ข่าว

"ปศุสัตว์"จ่อตั้งโรงงานผลิตวัคซีนพิษสุนัขบ้า

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ปศุสัตว์"จ่อตั้งโรงงานผลิตวัคซีนพิษสุนัขบ้าใช้เองชี้เป็นเรื่องความมั่นคงของชาติเดินหน้าศูนย์ทดสอบ QC วัคซีนสัตว์ก่อนการนำมาใช้เล็งไทยปลอดโรคพิษสุนัขบ้า

9 กรกฏาคม 2561 "ปศุสัตว์"จ่อตั้งโรงงานผลิตวัคซีนพิษสุนัขบ้าใช้เองชี้เป็นเรื่องความมั่นคงของชาติเดินหน้าศูนย์ทดสอบ QC วัคซีนสัตว์ก่อนการนำมาใช้  เล็งเป้าหมายประเทศไทยเป็นประเทศที่ปลอดจากโรคพิษสุนัขบ้า

 

 

 

นายสัตวแพทย์สรวิศ  ธานีโต  อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยภายหลังประชุมเพื่อหาแนวทางการดำเนินงานเพื่อผลิตวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทย พร้อมด้วยนายสัตวแพทย์จีระศักดิ์ พิพัฒนพงศ์โสภณ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ผู้แทนจากสำนักเทคโนโลยีชีวภัณฑ์สัตว์ สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ม.มหิดล กลุ่มพัฒนาวิชาการปศุสัตว์ ม.เกษตรศาสตร์ สถานเสาวภา สภากาชาดไทย สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

 

องค์การเภสัชกรรม กระทรวงสาธารณสุข ว่าหาแนวทางการผลิตวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าของทั้งคนและสัตว์ ให้ได้คุณภาพมาตรฐานและมีปริมาณเพียงพอ สามารถป้องกันและควบคุมโรคได้ ทั้งในปัจจุบันและต่อไปในอนาคต ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีการนำเข้าวัคซีนของสัตว์ 15 ล้านโด๊สต่อปี และคน 2.5 ล้านโด๊สต่อปี สำหรับที่ผ่านมาการผลิตวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทย มีโครงการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าชนิดเชื้อตายผลิตจากเซลล์เพาะเลี้ยง (Vero cell) สำหรับทั้งคนและสัตว์  

 

ส่วนความคืบหน้าในการวิจัยการผลิตวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ โดยโครงการพัฒนา Rabies vaccine ที่ร่วมกับกรมปศุสัตว์ ทุนจากสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้แก่ การพัฒนา Rabies vaccine ในสัตว์ คือโครงการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าชนิดเชื้อตายผลิตจากเซลล์เพาะเลี้ยงสำหรับสัตว์ใน GMP pilot plant ปี 2564-2565 (ระยะเวลา 1.5-2 ปี)  

การทดสอบ Rabies vaccine ในสัตว์ คือโครงการทดสอบวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าชนิดเชื้อตายผลิตจากเซลล์เพาะเลี้ยงสำหรับสัตว์ภาคสนาม ปี 2566 (ระยะเวลา 1 ปี) ทั้งนี้การขึ้นทะเบียน Rabies vaccine กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ปี 2567 (ระยะเวลา 6 เดือน) และมีแผนการผลิต Rabies vaccine ในระดับอุตสาหกรรม 

 

นายสัตวแพทย์สรวิศ กล่าวว่า ในการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในไทย โดยมีการทำงานแบบคู่กันไปทั้งด้านงานวิจัยเพื่อนำข้อมูลมาสนับสนุน การทำ Pilot project ร่วมกัน การซื้อ bulk vaccine มาบรรจุในเบื้องต้น มีการพัฒนาด้านศูนย์ทดสอบ QC วัคซีนสัตว์ก่อนการนำมาใช้ มีการพัฒนาการทดสอบประสิทธิภาพวัคซีนในสัตว์ มีการบริหารจัดการส่วนกลาง Central procurement ในระบบการจัดซื้อเพื่อกระจายไปพื้นที่ และการจัด Body ในการประสานงาน และทีม Working group เพื่อทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ

 

"เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญเป็นความมั่นคงของชาติ เพื่อให้ประเทศไทยมีแนวทางสามารถผลิตวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า มีโรงงานผลิตวัคซีนของคนและสัตว์ได้อย่างมีคุณภาพมาตรฐาน การบริหารจัดการมีความมั่นคงในการผลิตวัคซีน และผลิตได้ปริมาณเพียงพอทั้งในปัจจุบันและต่อไปในอนาคต มุ่งให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ปลอดจากโรคพิษสุนัขบ้าสอดคล้องตามโครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า และสามารถควบคุม และป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในอนาคตได้อย่างยั่งยืน"อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าว

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ