ข่าว

 ภาคเกษตรไทยได้อะไรจากกลุ่ม"ซีแอลเอ็มวี"ตอน 24

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย- รศ.ดร.พิชัย ทองดีเลิศ [email protected]

 

ต่อจากเสาร์ที่แล้ว

            เราเดินทางจากสนามบินเนปิดอว์เพื่อเดินทางไปยัง Yezin Agricultural University โดยทางรถยนต์ใช้เวลาประมาณเกือบหนึ่งชั่วโมง เนื่องจากการควบคุมความเร็วตามกฎหมายการจราจรในเมียนมาร์ แต่คิดในอีกมุมหนึ่งก็เป็นเรื่องดีครับที่ทำให้เราสามารถชมทัศนียภาพสองข้างทางและเก็บข้อมูลด้วยการสังเกตสภาพพื้นที่ได้อีกทางหนึ่ง ตลอดสองข้างทางที่เราเดินทางผ่านเป็นพื้นที่การเกษตรที่ปลูกข้าวเกือบทั้งหมดและมีอ้อยกับพวกพืชผักสลับกันบ้างแต่ไม่มาก 

 

 ภาคเกษตรไทยได้อะไรจากกลุ่ม"ซีแอลเอ็มวี"ตอน 24

             ถ้าดูด้วยสายตานี่เรียกได้ว่าเขียวแบบอุดมสมบูรณ์ และระบบชลประทานเป็นคลองซอยเล็กๆ ขนานไปกับพื้นที่การเกษตร ซึ่งใช้สำหรับการทำการเกษตรได้ตลอดปี คนขับรถที่ขับพาเราไปนั้นเป็นคนพื้นที่เนปิดอว์และที่บ้านก็มีอาชีพทำการเกษตร ได้ให้ข้อมูลเราว่า นาข้าวที่เราเห็นนั้นส่วนหนึ่งเป็นนาข้าวของรัฐบาลและอีกส่วนหนึ่งเป็นนาข้าวของเกษตรกรทั่วไปในพื้นที่ ซึ่งถ้าดูภาพรวมแล้วการผลิตข้าวในเนปิดอว์นี่ถือว่ามีปริมาณไม่น้อยเลยทีเดียว ซึ่งผลผลิตและราคาที่ได้ก็ถือว่าเป็นที่พอใจของเกษตรกรผู้ผลิต ในบริเวณพื้นที่แถบนี้ยังเป็นที่ตั้งของหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรของเมียนมาร์ คล้ายๆ กับกรมวิชาการการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร แต่มีพื้นที่ค่อนข้างใหญ่และมีแปลงทดลองต่างๆ ทั้งพืชไร่และพืชสวนกระจายอยู่ทั่วบริเวณนั้น

 ภาคเกษตรไทยได้อะไรจากกลุ่ม"ซีแอลเอ็มวี"ตอน 24

             ผ่านจากตรงนี้ไปเราก็เดินทางถึง Yezin Agricultural University อย่างที่เคยบอกครับว่าเป็นมหาวิทยาลัยด้านการเกษตรที่เก่าแก่ของพม่า ดังนั้นสถานที่และอาคารต่างๆ จึงดูค่อนข้างเก่าแก่แต่ก็แฝงไปด้วยความงาม และพื้นที่โดยรอบก็เป็นธรรมชาติมีพื้นที่กว้างขวาง จึงทำให้มีแปลงทดลองและพื้นที่ในการเพาะปลูกค่อนข้างมากและยังรองรับการขยายตัวได้อีกในอนาคต ทางคณาจารย์จาก Yezin ที่มาพบและพูดคุยกับเราในครั้งนี้มีทั้งด้านพืชไร่ พืชสวน ปศุสัตว์ ดิน เศรษฐศาสตร์และธุรกิจเกษตร คณาจารย์ที่นี่ส่วนใหญ่จบการศึกษาจากทางยุโรป ดังนั้นเรื่องขององค์ความรู้ทางการเกษตรนี่ถือว่าอยู่ในระดับแนวหน้าก็ว่าได้ และได้ฉายภาพทางการเกษตรของเมียนมาร์ให้เราฟังว่า 

           “เมียนมาร์มีสภาพพื้นที่ทุกพื้นที่ที่เหมาะสมกับการเกษตรในทุกภูมิภาค และแต่ละพื้นที่ก็มีพืชหลักประจำถิ่นที่แตกต่างกันไป สภาพพื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์มีแหล่งน้ำที่พอเพียงสำหรับทำการเกษตร การทำการเกษตรยังคงเป็นแบบดั้งเดิมเป็นส่วนใหญ่ มีการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรขนาดเล็ก ปุ๋ยเคมีและสารเคมีการเกษตรถูกใช้เพื่อเพิ่มคุณภาพและปริมาณผลผลิต การเลี้ยงโค แพะแบบพื้นบ้านมีกระจายอยู่ทุกพื้นที่ การทำประมงเป็นอีกอาชีพที่มีความสำคัญและมีอาหารทะเลที่เพียงพอต่อการบริโภคและเพื่อการค้า โดยที่ข้าวยังถือว่าเป็นพืชที่คนเมียนมาร์ให้ความสำคัญและให้ความสำคัญในการพัฒนาพันธุ์และต้องการเพิ่มผลผลิต”

           โดยในพื้นที่ของ Yezin เองก็มีแปลงข้าวที่ปลูกเพื่อทดลองและวิจัยเกี่ยวกับข้าวค่อนข้างมาก แต่สำหรับด้านอาหารและการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าเมียนมาร์เองก็ยังคล้ายกับประเทศอื่นๆ ในกลุ่ม CLMV คือยังขาดเทคโนโลยีและวิทยาการในด้านการแปรรูปให้สินค้าเกษตรสามารถยืดอายุออกไปและให้ทันสมัยเหมาะกับบริโภคที่เปลี่ยนไปทั้งสำหรับนักท่องเที่ยวและการส่งออก 

          ซึ่งก็ตรงกับที่เราพบเห็นในตลาดว่าสินค้าส่วนใหญ่ยังมีบรรจุภัณฑ์ที่ค่อนข้างธรรมดาและไม่น่าสนใจ รวมถึงวัสดุที่ใช้ยังขาดคุณภาพในการเก็บรักษาอาหาร ในด้านการวางแผนและจัดการทางด้านธุรกิจเกษตรนั้นส่วนใหญ่ชาวเมียนมาร์จะทำการเกษตรเพื่อการบริโภคเป็นหลักเป็นรายย่อย จึงไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องของการวางแผนจัดการทางธุรกิจแต่จะทำตามฤดูกาลและตามความต้องการของผู้ซื้อในพื้นที่ 

            ในด้านผู้ประกอบการทางการเกษตรส่วนใหญ่จะเป็นคนต่างชาติเข้ามาลงทุนและดำเนินการ เช่น จีน ไทย เกาหลี ญี่ปุ่น ซึ่งเมียนมาร์เองยังมีพื้นที่และทรัพยากรรองรับการลงทุนทางด้านการแปรรูปอาหารและการเกษตรได้อีกมาก แต่ก็อยู่ที่การพิจารณาของทางรัฐบาลเป็นสำคัญ ในครั้งหน้าทางอาจารย์จาก Yezin จะพาเราเข้าพื้นที่การเกษตรเพื่อไปดูการผลิตข้าวของเมียนมาร์ว่าเขาทำกันอย่างไร เสาร์หน้ามาว่ากันต่อครับ!

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ