ข่าว

 กรมชลฯ เตรียมปรับ13ทุ่ง"แก้มลิง"รับน้ำหลาก  

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 เร่งเกี่ยวข้าวตามแผน"บางระกำโมเดล"     เตรียมปรับ13ทุ่ง"แก้มลิง"รับน้ำหลาก  

 

                 แม้ปริมาณน้ำในเขื่อนหลักทางภาคเหนือในขณะนี้จะไม่อยู่ขั้นวิกฤติเหมือนอีสานและตะวันตก แต่ชาวบ้านท้ายเขื่อนทั้ง 13 ทุ่งต่างเตรียมพร้อมรับมือแล้ว โดยเร่งเกี่ยวข้าวให้แล้วเสร็จในเดือนสิงหาคมก่อนน้ำเหนือจะไหลหลากลงมา หลังกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าตั้งแต่กลางสิงหาคมถึงต้นเดือนกันยายนจะมีพายุเข้ามาอีกระลอกใหญ่ที่พัดผ่านประเทศไทยทางภาคเหนือ

            ในขณะที่กรมชลประทานมั่นใจว่า นาข้าว 13 ทุ่งในพื้นที่รับน้ำลุ่มเจ้าพระยากว่า 1.53 ล้านไร่ สามารถเก็บเกี่ยวเสร็จก่อนถึงฤดูน้ำหลากโดยไม่ได้รับความเสียหาย ขณะพื้นที่ทุ่งบางระกำขณะนี้ได้เริ่มเก็บเกี่ยวแล้ว หวังใช้เป็นพื้นที่ตัดยอดน้ำพักเก็บไว้กว่า 2,000 ล้าน ลบ.ม. 

           “กรมชลประทานได้เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำในฤดูฝนปีนี้มากเป็นพิเศษ ทั้งกรณีฝนน้อยและฝนมามาก รวมทั้งการเตรียมความพร้อมด้านความปลอดภัยของเขื่อน ดูแลบริหารจัดการน้ำในเขื่อนให้เป็นไปตามเกณฑ์กักเก็บ หากอ่างเก็บน้ำแห่งใดมีปริมาณน้ำในอ่างฯ สูงเกินเกณฑ์ก็จะระบายผ่านระบบชลประทานเพื่อลงลำน้ำธรรมชาติ โดยจะไม่ให้มีผลกระทบต่อประชาชน หรือถ้ามีก็ให้น้อยที่สุด”

             สัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน กล่าวถึงการเตรียมรับมือการเกิดอุกทภัยในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและลุ่มเจ้าพระยา โดยได้จัดส่งเครื่องจักรเครื่องมือกระจายไปทั่วพื้นที่แล้ว อาทิ เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ รถแบ็กโฮ เพื่อช่วยสูบน้ำออกจากพื้นที่นาปี นาปรัง พืชไร่ รวมกว่า 1,800 เครื่อง มีการเตรียมความพร้อมบริหารจัดการน้ำท้ายพื้นที่ลุ่มต่ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการพักน้ำหรือหน่วงน้ำได้ คือพื้นที่ลุ่มต่ำ 13 ทุ่ง ได้แก่ทุ่งบางระกำ และบริเวณท้ายเขื่อนเจ้าพระยาอีก 12 ทุ่ง ประกอบด้วย ทุ่งเชียงราก จ.สิงห์บุรี ทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท-ป่าสัก ทุ่งท่าวุ้ง ทุ่งบางกุ่ม ทุ่งบางกุ้ง ทุ่งป่าโมก ทุ่งผักไห่ ทุ่งเจ้าเจ็ด ทุ่งพระยาบรรลือ ทุ่งโพธิ์พระยา ทุ่งบางบาล และทุ่งรังสิตใต้ เป็นที่พักน้ำ ต่อเนื่องจากปีที่แล้วที่สามารถบริหารจัดการน้ำไม่ให้กระทบต่อพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้ผลเป็นอย่างดี

                   “ในปีนี้ก็เช่นกันที่จะใช้ทั้ง 13 ทุ่งเป็นที่พักและเก็บน้ำที่จะหลากมา เราได้รับความร่วมมือจากเกษตรกรเป็นอย่างดีในการเลื่อนเวลาปลูกข้าว ที่ทุ่งบางระกำบริเวณลุ่มน้ำยม มีพื้นที่ลุ่มต่ำจำนวน 3.8 แสนไร่ เริ่มปลูกข้าวกันตั้งแต่ 1 เมษายน เวลานี้จึงทำการเก็บเกี่ยวกันแล้วเสร็จ พอดีกับเดือนสิงหาคม-กันยายน ที่เป็นช่วงฤดูน้ำหลากของลุ่มน้ำยม ไล่ลงมาถึงทุ่งบางระกำ ส่วนลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างทั้ง 12 ทุ่ง รวมพื้นที่ประมาณ 1.15 ล้านไร่ บริเวณนี้เกษตรกรเริ่มปลูกข้าววันที่ 1 พฤษภาคม ซึ่งจะเก็บเกี่ยวเสร็จทันน้ำหลากเดือนกันยายน-ตุลาคม เช่นกัน เพราะฉะนั้น หน้าฝนปีนี้ ลุ่มเจ้าพระยาจะมีพื้นที่รับน้ำเพิ่ม 1.53 ล้านไร่ รับน้ำได้ 2,000 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) หากน้ำที่ผ่านหน้าเขื่อนเจ้าพระยามาเกินเกณฑ์ 2,800 ลบ.ม.ต่อวินาที เราสามารถตัดยอดน้ำเข้าทุ่งทั้ง 12 แห่งได้ทันที ในขณะที่นาข้าวที่ปลูกไปก่อนทั้ง 1.53 ล้านไร่จะไม่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมด้วยเช่นกัน” ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำฯ กล่าว

                  อย่างไรก็ตาม สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางในพื้นที่ภาคเหนือขณะนี้ยังสามารถรับน้ำได้อีกมาก ในขณะที่ลำน้ำสายหลัก กรมชลประทานก็มีอาคารชลประทานที่เป็นเครื่องมือเพื่อควบคุมน้ำ เช่น เขื่อนเจ้าพระยาในแม่น้ำเจ้าพระยา เขื่อนนเรศวรในแม่น้ำน่าน เป็นต้น ซึ่งจะคอยควบคุมน้ำไม่ให้ไหลบ่าเข้ากระทบพื้นที่ชลประทานของทั้งสองฝั่งแม่น้ำ อย่างไรก็ดี ตามประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา ประเทศไทยยังคงมีฝนตกชุกหนาแน่น และอาจมีพายุเข้าในเดือนสิงหาคมนี้ 1-2 ลูก จึงอยากให้ประชาชนติดตามข่าวสาร ประกาศเตือนของทางราชการอย่างใกล้ชิด เป็นการเตรียมตัวรับสถานการณ์ต่อไป  

 กรมชลฯเตรียมพื้นที่ลุ่มต่ำรับน้ำเหนือ3.8แสนไร่

               ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์พื้นที่ลุ่มต่ำบางระกำโมเดล 2561 ซึ่งเป็นพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากเป็นประจำทุกปีของจ.พิษณุโลก และ จ.สุโขทัย ทว่าปีนี้ค่อนข้างโชคดี ยังไม่ประสบปัญหาน้ำหลากท่วมตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่นาข้าว ในเขต 2 จังหวัด ด้วยปริมาณน้ำฝนและน้ำเหนือที่บ่าลงมาสู่แม่น้ำยมมีปริมาณไม่มากเหมือนปีที่ผ่านมา โดยขณะนี้ สภาพพื้นที่อยู่ระหว่างดำเนินการเก็บเกี่ยวผลผลิต เกษตรกรได้เร่งว่าจ้างรถเกี่ยวข้าวลงพื้นที่เต็มท้องทุ่งไปหมด ทั้งในเขต ต.บ้านกร่าง อ.เมืองพิษณุโลก อ.บางระกำ อ.พรหมพิราม ปัจจุบันเก็บเกี่ยวไปแล้วประมาณ 30% คาดว่ากลางเดือนสิงหาคมนี้จะเก็บเกี่ยวผลผลิต ได้เกิน 50% และหากไม่มีฝนตกหนักในเขต จ.แพร่ จ.สุโขทัย และ จ.พิษณุโลก พื้นที่นาข้าวในเขตลุ่มต่ำนี้จะไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยในปีนี้อย่างแน่นอน

              ชำนาญ ชูเที่ยง ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายมน่าน เผยว่า พื้นที่ดำเนินการโครงการบางระกำโมเดล ปี 2561 จำนวน 382,000 ไร่ ใน อ.พรหมพิราม, อ.เมืองพิษณุโลก, อ.บางระกำ, อ.วัดโบสถ์(บางส่วน) จ.พิษณุโลก และ อ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย ข้อมูล ณ 24 กรกฎาคม 2561 เก็บเกี่ยวแล้ว 120,579 ไร่ (31.55%) อยู่ระหว่างเก็บเกี่ยว คาดว่าจะแล้วเสร็จก่อน 15 สิงหาคม จำนวน 210,693 ไร่ (55.15%) และเก็บเกี่ยวหลัง 15 สิงหาคม จำนวน 50,908 ไร่ (13.30%) แต่ไม่มีผลกระทบเพราะเป็นพื้นที่ดอนที่อยู่พื้นที่ตอนบนในเขต อ.กงไกรลาศ ส่วนใหญ่ และ อ.พรหมพิราม ดังนั้น โดยสรุปหลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตหมดแล้วในเดือนสิงหาคม 2561 คาดว่าพื้นที่ลุ่มต่ำเหล่านี้ ที่จะใช้เป็นพื้นที่รองรับน้ำหลาก 382,000 ไร่ โดยเฉพาะพื้นที่ฝั่งซ้ายแม่น้ำยมในเขตชลประทานจะเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จภายใน 15 สิงหาคม ตามแผน และจะสามารถรองรับปริมาณน้ำหลากและชะลอการระบายน้ำได้สูงสุด 550 ล้าน ลบ.ม. ทั้งนี้ ปริมาณน้ำจะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำจากลุ่มน้ำยมตอนบนของ จ.สุโขทัย และแพร่ รวมทั้ง สถานการณ์น้ำในช่วงวิกฤติของแม่น้ำยมในแต่ละช่วง 

              ศิริ เพ็งจันทร์ ชาวนาหมู่ 12 ต.บ้านกร่าง อ.เมืองพิษณุโลก เปิดเผยว่าปีนี้ฝนตกไม่มาก ในพื้นที่ยังไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัย ข้าวถึงเวลาเก็บเกี่ยวพอดีแต่ในพื้นที่ก็ต้องเร่งจ้างรถมาเกี่ยวข้าวเพราะเกรงว่าหากฝนตกจะประสบปัญหาความชื้นสูง ข้าวที่เกี่ยวและนำไปขายท่าข้าว โรงสี จะได้ราคาต่ำ ปัจจุบันสามารถขายข้าวได้ในราคาตันละ 6,000-6,200 บาท แต่อาจประสบปัญหาหากฝนตกข้าวมีความชื้นสูง จะขายได้ในราคาประมาณตันละ 5,800 บาท

              สำหรับปริมาณน้ำในคลองเมม หรือแม่น้ำยมสายเก่า ช่วงไหลผ่าน อ.พรหมพิราม อ.เมืองพิษณุโลก อ.บางระกำ อยู่ในเกณฑ์ระดับพึงพอใจ ระดับน้ำปานกลางค่อนข้างต่ำ ไม่มีผลกระทบน้ำล้นตลิ่งเข้ามาท่วมพื้นที่นาข้าวเหมือนช่วงเวลาเดียวกันในปี 2560 ชลประทานได้เร่งพร่องน้ำจากคลองเมมออกสู่แม่น้ำยม เพื่อบรรเทาผลกระทบ หากมีฝนตกชุกหนาแน่นในเขต จ.แพร่ สุโขทัย และพิษณุโลก

            เช่นเดียวกับ บุญมี นาจารย์ ชาวนาใน ต.เนินปอ อ.สามง่าม จ.พิจิตร ซึ่งปลูกข้าวนาปีพันธุ์พิษณุโลก 80 ประมาณ 30 ไร่ ต่างก็เร่งเก็บเกี่ยวให้เสร็จก่อนเดือนสิงหาคมนี้เพื่อจะใช้พื้นที่รับน้ำหลากตามโครงการบางระกำโมเดลของรัฐบาล

          

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ