ข่าว

 ผนึกเครือข่ายจากภูผาสู่มหานที ต่อลมหายใจ"ปูม้า"อ่าวพุมเรียง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 ผนึกเครือข่ายจากภูผาสู่มหานที ต่อลมหายใจ"ปูม้า"อ่าวพุมเรียง

             “ข้อเสียการส่งออกต้องการแต่มูลค่าอย่างเดียว เขาไม่ต้องการคุณค่า แต่คุณค่าของทรัพยากร คุณค่าของวิถีชุมชนไปสู่ความยั่งยืนมันไม่สามารถประเมินค่าได้ เราทำปูม้าอย่างเดียวก็อยู่ไม่ได้ ต้องปลูกป่าชายเลน สร้างที่อยู่อาศัยให้สัตว์น้ำด้วย เราอย่ามองแต่ปูม้า ต้องมองสัตว์น้ำอื่นๆ ด้วย ตัวเล็กตัวใหญ่ทุกอย่างมันเกื้อกูลกันหมด เราอิงคุณค่ามากกว่ามูลค่าเมื่อไหร่ เมื่อนั้นแหละคือความสำเร็จ”

 ผนึกเครือข่ายจากภูผาสู่มหานที ต่อลมหายใจ"ปูม้า"อ่าวพุมเรียง

            คำยืนยันจาก "จรินทร์ เฉยเชยชม" หรือ “พี่เณร” ที่ชาวบ้านแหลมโพธิ์มักเรียกกันติดปาก หัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการรวมกลุ่มจัดตั้งธนาคารปูม้าบ้านแหลมโพธิ์ หมู่ 5 ต.พุมเรียง อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี มาตั้งแต่ปี 2550 ปัจจุบันรั้งตำแหน่งประธาน และยังเป็นหนึ่งในคณะกรรมการจัดการทรัพยากรชายฝั่งในระดับจังหวัด 

           จรินทร์ บอกว่า จากปัญหาการลดลงของปริมาณสัตว์น้ำโดยเฉพาะปูม้าและปูทะเลชาวประมงบ้านพุมเรียง จึงมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันเพื่อหาทางออกในการเพิ่มปริมาณปู จึงได้เกิดธนาคารปูขึ้นเพื่อเพิ่มปริมาณปูในพื้นที่อ่าวพุมเรียง ให้ชุมชนเกิดความตระหนักรับผิดชอบการใช้ทรัพยากรร่วมกันอย่างรู้คุณค่า ซึ่งระยะแรก ได้สร้างกระชังอนุบาลปูไข่ รับบริจาคปูไข่จากเรือประมง รับฝากแม่ปูไข่ไว้เพื่อให้ละลายไข่เป็นลูกปูนับแสนตัว ปล่อยให้เจริญเติบโตในอ่าวพุมเรียง เป็นทรัพย์สินที่ไม่มีวันหมด ส่วนแม่ปูในธนาคารที่ละลายไข่หมดแล้ว จึงจะจับจากกระชังนำมาขายต่อไป

            “ทำสวนปลูกผักใช้เวลาหลายปี แต่ถ้าเราปลูกทะเลไม่ต้องใส่ยาไม่ต้องใส่ปุ๋ย แค่ดูแลอย่างเดียว อย่าจับสัตว์ตัวเล็ก นี่คือความยั่งยืนทำอย่างไรให้ชุมชนได้ตระหนัก” จรินทร์เผยต่อ “คม ชัด ลึก” ถึงความยั่งยืนของอ่าวพุมเรียง

 

 ผนึกเครือข่ายจากภูผาสู่มหานที ต่อลมหายใจ"ปูม้า"อ่าวพุมเรียง

             เขายอมรับว่า ความจริงปูม้าไม่เคยหมดจากอ่าวพุมเรียง เพียงแต่มีจำนวนลดน้อยลงจากการใช้เครื่องมือขนาดใหญ่ มีเครื่องทุ่นแรง จับพิกัดได้ว่าบริเวณไหนมีปูมีปลาเยอะก็จะรู้ได้ทันที ซึ่งต่างจากเมื่อก่อนที่จับพิกัดจากภูมิปัญญา ขณะเดียวกันจำนวนประมงที่เพิ่มขึ้นทำให้ปริมาณสัตว์น้ำถูกจับมากขึ้นเช่นกัน ปัจจุบันรือประมงพื้นบ้านในอ่าวพุมเรียงมีอยู่จำนวน 360 ลำ เรือประมงพาณิชย์ 52 ลำ จึงทำให้มีการแย่งชิงทรัพยากรสัตว์น้ำเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หากเรายังไม่ดูแลหน้าบ้านของตัวเอง อีกไม่นานชาวบ้านก็จะไม่มีอาชีพอีกต่อไป เนื่องจากทรัพยกรสัตว์น้ำชายฝั่งถูกทำลายล้างด้วยเครื่องมือจับสัตว์น้ำผิดกฎหมายและคนจากนอกพื้นที่เข้ามาจับสัตว์น้ำบริเวณหน้าบ้านของเรา

             “เมื่อก่อนบริเวณอ่าวพุมเรียงจะมีอวนลากกับอวนรุนเยอะมาก บางทีเครื่องมือของเราหาย ถูกพวกอวนลาก อวนรุนทำลาย เราต้องไปกู้อีก บางครั้งก็โดนขู่จากพื้นที่อื่น เพราะการจับจองพื้นที่ทะเลถ้าใครจับจองก่อนจะได้ประโยชน์ทันที การดูแลหน้าบ้านเรา จึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด” จรินทร์ย้อนเรื่องราวในอดีตให้ฟัง พร้อมอธิบายถึงการสานพลังด้วยการผนึกกำลังกับเครือข่ายชุมชนตั้งแต่พื้นที่ต้นน้ำแม่น้ำตาปีและลำน้ำสาขาให้ดูแลพืชสวนไร่นาปราศจากการใช้สารเคมี ยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลง ที่เป็นอันตรายกลายเป็นสารตกค้างลงสู่แม่น้ำลำคลอง สุดท้ายไหลลงมาสุมกองอยู่บริเวณปากแม่น้ำอ่าวบ้านดอน อ่าวพุมเรียง เสี่ยงต่อการทำลายทรัพยากรสัตว์น้ำชายฝั่งและในทะเล นอกจากนี้ยังช่วยปลูกฝังจิตสำนึกเยาวชนในพื้นที่ช่วยกันดูแลทรัพยากรสัตว์น้ำชายฝั่งด้วย ไม่ใช่คิดแต่จะจับอย่างเดียว 

             ประธานธนาคารปูม้าบ้านแหลมโพธิ์ยังกล่าวขอบคุณหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เข้ามาดูแลสนับสนุนเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ ให้แก่ธนาคารปูม้าบ้านแหลมโพธิ์ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งสถาบันการศึกษาที่ลงพื้นที่ทำวิจัยอย่างต่อเนื่อง ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้รับรู้ข้อมูลความเป็นไปในทรัพยากรสัตว์น้ำในอ่าวบ้านดอนและอ่าวพุมเรียง และยังมีส่วนร่วมในการรับรู้ข้อเท็จจริงอีกด้วย  

             “จากอดีตจนปัจจุบัน การทำกิจกรรมของธนาคารปู แม้จะไม่ได้รับเป็นตัวเงิน แต่เราได้รับการสนับสนุนจากองค์กรภายนอกเป็นอุปกรณ์จำพวกแอร์ปั๊ม หัวทรายสายอากาศ หน่วยงานซื้อมาให้หมด ไฟฟ้าที่ใช้ก็ได้จากโซลาร์เซลล์ที่ทางวิทยุการบินมาติดตั้งให้ ที่นี่จึงดำเนินกิจกรรมอย่างเดียว เป็นทั้งธนาคารปู แหล่งเรียนรู้ดูงานจากคนภายนอกซึ่งมีมาเกือบทุกวัน และยังได้รับรางวัลธนาคารปูดีเด่นจากหน่วยงานต่างๆ มาแล้วมากมาย” จรินทร์กล่าวอย่างภูมิใจ พร้อมยืนยันว่าไม่ว่าจะทรัพยากรสัตว์น้ำในอ่าวพุมเรียงในอนาคตจะไปในทิศทางใด ชาวบ้านยังต้องการอาชีพทำประมงอยู่หรือไม่ อยู่ที่ชุมชนเป็นคนกำหนด หน่วยงานภาครัฐเป็นเพียงพี่เลี้ยงคอยสนับสนุนอยู่ห่างๆ เท่านั้น

 

 ผนึกเครือข่ายจากภูผาสู่มหานที ต่อลมหายใจ"ปูม้า"อ่าวพุมเรียง

               เสน่ห์ รัตนสำเนียง เจ้าพนักงานประมงชำนาญงาน สำนักงานประมงจังหวัดสุราษฎร์ธานี หนึ่งในเจ้าหน้าที่รัฐที่ร่วมบุกเบิกธนาคารปูบ้านแหลมโพธิ์กับชาวบ้านในพื้นที่ กล่าวถึงความสำเร็จของธนาคารปูแห่งนี้ว่า ไม่ใช่สิ่งที่ได้มาโดยง่าย กว่าจะถึงวันนี้ได้ชาวบ้านก็ต่อสู้ดิ้นรน ทั้งงบประมาณ เครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ ตลอดจนการต่อสู้กับพวกที่ใช้เครื่องมือทำประมงผิดกฎหมาย ทำลายทรัพยกรชายฝั่งของบริเวณนี้ ก่อนที่ชาวบ้านจะรวมตัวกันจัดการสิ่งเหล่านี้ออกไปได้ 

 ผนึกเครือข่ายจากภูผาสู่มหานที ต่อลมหายใจ"ปูม้า"อ่าวพุมเรียง

               “ทางราชการคอยสนับสนุน ชาวบ้านเป็นคนทำงาน กิจกรรมธนาคารปูเริ่มแล้วกิจกรรมอื่นๆ ก็ตามมา เช่นการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ การทำกิจกรรมนี้จะไม่ให้เป็นภาระกับผู้เข้าร่วมกิจกรรมหรือเจ้าของพื้นที่เป็นอันขาด ครั้งแรกที่ผมชวนพี่เณรเข้ามาทำกิจกรรมตรงนี้ บอกว่าเจ้าของอยู่ได้ ผู้ร่วมทำกิจกรรมตรงนี้ก็ต้องอยู่ได้ อย่างพี่เณรแกไม่ค่อยได้ออกทะเล แต่จะทำอย่างไรให้แกเลี้ยงตัวเองได้จากกิจกรรมตรงนี้ ผมก็หากระชังมาให้ ไม่ได้ใส่ปูนอกกระดองทั้งหมด ผมก็หาพันธุ์สัตว์น้ำมาให้แกได้เลี้ยงบ้าง แกก็พอมีรายได้ ทำให้มีเวลาในการจัดการกับกิจกรรมตรงนี้” เจ้าพนักงานคนเดิมกล่าวย้ำทิ้งท้าย

            ธนาคารปูและการฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำชายฝั่งอ่าวพุมเรียง นับเป็นอีกตัวอย่างความสำเร็จที่มาจากความเข้มแข็งของชุมชนและเครือข่าย โดยมีหน่วยงานรัฐคอยเป็นพี่เลี้ยงกำกับดูแลอยู่ห่างๆ 

 

เป้า2ปีขยายผล“ธนาคารปูม้า”สู่500ชุมชน

           สุกัญญา ธีระกูรณ์เลิศ ประธานคณะทำงานขยายผลธนาคารปูม้า สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.) กล่าวกับ “คม ชัด ลึก” ภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการระหว่างวันที่ 13–14 กรกฎาคม ณ โรงแรมไดมอนด์พลาซ่า จ.สุราษฎร์ธานี โดยระบุว่า วช.ในฐานะหน่วยงานกลางด้านการวิจัยของประเทศ ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรี เมื่อคราวประชุมเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2561 ให้เป็นหน่วยงานหลักในการขยายผลธนาคารปูม้าเพื่อ “คืนปูม้าสู่ทะเลไทย” ไปสู่ชุมชนบริเวณชายฝั่ง โดยจะเป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ กรมประมง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ธนาคารออมสิน บริษัทประชารัฐสามัคคี บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด และกระทรวงพาณิชย์ นำองค์ความรู้จากผลงานวิจัยและนวัตกรรมเดิมมาต่อยอดในการเพิ่มอัตราการรอดของลูกปูม้าก่อนปล่อยคืนสู่ทะเล และขยายผลความสำเร็จของธนาคารปูม้าไปสู่ชุมชนอื่นๆ ตลอดจนการสนับสนุนการตลาดในทุกรูปแบบเพื่อเพิ่มโอกาสทางการค้าอันจะนำมาซึ่งการสร้างรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในชุมชนต่อไป

 ผนึกเครือข่ายจากภูผาสู่มหานที ต่อลมหายใจ"ปูม้า"อ่าวพุมเรียง

          “เราจะขยายผลธนาคารปูม้าให้ครบ 500 ชุมชนภายใน 2 ปีตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2561 ในปีแรกจะทำให้ได้ 300 ชุมชน ปีต่อไปอีก 200 ชุมชนใน 23 จังหวัดทั้งสองฝั่งทะเล อ่าวไทยและอันดามัน เราจะร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดเสวนาแบบนี้ทั้งหมด 4 ครั้ง จัดมาแล้ว 3 ครั้ง คือที่บ้านน้ำราบ จ.ตรัง ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน จ.จันทบุรี ครั้งนี้จ.สุราษฎร์ธานี และครั้งสุดท้ายที่ จ.ประจวบฯ การจัดเสวนาแต่ละครั้งจะมีเครือข่ายธนาคารปูในพื้นที่มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน” 

            ประธานคณะทำงานขยายผลธนาคารปูม้าย้ำด้วยว่าเพื่อให้เกิดความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการขยายผลธนาคารปูม้าเพื่อ “คืนปูม้าสู่ทะเลไทย” ในระดับจังหวัดและระดับพื้นที่ชายฝั่งทะเลอ่าวไทยตอนล่างในครั้งนี้ ประกอบด้วย สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส ซึ่ง วช.ได้ร่วมกับเครือข่ายความร่วมมือในพื้นที่ จัดการประชุม เรื่อง “การขยายผลธนาคารปูม้าเพื่อ ‘คืนปูม้าสู่ทะเลไทย’ ตามมติคณะรัฐมนตรี” โดยการประชุมในครั้งนี้ คาดว่าจะทำให้ทราบถึงแนวทางการดำเนินงานขยายผลธนาคารปูม้าในทันทีอย่างเป็นรูปธรรม และจะเป็นการสร้างเครือข่ายธนาคารปูม้าในระดับจังหวัดและระดับพื้นที่ชายฝั่งทะเลอ่าวไทยตอนล่าง อาทิ กรมประมง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย มหาวิทยาลัยทักษิณ เป็นต้น โดยมีผู้นำชุมชนชาวประมงลงทะเบียนเข้าร่วมประชุมและร่วมเป็นเครือข่ายมากกว่า 115 ชุมชนกว่า 500 คน จากนั้นมีการลงพื้นที่ดูงานธนาคารปูม้า ณ บ้านพุมเรียง อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี ด้วย

 ผนึกเครือข่ายจากภูผาสู่มหานที ต่อลมหายใจ"ปูม้า"อ่าวพุมเรียง

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ