ข่าว

"บิ๊กฉัตร" สั่งผันน้ำไม่ให้ผ่านตัวเมืองเพชรบุรี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"บิ๊กฉัตร" สั่งผันน้ำไม่ให้ผ่านตัวเมืองเพชรบุรี

 
         ฉัตรชัย ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำ จ.เพชรบุรี สั่งเร่งพร่องน้ำในลำน้ำรองรับน้ำใหม่ พร้อมระดมเครื่องผลักดันน้ำ/เครื่องสูบน้ำ ผันน้ำออกระบบชลประทาน หน่วงน้ำไม่ให้ลงแม่น้ำเพชรบุรี โดยเฉพาะไม่ให้ผ่านตัวเมืองเพชรบุรี เสริมคันกั้นน้ำลุ่มต่ำ และ จำกัดพื้นที่น้ำท่วมให้กระทบประชาชนน้อยที่สุด


      เวลา 13.00 น. วันที่ 6 ส.ค. พล.อ.ฉัตรชัย  สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) นายทองเปลว  กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน นายเฉลิมเกียรติ  คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีรมชลประทาน รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ลงพื้นที่ จ.เพชรบุรี เพื่อตรวจติดตามสถานการณ์การระบายน้ำของอ่างเก็บน้ำแก่งกระจาน กำกับการดำเนินการของหน่วยที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปตามแผนงานที่เตรียมไว้ พร้อมเพิ่มเติมมาตรการต่างๆ ให้เกิดความสมบุรณ์และลดผลกระทบที่เกิดกับประชาชนให้เหลือน้อยที่สุด

           โดยจุดแรกคณะได้เดินทางไปยังห้องประชุมอ่างเก็บน้ำแก่งกระจาน เพื่อฟังบรรยายสรุปสถานการณ์การเตรียมความพร้อมของจังหวัด โดย นางฉัตรพร ราษฎร์ดุษดี ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ภาพรวมสถานการณ์น้ำปัจจุบัน โดย นายสมเกียรติ  ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน (ชป.) และรองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานการเตรียมความพร้อมในการบรรเทาสาธารณภัยให้กับประชาชน

             จากนั้นคณะได้เดินทางต่อไปยังเขื่อนแก่งกระจาน เพื่อติดตามการตรวจระดับน้ำเขื่อนเก็บน้ำแก่งกระจาน ก่อนขึ้น ฮ. ตรวจสภาพพื้นที่/แม่น้ำเพชรบุรีทางอากาศ และเดินทางต่อไปยังคันกั้นน้ำเพชรบุรีบริเวณ มทบ.15 เพื่อตรวจคันกั้นน้ำ การติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ และ การเตรียมการช่วยเหลือ ตรวจการคาดการณ์ระดับน้ำ และพบปะให้กำลังใจเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ ที่ปฏิบัติงานเพื่อเตรียมความพร้อมช่วยเหลือประชาชนกรณีประสบภัย
          พลอกฉัตรชัย เปิดเผยว่า จากอิทธิพลของพายุโซนร้อน “เซินติญ” และ มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ในห้วงที่ผ่านมาทำให้เกิดฝนตกหนักในพื้นที่เทือกเขาตะนาวศรี ซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำของอ่างเก็บน้ำแก่งกระจาน ทำให้มีน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำปริมาณมาก โดยเฉพาะในวันที่ 20 ก.ค. 61 มีน้ำไหลเข้ามากถึง 159.89 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำในเขื่อนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากร้อยละ 57 ในวันที่ 16 ก.ค. 61 เป็นร้อยละ 100 ในวันที่ 6 ก.ค. 61 ด้วยศักยภาพของอ่างเก็บน้ำแก่งกระจานช่วยในการชะลอน้ำหลากปริมาณมากไม่ให้ลงพื้นที่ด้านล่าง คือ แม่น้ำเพชรบุรี ซึ่งไหลผ่านเขื่อนเพชร หนองหญ้าปล้อง ท่ายาง บ้านลาด เมืองเพชรบุรี บ้านแหลม ได้มาก ขณะที่สภาพแม่น้ำเพชรบุรี ปัจจุบันมีน้ำอยู่ประมาณ ร้อยละ 30 - 40 ของความจุลำน้ำ ซึ่งสามารถรับน้ำจากการระบายน้ำของอ่างเก็บน้ำแก่งกระจานได้อีก ในปี 2559 และ ปี 2560 ซึ่งเกิดน้ำท่วม ได้ดำเนินการ 2 ส่วน ดังนี้ 1. เสริมคันกั้นน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำ เพื่อป้องกันน้ำล้นตลิ่ง 2. ขุดลอกท้ายน้ำแม่น้ำเพชรบุรี เพื่อให้น้ำระบายได้เร็วขึ้น 
             ในช่วงที่ผ่านมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งพร่องน้ำในอ่างเก็บน้ำแก่งกระจาน เพื่อรองรับน้ำฝน ซึ่งมีข้อจำกัดที่โครงสร้างของระบบระบายน้ำที่ระบายน้ำได้สูงสุดไม่เกิน 8.64 ล้าน ลบ.ม./วัน ขณะที่ปริมาณน้ำไหลเข้ามีมากกว่านั้น ซึ่งกรมชลประทานได้ติดตั้งกาลักน้ำ 12 แถว และ Hydro Flow อีก 20 เครื่อง เร่งการพร่องน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำแก่งกระจาน รวม 110 ลบ.ม./วินาที หรือ 9.50 ล้าน ลบ.ม./วัน อย่างไรก็ตาม ด้วยปริมาณน้ำที่มีอย่างต่อเนื่องทำให้พร่องน้ำได้ไม่ทัน ทำให้น้ำล้น Spillway ซึ่งมีระดับต่ำกว่าสันเขื่อนประมาณ 7.0 ม. มีความกว้างมาก สามารถรองรับน้ำไหลผ่านได้สูงสุด 1,380 ลบ.ม./วินาที หรือ 119 ล้าน ลบ.ม./วัน
                 ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้คาดการณ์น้ำที่ไหลผ่าน Spillway สูงสุดที่ 100 ลบ.ม./วินาที หรือ 8.64 ล้าน ลบ.ม./วัน ในวันที่ 10 ส.ค. 61 โดยมีระดับน้ำสูงขึ้นจากสัน Spillway ประมาณ 0.5 - 0.6 ม.ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 10 ส.ค. 61 เป็นต้นไป คาดว่าจะมีน้ำจากการระบายน้ำของอ่างเก็บน้ำแก่งกระจาน ประมาณ 210 ลบ.ม./วินาที และ หากมีฝนตกในพื้นที่แม่น้ำเพชรบุรี จะมีปริมาณน้ำ 230 - 250 ลบ.ม./วินาที คาดว่าจะทำให้แม่น้ำเพชรบุรีมีปริมาณน้ำผ่านสูงสุดในวันที่ 12 ส.ค. 61 การบริหารจัดการน้ำ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น 230 - 250 ลบ.ม./วินาที ประกอบด้วย 1. หน่วงน้ำ/ตัดน้ำเข้าระบบชลประทานฝั่งซ้าย/ฝั่งขวา รวม 55 ลบ.ม./วินาที และ ผันเข้าคลองระบาย D9 ในอัตรา 35 ลบ.ม./วินาที ทั้งสองส่วนตัดน้ำก่อนถึงเขื่อนเพชรได้ 90 ลบ.ม./วินาที 2. ระบายน้ำผ่านเขื่อนเพชรในอัตรา 140 - 160 ลบ.ม./วินาที ซึ่งแม่น้ำเพชรบุรีมีการพร่องน้ำเตรียมไว้แล้ว ประกอบกับการเสริมคันกั้นน้ำ จะไหลผ่านหนองหญ้าปล้อง ท่ายาง บ้านลาด โดยไม่มีผลกระทบ  และจะไหลผ่านเมืองเพชรบุรี ซึ่งมีความกว้างของแม่น้ำเพชรบุรีไม่มาก ทำให้มีระดับน้ำเอ่อล้นตลิ่ง ท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำริมตลิ่ง/พื้นที่ชุมชน 0.2 - 0.3 ม.
             สำหรับมาตรการเตรียมการช่วยเหลือ คือ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำในจุดเสี่ยงที่อาจจะมีน้ำเอ่อเข้าท่วมชุมชน จำนวน 30 เครื่อง ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำในแม่น้ำเพชรบุรีเพื่อเร่งระบายน้ำในจุดที่ระบายน้ำได้ช้า จำนวน 44 เครื่อง เตรียมยานพาหนะ/เครื่องจักรกล เช่น รถโกยตัก จำนวน 7 คัน ประจำในพื้นที่เพื่อขุดเปิดทางน้ำ 


          ด้านนายสมเกียรติ  ประจำวงษ์ เลขาธิการสทนช. เปิดเผยว่า รองนายกรัฐมนตรีได้สั่งการเพิ่มเติมเพื่อลดผลกระทบพื้นทื่ท้ายน้ำ โดยเร่งพร่องน้ำในลำน้ำต่างๆ เพื่อรองรับน้ำใหม่ โดยระดมเครื่องผลักดันน้ำ/เครื่องสูบน้ำ ผันน้ำออกระบบชลประทาน หน่วงน้ำไม่ให้ลงแม่น้ำเพชรบุรี โดยเฉพาะไม่ให้ผ่านตัวเมืองเพชรบุรี เสริมคันกั้นน้ำลุ่มต่ำ และ จำกัดพื้นที่น้ำท่วมให้กระทบประชาชนน้อยที่สุด และแจ้งเตือน ทำความเข้าใจ ไม่ให้ตระหนก และ พร้อมให้การช่วยเหลือในทันที โดยสทนช. พร้อมกับหน่วยที่เกี่ยวข้องได้เตรียมการในการช่วยเหลือประชาชน ซึ่งเกิดจากการติดตาม การคาดการณ์ การวางแผนแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง โดยบูรณาการทุกหน่วยงาน มีการทำงานอย่างเป็นระบบ 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ