ข่าว

    สูตรสำเร็จแปลงใหญ่"มังคุดเขาคิชฌกูฏ"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

    สูตรสำเร็จแปลงใหญ่"มังคุดเขาคิชฌกูฏ" เตรียมขยายผลสู่ชาวสวนภาคตะวันออก

 

             แม้แปลงใหญ่มังคุดเขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี จะไม่ได้รับรางวัลแปลงใหญ่ดีเด่นจากการประกวดเกษตรแปลงใหญ่ระดับประเทศในปีนี้ (2561) ซึ่งคณะกรรมการได้มีการประกาศผล(อย่างไม่เป็นทางการ)เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทว่าแปลงใหญ่มังคุดเขาคิชฌกูฏ ถือเป็นตัวอย่างความสำเร็จที่ชัดเจน เกษตรกรชาวสวนผลไม้ควรนำไปใช้เป็นแบบอย่าง

    สูตรสำเร็จแปลงใหญ่"มังคุดเขาคิชฌกูฏ"

            หลังสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง กรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัดจันทบุรี ได้ส่งโครงการแปลงใหญ่มังคุดเขาคิชฌกูฏ อ.เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี เข้าประกวดแปลงใหญ่ดีเด่นระดับประเทศ ประจำปี 2561 หลังได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมการ ใน 3 พื้นที่จังหวัดภาคตะวันออก ประกอบด้วย แปลงใหญ่มังคุด อ.เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี แปลงใหญ่ทุเรียน อ.เขาสมิง จ.ตราด และแปลงใหญ่ข้าว ต.เขาพระ อ.เมือง จ.นครนายก

              “คณะกรรมการระดับเขตได้พิจารณาให้มังคุดเขาคิชฌกูฏเป็นแปลงใหญ่ที่ชนะเลิศรางวัลที่ 1 ในระดับเขต โดยพิจารณาจาก 5 ด้านคือการลดต้นทุนการผลิต การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การพัฒนาคุณภาพ การตลาด และการบริหารจัดการ ก่อนส่งต่อให้กรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อให้คณะกรรมการระดับกระทรวง พิจารณาคัดเลือกระดับประเทศ ซึ่งขณะนี้ผลการพิจารณาคัดเลือกของคณะกรรมการอย่างไม่เป็นทางการออกมาแล้ว แต่แปลงใหญ่มังคุดเขาคิชฌกูฏไม่ติด 1 ใน 3” ชาตรี บุญนาค ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง เผยต่อ “คม ชัด ลึก” ถึงผลการประกวดแปลงใหญ่ในปีนี้

           สำหรับการประกวดแปลงใหญ่ระดับประเทศในครั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมส่งเสริมการเกษตร มีนโยบายชัดเจนให้แปลงใหญ่มีการพัฒนาด้านคุณภาพสินค้า เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาด ตลอดถึงให้เป็นที่รู้จักของผู้คนโดยทั่วไป โดยเฉพาะผู้บริโภค ที่สำคัญจะช่วยให้เกษตรกรมีอำนาจในการต่อรองด้านราคาของผลผลิตมากขึ้น และสามารถเพิ่มผลผลิตต่อไร่อย่างมีคุณภาพผ่านการรับรองมาตรฐานจีเอพี(GAP) ภายใต้แนวทางการตลาดนำการผลิตได้มากขึ้น พร้อมเพิ่มช่องทางให้มีการรวมตัวกันจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน หรือสหกรณ์ 

          “เป็นแปลงใหญ่ที่เกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกมังคุดตั้งแต่ปี 2559 มีการสร้างแบรนด์ของกลุ่มภายใต้ชื่อ KMK (Krathing Mangoteen Khao khitchakut) ในปี 2560 ได้ดำเนินการจัดประมูลมังคุดขึ้นเป็นแห่งแรกใน จ.จันทบุรี สมาชิกสามารถเพิ่มมูลค่าผลผลิตได้ร้อยละ 17.71 และปี 2561 สามารถเพิ่มมูลค่าผลผลิตเป็นร้อยละ 23.30 เรากำลังเตรียมขยายผลความสำเร็จของที่นี่ไปสู่พี่น้องชาวสวนผลไม้ในพื้นที่ภาคตะวันออกด้วย" ผอ.สสก.ที่ 3 กล่าวถึงแปลงใหญ่มังคุดเขาคิชฌกูฏ

           ชาตรี เผยต่อว่า นอกจากนี้ยังมีการขยายผลให้แก่กลุ่มแปลงใหญ่ในพื้นที่ จ.จันทบุรี อีก 4 แปลง ได้แก่ แปลงใหญ่มังคุด ต.ตะปอน อ.ขลุง แปลงใหญ่มังคุด ต.วังโตนด อ.นายายอาม แปลงใหญ่มังคุด ต.แสลง อ.เมืองจันทบุรี และแปลงใหญ่มังคุด ต.คมบาง อ.เมืองจันทบุรี อีกทั้งยังมีกลุ่มชาวสวนมังคุดในจังหวัดข้างเคียง เข้ามาศึกษาเรียนรู้และเชิญไปเป็นวิทยากรให้คำแนะนำเพื่อนำไปปรับใช้กับกลุ่มของตน นับเป็นการขยายเครือข่ายและสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนมังคุดได้เป็นอย่างดี 

           ขณะที่ พิพัฒน์ อินทรเจริญ ประธานแปลงใหญ่มังคุด อ.เขาคิชฌกูฏ ให้ข้อมูลว่า ในปีแรกของการดำเนินการแปลงใหญ่จะเน้นการลดต้นทุน โดยการสมัครใจของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ปีแรกมีสมาชิก 34 คน ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 73 คน มีเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรเป็นผู้ทำหน้าที่คอยประสานงานให้ ร่วมวางแผน ทำให้สามารถต่อรองราคาแก้ปัญหาพ่อค้าคนกลางได้ ปัจจุบันราคาผลผลิตมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 20%

           “ในปี 2561 มีสมาชิกร่วมการประมูลเพิ่มขึ้นเป็น 73 คน พื้นที่เพิ่มจากเดิม 600 ไร่ เป็น 1,251 กว่าไร่ ผลผลิตเพิ่มขึ้นมากกว่าปีที่ผ่านกว่าหนึ่งเท่าตัว ความโดดเด่นของกลุ่มคือ การนำระบบการประมูลเข้ามาใช้ ทำให้ราคาผลผลิตเพิ่มขึ้น อีกทั้งคุณภาพผลผลิตดีขึ้น เป็นที่พึงพอใจของทั้งสมาชิกในกลุ่มเองและคู่ค้าของเรา ประกอบกับสมาชิก

           "เป็นคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถทางด้านการตลาด การผลิต ระบบน้ำต่างๆ มีความยินดีและพร้อมใจแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน โดยไม่ปิดปังข้อมูล ก่อเกิดความสามัคคีและเปิดใจยอมรับระหว่างกัน ทำให้การบริหารงานเป็นระบบและมีประสิทธิภาพมากขึ้น” ประธานแปลงใหญ่มังคุด อ.เขาคิชฌกูฏ กล่าว 

           ทางด้าน คำนึง ชนะสิทธิ์ ปราชญ์เกษตรกร เจ้าของสวนผลไม้อินทรีย์ใน ต.สองพี่น้อง อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี กล่าวถึงภาพรวมผลไม้ของ จ.จันทบุรี ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งประกอบด้วย ทุเรียน มังคุด และเงาะ ส่วนใหญ่ให้ผลผลิตไม่ถึง 50% โดยเฉพาะมังคุดอยู่ที่ 37% เท่านั้น ทั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ส่วนราคาจะค่อนข้างดีมาก โดยรุ่นแรกๆ อยู่ที่กิโลกรัมละ 370 บาท รุ่นต่อมาอยู่ที่ 200-300 บาท ก่อนจะตกลงมาอยู่ที่ 70-80 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นราคาเฉลี่ยตลอดฤดูกาลผลิต

 

          “มังคุด ทุเรียน ปีนี้ราคาดีมาก แต่ละสวนจะให้ผลผลิตน้อย เพราะสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน ทำให้การติดผลน้อย ส่วนการรวมกลุ่มทำแปลงใหญ่ก็เป็นอีกทางเลือกของเกษตรกรในการลดต้นทุน มีตลาดรองรับและสามารถต่อรองราคากับพ่อค้าคนกลางได้ง่าย” เจ้าของสวนผลไม้อินทรีย์รายเดิมกล่าวย้ำ

           สำหรับการประกวดแปลงต้นแบบตามระบบการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่จะแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ 1.ระดับเขตมีผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน 2.ระดับกลุ่มจังหวัด มีรองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน และ 3.ระดับประเทศมีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน ส่วนการพิจารณาในเขตรับผิดชอบจะคัดเลือกแปลงต้นแบบที่มีผลงานดีเด่น เขตละ 1 แปลง ตามหลักเกณฑ์การให้คะแนน 4 ส่วน ได้แก่ 1.การเตรียมการ 2.แผนและปัจจัยนำเข้า  3.การดำเนินการ  4.ผลลัพธ์

            ส่วนระดับจังหวัดจะคัดเลือกกลุ่มละ 1 แปลงจาก 18 กลุ่มจังหวัดจะพิจารณาในส่วนที่ 5 คือ การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้และระดับประเทศจะพิจารณาใน ส่วนที่ 6 ด้านความยั่งยืนและ Zero waste 

 “แหล่งทุน”ปัญหาหลักเกษตรแปลงใหญ่ 

    สูตรสำเร็จแปลงใหญ่"มังคุดเขาคิชฌกูฏ"

          ปรีชา กิมกง ประธานนาแปลงใหญ่ข้าวคุณภาพ ห้วยยางโทน ต.ห้วยยางโทน อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี กล่าวถึงความสำเร็จของการทำนาแปลงใหญ่ ทำให้มีอำนาจต่อรองกับพ่อค้าคนกลาง ตลอดจนการเข้ามาช่วยเหลือเกษตรกรของภาครัฐที่ต้องมีความรู้ ความเข้าใจในการจะส่งเสริมทั้งการเพิ่มผลผลิต กระจายการผลิต ตลอดจนอุปกรณ์ เครื่องใช้เกี่ยวกับอุปกรณ์การผลิตต่างๆ ขณะเดียวกันทำให้สามารถลดต้นทุนการผลิต อันจะส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น มีความมั่นคง เพื่อที่สมาชิกจะได้ให้ความร่วมมือ สำหรับกิจกรรมของกลุ่มจะผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพได้รับมาตรฐานจีเอพีและจำหน่ายให้แก่ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวราชบุรี และโรงสี 1,498 ตันต่อปี

             “นาแปลงใหญ่ห้วยยางโทนได้ดำเนินการมาประมาณปี 2559 เมล็ดพันธุ์นาแปลงใหญ่ได้รับรองจีเอพี ซึ่งเรามีความรู้ มีความชำนาญในการผลิตเมล็ดพันธุ์ให้แก่ชุมชน มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์มานาน และมีพี่เลี้ยงที่ดีคือศูนย์วิจัยข้าวราชบุรี ทำให้ชาวนาเข้มแข็ง เห็นอนาคตที่ลืมตาอ้าปากได้ การทำนาแปลงใหญ่ เกษตรกร มีส่วนร่วมในการบริหารกิจกรรมของตนเอง ตลอดจนกระบวนการเกี่ยวกับแปลงใหญ่ เช่นการทำปุ๋ยใช้เอง เนื่องจากมีราคาถูกกว่าเพราะไม่ได้ซื้อจากพ่อค้า รวมถึงการแปรรูปเพื่อบริโภค”

            เกษตรกรรายเดิมมองว่าการทำนาแปลงใหญ่ดีกว่าที่จะต่างคนต่างทำหรือไม่นั้นอาจตอบยาก แต่อำนาจต่อรองนั่นคือสิ่งสำคัญกับพ่อค้าคนกลางเช่น โรงสี ซึ่งภาครัฐก็พยายามดำเนินการให้เป็นไปที่วางนโยบายและแนวทางไว้ อย่างไรก็ตาม สำหรับการทำนาแปลงใหญ่ที่นี่ยังต้องการการสนับสนุนจากภาครัฐ เช่น เครื่องวัดความชื้น เครื่องชั่ง บรรจุหีบห่อ เครื่องคัดแยกเมล็ดพันธุ์

             ปรีชา ยอมรับว่า ปัญหาแปลงใหญ่ที่เจอในช่วงที่ผ่านมาก็คือการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยาก เพราะไม่มีใครให้คำแนะนำ ขาดคนที่มีความรู้เข้ามาให้คำปรึกษา ในช่วงแรกชาวบ้านไม่ให้ความร่วมมือ  จึงต้องประชาสัมพันธ์ว่าแปลงใหญ่ดีอย่างไร แต่ที่ผ่านมาเขาไม่เห็นประโยชน์จากนาแปลงใหญ่ จึงยังเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข ทำให้การปลูกข้าวเป็นเพียงอาชีพรอง เพราะปลูกเพียงปีละสองครั้งและเป็นนานอกเขตชลประทาน แต่ได้ปรับเปลี่ยนไปปลูกผักเช่นแปลงใหญ่พริก มะเขือ ถั่วฝักยาว แตงกวา ซึ่งมีรายได้เพิ่มขึ้น  

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ