ข่าว

สทน.ยกระดับการจัดการแมลงวันทองด้วยตรอกนองโมเดล

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สทน.ยกระดับการจัดการแมลงวันทองด้วยตรอกนองโมเดล

          เมื่อวันที่ 15 ส.ค. สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือสทน. เปิดตัวโครงการยุทธการปราบแมลงวันทองด้วยตรอกนองโมเดล ณ ห้องวิภาวดีบอลรูม โรงแรมเซนทารา แอท เซนทรัลลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร โดยมีนางสาวกัญญวิมว์ กีรติกร ผู้ช่วยรัฐมนตรี กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นประธาน

                โดยนำต้นแบบความสำเร็จการใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ทำหมันแมลงวันผลไม้จากตำบลตรอกนอง อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี ขยายพื้นที่เป้าหมายต่อยอดไปทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มผลิตพืชและผลไม้ส่งออกสำคัญของประเทศ แต่ลดการใช้สารเคมีและแก้ไขปัญหาสารเคมีตกค้างอย่างมีประสิทธิภาพ

              นางสาวกัญญวิมว์ กีรติกร กล่าวว่า ปี 2560 ประเทศไทยมีรายได้จากการส่งออกผลไม้มากกว่า 40,000ล้านบาท แต่ทว่าเกษตรกรยังต้องเผชิญกับปัญหาสำคัญ คือ การจัดการศัตรูพืชที่มารบกวนผลผลิต ซึ่งแมลงวันผลไม้จัดเป็นแมลงศัตรูพืชที่สำคัญ นอกจากจะทำให้ผลไม้เน่าเสียแล้วยังมีผลต่อคุณภาพการส่งออกผลไม้ หลายครั้งที่ผลผลิตถูกห้ามนำเข้าและต้องทำลายทิ้ง ด้านเกษตรกรมีวิธีการควบคุมกำจัดแมลงชนิดนี้หลายวิธี ส่วนใหญ่จะใช้สารเคมีในการกำจัดแมลงวันผลไม้ซึ่งไม่ค่อยได้ผลมากนัก เป็นอันตรายและทำให้ต้นทุนการผลิตสูง เมื่อใช้ต่อเนื่องเป็นเวลานานจะส่งผลให้สารเคมีตกค้าง ซึ่งเป็นปัญหาทางตรงและทางอ้อมต่อ สุขอนามัยของเกษตรกร ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม

             ดังนั้นกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสทน. จึงได้ศึกษาวิจัยและดำเนินการนำวิธีการทำหมันแมลงมาใช้กับการควบคุมกำจัดแมลงวันผลไม้แบบพื้นที่กว้างโดยเทคนิคการใช้แมลงที่เป็นหมัน โดยเริ่มต้นที่พื้นที่ปลูกผลไม้ของตำบลตรอกนอง อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี เป็นแห่งแรกก่อนที่จะพัฒนาปรับปรุงกระบวนการผสมผสานกับวิธีการอื่น จนประสบความสำเร็จ สามารถลดจำนวนประชากรแมลงศัตรูพืช ผลผลิตผลไม้จากตรอกนองมีคุณภาพ ปลอดภัยตามมาตรฐานการส่งออก ได้รับการยอมรับจากตลาดทั้งในและต่างประเทศ

            ทั้งนี้สืบเนื่องการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ณ จังหวัดจันทบุรี เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา จึงมีมติให้สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) จัดทำโครงการการควบคุมแมลงวันผลไม้โดยเทคนิคการใช้แมลงที่เป็นหมันสำหรับพื้นที่ผลิตผลไม้ส่งออก โดยให้ขยายพื้นที่การดำเนินงานให้ครอบคลุมทั่วประเทศ สทน.จึงได้ดำเนินการโครงการดังกล่าว ภายใต้ชื่อ “ยุทธการปราบแมลงวันทองด้วยตรอกนองโมเดล” โดยร่วมกับกรมวิชาการเกษตร และกรมส่งเสริมการเกษตร ปฏิบัติงานใน 10 พื้นที่เป้าหมาย ได้แก่ จันทบุรี ระยอง ตราด ชุมพร นครศรีธรรมราช พิษณุโลก ฉะเชิงเทรา นครราชสีมา ขอนแก่น และราชบุรี เริ่มจากปีงบประมาณ 2561-2570 รวม ระยะเวลา 10 ปี

             ดร.พรเทพ นิศามณีพงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) ระบุว่า สทน.จะนำต้นแบบความสำเร็จจากตรอกนองโมเดล มาบูรณาการร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อสร้างเขตประชากรแมลงวันผลไม้ต่ำที่สามารถได้รับการรับรองพื้นที่โดยกรมวิชาการเกษตร สร้างระบบควบคุมกำจัดแมลงศัตรูทางกักกันพืชอื่นของผลไม้ และผลิตไม้ผลคุณภาพ ปลอดภัยตามมาตรการสุขอนามัยพืชและได้รับการรับรองโดยหน่วยงานทางกักกันพืช ให้สำเร็จทั้ง 10 พื้นที่เป้าหมายและขยายผลไปทั่วประเทศต่อไป

 

             ด้านนายเฉลย สำเภาพันธุ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลตรอกนอง กล่าวว่า เมื่อก่อนเกษตรกรเผชิญกับปัญหาของต้นทุน มีการระบาดของแมลงวันทองค่อนข้างสูง ต้นทุนการผลิตก็สูงไปด้วย ทั้งปุ๋ย ยาฆ่าแมลง พยายามหาแนวทางว่าการผลิตอย่างไรจะลดการใช้สารเคมีให้ต่ำลง เกษตรกรก็ได้เข้ามาอบรมที่มหาวิทยาลัยบูรพาวิทยาเขตจันทบุรี ก็ได้องค์ความรู้จากตรงนี้ไป โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2548 ครั้งแรกได้วางกับดักก่อนเพื่อกำจัดแมลงวันทองโดยใช้สารเคมี แมลงเข้าไปกินแล้วก็ตาย การวางกับดักต้องทำเรื่อยๆ ใน 1 ฤดูกาลผลิตต้องวางกับดักหลายๆรอบ เมื่อปี 2552 เกษตรกรเริ่มเอาไข่ที่ฉายรังสีแล้วจากสทน.นำไปให้อบต.จำนวน 3-5 ล้านฟอง ซึ่งมีสมาชิกในกลุ่มประมาณ 50 กว่าราย โดยปล่อยในพื้นที่ประมาณ 10,000 กว่าไร่ ปล่อย 10 กว่าจุด โดยแมลงวันทองที่เป็นหมันที่เราปล่อยจะสังเกตได้ว่าเป็นหลังสีขาว ภายหลังจากการปล่อยแมลงวันทอง สามารถลดการใช้สารเคมีไปได้มากถึงล้านบาทต่อฤดูกาลผลิต แต่ก่อนผลไม้เปลือกบางแทบกินไม่ได้เลยอย่างกล้วยตัดมาทั้งเครือเอามาบ่มแทบจะกินไม่ได้เลยมีแต่หนอน ปัจจุบันไม่มีแล้ว อีกทั้งรายได้ก็เพิ่มมากขึ้น จากเดิมที่ใช้สารเคมีจำนวนมากก็ลดไป 60-70 % เดี่ยวนี้ผลผลิตก็ได้เต็มจำนวน รายได้ก็เพิ่มมากขึ้น และมีสุขภาพดีขึ้น ผมว่าการใช้นิวเคลียร์ ดีกว่ากการใช้สารเคมีอีก

                สำหรับกิจกรรมสำตัญในวันเปิดตัวครั้งนี้ ได้แก่ การเสวนา เรื่องการจัดการแมลงวันผลไม้ และการปฏิบัติงานเชิงบูรณาการในพื้นที่เป้าหมาย โดยนักวิชาการจากสทน. หน่วยงานร่วม และผู้แทนเกษตรกรในพื้นที่ มาแลกเปลี่ยนแนวคิดและข้อเสนอแนะต่างๆ และนอกจากนี้ยังการจัดนิทรรศการของหน่วยงานและเกษตรกรชาวตำบลตรอกนอง จังหวัดจันทบุรีอีกด้วย นับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ในการนำเทคโนโลยีนิวเคลียร์มาเพิ่มศักยภาพการผลิตสินค้าเกษตรของประเทศ สามารถแข่งขันในตลาดโลก เพิ่มรายได้ทางเศรษฐกิจและยังเพิ่มคุณภาพชีวิตและสุขอนามัยที่ดีของประชาชนควบคู่กัน

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ