ข่าว

 เปิด3ธุรกิจสหกรณ์กองทุนสวนยางบ่อทอง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 เปิด3ธุรกิจสหกรณ์กองทุนสวนยางบ่อทอง แปรรูป"ยางแท่งSTR20"ป้อนอุตฯชิ้นส่วนรถยนต์

 

           ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นผู้นำในการผลิตยางแท่ง STR20 หรือยางคอมปาวด์ที่มีคุณภาพดีที่สุดในโลก ปัจจุบันยางแท่ง STR20 กลายเป็นผลิตภัณฑ์หลักของสหกรณ์กองทุนสวนยางอำเภอบ่อทอง จ.ชลบุรี ที่ประสบความสำเร็จ ถือเป็นสถาบันเกษตรกรต้นแบบที่ช่วยยกระดับคุณภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตยางพารา เพื่อช่วยหลือเกษตรกรบรรเทาปัญหาราคายางตกต่ำ สร้างรายได้มากกว่า 135 ล้านบาทต่อเดือน ขณะเดียวกันก็ยังขยายโรงงานผลิตยางแท่ง STR20 ใหม่ เพื่อดันกำลังการผลิตเพิ่มอีก 6,000 ตันต่อเดือน ให้เพียงพอกับความต้องการของตลาดอีกด้วย

 

          การขยายโรงงานดังกล่าว สหกรณ์กองทุนสวนยางอำเภอบ่อทอง จำกัด ได้ขอกู้เงินจากโครงการสนับสนุนสินเชื่อสถาบันเกษตรกรแปรรูปยางพาราจำนวน 382 ล้านบาท จากเงินที่รัฐบาลได้จัดสรรวงเงินสินเชื่อ 5,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร นำไปใช้ในการขยายกำลังการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในโรงงานแปรรูปยาง หรือลงทุนจัดสร้างโรงงานใหม่ เมื่อ 3 ปีก่อน รองรับผลผลิตยางพาราของเกษตรกรในพื้นที่และนำเข้าสู่กระบวนการแปรรูปเป็นยางแท่ง 

          “เพื่อประชาสัมพันธ์นโยบายการแก้ปัญหาราคายางพาราของรัฐบาลที่เดินมาถูกทาง โดยการสนับสนุนศักยภาพให้แก่สหกรณ์ เพื่อสหกรณ์จะได้ไปดูแลสมาชิกเกษตรกรชาวสวนยางให้ผลิตยางพาราที่มีคุณภาพ และนำเข้าสู่กระบวนการแปรรูปเป็นยางแผ่นรมควันและยางแท่งเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มตามที่ตลาดต้องการ หากทำอย่างจริงจังและมีความเข้าใจกระบวนการผลิตยางพาราที่มีคุณภาพแล้วเชื่อมั่นว่าราคายางจะไม่ตกต่ำอย่างแน่นอน” 

          ลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงการแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำของสหกรณ์กองทุนสวนยางอำเภอบ่อทอง จำกัด โดยสนับสนุนสมาชิกผลิตยางคุณภาพเพื่อเข้าสู่กระบวนการแปรรูปเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตราคายางพาราตกต่ำ 

        จากนั้นสหกรณ์จึงไปหาช่องทางการขยายตลาดที่ประเทศจีน โดยนำตัวแทนสหกรณ์เดินทางไปดูงานภายใต้การกำกับดูแลของสถาบันวิจัยยางธรรมชาติในเมืองชิงเต่า มณฑลซานตง ซึ่งเป็นเมืองศูนย์กลางค้ายางพาราของประเทศจีนเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา ปรากฏว่าได้รับออเดอร์สั่งซื้อเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก จึงเป็นที่มาของการต่อยอดขยายธุรกิจและก่อตั้งโรงงานยางพาราอัดแท่งของสหกรณ์ในเวลาต่อมา

            ประชา ทรัพย์พิพัฒนา ประธานสหกรณ์กองทุนสวนยางอำเภอบ่อทอง จก. เผยกับ “คม ชัด ลึก” ว่าปัจจุบันสหกรณ์ได้ดำเนินธุรกิจหลัก 3 ธุรกิจ ประกอบด้วย ธุรกิจจัดสินค้ามาจำหน่าย ธุรกิจรวบรวมยางพารา ซึ่งมีแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ ธุรกิจรวบรวมยางแผ่นดิบ ธุรกิจรวบรวมน้ำยาง และธุรกิจแปรรูปยางแผ่นรมควัน (RSS) จากเกษตรกรในพื้นที่ทางภาคตะวันออก เพื่อนำมาแปรรูปเป็นยางแผ่นอัดก้อนส่งตลาดต่างประเทศ เช่น จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ตะวันออกกลาง และไต้หวัน โดยโรงงานยางแท่งสหกรณ์เพิ่งเริ่มทำในปีนี้ ซึ่งคุณภาพที่ผลิตได้ค่อนข้างเป็นที่ยอมรับในระดับมาตรฐานสากล และมีตลาดส่งออกชัดเจน

         อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา สหกรณ์มีกำลังการผลิตประมาณเดือนละ 3,000 ตัน มูลค่ากว่า 135 ล้านบาทต่อเดือน สำหรับตลาดภายในประเทศ สหกรณ์ได้ผลิตยางป้อนให้แก่บริษัทผู้ผลิตยางรถยนต์ชั้นนำของไทย อาทิ บริษัท กู๊ดเยียร์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน), บริษัท แม็กซิส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท สยามมิชลิน จำกัด, บริษัท ซูมิโตโม รับเบอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด, บริษัท โยโกฮามา ไทร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ในส่วนประกอบของรถยนต์อีกด้วย

        “ขณะนี้ทางสหกรณ์ผลิตยางพาราป้อนตลาดไม่ทันกับออเดอร์ เนื่องจากลูกค้ามีความต้องการในปริมาณที่สูงขึ้น แต่ก็ไม่สามารถแบ่งโควตายางให้แก่ที่อื่นได้ เนื่องจากสหกรณ์จะต้องรับผิดชอบเรื่องคุณภาพสินค้าที่จะส่งให้แก่ลูกค้าเป็นหลักสำคัญ หากนำยางจากที่อื่นไปส่งให้ลูกค้าเกรงว่าจะมีปัญหาตามมา เมื่อตรวจสอบพบคุณภาพไม่เป็นไปตามที่ตกลงกันไว้ สินค้าตีกลับและเรียกปรับค่าเสียหายจากสหกรณ์” ประธานสหกรณ์กองทุนสวนยางอำเภอบ่อทอง กล่าวย้ำทิ้งท้าย

                                           

 จากยางธรรมชาติสู่ยางล้อ"โฟร์คลิฟต์"

                 อุตสาหกรรมยางล้อ หนึ่งในผลิตภัณฑ์แปรรูปจากยางธรรมชาติที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้พยายามทำวิจัยโดยมุ่งเน้นไปที่ยางล้อประหยัดพลังงาน เนื่องจากมองว่าเป็นอุตสาหกรรมที่มีอนาคตไกล ช่วยผู้ประกอบการไทยตีตลาดโลกมากขึ้น 

               ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สกว. กล่าวระหว่างเยี่ยมชมการผลิตยางล้อตันสำหรับรถโฟล์กลิฟต์ ที่ บริษัท วี.เอส. อุตสาหกรรมยาง จำกัด จ.สมุทรสงคราม ซึ่งเป็นภาคเอกชนที่ร่วมสนับสนุนทุนวิจัยและใช้ประโยชน์จากงานวิจัยจนสามารถผลิตขายเชิงพาณิชย์ โดยระบุว่า อุตสาหกรรมยางในประเทศไทยร้อยละ 60-70 นำยางธรรมชาติมาผลิตเป็นยางล้อ โดยยางล้อตันรถโฟล์กลิฟต์เป็นยางล้อรถประเภทที่ใช้ยางธรรมชาติในการผลิตสูง ประมาณ 30 กิโลกรัมต่อเส้น ส่วนยางประเภทที่ใช้ลมใช้ยางธรรมชาติเพียง 8 กิโลกรัมต่อเส้น ในแต่ละปีประเทศไทยใช้ยางธรรมชาติในการผลิตยางล้อรถตันประมาณปีละ 12,960 ตัน เป็นการผลิตเพื่อใช้ในประเทศประมาณ 216,000 เส้นต่อปี ที่เหลือส่งออกไปยังตลาดอาเซียนเป็นหลัก รวมทั้งแถบยุโรป อเมริกา และญี่ปุ่น มูลค่าตลาดรวมประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อปี

          ปัจจุบันอุตสาหกรรมยางล้อตันรถโฟล์กลิฟต์ของประเทศไทยยังคงรั้งอันดับ 4 ของตลาดโลก ซึ่งผู้ประกอบการของไทยส่วนใหญ่เป็นระดับขนาดกลางและขนาดเล็ก ประกอบกับตลาดโลกให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเฉพาะยางล้อประหยัดพลังงาน เกาะถนนได้ดีขณะที่ถนนเปียกเพื่อความปลอดภัย และลดมลพิษทางเสียง หลายประเทศออกกฎหมายบังคับให้การผลิตยางล้อเพื่อการส่งออกต้องได้มาตรฐานตามที่กำหนด อุตสาหกรรมยางล้อของไทยจึงจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี เพื่อให้สามารถมีบทบาทในการผลิตและส่งออกยางล้อรถได้มากขึ้น 

         สำหรับ บริษัท วี.เอส.อุตสาหกรรมยาง จำกัด ได้นำต้นแบบยางล้อตันประหยัดพลังงานที่พัฒนาขึ้นไปพัฒนาผลิตยางล้อรถโฟล์กลิฟต์ขายในเชิงพาณิชย์ตั้งแต่ปี 2556 ผลิตขายไปแล้วมากกว่า 120,000 เส้น คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1,000 ล้านบาท มีการส่งออกเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 10 

 

 สยยท.ชี้ต้นทุนผลิตยางแท่งไทยสูงกว่าอินโดฯ

            อุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรยางพาราแห่งประเทศไทย (สยยท.) กล่าวกับ “คม ชัด ลึก” กรณีรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางผลิตยางแท่ง STR20 ว่า เป็นเรื่องที่ดี เพราะจะช่วยแก้ปัญหาราคายางตกต่ำ แต่สิ่งที่ต้องคำนึงถึงยางชนิดนี้อินโดนีเซียเป็นประเทศที่ส่งออกยางแท่ง STR20 มากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของโลกและต้นทุนการผลิตของอินโดนีเซียก็ต่ำกว่าประเทศไทย แต่หากเพิ่มทางเลือกโดยหันมาผลิตยางรมควันคุณภาพ เนื่องจากยางรมควันไทยส่งไปขายมากที่สุดในโลก  ขณะที่ประเทศอื่นๆ ไม่ผลิต เช่นเดียวกับน้ำยางข้น ซึ่งไทยเป็นผู้นำส่งออกเช่นกันเพราะประเทศไทยผลิตถึง 90% ของโลก

          “ณ วันนี้ ยางก้อนถ้วยราคาอยู่ที่ 35 บาทต่อกก. ขณะที่น้ำยางสดอยู่ที่ 42 บาทต่อกก. ถ้าเราเอาน้ำยางสดมาแปรรูปเป็นยางแผ่นรมควันหรือน้ำยางข้น ราคาจะต่างกับยางก้อนถ้วยมาผลิตยางแท่ง ราคาน้ำยางสดและยางแผ่นดิบราคาจะสูงกว่าราคายางก้อนถ้วยหรือขี้ยาง 100% ราคาต่างกัน 6-7 บาทต่อกก. และน้ำยางสดการนำไปขายจะง่ายกว่ายางก้อนถ้วย แล้วก็ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเป็นอีกทางเลือกของเกษตรกร”

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ