ข่าว

 พลิก'สวนสมุนไพร'สู่ผลิตภัณฑ์เด่น ผสานการรักษาจาก'พนาโมเดล' 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 พลิก'สวนสมุนไพร'สู่ผลิตภัณฑ์เด่น ผสมผสานการรักษาจาก'พนาโมเดล' 

 

           เปรียบได้กับ “เจ้าพระยาอภัยภูเบศรภาคอีสาน” สำหรับศูนย์แพทย์แผนไทยโรงพยาบาลพนา อ.พนา จ.อำนาจเจริญ ที่มีการผลิตยาสมุนไพรครบวงจร ทั้งการปลูก การแปรรูปผลิตภัณฑ์และการรักษา กลายเป็นข่าวใหญ่อีกครั้งเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ จ.อำนาจเจริญ ดูโรงผลิตยาสมุนไพรของชาวบ้าน อ.พนา ใหญ่สุดในภาคอีสาน ก่อนการประชุม ครม.สัญจรในวันนี้ (24 ก.ค.) ที่ จ.อุบลราชธานี

 

 พลิก'สวนสมุนไพร'สู่ผลิตภัณฑ์เด่น ผสานการรักษาจาก'พนาโมเดล' 

            แม้จะเป็นโรงพยาบาลเล็กๆ ติดชายแดนไทย-สปป.ลาว แต่การพัฒนาทันสมัยไม่แพ้โรงพยาบาลในเมืองใหญ่ที่เน้นกระบวนการรักษาผสมผสานระหว่างการแพทย์สมัยใหม่กับแพทย์แผนไทยที่ใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้านประสานการรักษาได้อย่างลงตัว ภายใต้คอนเซ็ปต์ “พนาโมเดล” สำหรับโรงพยาบาลพนา อ.พนา จ.อำนาจเจริญ   

         “ปัจจุบันนอกจากจะมีการรักษาผู้ป่วยเหมือนโรงพยาบาลทั่วไปแล้ว เรายังมีคลินิกบริการแพทย์แผนไทยพนาและโรงผลิตยาสมุนไพรแบบครบวงจรอีกด้วย หลายคนถามว่าเราจะเป็นเจ้าพระยาอภัยภูเบศร 2 หรือเปล่า ก็ต้องบอกว่าไม่ แต่เราจะเป็นโรงพยาบาลตามแบบฉบับของคนชุมชนชาวพนา ที่มีวิถีชีวิตไม่เหมือนใคร”

          นพ.ปฐมพงศ์ ปรุโปร่ง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพนา กล่าวกับ “คม ชัด ลึก” ระหว่างนำเยี่ยมชมโรงผลิตยาสมุนไพร ซึ่งตั้งอยู่ด้านหลังอาคารอำนวยการโรงพยาบาล ซึ่งเป็นสถานที่ผลิตและแปรรูปยาสมุนไพรบรรจุแคปซูลและผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพรต่างๆ กว่า 70 รายการใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน ที่ผลิตและจำหน่ายให้ผู้ป่วยที่มาเข้ารับการรักษาจากโรงพยาบาล บุคคลทั่วไป ร้านขายยา และโรงพยาบาลต่างๆ ในอำนาจเจริญ และจังหวัดใกล้เคียง

           ปัจจุบันโรงพยาบาลพนาได้เปิดบริการด้านการแพทย์แผนไทยใน 3 กิจกรรมหลัก ประกอบด้วย 1.คลินิกบริการแพทย์แผนไทย 2.ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร และ 3.งานวิชาการและการฝึกอบรมด้านแพทย์แผนไทยเพื่อรักษา ฟื้นฟูและส่งเสริมสุขภาพร่วมกับการแพทย์แผนปัจจุบัน ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนได้มีทางเลือกในการรักษาเบื้องต้น ลดปริมาณการใช้ยาแผนปัจจุบันเกินความจำเป็นและรู้จักการพึ่งตนเองในการดูแลรักษาสุขภาพอันเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาและสมนุไพรไทยไม่ให้สูญหาย ซึ่งให้บริการโดยบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถตามมาตรฐานวิชาชีพ

              ผอ.โรงพยาบาลพนา เผยต่อว่า สำหรับคลินิกบริการแพทย์แผนไทยนั้นจะมีกิจกรรรมให้บริการได้แก่ นวดเพื่อสุขภาพ นวดเพื่อรักษาโรค นวดเพื่อฟื้นฟูสุขภาพ อบไอน้ำสมุนไพร รักษาด้วยยาสมุนไพรและสปาเพื่อสุขภาพและความงาม ส่วนการผลิต จำหน่ายยาและผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร จะใช้วัตถุดิบหลักในการผลิตจากการเพาะปลูกของชาวบ้านในท้องถิ่น

              นอกจากการผลิตยาจากสมุนไพรแล้วยังได้ผลิตผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรชนิดแคปซูลตามมาตรฐานจีเอ็มพี(GMP) มาใช้ในการผลิตและมีการปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรที่มีคุณภาพมาตรฐานเป็นทางเลือกของประชาชนในการดูแลสุขภาพ ซึ่งปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพร อาหารและเครื่องสำอางในรายการผลิตมากกว่า 70 รายการ

              “ส่วนงานวิชาการและฝึกอบรมด้านแพทย์แผนไทย เรามีหลักสูตรผู้ช่วยแพทย์แผนไทย 372 ชั่วโมง อบรมหลักสูตรนวดตัว 150 ชั่วโมง นวดเท้า 60 ชั่วโมงและหลักสูตรอบรมระยะสั้นอื่นๆ นอกจากนี้ที่นี่ยังเป็นแหล่งฝึกงานของนักศึกษาหลักสูตรแพทย์แผนไทยจากสถานศึกษาต่างๆ และยังเป็นแหล่งศึกษาดูงานของผู้สนใจโดยทั่วไปด้วย”

               นพ.ปฐมพงศ์ย้ำด้วยว่า นอกจากนี้ศูนย์แพทย์แผนไทยยังเป็นศูนย์กลางเครือข่ายหมอพื้นบ้าน อ.พนา เพื่ออนุรักษ์องค์ความรู้ด้านหมอพื้นบ้านและภูมิปัญญาท้องถิ่นไว้ และเป็นส่วนหนึ่งของพลังขับเคลื่อนการพัฒนาในชุมชน โดยเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมไทยสายใยชุมชน อ.พนา ซึ่งได้รวบรวมเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันพื้นบ้านไว้เพื่อเป็นการอนุรักษ์และจัดแสดงแก่ผู้สนใจทั่วไปด้วย

              สำหรับอำเภอพนาได้รับการยกฐานะเป็นเมืองพนานิคมในปี 2444 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยโปรดให้ตั้งเมืองที่บ้านเผลา(พระเหลา) เป็นเมืองพนานิคม เมื่อมีการปฏิรูปการปกครองแผ่นดินในระยะต่อๆ มาเมืองพนานิคมก็อยู่ในสภาพลุ่มๆ ดอนๆ ถูกลดฐานะเป็นอำเภอขึ้นกับ จ.อุบลราชธานี และเมื่อปี 2536 ได้ขึ้นกับอำนาจเจริญหลังแยกตัวออกมาเป็นจังหวัด

             ชาวอำเภอพนามีวิถีชีวิตที่เป็นอยู่เรียบง่ายและสงบ สภาพบ้านเรือนยังคงกลิ่นอายพื้นถิ่นดั้งเดิม บริเวณเขตเทศบาลยังมีบ้านเรือนไม้เก่าแก่กระจายอยู่ทั่วอำเภอ ซึ่งบ้านเรือนไม้หลายแห่งก็เริ่มทรุดโทรมลงไปตามกาลเวลาเฉกเช่นเดียวกับชีวิตผู้คน

 

 พลิก'สวนสมุนไพร'สู่ผลิตภัณฑ์เด่น ผสานการรักษาจาก'พนาโมเดล' 

              นับเป็นอีกก้าวของโรงพยาบาลพนาในการนำภูมิปัญญาพื้นบ้านด้วยผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสมุนไพรเพื่อสร้างอาชีพและรายได้ให้คนในชุมชนด้วยการปลูกพืชสมุนไพรเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตนั่นเอง สนใจผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสมุนไพรติดต่อได้ที่โรงพยาบาลพนา อ.พนา จ.อำนาจเจริญ โทร.0-4546-3114-5 ในวันและเวลาราชการ 

 นายกฯเยี่ยมโรงผลิตสมุนไพรใหญ่สุดในอีสาน 

              เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 23 กรกฎาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ จ.อำนาจเจริญ ดูโรงผลิตยาสมุนไพร บริเวณศูนย์แพทย์แผนไทย อ.พนา ก่อนการประชุมครม.สัญจร ที่ จ.อุบลราชธานี โดยมีข้าราชการ ประชาชน และนักการเมืองในพื้นที่ร่วมต้อนรับ

            บรรยากาศการต้อนรับนายกรัฐมนตรี มีการจัดชุดการแสดง รำประกอบเพลงฮักอำนาจเจริญ และรำออนซอนอีสาน โดยนักเรียนโรงเรียนผู้สูงอายุ เทศบาลตำบลพนา จากนั้นนายกรัฐมนตรีรับฟังบรรยายสรุปการดำเนินงาน ศูนย์แพทย์แผนไทย จาก นพ.ปฐมพงศ์ ปรุโปร่ง ผู้อำนวยการศูนย์แพทย์แผนไทยพนา และได้เยี่ยมชมภายในหอประชุมศูนย์แพทย์แผนไทย ซึ่งมีการจัดนิทรรศการยาสมุนไพรจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งจากชุมชนและนักวิชาการ เพื่อนำเสนอยาสมุนไพรของชาวอำนาจเจริญ เนื่องจากที่นี่ถือเป็นแหล่งผลิตยาสมุนไพรที่ใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน

            นพ.ปฐมพงศ์ กล่าวว่า สมุนไพรที่ชาว อ.พนา ปลูกนั้น แตกต่างจากที่อื่น คือชุมชนร่วมกันปลูกสมุนไพรที่เป็นอินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมี ที่สำคัญที่นี่มีโรงงานผลิตที่ได้มาตรฐานผ่านจีเอ็มพี ซึ่งสมุนไพรอำนาจเจริญ ได้รับการยืนยันแล้วว่ามีคุณภาพ เช่น ขมิ้นชัน ที่ถูกตรวจพบว่ามีสารสำคัญสูงกว่าปกติถึง 3 เท่า ถือเป็นความโดดเด่นของอำเภอพนา และคำว่าเมืองสมุนไพรนั้น ไม่ถูกจำกัดแค่ อ.พนา เท่านั้นแต่จะรวมไปถึงภาพของ จ.อำนาจเจริญด้วย

           “สมุนไพรอำเภอพนา ทั้งจำหน่ายและนำไปใช้กับผู้ป่วยของโรงพยาบาลพนา เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ป่วย” นพ.ปฐมพงศ์ กล่าว

              สำหรับศูนย์แพทย์แผนไทยพนา จัดตั้งเมื่อปี 2536 มีการผสมผสานการแพทย์สมัยใหม่และแผนโบราณที่ใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้านรักษาได้อย่างลงตัว ซึ่งยาสมุนไพรที่นี่ จำหน่ายให้แก่ผู้ป่วยจากโรงพยาบาลพนา และผู้ป่วยทั่วไป ซึ่งถือว่าเป็นทางเลือกให้ผู้ป่วยได้รู้จักการดูแลตัวเองอีกทางเลือกหนึ่ง หลังจากเยี่ยมชมนิทรรศการสมุนไพร นายกรัฐมนตรีได้ออกมาพบปะประชาชนที่นั่งรออยู่ด้านนอก พร้อมกับกล่าวทักทายประชาชนที่มารอต้อนรับ พร้อมกับกล่าวว่า มาเพื่อแก้ไขปัญหา ไม่ได้มาเพื่อให้ทะเลาะกัน อยากให้คนไทยรักกัน เลิกทะเลาะกัน

              หลังจากนั้นนายกรัฐมนตรีพร้อมคณะ ได้ร่วมปลูกต้นไม้บริเวณอาคารแพทย์แผนไทยเพื่อเป็นที่ระลึก โดยนายกรัฐมนตรีปลูกต้นรวงผึ้ง พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรีปลูกต้นการบูร พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ปลูกต้นจานเหลือง นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลูกต้นสมอพิเภก

            หลังจากนั้นในช่วงเย็นคณะรัฐมนตรีเดินทางไปที่ จ.อุบลราชธานี เพื่อร่วมเปิดงานประเพณีแห่เทียนพรรษา ซึ่งเป็นงานประจำปีที่ใหญ่ที่สุดของชาวอุบลราชธานี  

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ