ข่าว

"ห้วยขะยุง"น้ำต้นทุนทุเรียนภูเขาไฟ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"กรมชลฯ"ผุดอ่างเก็บน้ำห้วยขะยุง อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษเพิ่มน้ำต้นทุนพื้นที่เกษตร 4.2 หมื่นไร่ สนับสนุนการปลูกทุเรียนภูเขาไฟ ผลไม้ขึ้นชื่อ

 

13 กรกฏาคม 2561 "กรมชลฯ"ผุดอ่างเก็บน้ำห้วยขะยุง อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ เพิ่มน้ำต้นทุนพื้นที่เกษตร 4.2 หมื่นไร่ สนับสนุนการปลูกทุเรียนภูเขาไฟ ผลไม้ขึ้นชื่อของจังหวัด บรรเทาปัญหาน้ำท่วมพันครอบครัว 
    

 

นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า บริเวณลำน้ำห้วยขะยุง อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ ยังไม่มีแหล่งกักเก็บน้ำถาวร มีเพียงฝาย 3 แห่งตลอดลำน้ำ ได้แก่ ฝายบ้านกะมอล ฝายบ้านน้ำเย็น และฝายขะยุง ที่เป็นเครื่องมือทดน้ำเข้าพื้นที่เพาะปลูก อีกทั้งยังไม่มีระบบส่งน้ำสมบูรณ์ เกษตรกรต้องดำเนินการสูบน้ำจากฝายด้วยตนเอง ทำให้มีรายจ่ายเพิ่มขึ้น ฝายแต่ละแห่งสามารถส่งน้ำให้พื้นที่เกษตรได้ราวพันไร่เท่านั้น ปัจจุบันชาว อ.กันทรลักษ์ ใช้น้ำจากลำห้วยขะยุงผลิตน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคด้วย ปัญหาที่เกิดขึ้นคือหน้าแล้งไม่มีน้ำในลำห้วย และเมื่อถึงหน้าฝนน้ำจะหลากเข้าท่วมอำเภอเมืองกันทรลักษ์ ทำให้ประชาชนและเกษตรกรบริเวณนี้ไม่มีเสถียรภาพในการใช้น้ำ

 

"ห้วยขะยุง"น้ำต้นทุนทุเรียนภูเขาไฟ

 

ลำน้ำห้วยขะยุงมีต้นน้ำมาจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าพนมดงเร็ก ไหลลงมาที่ลำห้วยขะยุง จ.ศรีสะเกษ ผ่าน อ.กันทรลักษ์ ก่อนจะไหลลงสู่แม่น้ำมูล มีน้ำท่าไหลเข้าลำห้วยปีละประมาณ 70 ล้านลบ.ม.โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยขะยุง สามารถกักเก็บน้ำได้ 40 ล้านลบ.ม.จะก่อให้เกิดผลประโยชน์ระยะยาวต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตราษฎร ได้แก่ การนำน้ำไปใช้เป็นแหล่งน้ำดิบสำคัญสำหรับผลิตน้ำประปา การช่วยเพิ่มพื้นที่เกษตรอีก 42,500 ไร่

 

"ห้วยขะยุง"น้ำต้นทุนทุเรียนภูเขาไฟ

 

แม้ในขณะนี้เกษตรกรส่วนใหญ่จะทำนาและปลูกยางพาราเป็นหลัก แต่คาดว่าในวันข้างหน้าแผนการเพาะปลูกมีแนวโน้มจะปรับเปลี่ยนการผลิตส่วนหนึ่งจากสวนยางพาราเป็นสวนผลไม้ เช่น ทุเรียน มังคุด เพราะไม้ยืนต้นมีความเสถียรของราคามากกว่า ตลาดนิยมชัดเจน อีกทั้งดินบริเวณนี้คุณภาพดี เป็นดินภูเขาไฟ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อทุเรียนภูเขาไฟ ผลไม้ราคาดีและเป็นที่ต้องการของตลาดเป็นอย่างมาก” นายเฉลิมเกียรติ กล่าว

 

"ห้วยขะยุง"น้ำต้นทุนทุเรียนภูเขาไฟ

 

นายธวัช สุระบาล ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ เปิดเผยว่า ราษฎรและเกษตรกรในกันทรลักษ์ใช้น้ำจากห้วยขะยุงเป็นหลัก สิ่งสำคัญคือหากความต้องการใช้น้ำในกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การทำเกษตร อุปโภค-บริโภคของราษฎรเพิ่มขึ้นจะก่อให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำได้ หากลำห้วยขะยุงมีแหล่งกักเก็บน้ำ นอกจากจะช่วยเพิ่มพื้นที่การเกษตร เกษตรกรมีน้ำปลูกพืชชนิดอื่นต่อหลังจากทำนา ช่วยสร้างรายได้แล้ว ยังจะบรรเทาปัญหาน้ำท่วมเมืองช่วยราษฎรได้ร่วมพันครอบครัว ราษฎรมีความมั่นใจว่าจะมีน้ำใช้ในอนาคต ถ้าทำได้จะเกิดประโยชน์ร่วมกันทั้งหมด

 

"ห้วยขะยุง"น้ำต้นทุนทุเรียนภูเขาไฟ

 

“เวลานี้รัฐบาลมีนโยบายปรับเปลี่ยนการปลูกพืช เช่น โค่นยางเพื่อปลูกพืชอย่างอื่น เกษตรกรของเราก็เปลี่ยนมาปลูกทุเรียนและประสบผลสำเร็จเป็นอย่างมากกับทุเรียนภูเขาไฟ ณ ตอนนี้จังหวัดศรีษะเกษมีพื้นที่ปลูกทุเรียนภูเขาไฟอยู่ใน 3 อำเภอ คือ กันทรลักษ์ ขุนหาญ และศรีรัตนะ รวมพื้นที่ประมาณ 4,000 ไร่ ทางจังหวัดตั้งเป้าจะเพิ่มพื้นที่ปลูกเป็น 1 หมื่นไร่ภายใน 3 ปี โดยเน้นปลูกทุเรียนคุณภาพดีปัจจัยที่สำคัญของการปลูกทุเรียนคือ น้ำ หากมีแหล่งน้ำที่มั่นคงจะเป็นประโยชน์กับพี่น้องเกษตรกรอย่างแน่นอน” ผู้ว่าฯศรีสะเกษ กล่าว

 

"ห้วยขะยุง"น้ำต้นทุนทุเรียนภูเขาไฟ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ