ข่าว

 จับตา!โรคและแมลงศัตรูพืชหน้าฝน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 จับตา!โรคและแมลงศัตรูพืชหน้าฝน    ระวังเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดนาข้าว          

 

           การระบาดของศัตรูพืช ไม่ว่าจะเป็นโรคพืชหรือแมลงศัตรูพืช ปัจจัยสำคัญขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม ชนิดพืช พันธุ์พืช และศัตรูพืช เช่น เพลี้ยต่างๆ ส่วนใหญ่เจริญเติบโตและแพร่ขยายพันธุ์ได้ดีในสภาพอากาศแห้งแล้ง แต่ใช่ว่าสภาพอากาศที่ค่อนข้างชื้น โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนจะไม่มีการระบาดของศัตรูพืช โรคหลายโรคก็สามารถระบาดได้ในช่วงนี้เช่นกัน โดยเฉพาะโรคจากเชื้อราที่เกษตรกรจะต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ

             “การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจะมีผลโดยตรงต่อโรคและศัตรูพืชทั้งในทางบวกและลบ แต่ในช่วงฤดูฝนโรคที่เกษตรกรจะต้องเฝ้าระวังและหาแนวทางในการป้องกัน ซึ่งในฤดูนี้โรคจากเชื้อราจะระบาดหนัก เช่น โรคราน้ำค้าง เกิดจากเชื้อรา Peronospora parasitica ลักษณะอาการ ใบจะเป็นจุดละเอียดสีดำอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเล็กๆ ด้านใต้ใบ จุดเหล่านี้จะมีราสีขาวอมเทาอ่อนคล้ายผงแป้งขึ้นเป็นกลุ่มๆ กระจายทั่วไป ทำให้ใบจะร่วงหรือแห้ง ระบาดได้ตั้งแต่ระยะที่เป็นต้นกล้าจนเจริญเติบโตเต็มที่ จะต้องตัดใบที่เป็นโรคทิ้ง การป้องกันกำจัด ให้ฉีดพ่นด้วยชีวภัณฑ์ ป้องกันกำจัดเชื้อรา”

           ประสงค์ ประไพตระกูล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เผยการเตรียมพร้อมรับมือโรคและแมลงศัตรูพืชในช่วงหน้าฝน โดยเฉพาะโรคเน่าคอดินที่เกิดจากเชื้อราในแปลงต้นกล้า เนื่องจากการหว่านเมล็ดที่แน่นทึบ แผลจะเน่าและแห้งไปอย่างรวดเร็ว เป็นเชื้อราติดมากับเมล็ด หรืออยู่ในดิน น้ำ ฝน การป้องกันจะต้องเตรียมแปลงให้มีการระบายน้ำดี ใช้เมล็ดพันธุ์ดี ไม่มีเชื้อจุลินทรีย์ติดมากับเมล็ด ก่อนปลูกคลุกเมล็ดด้วยสารชีวภัณฑ์ หมั่นตรวจแปลงสม่ำเสมอ หากพบให้รีบขุดเอาดินและต้นเป็นโรคทำลายหรือฝังลึกนอกแปลง หรือโรคราสนิมขาวในผักที่เกิดจากเชื้อรา จะมีจุดสีเหลืองซีดด้านบนของใบ หากเกิดโรคระบาดให้ฉีดพ่นใต้ใบด้วยไตรโคเดอร์มา สลับกับ บีเอส อัตราที่แนะนำ หากมีฝนตกชุกให้ผสมสารจับใบ และดูแลระบบการให้น้ำในแปลงปลูก อย่าให้ชื้นแฉะจนเกินไป

 

          นอกจากนี้ยังมีโรคใบจุด เกิดจากเชื้อรา Alternaria brassicae มีลักษณะอาการในต้นกล้าจะพบจุดแผลเล็กๆ สีน้ำตาลที่บริเวณใบ โคนต้น ต้นโตแล้วใบมีแผลวงกลมสีน้ำตาลซ้อนกันหลายชั้น การแพร่ระบาด มาจากการปลิวของสปอร์ของเชื้อรา และสามารถติดไปกับเมล็ดพันธุ์ได้หรืออาศัยอยู่กับวัชพืชในแปลง การป้องกันกำจัดจะต้องทำลายต้นเป็นโรคโดยการขุดถอนไปเผาทิ้ง ปลูกพืชหมุนเวียนไม่ควรให้น้ำแบบฉีดพ่นฝอย ฉีดพ่นสารชีวภัณฑ์ป้องกันกำจัดเชื้อรา และโรคเหี่ยว เกิดจากเชื้อรา Fusarium oxysporum พืชจะมีอาการเหี่ยวอย่างช้าๆ ใบที่อยู่โคนต้นเปลี่ยนเป็นสีเหลือง และร่วง โรคนี้มักจะเกิดเป็นหย่อมๆ และดินมีความชื้นสูง จะทำให้โรคนี้ระบาดได้ดี การป้องกันกำจัด ถ้าพบโรคในแปลงต้องถอนต้นที่เป็นโรคเผาทำลาย

          อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทำให้เกิดการปรับตัวอย่างรวดเร็วของศัตรูพืช โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับจุลินทรีย์จะมีการตอบสนองอย่างรวดเร็ว รวมทั้งอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านรูปร่าง ลักษณะสัณฐาน หรือแม้กระทั่งระดับโมเลกุลของศัตรูพืช และที่สำคัญการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังส่งผลกระทบต่อการกระจายของศัตรูพืช

        “ยกตัวอย่างในญี่ปุ่นสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นหรือเย็นลง มีผลกระทบต่อศัตรูพืชต่างๆ เช่น ศัตรูยาสูบ ศัตรูข้าว และศัตรูถั่วเหลือง จะขยายพื้นที่การทำลายขึ้นไปทางเหนือ ศัตรูพืชบางชนิด เช่น แมลงศัตรูข้าวจะจำกัดพื้นที่แคบลง หรือที่ประเทศออสเตรเลีย สภาพอากาศที่ร้อนขึ้นสามารถทำให้ศัตรูพืชหลายชนิดขยายขอบเขตเข้าไปในบริเวณอากาศที่ปกติซึ่งหนาวเย็นในทางตอนใต้ของประเทศ ความถี่และความรุนแรงของการเกิดศัตรูพืช เช่น ตั๊กแตน ในอนาคตอาจได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่รุนแรงมากขึ้น ซึ่งบางกรณีสัมพันธ์กับปรากฏการณ์ ENSO (El Nino) เช่น เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ซึ่งเป็นศัตรูข้าวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถูกพัดพาไปยังประเทศญี่ปุ่นและประเทศเกาหลี โดยลมมรสุมการเปลี่ยนแปลงช่วงเวลาและทิศทางลมซึ่งจะมีอิทธิพลอย่างมากต่อพื้นที่ปลูกข้าว”

 

 

           รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรยังกล่าวถึงการแพร่ระบาดของศัตรูพืชอาจเกิดจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ แม้ว่ายังขาดรายละเอียดที่แน่ชัดก็ตาม บางการทดลองพบว่าแมลงจะลดลง เนื่องจากคุณภาพของอาหารจากพืชต่ำลง แต่บางการทดลองพบว่าแมลงจะกินพืชมากขึ้นเพื่อชดเชยคุณภาพอาหารที่ต่ำลง ด้วยเหตุนี้จะเห็นว่าอิทธิพลจากการให้ปุ๋ยและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มีผลต่อการเจริญเติบโตของพืชและศัตรูพืช ยิ่งกว่านั้นสภาพภูมิอากาศที่สัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศ อาจทำให้เกิดโรคพืชและแมลงศัตรูพืชชนิดใหม่ขึ้นได้ ส่วนปัจจัยอื่นๆ เช่น การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ศัตรูธรรมชาติถูกทำลายจากการใช้สารเคมีกำจัดแมลงมากเกินไป อาจส่งผลให้เกิดการระบาดของศัตรูพืชได้เช่นเดียวกัน โดยจะผันแปรไปตามสภาพพื้นที่ การใช้เทคโนโลยี และการปรับตัวในระยะยาว

            ส่วนการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิจะส่งผลให้แมลงศัตรูพืชที่เคยถูกจำกัดการแพร่กระจายด้วยอุณหภูมิที่ต่ำหรือการถูกจำกัดในช่วงฤดูหนาว จะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ หรือทำให้โรคพืชมีการแพร่ระบาดได้ในอุณหภูมิที่แตกต่างไปจากเดิม หรือเข้าทำลายพืชได้หลากหลายชนิดมากขึ้น นอกจากนั้นอุณหภูมิอาจมีผลต่อการจำแนกชนิดของโรคพืช เช่น โรคใบจุดนูนถั่วเหลือง อาการโดยทั่วไปจะพบตุ่มนูนที่ใบพืชซึ่งมักเกิดในพื้นที่ปลูกอากาศเย็นความชื้นสูง ด้วยสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงมีอุณหภูมิสูงขึ้น โดยทั่วไปจะไม่พบการระบาดของโรคนี้ แต่อาจพบโรคนี้ได้แต่ลักษณะอาการของแผลจะต่างไปจากเดิม คือ ไม่เป็นตุ่มนูน แต่กลับมีลักษณะแผลไหม้คล้ายอาการของโรคราสนิม ซึ่งส่งผลให้เกิดการจำแนกชนิดสาเหตุโรคผิดพลาดนำไปสู่การเลือกใช้วิธีการป้องกันกำจัดผิดวิธีได้

            นอกจากนี้การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกในปัจจุบัน ทำให้อากาศแห้ง ประสิทธิภาพสารเคมีกำจัดวัชพืชลดลง ทำให้วัชพืชดื้อยามากขึ้น วัชพืชจะมีการพัฒนาได้ดีกว่าพืชทั่วไป ตอนนี้วัชพืชที่น่ากลัวมีทั้งฝอยทอง แห้วหมู หญ้าคา ไมยราบยักษ์ ขจรจบ หญ้าโขย่ง และขี้ไก่หญ้า ทำให้ต้องใช้สารเคมีในการกำจัดเพิ่มมากขึ้น ไม่เพียงแค่อากาศที่ร้อนขึ้นเท่านั้น ภาวะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวการที่ทำให้เกิดภาวะเรือนกระจกก็ส่งผลให้วัชพืชเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน และยังแพร่กระจายได้ง่ายขึ้นโดยเฉพาะวัชพืชที่อยู่ในเขตหนาว

           “ที่ผ่านมาได้มีการประมาณการการสูญเสียผลผลิตทางการเกษตรที่อาจเกิดขึ้นถ้าแมลงศัตรูพืช โรคพืช และวัชพืชเพิ่มมากขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ เช่น ถ้าอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้น 2 องศาเซลเซียส บริเวณที่แห้งแล้งจะแห้งแล้งมากขึ้น ในทวีปอเมริกาเหนือพืชผลทางการเกษตรจะลดลง 30% เนื่องจากการระบาดของศัตรูพืชเพิ่มขึ้น และพืชผลทางการเกษตรบางชนิดในทวีปแอฟริกาลดลงมากกว่าครึ่ง ในบริเวณที่ร้อนชื้น นอกจากนี้ปริมาณวัชพืชที่เพิ่มขึ้นทำให้พืชผลทางการเกษตรในประเทศสหรัฐอเมริกาได้รับความเสียหายมากถึงประมาณ 5-50% เนื่องจากวัชพืชสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแห้งแล้งได้ดีกว่าพืชผลทางการเกษตร”

          รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้ติดตามและศึกษาข้อมูลจากหลายๆ แหล่งพบว่าการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิที่สูงขึ้น หรือลดลง มีผลต่อการอยู่รอดและการขยายพันธุ์ของแมลงศัตรูพืช และเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมให้แมลงศัตรูพืชมีการระบาดได้ต่อเนื่องตลอดทั้งปี ยิ่งไปกว่านั้นคือทำให้เกิดความเสียหายรุนแรงมากขึ้น เช่น  แมลงศัตรูข้าว เช่น เพลี้ยจักจั่นปีกลายหยัก เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เพลี้ยกระโดดหลังขาว และแมลงบั่ว ระบาดมากที่สุดเมื่ออุณหภูมิ 32 องศาเซลเซียส และพบว่าแมลงจะลดน้อยลงเมื่ออุณหภูมิ 16 องศาเซลเซียส ส่วนตั๊กแตนจะเคลื่อนไหวช้าลง หรือแข็งตัวบินไม่ได้ เมื่ออุณหภูมิต่ำกว่า 13 องศาเซลเซียส ในช่วงเดือนธันวาคม–กุมภาพันธ์ ขณะที่เพลี้ยอ่อนถั่วเหลือง เมื่ออุณหภูมิอยู่ที่ 20 องศาเซลเซียส จะผลิตลูกได้ปานกลาง การเจริญเติบโตปานกลาง และเมื่ออุณหภูมิ 35 องศาเซลเซียส ไม่สามารถให้ลูกได้และจะไม่สามารถเจริญเติบโตได้เลย เป็นต้น

            “การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศทั้งในปัจจุบันและอนาคตนั้นจะส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อชีววิทยาและพฤติกรรมของแมลง และโรคพืช รวมถึงศัตรูพืชชนิดอื่นๆ เพื่อการดำรงเผ่าพันธุ์ให้สามารถอยู่รอดได้ในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งส่งผลถึงพืชและผลผลิต และที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือส่งผลต่อมนุษย์” ประสงค์กล่าว

 

 

            อย่างไรก็ตาม กรมส่งเสริมการเกษตรมีแผนรับมือด้านศัตรูพืช โดยได้มีการติดตามสถานการณ์การระบาดของศัตรูพืชทั้งชนิดที่เป็นศัตรูพืชประจำถิ่น รวมทั้งศัตรูพืชที่อุบัติใหม่หรือศัตรูพืชต่างถิ่นอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมการทำเกษตรแบบแม่นยำโดยใช้เทคโนโลยีเพื่อการเลือกช่วงเวลาการปลูกพืชอย่างเหมาะสม พืชเจริญเติบโตดี แข็งแรง สามารถเลี่ยงช่วงการระบาดของโรคแมลงได้ มีการศึกษาข้อมูลพันธุ์ต้านทานของพืชต่อศัตรูพืชต่างๆ เพื่อการส่งเสริมการปลูกอย่างเหมาะสม ตลอดจนส่งเสริมการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสานเพื่อความยั่งยืน

                                                                      

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ