ข่าว

 เปิดโลกงานวิจัย"ไทยแลนด์ รีเสิร์ช เอ็กซ์โป61"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 เปิดโลกงานวิจัย"ไทยแลนด์ รีเสิร์ช เอ็กซ์โป61" มุ่ง"ตลาดนำการวิจัย"สู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

 

               ไม่ใช่แค่จากหิ้งสู่ห้าง ไม่ใช่แค่พัฒนาองค์ความรู้ ไม่ใช่แค่มุ่งแต่เคพีไอ(KPI)ตัวชี้วัดผลงาน แต่งานวิจัยยุคใหม่ต้องใช้ได้ กินได้และนำไปต่อยอดได้ในทุกมิติ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับพันธมิตรเครือข่ายวิจัย จัดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ" 2561 (Thailand Research Expo 2018) หวังนำผลงานวิจัยเด่นจากทุกภาคส่วนกว่า 500 ผลงานมาจัดแสดงเพื่อให้ผู้ผลิตและผู้ใช้มีโอกาสเจอกัน ก่อนนำไปต่อยอดสู่เชิงพาณิชยฺ์ต่อไป

 เปิดโลกงานวิจัย"ไทยแลนด์ รีเสิร์ช เอ็กซ์โป61"

              “นายกรัฐมนตรีได้พูดว่าให้ตลาดนำการผลิต ดังนั้นในส่วนของเราก็ให้เอาการตลาดนำการวิจัย อยากให้การวิจัยทำให้มีการตลาดเกิดขึ้น เพราะงานวิจัยยังต้องทำทั้งสองส่วน ส่วนหนึ่งเป็นการวิจัยให้เกิดความรู้ ในขณะเดียวกันก็เอาประโยชน์เป็นตัวตั้งเอาวิจัยมาสนับสนุน มาต่อยอดงานวิจัย เรื่องใดที่มีอยู่แล้วก็มาต่อยอดต่อ ส่วนเรื่องใดยังไม่มีต้องนำองค์ความรู้มาจากต่างประเทศก็นำมาต่อยอดต่อเช่นกัน”

                 ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการ วช. กล่าวถึง “มหกรรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2561" ซึ่งวช.ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9–13 สิงหาคมนี้ ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร ภายใต้แนวคิด “วิจัยเพื่อพัฒนาประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” ถือเป็นงานวิจัยประจำปีที่ใหญ่ที่สุด  โดยมีการนำสุดยอดงานวิจัยมาจัดแสดงเพื่อให้ผู้ที่เข้าร่วมชมงานสามารถนำไอเดียตรงนี้ไปต่อยอดได้ ซึ่งมีทั้งหมดมากกว่า 500 ผลงานที่พร้อมเข้าสู่ในเชิงพาณิชย์ หัวใจสำคัญของงานในปีนี้ก็คืองานวิจัยใช้ได้ งานวิจัยกินได้  เมื่อทำแล้วก็ต้องทำให้สุดทางเพื่อให้ถึงมือผู้ใช้จริง 

             “วิธีการทำ 2 อย่าง คืออย่างแรกให้ผู้ใช้มามีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น อยากได้อะไร อยากทำอะไรก็เอานักวิจัยมาช่วยคิดต่อ  อีกส่วนหนึ่งเราพบว่ามีงานวิจัยเกิดขึ้นในหลายๆ ส่วนของประเทศที่เราให้การสนับสนุนสามารถนำไปต่อยอดให้ใช้ได้จริง ส่วนงบการวิจัยก็เป็นที่น่ายินดีว่าปีนี้เป็นปีแรกที่ประเทศไทยมีงบการวิจัยทั้งภาครัฐและเอกชนประมาณ 1 แสนล้านบาทแล้ว โดยเราต้องการให้การวิจัยที่ลงทุนไปนี้ มีประโยชน์กับประเทศให้มากที่สุด”  

 เปิดโลกงานวิจัย"ไทยแลนด์ รีเสิร์ช เอ็กซ์โป61"

                เลขาธิการวช.ยอมรับว่า ปัญหาผลงานการวิจัยที่ผ่านมาส่วนหนึ่งที่ไม่สามารถนำไปต่อยอดในชิงพาณิชย์หรืออุตสาหกรรมได้ ก็เพราะไม่แน่ใจในเรื่องการต่อยอดได้ มีมาตรฐานและมีความปลอดภัย วช.จะต้องสร้างความเชื่อมั่นใจใน 3 เรื่องนี้ให้ได้ ขณะเดียวกันก็ได้จัดทำบัญชีสิ่งประดิษฐ์ เพื่อให้นักวิจัยมีความเชื่อมั่นในผลงานวิจัยว่าจะมีผู้นำไปใช้ประโยชน์ได้ โดยจะยึดเอาประโยชน์เป็นตัวตั้งแล้วนักวิจัยก็จะทำวิจัยในประเด็นต่างๆ เหล่านี้ 

             “อีก 3 ปีข้างหน้าเราจะเห็นการเจออย่างนี้มากขึ้นเรื่อยๆ เราเอาประโยชน์เป็นตัวตั้ง พยายามจะถามว่าถ้านักวิจัยทำเรื่องนี้ได้จะเอาไปทำอะไร หรือประเทศอยากได้อย่างนี้จะทำอย่างไร จากนี้ไปงานวิจัยทุกชิ้นจะต้องมีการต่อยอดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เรามีทุนต่อยอดมากขึ้น เราจะขับเคลื่อนทรัพย์สินทางปัญญาเอาไปต่อยอดได้ ปีนี้จะมีกระบวนการเลือกทรัพย์สินทางปัญญามอบให้แก่ผู้วิจัย ก่อนหน้านี้มอบให้หน่วยงานผู้วิจัย เพื่อต้องการให้ผู้วิจัยนำไปขยายผลต่อนั่นเอง”  

             ศ.นพ.สิริฤกษ์กล่าวถึงกิจกรรมภายในงานปีนี้ นอกจากเพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ผู้ทรงเป็น “พระบิดาแห่งการวิจัยไทย” และเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 และพระบรมวงศานุวงศ์ ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่องานวิจัยไทยแล้วยังมีผลงานวิจัยเด่นจากหน่วยงานต่างๆ มาร่วมจัดแสดงมากกว่า 500 ผลงานที่พร้อมจะพัฒนาต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้ทันที

              นอกจากนี้ ยังมีเวทีเชื่อมโยงการวิจัยของไทยที่มีศักยภาพไปสู่กลุ่มผู้ใช้ประโยชน์ในระดับประเทศและนานาชาติ รวมถึงการสร้างสรรค์ สร้างแรงขับเคลื่อน และให้เกิดกลไกสนับสนุนการพัฒนาการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ซึ่งเป็นฐานความรู้ไปสู่กลุ่มผู้ใช้ประโยชน์ ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ และการจัดงานในปีนี้ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานเปิดงานในวันศุกร์ที่ 10 สิงหาคมนี้ เวลา 09.00 น.  

 ตัวอย่างนวัตกรรม 10 ผลงานวิจัยเด่น 

         สำหรับตัวอย่างผลงานวิจัยเด่นที่นำมาจัดแสดงในงาน “มหกรรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2561" อาทิ 1.การศึกษาและพัฒนาหุ่นยนต์สำหรับปฏิบัติการสนับสนุนการกู้ภัยและปฏิบัติการเก็บกู้วัตถุระเบิดร่วมกับระบบติดตามการเคลื่อนที่หุ่นยนต์ด้วยจีพีเอสแสดงผลผ่านมือถือ โดย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ กิตติพงษ์ พุ่มโภชนา เจ้าของผลงาน โดยสร้างและพัฒนาระบบการขับเคลื่อนหุ่นยนต์ช่วยกู้ระเบิดให้มีความเหมาะสมสำหรับการกู้ระเบิดเพื่อสามารถขับเคลื่อนไปในพื้นที่เป้าหมายได้หลากหลายสภาพแวดล้อม ร่วมกับระบบเซ็นเซอร์ตรวจหาวัตถุระเบิดใต้ดินในการช่วยค้นหาผู้ประสบภัย

          2.การพัฒนาชุดแบตเตอรี่และเครื่องชาร์จแบตเตอรี่ โดยกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 31 กรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์ พ.อ.รัตติพล ตันยา เจ้าของผลงาน เป็นการพัฒนาชุดแบตเตอรี่ประเภทลิเทียมไอออนสำหรับการใช้งานร่วมกับระบบการควบคุมทิศทางของปืนใหญ่ผ่านการเก็บข้อมูลสภาวะการใช้งานของชุดแบตเตอรี่เดิมที่ใช้อยู่กับปืนใหญ่และออกแบบพัฒนาและทดสอบเครื่องและระบบชาร์จ จากการประเมินราคาเบื้องต้นอยู่ที่ 5 แสนบาท ซึ่งถูกกว่าการจัดซื้อจากต่างประเทศอย่างน้อย 5 แสน ถึง 1.2 ล้านบาท

        3.วัคซีนสำหรับกุ้ง โดยมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ผศ.ดร.สมพร ดิเรกบุษราคม และคณะ เจ้าของผลงาน เป็นสารกระตุ้นภูมิคุ้มกันที่พัฒนาโดยศูนย์วิจัยเพื่อความเป็นเลิศด้านกุ้ง ใช้สำหรับผสมอาหารให้กุ้งกินในอัตรา 5 กรัมต่ออาหาร 1 กก. ให้กินทุกมื้อเป็นเวลา 1 วันจะป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคตายด่วน(EMS)และเชื้อไวรัส WSSV ที่เป็นสาเหตุของโรคไวรัสตัวแดงดวงขาว

      4.ระบบควบคุมสำหรับโรงเพาะเห็ดถั่งเช่าแบบอัตโนมัติ โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จักรี ศรีนนท์ฉัตร เจ้าของผลงาน เป็นระบบที่ออกแบบเพื่อใช้ควบคุมสภาพแวดล้อมและปัจจัยที่สำคัญสำหรับการเติบโตของเห็ดถั่งเช่าแบบอัตโนมัติ เช่น อุณหภูมิต่างๆ ความชื้น การออกแบบระบบฆ่าเชื้อ ระบบดูดคาร์บอน รวมถึงมีการเก็บข้อมูลต่างๆ ผ่านระบบ online data logger ทั้งนี้ระบบดังกล่าวจะช่วยให้เห็ดถั่งเช่าสามารถสร้างสารคอร์ไดซิปินได้อย่างสมบูรณ์

         5.เครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าสำหรับระบบ Smart Grid โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ผศ.ดร.ธีรธรรม บุณยะกุล เจ้าของผลงาน เป็นเครื่องชาร์จสามารถเพิ่มลดกระแสชาร์จได้อัตโนมัติเพื่อลดภาระของหม้อแปลงไฟฟ้าเฉลี่ยโหลดให้ชาร์จรถได้หลายๆ คันพร้อมกัน โดยไม่ทำให้อุปกรณ์ในระบบไฟฟ้าของการไฟฟ้าเสียหายและเป็นการลด peak ในการผลิตไฟฟ้าด้วย

          6.เสน่ห์ผ้าไหมแพรวาเอกลักษณ์ผ้าไทย จ.กาฬสินธุ์ โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ดร.จรัลพิมพ์ วังเย็น เจ้าของผลงาน เป็นการใช้องค์ความรู้ด้านการออกแบบและพัฒนามาเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างคุณค่าให้แก่ผ้าไหมแพรวา เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาวกาฬสินธุ์ที่มีคุณค่าผ่านการแปรรูปเสื้อผ้าอาภรณ์ที่มีเอกลักษณ์

          7.การปรับปรุงคุณภาพอัญมณีโดยใช้เทคโนโลยีด้วยความร้อนและความดัน โดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ ทนง ลีลาวัฒนสุข เจ้าของผลงาน เป็นการศึกษาการเปลี่ยนแปลงของพลอยไพลินที่ผ่านการปรับปรุงคุณภาพด้วยความร้อนและความดัน เปรียบเทียบกับพลอยที่ปรับปรุงคุณภาพจากผลงานวิจัยก่อนหน้า เพื่อจัดทำระบบการตรวจสอบวิเคราะห์ที่ชัดเจนและถูกต้อง

         8.การพัฒนาจักรเย็บผ้าอุตสาหกรรมเพื่อใช้งานสำหรับคนพิการขา โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ผศ.ดร.ศรัทธา แข่งเพ็ญแข เจ้าของผลงาน เป็นการออกแบบพัฒนาและสร้างอุปกรณ์ช่วยเย็บที่ติดตั้งกับจักรเย็บผ้าอุตสาหกรรมเพื่อช่วยในการใช้งานสำหรับคนพิการขา ซึ่งจะช่วยส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพิการ

        9.ระบบผนังคอมโพสิตแบบวาฟเฟิล โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก ทนงศักดิ์ อิ่มใจ เจ้าของผลงาน เป็นระบบที่ประกอบไปด้วยวัสดุประกบบนล่าง ซึ่งทำมาจากวัสดุประเภทซีเมนต์บอร์ดและแกนกลางซึ่งเป็นวัสดุมวลเบาทำจากโฟมและคอนกรีตมวลเบาผสมเม็ดโฟมทำให้มีคุณสมบัติเด่นเป็นฉนวนกันความร้อนและไม่ติดไฟ มีความปลอดภัยต่อผู้ใช้อาคาร

         10.ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมอาหารจากฟักทอง โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ดร.ภัทรภรณ์ ศรีสมรรถการ เป็นการแปรรูปฟักทองเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ