ข่าว

เปิดโลกเทคโนฯนิวเคลียร์เพื่อ"เกษตร-อาหาร"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิดโลกเทคโนฯนิวเคลียร์เพื่อ"เกษตร-อาหาร" ดูวิธีการฉายรังสีฆ่า"โรค-แมลง"ผลไม้ส่งออก           

 

          นับจากปี 2549 ที่สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) แยกตัวออกมาจากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) แต่ยังคงบทบาทหลักในการกำกับดูแลกิจกรรมที่เกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีนิวเคลียร์มาใช้ประโยชน์ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ นับจากวันก่อตั้งเมื่อ 12 ปีที่แล้ว สทน.เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการวิจัยด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์ และให้บริการด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์ เพื่อตอบสนองความต้องการทั้งภาคประชาชนและธุรกิจ การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ประชาชน สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ภาคเศรษฐกิจ

             “ท่องโลกเกษตร” อาทิตย์นี้เราตามมาดูภารกิจของ สทน.โดยผู้อำนวยการเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ “ดร.พรเทพ นิศามณีพงษ์” ได้ฉายภาพรวมในการดำเนินงานตลอด 12 ปีที่ผ่านมา โดยให้บริการทางด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์เพื่อตอบสนองความต้องการทั้งภาคประชาชนและธุรกิจ ในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ประชาชน สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ภาคเศรษฐกิจไทย สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคมได้มากกว่า 7 หมื่นล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละประมาณ 5,800-6,000 ล้านบาท ที่ครอบคลุมกิจกรรมในด้านต่างๆ เช่น สิ่งแวดล้อม เกษตรอุตสาหกรรม การแพทย์ 

            นอกจากนี้ ยังมีผลงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์มากกว่า 700 เรื่อง มีการนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ มากกว่า 200 เรื่อง และสามารถนำมาต่อยอดเป็นงานบริการเพื่อประโยชน์สาธารณะมากกว่า 30 งานบริการ เช่น งานบริการฉายรังสีอัญมณี งานบริการฉายรังสี งานตรวจวิเคราะห์ทางจุลชีววิทยา งานบริการตรวจวัดกัมมันตภาพรังสี สินค้าส่งออกและนำเข้า ฯลฯ สำหรับงานบริการที่สร้างประโยชน์ด้านเศรษฐกิจในระดับประเทศ 

           โดยส่งเสริมภาคธุรกิจและการสร้างรายได้ให้กับประเทศ อาทิ งานบริการตรวจสินค้าส่งออกโดยฉายรังสีในอาหารและผลิตผลการเกษตร เพื่อฆ่าเชื้อโรคและเพื่อยืดอายุผลิตภัณฑ์ ฯลฯ ซึ่งในแต่ละปี สทน.ได้ส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการส่งออกผลไม้และผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ ไปยังสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และออสเตรเลีย ทำให้สินค้ามีมาตรฐานด้านความปลอดภัย และไม่ถูกปฏิเสธการนำเข้าจากประเทศคู่ค้า เพิ่มรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการชาวไทยได้มากกว่า 2,000 ล้านบาทต่อปี 

          ส่วนในการด้านสุขภาพพลานามัย สทน. เป็นหน่วยงานรัฐที่สามารถผลิตเภสัชภัณฑ์ทางรังสี เพื่อใช้วินิจฉัยโรค เช่น มะเร็งต่อมไร้ท่อ ตรวจการทำงานของไต และรักษาโรค อาทิ มะเร็งต่อมไทยรอย์ โรครูมาตอยด์เรื้อรัง บรรเทาอาการปวดจากมะเร็งแพร่กระจาย ฯลฯ โดยแต่ละปีมีผู้ป่วยใช้ยาที่ผลิตโดยสทน.มากกว่า 3 หมื่นราย ทำให้ไทยลดการนำเข้าเภสัชภัณฑ์รังสีจากต่างประเทศ สามารถประหยัดเงินได้กว่า 300 ล้านบาท

          สำหรับในอนาคตอันใกล้นี้ สทน.มีแผนเพิ่มศักยภาพการฉายรังสีอาหารและผลิตผลทางการเกษตร ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการก่อสร้างและติดตั้งเครื่องฉายรังสีขนาด 3 และ 10 เมกะอิเล็กตรอนโวลต์ คาดว่าจะดำเนินการฉายรังสีผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้ในปี 2562 ในส่วนของการผลิตเภสัชภัณฑ์รังสีให้มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นเพื่อรองรับปริมาณผู้ป่วยมะเร็งและเนื้องอก โดยการก่อสร้างและติดตั้งเครื่องไซโคลตรอน 30 เมกะอิเล็กตรอนโวลต์ คาดว่าจะเริ่มผลิตเภสัชรังสีได้ในปี 2563 และสามารถลดการนำเข้าเภสัชภัณฑ์รังสีได้มากกว่าปีละ 200 ล้านบาท และประชาชนสามารถเข้าถึงการรักษาด้วยเภสัชภัณฑ์รังสีเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 หมื่นรายต่อปี

          นับเป็นอีกก้าวของเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ภายใต้การกำกับดูแลของสทน. ที่นำมาประยุกต์ใช้ในภาคเกษตรและอาหาร ไม่เพียงแต่สร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคเท่านั้น แต่ยังเพิ่มงาน เพิ่มรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการไทยและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่เศรษฐกิจและสังคมไทยอีกด้วย

                                                                ........................................................

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ