ข่าว

ภาคีชาวไร่"ยาสูบ"ขีดเส้น31ก.ค. จี้รัฐเร่งหาทางออก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ภาคีชาวไร่"ยาสูบ"ขีดเส้น31ก.ค. จี้รัฐเร่งหาทางออกก่อนเริ่มฤดูใหม่ 

 

             “ไม่ใช่ความผิดชองชาวไร่ แต่ทำไมรัฐจึงไม่รับซื้อใบยา” เป็นคำถามที่ค้างคาใจสำหรับชาวไร่ยาสูบและภาคีเครือข่ายทั่วประเทศกว่า 50,000 ครอบครัวจนต้องออกโรงรวมตัวบุกกรุงเพื่อร่วมประชุมอุตสาหกรรมยาสูบ เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยมีผู้ร่วมประชุมจากสมาคมและเครือข่ายชาวไร่ยาสูบ การยาสูบแห่งประเทศไทย และบริษัทผู้นำเข้าบุหรี่ ตัวแทนร้านค้าปลีกค้าส่งและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อหาข้อสรุปในการหาทางออกร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน

 

ภาคีชาวไร่"ยาสูบ"ขีดเส้น31ก.ค. จี้รัฐเร่งหาทางออก

               ก่อนหน้านี้ภาคีได้ยื่นเรื่องร้องทุกข์ไปยังภาครัฐผ่านหลายๆ ช่องทาง แต่ก็ยังไม่มีหน่วยงานใดออกมาให้ความชัดเจนเกี่ยวกับแผนการรับซื้อใบยาสูบของการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) หลังประกาศงดรับซื้อใบยาในฤดูกาลใหม่ที่จะถึง ซึ่งจะเริ่มเพาะปลูกในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ โดยโรงงานยาสูบประกาศงดรับซื้อใบยาทั้งหมดหลังโรงงานยาสูบประสบภาวะการขาดทุนครั้งแรกว่า 5 พันล้าน หลังรัฐบาลประกาศขึ้นภาษีสรรพษามิตรใหม่สูงถึง 40%

                 จากถ้อยแถลงของ “ดาวน้อย สุทธินิภาพันธ์” ผู้อำนวยการยาสูบโรงงานยาสูบที่ประกาศชัดเจนว่าหลังาดทุนเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ 5 พันล้านบาท ขณะที่สภาพคล่องจะเริ่มติดลบในเดือนพ.ค.พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีสรรพสามิตใหม่ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2560 ส่งผลให้ราคาบุหรี่โดยเฉพาะบุหรี่ที่ผลิตจากโรงงานยาสูบต้องปรับราคาขายปลีกสูง ขึ้นตั้งแต่ 3-20 บาทต่อซอง ขณะที่บุหรี่ที่นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งมีต้นทุนต่ำกว่าปรับราคาขายปลีกเพิ่มขึ้นเล็กน้อย และบางยี่ห้อปรับราคาขายลดลง ส่งผลให้ส่วนแบ่งการตลาดเหลือเพียง 55-56%

             โดยบุหรี่ไทยที่เคยขายซองละ 35-40 บาทต้องปรับราคาขึ้นโดยจำหน่ายซองละ 60 บาทเท่ากับบุหรี่ต่างประเทศ ผู้บริโภคไม่นิยมบุหรี่ไทย  ขณะที่ค่าใช้จ่ายซึ่งถือเป็นต้นทุนของโรงงานยาสูบหลักๆ 4 เรื่องคือ 1.ค่าใช้จ่ายในการย้ายโรงงานจากถนนพระราม 4 ไปยังโรงงานใหม่ จ.พระนครศรีอยุธยา 2.ค่าใช้จ่ายในการดูแลโรงพยาบาลยาสูบ 3.การสนับสนุนนโยบายรัฐด้วยการรับซื้อใบยาสูบสูงกว่าราคาตลาด 22 บาทต่อกิโลกรัม และ 4.ค่าก่อสร้างสวนเบญจกิติ รวมแล้วเป็นเงินอีก 1,500 ล้านบาท

          “ตัวเลขเบื้องต้นที่คำนวณออกมาแล้ว เราพบว่าปีนี้โรงงานยาสูบอาจจะมีผลการดำเนินงานขาดทุนซึ่งครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของโรงงานยาสูบนับตั้งแต่ก่อตั้งเมื่อปี 2491 หรือกว่า 70 ปี"  

             ในส่วนของกระทรวงการคลังโดยผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง "ยุทธนา หยิมการุณ" ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ในฐานะกรรมการโรงงานยาสูบก็ได้ออกมาปฏิเสธว่า ปี 2561 โรงงานยาสูบจะไม่มีปัญหาขาดสภาพคล่อง เพราะกันเงินค่าใช้จ่ายไว้หมดแล้ว แต่ปี 2562 อาจจะมีปัญหาเพราะส่วนแบ่งการตลาดลดลงและกำไรของบุหรี่ต่อซองเหลือน้อยมาก เดิมประเมินว่าปี 2561 จะขาดทุน 1,500 ล้านบาท แต่สถานการณ์การตลาดทำให้ยอดขายดีขึ้น และยาเส้นที่ทดลองทำตลาดก็ได้รับการตอบรับดี น่าจะทำให้ผลการดำเนินงานปี 2561 ไม่ขาดทุน แม้มีกำไรแต่ไม่มากเหมือนปี 2560 ที่มีกำไรถึง 9,000 ล้านบาท

              แม้ล่าสุดสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ลงมติวาระ 3 เห็นชอบให้โรงงานยาสูบมีเป็นนิติบุคคลภายใต้พ.ร.บ.การยาสูบแห่งประเทศไทย พ.ศ. ... ซึ่งเปิดโอกาสในโรงงานยาสูบสามารถทำธุรกิจที่นอกเหนือจากการผลิตบุหรี่ได้ เช่น รับจ้างรับผลิตบุหรี่เพื่อจำหน่ายในต่างประเทศได้ ผลิตหรือจำหน่ายสินค้าอื่นได้เช่น กัญชง เป็นต้น แต่ไม่ใช่ประเด็นที่สมาคมชาวไร่ยาสูบเรียกร้อง เพราะนั่นเป็นเรื่องของนโยบายรัฐและการบริหารจัดการของโรงงานยาสูบ แต่สิ่งที่ชาวไร่เรียกร้องต้องการให้โรงงานยาสูบรับซื้อใบยาจากชาวไร่ต่อไปในราคาเดิม

    “เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นความผิดพลาดของนโยบาย ชาวไร่ไม่มีส่วนรับรู้เลย แต่ทำไมต้องมาลงเอยที่ชาวไร่”

         สุธี ชวชาติ นายกสมาคมผู้บ่ม ผู้เพาะปลูกและผู้ค้าใบยาสูบ จ. ลำปาง ในฐานะตัวแทนภาคีเครือข่ายชาวไร่ยาสูบสะท้อนปัญหาชาวไร่กับ “คม ชัด ลึก”  โดยระบุต่อว่าผลการประชุมดังกล่าว ทำให้ทุกฝ่ายต่างเห็นพ้องถึงผลกระทบจากพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ที่มีต่อเกษตรกรชาวไร่ยาสูบ และต่ออุตสาหกรรมยาสูบโดยรวม และที่ประชุมได้มีมติร่วมกันว่าเรื่องที่เร่งด่วนที่สุดคือรัฐจะต้องเร่งแก้ปัญหาระยะสั้นที่กำลังกระทบปากท้องของชาวไร่ก่อน โดยต้องประกาศแผนงานการรับซื้อใบยาของยสท.ปีนี้ภายใน 31 กรกฎาคม 

           ขณะเดียวกันก็ควรพิจารณาปรับปรุงอัตราภาษียาสูบในปัจจุบันเพื่อหาทางลดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมทุกภาคส่วนโดยให้ชาวไร่และผู้เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นด้วย ที่ผ่านมาชาวไร่ไม่มีส่วนรับรู้ถึงปัญหาดังกล่าวและที่สำคัญให้รัฐชะลอการขึ้นภาษีสรรพสามิตบุหรี่เป็น 40% ในทุกช่วงราคาออกไปก่อน เพื่อไม่ให้ซ้ำเติมอุตสาหกรรมให้ยิ่งแย่ลงไปอีก โดยเฉพาะเกษตรกรชาวไร่ยาสูบทั่วประเทศ ซึ่งมีอยู่กว่า 50,000 ครอบครัว ที่หากไม่ได้ปลูกยาสูบต่อก็จะต้องขาดรายได้หลักที่นำไปเลี้ยงครอบครัวและใช้หนี้ที่กู้ยืมมาเพื่อลงทุนในอาชีพยาสูบ ทั้งนี้พวกเราอยากเห็นนโยบายรัฐที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมก่อนจะถึงการเลือกตั้ง    

              อย่างไรก็ตามแม้ผู้ผลิตและผู้นำเข้าต่างก็แสดงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากการที่อุตสาหกรรมหดตัวจนทำให้ยสท.อาจจะต้องประสบปัญหาการขาดทุนถึง 1,500 ล้านบาทในปี 2561 ขณะที่บุหรี่เถื่อนเข้ามาเป็นปัญหามากขึ้น จนร้านค้าที่ขายบุหรี่ถูกกฎหมายแข่งขันไม่ไหว ถ้ามีการปรับใช้อัตราภาษีใหม่ 40% จะทำให้บุหรี่ในตลาดกว่า 80% ราคาเพิ่มขึ้นอีกกว่า 30 บาท ซึ่งถึงแม้ว่ารัฐบาลจะได้เม็ดเงินจากภาษีสรรพสามิตเพิ่มขึ้นแต่ผู้ผลิตและผู้นำเข้าจะมีกำไรลดลง ซึ่งในท้ายที่สุดก็มากระทบชาวไร่ยาสูบ ขณะที่ฝั่งผู้นำเข้ายอมรับว่าโครงสร้างภาษีใหม่นี้มีข้อดีเพราะสอดคล้องกับหลักสากล แต่ก็ยอมรับว่าอัตราภาษีปัจจุบันทำให้ความสามารถในการทำกำไรของผู้ประกอบการลดลง 

ภาคีชาวไร่"ยาสูบ"ขีดเส้น31ก.ค. จี้รัฐเร่งหาทางออก

         เช่นเดียวกับมุมมองของ กฤษณ์ ผาทอง นายกสมาคมผู้บ่ม ผู้เพาะปลูก และผู้ค้าใบยาสูบ จ.เชียงใหม่ กล่าวเสริมว่า อยากให้ภาครัฐพิจารณาหาแนวทางที่ยั่งยืนในการรับซื้อใบยาต่อไปไม่ใช่แค่เฉพาะในปีนี้ แต่ในปีต่อๆ ไปด้วย โดยได้ฝากให้กรมสรรพสามิตไปพิจารณาแนวทางที่เหมาะสมเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาแบบในปีนี้อีก โดยการปรับอัตราภาษียาสูบและชะลอการขึ้นภาษีหรือการให้ความช่วยเหลือทางการเงินทั้งในทางตรงหรือทางอ้อมกับยสท. เพื่อให้ยสท. สามารถมีเงินมาซื้อใบยาได้

          “ทางภาคีชาวไร่ยาสูบจะทำสรุปมติที่ประชุมที่เป็นข้อเสนอร่วมกันของอุตสาหกรรมยาสูบยื่นต่อท่านนายกรัฐมนตรี ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อธิบดีกรมสรรพสามิต และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาของพวกเราให้เป็นรูปธรรมภายในช่วงก่อนเลือกตั้งด้วย” กฤษณ์ย้ำทิ้งท้าย 

“เวอร์จิเนีย” กว่าจะเป็นใบยาคุณภาพ

          สุธี ชวชาติ นายกสมาคมผู้บ่ม ผู้เพาะปลูกและผู้ค้าใบยาสูบ จ.ลำปาง กล่าวถึงการปลูกยาสูบในประเทศไทยว่ามีทั้งหมด 3 สายพันธุ์ ได้แก่ เวอร์จิเนีย เบอร์เลย์และเตอร์กิช โดยพันธุ์เวอร์จิเนียส่วนใหญ่จะปลูกกันมากในแถบภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ ลำปาง แพร่ น่าน พะเยา และเชียงราย ส่วนสายพันธุ์เบอร์เลย์และเตอร์กิชนั้นจะปลูกกันมากแถวภาคอีสาน ริมฝั่งโขง โดยสายพันธุ์เวอร์จิเนียจะมีคุณภาพดีที่สุดเพราะผ่านการบ่อไอร้อน ผลผลิตที่ได้ส่งขายให้โรงงานยาสูบเกือบทั้งหมดประมาณ 10 ล้านกิโลกรัมต่อปี ส่วนเบอร์เลย์และเตอร์กิชอยู่ที่ 10 ล้านกิโลกรัมและ 4 ล้านกิโลกรัมตามลำดับ ส่วนราคารับซื้อเวอร์จิเนียอยู่ที่ 110 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่เบอร์เลย์และเตอร์กิช ราคารับซื้อ 60 บาทและ 40 บาทต่อกิโลกรัมตามลำดับ

ภาคีชาวไร่"ยาสูบ"ขีดเส้น31ก.ค. จี้รัฐเร่งหาทางออก

     “เวอร์จิเนียคุณภาพดีกว่าอีก 2 สายพันธุ์ เพราะผ่านการบ่มไอร้อน แต่ราคาขายสูงกว่า โดยสายพันธุ์นี้เราส่งให้โรงงานยาสูบเกือบทั้งหมด ส่วนเบอร์เลย์และเตอร์กิชส่งโรงงานยาสูบ 50% ที่เหลือส่งออก เมื่อโรงงานยาสูบงดรับซื้อใบยาชาวไร่ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือเกษตรกรที่ปลูกสายพันธุ์เวอร์จิเนีย”

    สำหรับใบยาเวอร์จิเนีย เป็นใบยาประเภทบ่มไอร้อน สายพันธุ์มาจากอเมริกา แต่ลักษณะเฉพาะของใบยาแห้งจะแตกต่างตรงที่มีกลิ่นเหมือนน้ำผึ้งเป็นลักษณะเด่น ปลูกมากที่ จ.เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน  ส่วนการปลูกใบยาสูบเวอร์จิเนียจะเริ่มจากการเพาะต้นกล้า เป็นเวลา 40 วัน แล้วปลูกในไร่ 60 วัน จึงเริ่มเก็บใบยาใบแรกแล้วจึงเก็บไปเรื่อยๆ จนหมดต้น เก็บทุก 5-7 วัน ครั้งละ 3-4 ใบ แต่ละต้นเก็บใบได้ 7-8 ครั้ง ซึ่งปลูกได้ 2,200-2,500 ต้นต่อไร่

  การเก็บเกี่ยวใบยาชนิดนี้จะเริ่มเก็บเมื่อปลายและขอบใบเริ่มเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นเหลือง โดยใบยาจะเริ่มสุกแก่จากส่วนโคนต้นไปยอด เส้นกลางใบมีสีขาว ผิวใบหยาบ ขรุขระ มีจุดตกกระบางๆ ริมใบบางส่วนมีรอยย่น ปลายใบตก เนื้อใบยืดหยุ่น ไม่หักง่าย มียางน้อย ก้านใบทำมุมกับลำต้นกว้างขึ้น เปราะและหักจากลำต้นได้ง่าย โดยลักษณะใบจะอ่อนโค้งลงพื้น

    ช่วงการเก็บใบยาที่เหมาะสมคือเวลาเช้า เพราะเมื่อโดนแดดจัดๆ ใบยาจะสร้างสารเหนียวออกมา ทำให้เก็บยาก และนอกจากนี้แสงแดดยังหลอกตาให้เห็นเป็นสีเหลืองได้อีกด้วย โดยใบยาสูบเวอร์จิเนียที่ดีควรมีสีเหลืองอมส้ม หลังจากบ่มยาสูบได้ที่ตามต้องการแล้วจึงนำใบยามาอัดรวมเป็นห่อตามลักษณะชั้น แล้วห่อหุ้มด้วยกระสอบป่าน พร้อมขายต่อให้โรงงานยาสูบต่อไป

ภาคีชาวไร่"ยาสูบ"ขีดเส้น31ก.ค. จี้รัฐเร่งหาทางออก

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ