ข่าว

คนกาฬสินธุ์ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง  "ชีวิตใหม่"ของสนใจ การเรีย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คนกาฬสินธุ์ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง  "ชีวิตใหม่"ของสนใจ การเรียบ

 

เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ระบุว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยไตรมาส 1 ปี 2561 อยู่ที่ 4.8% สูงสุดในรอบ 5 ปี

นั่นเป็นภาพรวมของประเทศ ทว่ายังมีคนตัวเล็กๆ อีกจำนวนมาก ที่ไม่อยู่ในเกณฑ์ข้างต้น

ตัวเลขจากสภาพัฒน์อีกเหมือนกันที่ระบุว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดต่อหัว ของจังหวัดกาฬสินธุ์ อยู่ที่ 51,147 บาทต่อคนต่อปี สัดส่วนคนยากจนในจังหวัดอยู่ที่ 31.99% มีความยากจนเป็นอันดับที่ 4 ของประเทศ และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กำหนดให้เป็นจังหวัดนำร่องในการแก้ไขปัญหาความยากจน โดยมีเป้าหมายว่าต้องยกระดับรายได้ต่อคนต่อปี ให้ได้ร้อยละ 10 ภายในปี 2562

เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น ปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ได้นำคณะสื่อมวลชน ศึกษาดูงาน บทบาทของฝ่ายปกครองในการดำเนินโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ณ จังหวัดกาฬสินธุ์ ภายใต้โครงการ Kalasin Happiness Model คนกาฬสินธุ์ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งผู้ว่าฯ กาฬสินธุ์ “ไกรสร กองฉลาด” ได้ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาความยากจน โดยแบ่งครัวเรือนยากจนเป็น 3 กลุ่มคือ ต่อยอดพัฒนาได้, ต้องทบทวน และต้องสงเคราะห์

ครอบครัวของ สนใจ-บัวไข การเรียบ ชาวบ้าน ต.มหาไชย อ.สมเด็จ จ.กาฬสินธุ์ จัดอยู่ในกลุ่มแรก

สนใจมีบุตร 5 คน ชาย 3 คน หญิง 2 คน โดยลูกชายทำงานอยู่กรุงเทพฯ

เรื่องราวของครอบครัวนี้ อาจพบเห็นได้บ่อยครั้ง..

สนใจเคยมีบ้านและที่ดินของตนเอง มีอาชีพหาของป่าขาย เนื่องจากรายได้ไม่เพียงพอ ปี 2557 จึงนำบ้านและที่ดินไปจำนอง เป็นเงิน 3 หมื่นบาท เมื่อหาเงินมาคืนไม่ได้ จึงนำที่ดินแปลงเดิมไปขายฝากกับรายใหม่ เป็นเงิน 1 แสนบาท หักชำระหนี้ให้รายเก่าเป็นเงิน 5.7 หมื่นบาท คงเหลือเงินใช้จ่ายในครัวเรือนเพียง 2.5 หมื่นบาท

เมื่อครบกำหนดไถ่ถอนเดือนเมษายน 2560 ไม่มีเงินไถ่คืน จึงถูกยึด

สมเจตน์ เต็งมงคล นายอำเภอสมเด็จ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวถึงครอบครัวนี้ว่าได้รับการคัดเลือกเข้าสู่โครงการกาฬสินธุ์ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ตอบสนองนโยบายรัฐบาลในการแก้ปัญหาความยากจน ชุมชนโคกกว้างเสนอชื่อว่าเป็นครอบครัวที่ยากจน และอำเภอตรวจสอบอีกครั้ง พบว่าครอบครัวสนใจมีความจำเป็นด้านที่อยู่อาศัย เพราะบ้านโดนยึด ไปปลูกบ้านอยู่เชิงเขา ไม่มีไฟฟ้าและน้ำประปา เวลาต้องการซื้อของใช้ในครัวเรือน ต้องเดินเท้า 3 กม. ลูกสาวซึ่งเป็นวัยรุ่นอาจมีอันตราย

ทีมงานอำเภอวิเคราะห์ถึงสิ่งแรกที่ต้องทำคือ หาที่อยู่ใหม่ในบริเวณปลอดภัย โดยให้ชุมชนช่วยเหลือ ที่ดินปลูกบ้านเป็นของญาติพี่น้อง และชุมชนจัดการถมที่ดินให้ ระดมสิ่งของสร้างบ้าน โดยไม่ใช้เงินราชการเลย ค่าถมที่และวัสดุก่อสร้าง (ไม่รวมค่าแรง) ประมาณ 1 แสนบาท เฟสต่อไปคือการดูแลประกอบอาชีพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนหลายอย่าง เช่น การปลูกผักสวนครัว นำเห็ดนางฟ้ามาให้ปลูก จัดหาไก่ไข่และพันธุ์ปลาให้เลี้ยง ตอนนี้ความเป็นอยู่ดีขึ้น ลูกสาวได้เข้าเรียน กศน.

ส่วน “บัวไข” ภรรยา ทางชุมชนช่วยเหลือให้ทำงานเป็น อสม.ประจำหมู่บ้าน ได้เบี้ยเลี้ยงเดือนละ 600 บาท

“ต่อไปนี้ก็ขึ้นกับสนใจ หากจะอยู่ในสังคมให้ได้ ต้องขยันทำงาน เพื่อให้ครอบครัวอยู่ดีมีสุข การมีโครงการไทยนิยม ทำให้เรารับรู้ปัญหา พี่น้องในหมู่บ้านได้เสนอปัญหากันเอง หนึ่งในนั้นคือที่อยู่อาศัย การประกอบอาชีพ และความยากจน โครงการแฮปปี้เนสโมเดลเข้ามารองรับพอดี สนใจขาดที่อยู่อาศัย อาชีพ เราก็เข้าไปดูแล” นายอำเภอสมเด็จ กล่าว

นับจากนั้น สิ่งดีๆ ในชีวิต จึงมาสู่ครอบครัวการเรียบ ดังนี้

1.คนในชุมชนและหน่วยงานราชการ บริจาคเงินและวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างบ้าน รวมทั้งช่วยกันสร้างบ้านหลังใหม่ บนที่ดินของพี่สาวซึ่งอยู่ในชุมชน มูลค่า 1 แสนบาท 2.ชาวบ้านโคกกว้าง หมู่ 7 สนับสนุนอาหารกลางวันสำหรับช่างก่อสร้าง มูลค่า 1 หมื่นบาท 3.คณะกรรมการหมู่บ้าน ได้ช่วยเจรจาพี่สาวของนายสนใจ การเรียบ ให้แบ่งที่ดินเนื้อที่ 100 ตารางวา สำหรับปลูกสร้างบ้าน 4.ได้รับพันธุ์ไก่พื้นเมืองจาก กศน.อ.สมเด็จ 6.ได้รับเมล็ดผักสวนครัวและเงินสดจากสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอสมเด็จ เป็นต้น

ครอบครัวการเรียบ ได้ย้ายเข้าไปอยู่บ้านหลังใหม่เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2561 ปัจจุบันสนใจประกอบอาชีพเผาถ่าน หาของป่าขาย และปลูกพืชผักสวนครัวไว้กิน ส่วนบุตรสาว 2 คน คือ น.ส.สไบแพร อายุ 18 ปี และ น.ส.ชบาพร อายุ 15 ปี ได้เข้าเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ที่ กศน.มหาไชย

ประหยัด จันทะบาล กำนันตำบลมหาไชย อ.สมเด็จ กล่าวถึงความร่วมมือของชุมชนว่า ทุกคนร่วมให้ความช่วยเหลือ ส่วนตัวกำนันเองมีรถสิบล้อ ก็ขนดินจากที่ดินของผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 7 มาถมให้จำนวน 32 คันรถสิบล้อโดยไม่คิดเงิน (ปกติค่าขน+ดิน เที่ยวละ 500 บาท)

“คนในชุมชน เป็นญาติพี่น้องกันหมด ต้องไม่ทิ้งกัน เราประชาสัมพันธ์ทั้งตำบลให้ช่วย ผู้ใหญ่บ้านทุกคนช่วยกัน มีคนมาช่วยหลักร้อย ทั้งระดมทุน ลงแรง เอารถแบ็กโฮไปตักดินจากที่ดิน สิ่งของอื่นๆ ที่หน่วยงานต่างๆ นำมาให้ มีปลา ไก่ กบ เห็ด คาดว่าจะขายได้วันละ 100 บาท ส่วนภรรยารับจ้างทำนา มีรายได้วันละ 300 บาท ลูกสาวกำลังฝึกงานปัก ที่ กศน. หากปักเสื้อได้ ก็มีรายได้อีก”

   “เราพยายามบอกทุกวันว่าเขาต้องช่วยเหลือตัวเอง เพราะสิ้นเดือนกรกฎาคม 2561 ทางทีมจะถอนตัว และดูว่าเขาจะทำอย่างไรต่อ คือเราพยุงช่วยให้เดินได้ แต่ต้องก้าวเดินด้วยตัวเองต่อไป” กำนันประหยัดกล่าว 

ขับเคลื่อนศก.ฐานรากจากโครงการ"ไทยนิยม ยั่งยืน”

  ร.ต.ท.อาทิตย์ บุญญะโสภัต อธิบดีกรมการปกครอง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2561 กำหนดกรอบหลักการในการดำเนินการมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศไทยไปสู่ความยั่งยืน ตาม “โครงการไทยนิยม ยั่งยืน” 10 เรื่อง โดยกรอบที่ 3 เรื่องชุมชนอยู่ดีมีสุข โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ ตาม “โครงการไทยนิยม ยั่งยืน” ได้รับการจัดสรรงบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่หมู่บ้าน/ชุมชน จำนวน 82,371 แห่ง แห่งละ 2 แสนบาท เป็นเงิน 16,474.2 ล้านบาท

โดยการดำเนินโครงการนั้น คณะกรรมการหมู่บ้าน/ชุมชน จะประชุมประชาคม เพื่อนำปัญหาความต้องการที่ได้จากการประชุมประชาคมโครงการไทยนิยม ยั่งยืน หรือจากแผนพัฒนาหมู่บ้าน/ชุมชน มาพิจารณาคัดเลือกปัญหาความต้องการที่ตรงกับหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ซึ่งจะต้องเป็นการดำเนินกิจกรรมอันนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ หมู่บ้าน/ชุมชนละไม่เกิน 2 โครงการ ในด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และด้านสาธารณประโยชน์อื่นๆ จัดส่งให้อำเภอเพื่อเสนอขอรับงบประมาณ

ปัจจุบัน มีโครงการที่ผ่านการประชุมประชาคมแล้ว 87,852 โครงการ อยู่ระหว่างการพิจารณาอนุมัติโครงการของคณะกรรมการบริหารงานอำเภอ (กบอ.) ซึ่งมีตัวแทนจากภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาในพื้นที่ ร่วมให้ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะประกอบการพิจารณาอนุมัติ จากนั้นอำเภอจะจัดทำแผนปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณส่งผู้ว่าราชการจังหวัดและกองจัดทำแผนงบประมาณเขตพื้นที่ (CBO) สำนักงบประมาณ พิจารณาเห็นชอบตามลำดับ โดยงบประมาณทั้งหมดจะถูกโอนเข้าบัญชีธนาคารของหมู่บ้าน/ชุมชน ภายในเดือนมิถุนายน 2561

เมื่อได้รับงบประมาณแล้ว หมู่บ้าน/ชุมชนจะเป็นผู้ดำเนินการโครงการเองทั้งกระบวนการ ตั้งแต่การจัดซื้อจัดจ้าง การตรวจรับงาน/พัสดุ ตลอดจนการเบิกจ่ายเงินโครงการ โดยจะมีคณะผู้รับผิดชอบการจัดซื้อจัดจ้าง คณะผู้รับผิดชอบการตรวจรับพัสดุ และคณะผู้รับผิดชอบการเบิกจ่ายเงินและจัดทำบัญชี ซึ่งเป็นประชาชนในหมู่บ้าน/ชุมชน ที่ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมประชาคม ทั้งนี้การดำเนินโครงการทั้งหมดจะเสร็จสิ้นภายในวันที่ 10 กันยายน 2561

อธิบดีกรมการปกครอง กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่รัฐบาลมุ่งหวังเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ โดยประชาชนเป็นผู้เสนอความต้องการ และเป็นผู้ดำเนินการเองทั้งหมด ทั้งนี้ขอให้ผู้ดำเนินการโครงการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนคู่มือการดำเนินงานอย่างเคร่งครัด ดำเนินโครงการด้วยความสุจริตโปร่งใส ยึดถือแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยการน้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” และหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในหมู่บ้าน/ชุมชน และแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างยั่งยืน

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ