ข่าว

ภาคเกษตรไทยได้อะไรจากกลุ่ม"ซีแอลเอ็มวี"ตอนจบ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์ - ทำกินถิ่นอาเซียน โดย - รศ.ดร.พิชัย ทองดีเลิศ     [email protected]

 

ต่อจากเสาร์ที่แล้ว

              ในที่สุดเราก็เดินทางสำรวจเรื่องของอาหารและการเกษตรครบทั้ง 4 ประเทศ ก็ต้องยอมรับว่าเป็นการเดินทางทำงานที่มีภารกิจหลายอย่างภายในเวลาอันสั้น ต้องอาศัยการประสานงานอย่างต่อเนื่องร่วมกับการหาทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญทั้งในประเทศและต่างประเทศ จึงทำให้การทำงานครั้งนี้เป็นไปได้ด้วยดี และเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ผมถามตัวเองว่าได้อะไรจากการเดินทางสำรวจข้อมูลในครั้งนี้ 

 

 ภาคเกษตรไทยได้อะไรจากกลุ่ม"ซีแอลเอ็มวี"ตอนจบ

              อันที่จริงแล้วก่อนการเดินทางครั้งนี้ผมเคยเดินทางไปทุกประเทศในกลุ่ม CLMV แต่ส่วนใหญ่เป็นการเดินทางแบบเฉพาะเจาะจงในประเทศใดประเทศหนึ่งโดยตรง หรืออย่างเก่งก็สองประเทศต่อเนื่องกันและใช้ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ งานวิจัย รวมถึงฟังจากเพื่อนๆ ที่เคยเดินทางมาก่อนหน้านี้ ดังนั้นผมจึงมีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องของการเกษตรและอาหารอยู่พอสมควร แต่ทุกครั้งที่ไปส่วนใหญ่จะเป็นการไปเยี่ยมชมหน่วยงานภาครัฐและธุรกิจเอกชนด้านการเกษตรเสียเป็นส่วนมาก โอกาสที่จะได้พบปะกับเกษตรกรและเยี่ยมชมพื้นที่การเกษตรจริง จึงไม่ค่อยมี 

             ดังนั้นจึงย้อนกลับมาที่คำถามเดิมว่าได้อะไรจากการเดินทางครั้งนี้ ซึ่งคำตอบแรกก็คงจะเป็นเรื่องของการได้พบกับเกษตรกรที่ทำการเกษตรจริงๆ ในแต่ละพื้นที่ของแต่ละประเทศทั้ง กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม ซึ่งผมว่าเวลาเราไปต่างประเทศการพบคนเหล่านี้โดยตรงไม่ใช่เรื่องง่ายและการจะเข้าไปพูดคุยซักถามก็ยิ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเข้าไปอีก ดังนั้นการที่เราได้มีโอกาสพูดคุยโดยตรงกับเกษตรกร ก็ทำให้เราได้ข้อมูลที่เป็นจริงในพื้นที่ ได้เห็นสภาพความเป็นจริงของการทำการเกษตรได้พื้นที่ ซึ่งข้อมูลข่าวสารแบบนี้ส่วนใหญ่ที่เราได้รับทราบกันมักจะมาจากนักวิชาการหรือไม่ก็จากสื่อสารมวลชนของแต่ละประเทศนำเสนอออกมา โดยส่วนใหญ่ก็จะเป็นแง่มุมที่เขาต้องการเท่านั้น 

 

 ภาคเกษตรไทยได้อะไรจากกลุ่ม"ซีแอลเอ็มวี"ตอนจบ

             แต่ในการที่เราได้มีโอกาสเข้าไปพูดคุยโดยตรง จึงเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะทำให้เราได้ข้อมูลที่แท้จริงมาจากมุมมองของเกษตรกร ซึ่งในความเป็นจริงแล้วมุมมองของเกษตรกรทุกประเทศในกลุ่ม CLMV ที่เป็นเกษตรกรโดยอาชีพที่สืบทอดกันมาจะมีมุมมองเรื่องการเกษตรเป็นเรื่องธรรมดาสามัญของการดำเนินชีวิต รู้ว่าพื้นที่ของตนเองเหมาะสำหรับการเพาะปลูก มีสภาพดินฟ้าอากาศที่เอื้อต่อการปลูกพืชตามฤดูกาล ผลผลิตก็ได้ตามที่คาดหวัง ยกเว้นในช่วงที่ฝนฟ้าไม่ตกตามฤดูกาล มีการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรขนาดเล็ก ปุ๋ยและสารเคมี ถือเป็นสิ่งที่จำเป็นทางการเกษตรถ้าต้องการคุณภาพและปริมาณของผลผลิตส่งตามท้องตลาด นี่คือวิถีจริงของเกษตรกรโดยอาชีพในแต่ละประเทศ 

   

          เมื่อเราคุยกันในมุมมองของเกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์ ซึ่งนโยบายของแต่ละประเทศและตามทัศนะของนักวิชาการที่ต้องการให้เกิดขึ้น แต่เกษตรกรกลับมองเป็นเรื่องที่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในการทำการเกษตร เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงวิธีการทำการเกษตร มีขั้นตอนและค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และที่สำคัญคือการไม่ให้ความสำคัญและละเลยในเรื่องของสุขภาพ เนื่องจากขาดความรู้ในด้านนี้ ดังนั้นมุมมองของเกษตรกรในพื้นที่จริงๆ ของทุกประเทศใน CLMV ยังคงต้องการทำการเกษตรแบบวิถีเดิมๆ ไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงอะไรให้เป็นเปลี่ยนแปลงไปชีวิตปกติ 

             จากจุดนี้เองบางครั้งการเข้าไปในพื้นที่ CLMV เพื่อลงทุนด้านเกษตรของผู้ประกอบการและนักลงทุนต่างชาติ อาจเป็นเพียงความต้องการในเชิงนโยบายหรือภาพกว้างของประเทศ แต่เมื่อมองภาพเล็กๆ ไปที่ตัวเกษตรกรก็อาจเป็นภาพสองภาพที่ซ้อนกันอยู่ แต่ยังไม่แนบสนิทเป็นภาพเดียวกัน ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาในการให้ความรู้ความเข้าใจรวมถึงทัศนคติที่ตรงกัน รวมถึงวิธีการและผลตอบแทนที่สมเหตุสมผลก็น่าจะทำให้เกิดการขับเคลื่อนบนพื้นฐานความสุขของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนต่อไป

          ในครั้งหน้าจะมาวิเคราะห์และสรุปในประเด็นอื่นๆ ต่อไปครับ !

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ