ข่าว

 ตรวจความพร้อมบริหารจัดการน้ำ 20 จว."อีสาน"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 ตรวจความพร้อมจัดการน้ำ"อีสาน"  มุ่งแก้ท่วม3ลุ่มน้ำใหญ่"โขง-ชี-มูล"

 

              หลังสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเวทีเสวนา “การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระดับพื้นที่” ครั้งแรกในพื้นที่ภาคเหนือ 17 จังหวัด ที่ จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2561 ล่าสุด สทนช.เดินสายจัดเวทีเสวนาอีกครั้ง เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ณ โรงแรมวีวิช จ.ขอนแก่น เพื่อระดมมันสมองทุกภาคส่วนร่วมบูรณาการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาและวางแผนการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบทั้งลุ่มน้ำใน 20 จังหวัดภาคอีสาน สร้างความมั่นใจที่จะทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการบริหารทรัพยากรน้ำของประเทศและเตรียมความพร้อมรับมือในฤดูน้ำหลากที่กำลังจะมาถึงในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า

 ตรวจความพร้อมบริหารจัดการน้ำ 20 จว."อีสาน"

            “การจัดเสวนาเราจะมีทุกภาค ภาคเหนือ อีสาน กลาง และใต้ จะทำให้ภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่ลุ่มน้ำ ได้รับรู้แผนงานและผลงาน การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ ของรัฐบาล รวมทั้งมีความเข้าใจและทราบถึงสถานการณ์น้ำ ตลอดจนแนวทางการบริหารจัดการน้ำหลาก ช่วงฤดูฝนปี 2561 และก่อให้เกิดการมีส่วนร่วม การบูรณาการทำงานร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรน้ำในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านความพร้อม ด้านแผนงาน ด้านการบริหารจัดการ การให้ความช่วยเหลือ ด้านเครื่องจักรเครื่องมือในการป้องกันและบรรเทาอุทกภัย”

 

 ตรวจความพร้อมบริหารจัดการน้ำ 20 จว."อีสาน"

             ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองประธานอนุกรรมการวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ กล่าวในเวทีเสวนาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระดับพื้นที่ภาคอีสาน โดยระบุว่าเป็นการดำเนินงานตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน  โดยมอบหมายให้สทนช.เป็นหน่วยงานหลักในการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำในฤดูฝนปี 2561 นี้  ซึ่งได้มีการจัดเสวนาในระดับส่วนกลาง ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล และการเสวนาในระดับพื้นที่ครั้งแรก ในพื้นที่ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ มาแล้ว ซึ่งได้รับเสียงตอบรับจากภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่เป็นอย่างดี 

               เลขาธิการสทนช. เผยต่อว่า จากผลการประเมินจากแบบสอบถามพบว่าผู้เข้าร่วมเสวนารับรู้และเข้าใจสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคเหนือและมีความมั่นใจในการทำงานของทุกภาคส่วนต่อการเผชิญปัญหาน้ำหลาก ส่วนในครั้งนี้เป็นการจัดเสวนาในระดับพื้นที่ครั้งที่ 2 ภาคอีสาน ซึ่งมีพื้นที่ใหญ่ที่สุดของประเทศครอบคลุม 20 จังหวัด โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านน้ำ อาทิ กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมอุตุนิยมวิทยา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กองทัพไทย จังหวัดต่างๆ ตลอดจนประชาชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้าร่วมการประชุมกว่า 500 คน

              ขณะที่ ชลาลัย แจ่มผล ผู้อำนวยการศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เผยว่า ที่ผ่านมากรมอุตุนิยมวิทยาก็ได้มีการบุรณาการด้านข้อมูลกับกรมชลประทานอย่างต่อเนื่อง ทั้งการพยากรณ์อากาศในระยะสั้นวันต่อวันและระยะยาว 1-3 เดือน นอกจากนี้ประชาชนก็สามารถอัพเดทข้อมูลพยากรณ์อากาศ โดยผ่านแอพพลิเคชั่นได้เช่นกัน 

            “การพยากรณ์อากาศระยะสั้น ซึ่งประชาชนทั่วไปสามารถโหลดแอพพลิเคชั่นเข้าไปดูได้ในอีก 24 ชั่วโมงข้างหน้าหรือ 3 วันข้างหน้าได้ แต่การพยากรณ์อากาศในระยะยาว 1-3 เดือนข้างหน้า  นอกจากเราจะใช้แบบจำลองในระดับโลกแล้ว เราก็นำแบบจำลองที่เรามีในภูมิภาคต่างๆ หรือจังหวัดต่างๆ ในประเทศไทยมาร่วมด้วย แต่ระยะความแม่นยำจะลดลงไป”

               เขายังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ปริมาณฝนปีนี้ค่อนข้างจะชุกกว่าปีก่อน เห็นได้จากต้นปีที่ผ่านมาค่าเฉลี่ยปริมาณฝนทั้งภาคอีสานจะเห็นว่าทุกเดือนเป็นบวกหมด โดยเฉพาะเดือนเมษายนที่ผ่านมา บวก 35-40 เปอร์เซ็นต์ ทำให้เดือนเมษายนปีนี้อากาศจึงไม่ค่อยร้อนมากนัก ขณะที่เดือนพฤษภาคม-มิถุนายนนั้นในภาคอีสานปริมาณฝนมีการกระจายตัวลดลง

             ด้าน สัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมรับมือฤดูฝนปีนี้ โดยยอมรับว่าขณะนี้กรมชลประทานได้มีการเตรียมความพร้อมไว้เรียบร้อยแล้ว โดยเฉพาะจุดเสี่ยงการเกิดน้ำท่วม ซึ่งใน 20 จังหวัดภาคอีสานมีอยู่ประมาณ 120 จุด โดยมีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำไว้ทั้งหมด 446 เครื่อง เพื่อรับมือหากเกิดกรณีน้ำท่วมฉับพลัน

“การเตรียมความพร้อมรับมือในฤดูฝนอีก 2-3 เดือนข้างหน้า ขณะนี้กรมชลประทานได้เตรียมความพร้อมเกือบจะครบถ้วนหมดแล้ว ทั้งการเก็บกักน้ำในเขื่อนต่างๆ การขุดลอกสิ่งกีดขวางทางน้ำ การติดตั้งเครื่องสูบน้ำในทุกจุดเสี่ยงเกิดน้ำท่วม สภาพความพร้อมของอาคารประตูระบายน้ำต่างๆ ตอนนี้ได้มีการปรับปรุงซ่อมแซมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว มีชื่อคนรับผิดชอบชัดเจน มีเบอร์โทรศัพท์ติดต่อตลอด 24 ชั่วโมง” 

            ส่วน เหลาไท นิ่มนวน ตัวแทนชาวบ้านลุ่มน้ำโขงจาก จ.สกลนคร มองว่าผลจากน้ำท่วม จ.สกลนคร เมื่อปีที่ผ่านมา ทำให้ชาวบ้านมีประสบการณ์และได้เรียนรู้จากน้ำท่วมครั้งนั้นมากมาย การประกอบอาชีพต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเลี้ยงไก่หรือเลี้ยงสุกรก็จะมีการสร้างเล้าที่สูงจากพื้นมากขึ้น ขณะที่หน่วยราชการที่รับผิดชอบกลับยังไม่มีการบูรณาการที่ชัดเจน การบริหารจัดการยังเป็นไปในลักษณะแยกส่วนเช่นเดิม อย่างเช่น ปลายน้ำกรมชลประทานดูแล กลางน้ำกรมประมง ส่วนต้นน้ำของการไฟฟ้า  

           “ปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้น หนึ่ง การบูรณาการไม่ชัดเจน สอง ข้อมูลไม่เพียงพอ ประชาชนไม่ได้รับรู้ข้อมูลที่แท้จริง เพราะทุกอย่างมันมีผลประโยชน์ทับซ้อน น้ำท่วมเป็นเหตุให้ของบ น้ำแล้งก็เป็นเหตุให้ของบ ไม่มีวันจบ จะมีแต่ปัญหาที่เพิ่มขึ้น นี่คือปัญหาที่ไม่มีวันจบ เห็นด้วยกับการมีหน่วยงานกลางมาดูแล ปัญหาต่างๆ เหล่านี้จะได้จบสิ้นเสียที” ตัวแทนชาวบ้านคนเดิมกล่าวด้วยความหวัง 

          อย่างไรก็ตาม การจัดเสวนาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระดับพื้นที่ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 2 จากทั้งหมด 4 ครั้ง โดยที่เหลืออีก 2 ครั้ง ได้แก่พื้นที่ภาคกลางจัดเสวนาในวันที่ 25 กรกฎาคม ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ครอบคลุมพื้นที่ 25 จังหวัดและกรุงเทพมหานคร 

             และครั้งสุดท้าย จัดในพื้นที่ภาคใต้ วันที่ 8 สิงหาคม ที่ จ.สงขลา ครอบคลุมพื้นที่ 14 จังหวัด พร้อมทั้งได้มีการจัดนิทรรศการในเรื่องต่างๆ เช่น แผนแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่อย่างเป็นระบบ ของ สทนช. การบริหารจัดการและแจ้งเตือนภัยของกรมอุตุนิยมวิทยา การบริหารจัดการน้ำฤดูฝน ปี 2561 ของกรมชลประทาน และมีการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับแผนปฏิบัติการจัดการน้ำหลากปี 2561 ในระดับพื้นที่ของทุกจังหวัดด้วย  

 สทนช.วางแนวทางแก้ปัญหาลุ่มน้ำพอง  

            สทนช.ลงพื้นที่ร่วมบูรณาการวางแนวทางการแก้ไขปัญหาและบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำพองอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมเร่งปรับปรุงฝายหนองหวายเพิ่มศักยภาพการกักเก็บ คลอดแผนก่อสร้างประตูระบายน้ำพร้อมสถานีสูบน้ำ และติดตั้งบานระบายน้ำรับน้ำสองทางยกระดับถนน เสริมความแข็งแกร่งให้คันคลองใช้เป็นพนังกั้นน้ำ

            ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.) เผยระหว่างลงพื้นที่รับฟังแนวทางการแก้ไขปัญหาและบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำพองว่า ลุ่มน้ำพองซึ่งเป็นลุ่มน้ำสาขาที่สำคัญของลุ่มน้ำชี ประสบปัญหาน้ำท่วมอย่างรุนแรงในปี 2560 ที่ผ่านมา เนื่องจากมีพายุพัดผ่านถึง 3 ลูก ทำให้น้ำล้นเขื่อนอุบลรัตน์ จึงต้องเร่งระบายน้ำออกจากเขื่อน ส่งผลกระทบต่อประชาชนและพื้นที่การเกษตรท้ายเขื่อนต่อเนื่องไปจนถึงลำน้ำชี ประกอบกับคันคลองชลประทานสาย 3L-RMC ที่ถูกน้ำกัดเซาะขาดที่บริเวณบ้านคุยโพธิ์ ต.บึงเนียม อ.เมืองขอนแก่น ทำให้ผลผลิตการเกษตรได้รับความเสียหาย ซึ่งกรมชลประทานได้ดำเนินการซ่อมแซมชั่วคราวโดยนำหินใหญ่บรรจุในกล่องเกเบี้ยนถมปิดคันขาดเพื่อบล็อกน้ำ พร้อมทั้งได้ระดมเครื่องสูบน้ำรวมทั้งสิ้น 66 เครื่อง เพื่อสูบน้ำออกจากพื้นที่ จนสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ

           อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องแก้ไขปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในระยะยาว รัฐบาลได้มอบหมายให้ สทนช.บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด โดยเฉพาะกรมชลประทานวางแนวทางการแก้ไขปัญหาและบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำพอง ซึ่งการศึกษาเบื้องต้นพบว่า หากจะให้สามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในพื้นที่ลุ่มน้ำพองได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว จะต้องดำเนินการปรับปรุงเพิ่มระดับเก็บกักฝายหนองหวายที่สร้างกั้นลำน้ำพอง พร้อมทั้งเพิ่มศักยภาพความจุลำน้ำพอง กรณีเขื่อนอุบลรัตน์ระบายน้ำมากกว่า 34 ล้าน ลบ.ม./วัน ให้สามารถป้องกันน้ำไม่ให้น้ำไหลย้อนเข้าลำห้วยสาขาท่วมพื้นที่นา และก่อสร้างประตูระบายน้ำพร้อมบานระบายน้ำรับน้ำแบบ 2 ทาง เพิ่มเติมบริเวณปากลำห้วยสาขาของลำน้ำพองอีกด้วย 

             “การแก้ไขปัญหาลุ่มแม้การดำเนินงานจะยังไม่แล้วเสร็จในปีนี้  แต่ได้มีการบูรณาการวางแผนป้องกันปัญหาอุทกภัยในระยะยาว โดยได้มีการเสริมความแข็งแรงของคันคลองส่งน้ำ โดยเฉพาะจุดที่ถูกน้ำกัดเซาะขาดเป็นการชั่วคราว และซ่อมแซมท่อลอดคลองพร้อมติดตั้งบานระบายน้ำรับน้ำสองทาง ตามพื้นที่มีความเสี่ยงจะเกิดอุทกภัยเรียบร้อยแล้ว รวมทั้งยังได้มีการเพิ่มศักยภาพการระบายน้ำของสถานีสูบน้ำห้วยพระคือ หรือ ปตร.D8 ที่จะระบายลงสู่แม่น้ำชี จากปัจจุบันที่มีเครื่องสูบน้ำ 20 เครื่อง อัตราสูบ 3 ลบม./วินาที สูบได้วันละประมาณ 5 ล้าน ลบ.ม./วัน เมื่อเกิดอุทกภัยกรมชลประทานสามารถติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมอีก 46 เครื่อง สามารถสูบน้ำได้ วันละ 7.5 ล้าน ลบ.ม./วัน เพียงพอที่จะแก้ปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่ได้อย่างแน่นอน” เลขาธิการสทนช.กล่าวในตอนท้าย

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ