ข่าว

 เปิดแผน"สวนช."ตอบโจทย์พัฒนาประเทศสู่ความยั่งยืน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 เปิดแผน"สวนช."เร่งบูรณาการงานวิจัย ตอบโจทย์พัฒนาประเทศสู่ความยั่งยืน

 

      “ภาพของงานวิจัยขึ้นหิ้งในอดีต กำลังได้รับการเปลี่ยนแปลง จากการปฏิรูปประเทศครั้งสำคัญ ผ่านการบูรณาการอย่างเป็นรูปธรรมจากทุกภาคส่วน เพื่อตกผลึกการผลิตงานวิจัยที่เกิดจากความต้องการของภาคเศรษฐกิจและสังคม ประชาชน ชุมชน รวมถึงประเทศชาติในการยกระดับเศรษฐกิจ ซึ่งไม่เพียงแต่แก้ปัญหาดังกล่าว ทางสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางด้านการวิจัยของรัฐบาลยังพร้อมส่งเสริมให้มีการสร้างนักวิจัยจากทุกภาคส่วนเพิ่มขึ้น ทั้งยังสนับสนุนการจัดกิจกรรมด้านงานวิจัยที่เป็นดั่งเวทีกลางในการนำเสนอผลงานอย่าง มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2561 หรือ Thailand Research Expo 2018 รวมทั้งการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องในด้านการขึ้นบัญชีสิ่งประดิษฐ์ไทย”  

 เปิดแผน"สวนช."ตอบโจทย์พัฒนาประเทศสู่ความยั่งยืน

      ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวถึงภาพรวมของงานวิจัยไทยนับตั้งแต่อดีตจวบจนถึงปัจจุบัน โดยระบุว่าจุดเริ่มต้นการดำเนินงานของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ หลังมีการจัดตั้งขึ้นในปี 2502 โดยรัฐบาลในยุคนั้นได้เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาประเทศ ซ่ึ่งการวิจัยถือเป็นหนึ่งเสาหลักในการวางฐานรากของประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้า จึงได้ประกาศใช้ พระราชบัญญัติสภาวิจัยแห่งชาติ พ.ศ. 2502 ขึ้นมา โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการทำหน้าที่เป็น “องค์กรกลางเกี่ยวกับการวิจัยของประเทศ”

     ตลอดระยะเวลากว่า 59 ปีที่ผ่านมา วช.ถือเป็นหน่วยงานหลักในหลากหลายบทบาทของการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะในมิติของการวิจัย วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม เช่น เสนอแนะนโยบายและยุทธศาสตร์การวิจัยของประเทศ จนขยายผลสู่การจัดตั้งหน่วยงานที่สำคัญทางด้านการวิจัย อาทิ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) หรือจะเป็นติดตามและประเมินผลการวิจัยของประเทศ รวมทั้งบริหารจัดการความรู้จากการวิจัย เพื่อการใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ รวมทั้งทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงข้อมูลสารสนเทศด้านการวิจัยของประเทศ

     เลขาธิการวช. กล่าวต่อว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา วช.ได้ดำเนินการปฏิรูปงานวิจัยในรูปแบบใหม่ที่มุ่งเน้นการบูรณาการอย่างครอบคลุมและครบวงจร เพื่อให้งานวิจัยที่จะเกิดขึ้นสามารถนำไปใช้ได้จริงในการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น การเป็นหน่วยงานหลักของการจัดตั้ง คอบช. หรือ เครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ เพื่อบูรณาการและสนับสนุนงานวิจัยจากนักวิจัย การสรรหาทุน อีกทั้งยังมีการอบรมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อที่สำคัญเกี่ยวกับงานวิจัย รวมทั้งวางแผนขับเคลื่อนงานวิจัยเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย

 เปิดแผน"สวนช."ตอบโจทย์พัฒนาประเทศสู่ความยั่งยืน

     ไม่เพียงเท่านั้น รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เล็งเห็นความสำคัญในการปฏิรูประบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศให้เกิดการบูรณาการ ลดความซ้ำซ้อนและสามารถผลักดันให้มีการนำาไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม โดยได้จัดตั้ง “สภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ” (สวนช.) โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และให้เลขาธิการ วช. เป็นเลขาธิการ สวนช., เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบาย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) เป็นกรรมการและเลขานุการร่วม และมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ดูแลเพื่อกำหนดทิศทางนโยบาย ยุทธศาสตร์ รวมทั้งปรับปรุงระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ตลอดจนกำกับติดตามการบริหารจัดการ การจัดสรรงบประมาณ และประเมินผล ให้การดำเนินการเป็นไปอย่างเหมาะสมและมีเอกภาพ อันเป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาการวิจัยของประเทศ ทำให้งานวิจัยจากทุกกระทรวง กรม และหน่วยงานต่างๆ ในขณะนี้มีการหารือและทำงานร่วมกัน ส่งผลให้ภาพของงานวิจัยที่เคยมองว่าต่างคนต่างทำกลายเป็นร่วมมือกันทำมากยิ่งขึ้น

       “ในส่วนของวช. ได้เริ่มปรับเปลี่ยนการดำเนินงานเพื่อทำหน้าที่เป็นสำนักงานสภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ตามร่างพระราชบัญญัติการวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานระดับชาติในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะการเสนอแนะนโยบายการวิจัยและนวัตกรรมที่สำคัญของประเทศทั้งในด้านวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ บริหารจัดการงบประมาณ และสนับสนุนงานวิจัยต่างๆ ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ใน 2 ด้าน คือ งานวิจัยหวังผลสามารถใช้งานได้จริงและงานวิจัยที่เกิดจากปัญหาของชุมชน”

      ศ.นพ.สิริฤกษ์ กล่าวถึงรายละเอียดของงานวิจัยทั้งสองด้านตามนโยบายรัฐบาล โดยงานวิจัยหวังผลสามารถใช้งานได้จริงนั้น มีความต้องการเป็นตัวตั้ง ยกตัวอย่างเช่น งานวิจัยข้าวพันธุ์ไรซ์เบอร์รี่ ได้เริ่มดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2547 ภายใต้โครงการบูรณาการเทคโนโลยีชีวภาพในการสร้างพันธุ์ข้าวเพื่อเพิ่มมูลค่าและคุณค่าสูงที่ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากวช. โดยศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จนประสบผลสำเร็จได้ข้าวเจ้าพันธุ์ใหม่ชื่อว่า “ไรซ์เบอร์รี่” ที่ได้รับการคัดเลือกและพัฒนาพันธุ์ โดยการผสมข้ามพันธุ์ระหว่าง ข้าวเจ้าหอมนิล (พันธุ์พ่อ) กับข้าวขาวดอกมะลิ 105(ข้าวหอมมะลิ) จากสถาบันวิจัยข้าว (พันธุ์แม่) โดยเริ่มผสมพันธุ์และทำการวิจัยอย่างต่อเนื่อง ทั้งประเมินคุณภาพเมล็ดผ่านการกะเทาะเมล็ด สังเกตความใส-ขุ่นของเมล็ด วิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการ จนได้ค้นพบข้าวเจ้าสีม่วงเข้ม เมล็ดเรียวยาว ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง ปัจจุบันมีการขยายผลให้แก่เกษตรกรได้นำไปเพาะปลูก สร้างรายได้ทั้งในแง่ของการเก็บเกี่ยวและแปรรูปปีละหลายร้อยล้านบาท

      ในส่วนงานวิจัยที่เกิดจากปัญหาของชุมชน เลขาธิการวช.ย้ำว่า มิตินี้เรามุ่งเติมเต็มความต้องการของสังคมให้สามารถแก้ไขได้ด้วยงานวิจัย ยกตัวอย่างเช่น การจัดทำโครงการธนาคารปูม้า เนื่องจากสถานการณ์ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรปูม้าในท้องทะเลไทยกำลังเข้าขั้นวิกฤติ การจัดทำโครงการดังกล่าว จึงมีส่วนสำคัญโดยเริ่มตั้งแต่การทำข้อตกลงของสมาชิกชุมชนแต่ละพื้นที่ ร่วมกันบริจาคปูม้าไข่นอกกระดอง หรือไข่ที่เกาะติดบริเวณส่วนท้องที่ติดมากับอวนหรือเครื่องมือประมงอื่นๆ แล้วนำมาปล่อยในกระชังที่สร้างไว้บริเวณชายฝั่ง หรือในถังหรือบ่อพักที่สร้างไว้บริเวณชายหาดหน้าหมู่บ้าน เพื่อให้แม่ปูม้าได้วางไข่ก่อนถูกนำไปขายหรือบริโภค

      “อย่างโครงการธนาคารปูม้า วช.ได้เข้าไปร่วมวิจัยเพื่อเพิ่มอัตรารอดของการวางไข่จากปูม้าให้เพิ่มขึ้น ซึ่งจากเดิมแม่ปู 1 ตัว มีไข่ 1 ล้านฟอง จะรอดเพียง 500 ฟอง เมื่อผ่านกระบวนการทางการวิจัยก็จะทำให้ลูกปูม้ามีอัตรารอดที่เพิ่มขึ้น อย่างเช่นช่วงเวลาที่เหมาะแก่การปล่อยปูที่ดีที่สุด ประมาณ 1-2 ทุ่ม เพราะปลาศัตรูที่สำคัญไม่ได้ออกหากิน หรือจะเป็นการเลือกสถานที่ปล่อย การอนุบาลที่ถูกวิธี ตลอดจนนำทรัพยากรน้ำในที่ต่างๆ มาวิเคราะห์ก่อนปล่อยปูลงสู่ทะเล”

     เลขาธิการวช.ยอมรับว่า จากผลลัพธ์ของการบูรณาการดังกล่าวส่งผลให้จำนวนปูในท้องทะเลมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ส่วนหนึ่งมาจากอัตราการรอดที่สูงขึ้นหรือเพิ่มเป็น 5 เท่า จาก 500 ตัว ยิ่งไปกว่านั้นโครงการดังกล่าวได้รับการขยายผลจากรัฐบาลจากที่มีอยู่ 200 แห่งทั่วประเทศให้เพิ่มเป็น 500 แห่ง โดยให้ธนาคารออมสินสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้แก่ชุมชนชาวประมงทั้งในฝั่งอันดามันและอ่าวไทย วงเงิน 1.5-2 แสนบาทต่อชุมชน เพื่อสนับสนุนการลงทุนในอุปกรณ์ ซึ่งจะช่วยให้ชาวประมงมีรายได้มากขึ้น

      นอกจากนี้ การพัฒนางานวิจัยให้ตรงโจทย์และความต้องการของภาคสังคมจาก วช.ยังมีอีกหลากหลาย ตัวอย่างที่สำคัญอย่างเช่นการส่งมอบโดรนทำแผนที่ทางอากาศ 3 มิติแบบความละเอียดสูง 7 ซม. ให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยสูญหายที่ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ในช่วงที่ผ่านมา หรือจะเป็นการจัดทำเรือสำรวจภาคพื้นน้ำและใต้น้ำที่สามารถถ่ายภาพจากด้านบนของเรือและวัดปริมาณน้ำทั้งจากคูคลองในภาคเกษตรกรรม หรือการช่วยภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

 เปิดแผน"สวนช."ตอบโจทย์พัฒนาประเทศสู่ความยั่งยืน

     ศ.นพ.สิริฤกษ์ ย้ำด้วยว่า ในปัจจุบันภาพงานวิจัยของไทยเป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยเห็นได้จากตัวแทนจากประเทศไทยที่สามารถคว้ารางวัลต่างๆ  จากงาน International Exhibition of Inventions Geneva ได้ในทุกปี นอกจากตอกย้ำการดำเนินงานด้านการปฏิรูปของงานวิจัยที่สามารถใช้ได้จริงแล้วยังสะท้อนถึงโอกาสของนักวิจัยชาวไทยกว่า 8 หมื่นคน ในขณะนี้ได้สร้างผลงานชิ้นใหม่ๆ เข้าสู่สังคมและต่อยอดสู่การพัฒนาให้เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่มีประโยชน์ต่อภาคเศรษฐกิจบนพื้นฐานความมีคุณภาพ มาตรฐานและปลอดภัย

      “ภาพของงานวิจัย 3-5 ปีต่อจากนี้ จะเริ่มตอบโจทย์วิจัยจากความต้องการของผู้ใช้และจะทำให้ผู้คิดค้นเข้าใกล้ผู้ใช้มากยิ่งขึ้น” เลขาธิการวช. ย้ำทิ้งท้ายอย่างมั่นใจ 

       อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 9–13 สิงหาคมนี้ วช.ร่วมกับเครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ หรือ คอบช. จัดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2561” ณ ศูนย์ประชุมบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ มีการนำผลงานวิจัยที่ต่อยอดสู่การสร้างเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ใช้ได้จริงในหลากหลายสาขามาจัดแสดงให้ผู้สนใจเข้ารับชม พร้อมการสัมมนาทางวิชาการมากกว่า 100 หัวข้อใน 9 กลุ่ม ผู้ที่สนใจสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมหรือลงทะเบียนเข้างานล่วงหน้าได้ที่ www.research-expo-register.com มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการชมงานวิจัยอย่างใกล้ชิดเพื่อต่อฐานและเติมยอดไอเดียใหม่ๆ สู่ความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน 

                                                               

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ