ข่าว

 ภาคเกษตรไทยได้อะไรจากกลุ่ม"ซีแอลเอ็มวี"ตอน 25 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์ - ทำกินถิ่นอาเซียน โดย - รศ.ดร.พิชัย ทองดีเลิศ    [email protected]

  

ต่อจากเสาร์ที่แล้ว

           ในครั้งนี้เราได้เดินทางเข้าพื้นที่การเกษตรของเมียนมาร์ในเนปิดอว์ ซึ่งจริงๆ มีพืชหลายอย่างให้เลือกดู แต่ทางทีมเราอยากเข้าไปดูพื้นที่การปลูกข้าว เนื่องจากความสามารถในการผลิตข้าวของเมียนมาร์ทั้งด้านคุณภาพและปริมาณก็ถือว่าไม่น้อยใครในกลุ่ม “ซีแอลเอ็มวี" โดยก่อนออกเดินทางเข้าพื้นที่ ทางอาจารย์จาก Yezin Agricultural University ได้พาเราสำรวจแปลงทดลองการปลูกข้าวในบริเวณในมหาวิทยาลัย 

 ภาคเกษตรไทยได้อะไรจากกลุ่ม"ซีแอลเอ็มวี"ตอน 25 

 

       เป็นงานวิจัยเกี่ยวกับการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว การพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ การเพิ่มคุณภาพและผลผลิตข้าว โดยมุ่งเน้นไปที่ข้าวหอมเป็นหลัก ซึ่งก็เหมือนข้าวหอมมะลิบ้านเรา แต่ที่นี่เรียกกันว่า "เอยามิน" ซึ่งเป็นข้าวที่คนที่นี่ภาคภูมิใจมาก ถือว่าเป็นข้าวที่ดี มีกลิ่นหอม นุ่ม เรียกได้ว่าเป็นข้าวที่ดีและมีราคา ซึ่งก็ไม่รู้ว่าข้าวที่ทีมเรากินในเมียนมาร์ไปหลายมื้อเป็นเอยามินบ้างหรือเปล่า แต่ถ้าดูขนาดพื้นที่ของแปลงที่ปลูกข้าวและแปลงทดลองใน Yezin Agricultural University ก็น่าจะบอกได้ว่าให้ความสำคัญกับงานวิจัยทางด้านข้าวมากทีเดียว

 

 ภาคเกษตรไทยได้อะไรจากกลุ่ม"ซีแอลเอ็มวี"ตอน 25 

        หลังจากสำรวจบริเวณนี้แล้วเราได้เดินเข้าพื้นที่การปลูกข้าวเพื่อไปดูพื้นที่และกรรมวิธีในการปลูกข้าว โดยใช้เวลาในการเดินทางประมาณครึ่งชั่วโมงก็ถึงหมู่บ้านที่มีเป็นพื้นที่การปลูกข้าว โดยได้มีโอกาสพูดคุยกับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ซึ่งได้บอกเราว่าในพื้นที่แถบนี้ปลูกข้าวได้ปีละสองสามครั้ง แต่ส่วนใหญ่จะปลูกกันประมาณสองครั้ง เพราะระบบชลประทานจะมีการควบคุมการจัดสรรน้ำแบบจำกัด นอกเหนือจากนั้นก็อาศัยน้ำฝน 

        วิธีการทำนาส่วนใหญ่ยังทำนากันแบบพื้นบ้าน โดยใช้แรงงานคนและสัตว์และมีการใช้รถไถเดินตามบ้างสำหรับเกษตรกรที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ สำหรับการใช้ปุ๋ยและสารเคมีถือว่าเป็นเรื่องจำเป็นกันเลยทีเดียว เพราะมีการใช้กันเป็นเรื่องปกติ โดยส่วนใหญ่จะใช้ปุ๋ยและสารเคมีเกษตรที่นำเข้าจากจีนเป็นหลัก เพราะมีราคาไม่สูงและหาซื้อได้ง่าย และเกษตรกรผู้ปลูกข้าวยังได้บอกเราอีกว่า จริงๆ แล้วอยากใช้ปุ๋ยและสารเคมีของไทยเพราะมีคุณภาพดี แต่ก็มีราคาแพงและหาซื้อได้ยาก จึงใช้ผลิตภัณฑ์จากจีนเป็นหลัก

       คนเมียนมาร์ส่วนใหญ่จะมีการรับรู้ว่าสินค้าและผลิตภัณฑ์เพื่อการบริโภคและอุปโภคที่นำเข้าจากไทยจะมีคุณภาพดี เมื่อเปรียบเทียบกับจีนและประเทศอื่นๆ ในกลุ่มซีแอลเอ็มวี ดังนั้น สินค้าทุกประเภทจากไทยที่ขายในเมียนมาร์ จึงมีราคาที่ค่อนข้างสูง แต่อย่างไรก็ตาม ก็ถือว่าเป็นสินค้าที่มีความต้องการของคนเมียนมาร์  

      ในด้านผลผลิตข้าวที่ได้ก็ถืออยู่ในระดับที่เกษตรกรพอใจ ส่วนราคาก็ขึ้นๆลงๆ เหมือนเมืองไทย แต่วิถีการผลิตยังเน้นเพื่อการบริโภคเป็นหลักและที่เหลือจึงขาย แต่เนื่องจากมีพื้นที่ในภาพรวมมาก ดังนั้นผลผลิตจึงมากตามไปด้วย การเก็บผลผลิตของเกษตรกรแถบนี้ยังเป็นการเก็บในยุ้งฉางแบบยกพื้นใกล้ๆ ตัวบ้านแบบดั้งเดิมที่เราเห็นในต่างหวัดของบ้านเรา และมีเครื่องมือในการชั่งตวงวัดข้าวแบบเฉพาะอีกเหมือนกัน 

      อีกด้านหนึ่งที่เป็นภาพคล้ายๆ กันของเกษตรกรในกลุ่มซีแอลเอ็มวี ก็คือ เกษตรกรเป็นผู้สูงอายุเป็นหลัก ส่วนลูกหลานและคนหนุ่มสาวส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มุ่งหวังที่จะสืบทอดทำการเกษตรต่อไป โดยส่วนใหญ่เข้าเรียนในระดับที่สูงขึ้นและไปทำงานในเมืองทั้งราชการและเอกชนเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น จึงเป็นการสวนทางกันระหว่างพื้นที่และทรัพยากรการผลิตที่ยังมีมาก แต่เกษตรกรที่เป็นมืออาชีพกลับจะมีจำนวนลดลง 

       ในปัจจุบันก็มีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจเกษตรในเมียนมาร์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาจัดการการผลิตใช้แทนแรงงานคน ส่วนเกษตรกรเมียนมาร์ยังคุ้นเคยกับการทำการเกษตรในวิถีเดิมๆเพื่อการบริโภคและขายบ้าง 

       แต่ด้วยความได้เปรียบในแง่มีพื้นที่ที่หลากหลาย จึงทำให้มีสินค้าเกษตรหลายประเภทและผลิตได้ในปริมาณที่เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศได้อย่างพอเพียงและมีความมั่นคงทางด้านอาหารอีกประเทศหนึ่งในกลุ่มซีแอลเอ็มวี

 

 ภาคเกษตรไทยได้อะไรจากกลุ่ม"ซีแอลเอ็มวี"ตอน 25 

                                                             ......................................................

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ