือหลักการปฏิรูปโครงสร้างภาคการเกษตรของประเทศ และเป็นทิศทางใหม่ในการดำเนินงานของสหกรณ์ในโลกยุคปัจจุบัน” สมคิด กล่าวและว่าสหกรณ์คือความหวังใหม่ของประเทศไทยที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใในทางที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน 

          “รัฐบาลเหลือเวลาอีก 7 เดือนจะต้องทำเรื่องนี้ให้สำเร็จ” สมคิดกล่าวทิ้งท้ายอย่างมั่นใจ! 

 สหกรณ์“โคเนื้อ-ยางพารา”ขานรับแนวทางปฏิรูป 

           สหกรณ์เครือข่ายโคเนื้อ จำกัด ต.สระสี่มุม อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม เป็นการรวมกลุ่มของสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคเนื้อใน 5 จังหวัด ภาคตะวันตก ประกอบด้วย นครปฐม, ราชบุรี, กาญจนบุรี, สุพรรณบุรี และชัยนาท ก่อตั้งเมื่อปี 2553 เพื่อแก้ปัญหาเรื่องการตลาด เป็น 1 ใน 777 สหกรณ์ ที่เข้าร่วมรับฟังนโยบายการปรับโครงสร้างภาคเกษตร โดยใช้กลไกสหกรณ์จาก “ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี ที่หอประชุมกองทัพอากาศ เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ที่ผ่านมา

            สิทธิพร บุรณนัฎ ผู้จัดการสหกรณ์เครือข่ายโคเนื้อ จำกัด เผยถึงแนวนโยบายดังกล่าวว่าเป็นเรื่องที่ดีที่รัฐบาลมุ่งเป้ามาที่สหกรณ์ในการขับเคลื่อนภาคเกษตรทั้งระบบ และให้ตลาดนำการผลิต เพราะปัญหาของเกษตรกรทุกวันนี้มีปัญหาเรื่องการตลาด โดยเฉพาะเกษตรกรที่ประกอบอาชีพเลี้ยงโคเนื้อที่มักจะมีปัญหาถูกพ่อค้ารับซื้อกดราคา และต้นทุนการเลี้ยงสูง วัตถุดิบมีราคาแพง

           “โชคดีสหกรณ์เรามีเครือข่ายที่เข้มแข็ง มีการบริหารจัดการที่ดีตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ มีตลาดรองรับทั้งตลาดของสหกรณ์เองและห้างโมเดิร์นเทรด แต่สิ่งที่อยากให้รัฐบาลเข้ามาช่วยดูแลคือตลาดในต่างประเทศโดยเฉพาะตลาดจีน เวียดนาม มาเลเซียและกลุ่มประเทศมุสลิม เนื่องจากกลุ่มประเทศเหล่านี้ยังมีความต้องการบริโภคเนื้อโคสูงมาก จึงอยากให้รัฐบาลเข้ามาดูแลในส่วนนี้” ผู้จัดการสหกรณ์เครือข่ายโคเนื้อ จำกัด กล่าว

           นอกจากนี้ สิ่งที่รองนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำกับสหกรณ์เครือข่ายโคเนื้อคือ อยากให้สหกรณ์ใช้นวัตกรรมฉีดไขมันในเนื้อ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีจากญี่ปุ่นมาช่วยในการปรับปรุงคุณภาพเนื้อโคเพื่อรองรับตลาดในระดับบนด้วย อย่างไรก็ตามปัจจุบันสหกรณ์เครือข่ายโคเนื้อได้ส่งเสริมให้สมาชิกเลี้ยงโคเนื้อในหลากหลายสายพันธุ์เพื่อรองรับความต้องการของตลาด รวมทั้งเนื้อวากิวที่มีคุณภาพสูงไม่แพ้เนื้อนำเข้าจากญี่ปุ่นอีกด้วย 

           “ใกล้มีการเลือกตั้งแล้ว ตอนนี้ก็มีหลายพรรคการเมืองมาทาบทามผมไปให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเลี้ยงโคเนื้อ คิดว่ารัฐบาลที่มาจากเลือกตั้งสมัยหน้าเชื่อว่าหลายพรรคการเมืองคงจะฟื้นโครงการเก่าเช่นโคล้านตัวขึ้นมาหรืออาจมีโครงการใหม่ๆ บรรจุไว้ในนโยบายพรรคอย่างแน่นอน” ผู้จัดการสหกรณ์เครือข่ายโคเนื้อ จำกัด กล่าวอย่างมั่นใจ

           เช่นเดียวกับสหกรณ์การเกษตรสะเดา จำกัด อ.สะเดา จ.สงขลา โดย “ประจวบ อมแก้ว” ประธานกรรมการสหกรณ์ มองว่าเป็นนโยบายที่มีประโยชน์ต่อภาคเกษตรเป็นอย่างมาก ที่ผ่านมาแม้รัฐบาลจะให้ความสำคัญกับสหกรณ์ในการขับเคลื่อนภาคเกษตรแต่ก็ไม่ได้ดำเนินการอย่างเต็มที่และไม่มีความต่อเนื่อง ทำให้ภาคการเกษตรไทยไม่มีการพัฒนาไปไกลเท่าที่ควร

          “การดำเนินการโดยตัวของสหกรณ์เองบางครั้งก็มีข้อจำกัด แต่ถ้ารัฐบาลให้ความสำคัญและเข้ามาดูแลอย่างเต็มที่จะมีประโยชน์มากขึ้น เพราะยางพาราเป็นปัญหาระดับโลก ลำพังสหกรณ์แก้ปัญหาเองคงลำบาก” ประจวบกล่าว

             ประจวบ กล่าวอีกว่า สิ่งที่รองนายกฯ สมคิดได้กำชับเป็นพิเศษอยากให้สมาชิกสหกรณ์มีอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้และส่งเสริมการปลูกพืชโตเร็วในสวนยยาง รวมทั้งเลี้ยงแพะเพื่อเป็นอีกช่องทางในการสร้างรายได้เสริมในขณะที่ยางพารามีราคาตกต่ำ 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ