ข่าว

ส่องค่ายเยาวชน "4-H Summer Camp 2018"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ส่องค่ายเยาวชน "4-H Summer Camp 2018"  เน้นแลกเปลี่ยนประสบการณ์สู่การปฏิบัติจริง 

           ยุวเกษตรกร ถือเป็นอนาคตที่สำคัญของอาชีพการเกษตร และมีความสำคัญต่อประเทศต่างๆ ที่ต้องใช้ทรัพยากรทางด้านการเกษตรเพื่อการบริโภค การพัฒนาความรู้ความสามารถให้แก่บุคลากรด้านการเกษตรโดยเฉพาะบุตรหลานของเกษตรกร จึงนับเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งนอกจากจะได้รับการฝึกฝน อบรมให้มีความรู้ ความสามารถก้าวทันสถานการณ์ปัจจุบัน ตลอดจนเสริมสร้างทักษะความเป็นผู้นำที่ดีแล้ว เยาวชนเหล่านั้นก็จะสามารถเติบโตเป็นเกษตรกร หรือประชากรในสาขาอาชีพอื่นๆ ที่มีทัศนคติที่ดีต่อภาคการเกษตรได้เป็นอย่างดี 

          จากเหตุผลดังกล่าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร จึงได้จัดทำโครงการเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการพัฒนายุวเกษตรกร ในการพัฒนาความรู้และทักษะอาชีพการเกษตร ตลอดถึงทักษะการดำเนินชีวิตในสังคม โดยเน้นวิธีการเรียนรู้จากประสบการณ์และการปฏิบัติจริง (Learning by doing) มาเป็นแนวทางในการดำเนินโครงการ ทั้งนี้เพื่อให้ยุวเกษตรกรได้มีความสามารถและมีความพร้อมในการสืบทอดอาชีพการเกษตรอย่าวก้าวทันต่อสถานการณ์

            “ท่องโลกเกษตร” อาทิตย์นี้ตาม ว่าที่ ร.ต.สมสวย ปัญญาสิทธิ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร และคณะ ไปดูโครงการค่ายเยาวชน 4-H Summer Camp 2018 ที่ จ.ระยอง และจันทบุรี โดยมียุวเกษตรกร เยาวชนเกษตร และเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานด้านการพัฒนาเยาวชนเกษตรกรจากประเทศในแถบภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เข้าร่วมโครงการ จำนวนกว่า 80 คน โดย ว่าที่ ร.ต.สมสวย บอกว่า ที่ผ่านมากรมส่งเสริมการเกษตรได้ขับเคลื่อนด้านการพัฒนางานยุวเกษตรกรในประเทศ รวมถึงการแลกเปลี่ยนทางด้านสังคม วัฒนธรรม และกระบวนการพัฒนางานยุวเกษตรกรกับต่างประเทศมาโดยตลอด ซึ่งแรกเริ่มได้ดำเนินการโครงการแลกเปลี่ยนยุวเกษตรกรกับสาธารณรัฐเกาหลีในปี 2544 และได้พัฒนากิจกรรมต่างๆ ทั้งในระดับภูมิภาค และระดับโลกตลอดมาอย่างต่อเนื่องจวบจนปัจจุบัน ยังผลให้ยุวเกษตรกรไทยได้มีโอกาสเปิดโลกทัศน์ มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและเทคโนโลยีการผลิต โดยการเรียนรู้ชีวิตความเป็นอยู่ และการใช้ภาษาระหว่างกัน ซึ่งผลจากการดำเนินโครงการ ทำให้เยาวชนต่างมีความรับผิดชอบมากขึ้น มีความอดทน รู้จักแก้ปัญหา มีความสามารถทางด้านภาษาที่หลากหลายขึ้น และมีทักษะในความเป็นผู้นำได้อย่างเห็นเป็นรูปธรรม

              “กรมส่งเสริมการเกษตรได้ให้เด็กและเยาวชนที่มีอายุ 10–25 ปี ที่มีความสนใจด้านการเกษตร จัดตั้งเป็น “กลุ่มยุวเกษตรกร” ขึ้น เพื่อพัฒนาความรู้และทักษะอาชีพการเกษตร ทักษะการดำเนินชีวิตในสังคม โดยเน้นวิธีการเรียนรู้จากประสบการณ์และการปฏิบัติจริง (Learning by doing) เพื่อให้ยุวเกษตรกรมีความสามารถ และมีความพร้อมในการสืบทอดอาชีพการเกษตรจากรุ่นพ่อแม่ได้อย่างมั่นคง”

              ชาตรี บุญนาค ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง รับหน้าที่เจ้าภาพในการจัดการเรื่องสถานที่ ระบุว่า โครงการครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยในปีนี้มีเยาวชนจากต่างประเทศเข้ามาร่วมโครงการเพิ่มอีก 5 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา ไต้หวัน  ฟิลิปปินส์ บรูไน และบังกลาเทศ ซึ่งได้ส่งยุวเกษตรกรเดินทางมาร่วมโครงการ สำหรับประเทศไทยก็มีเยาวชนจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เข้าร่วม ซึ่งประเทศไทยมีความต้องการที่จะประสานและแลกเปลี่ยนเยาวชนด้านการเกษตรระหว่างประเทศ ตลอดถึงการสร้างเครือข่ายยุวเกษตรกรระหว่างประเทศ 

               อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาเมื่อประเทศต่างๆ จัดโครงการเช่นนี้ประเทศไทยก็ส่งยุวเกษตรกรเข้าร่วม เมื่อประเทศไทยจัด ประเทศเหล่านั้นก็ส่งยุวเกษตรกรเดินทางมาร่วมโครงการเช่นกัน ซึ่งตรงกับนโยบายของประเทศไทยที่มีความต้องการที่จะขับเคลื่อนให้งานด้านเยาวชนภาคการเกษตรได้มีการประสานสัมพันธ์เชื่อมโยงกันอย่างแนบแน่นมากยิ่งขึ้น 

              “ที่เลือกพื้นที่ จ.ระยอง และจันทบุรีนั้น ก็เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีการเพาะปลูกพืชประเภทผลไม้ประจำฤดูกาลมากที่สุดของประเทศไทย และขณะนี้ก็อยู่ในช่วงที่ผลไม้ชนิดต่างๆ ในพื้นที่กำลังออกผลผลิตจำนวนมาก ซึ่งยุวเกษตรกรจากต่างประเทศก็ให้ความสนใจที่จะศึกษากระบวนการผลิต และชิมผลไม้ที่มีชื่อเสียงระดับโลกของประเทศไทยด้วย เช่น ทุเรียน มังคุด จึงได้เลือกพื้นที่ทั้ง 2 จังหวัดดังที่กล่าวมา เป็นสถานที่ฝึกอบรมและศึกษาดูงาน ตลอดถึงการปฏิบัติจริงในระหว่างการเข้ารับการอบรมด้วย” 

            ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จ.ระยอง ยังย้ำด้วยว่า นอกเหนือจากการร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันของยุวเกษตรกรแล้ว ก็จะมีการลงพื้นที่เพื่อปฏิบัติจริง โดยจะเน้นการเข้าศึกษาดูงานและฝึกปฏิบัติในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ณ โครงการศูนย์บริการการพัฒนาปลวกแดงตามพระราชดำริ จังหวัดระยอง ตลอดถึงงานด้านการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ในพื้นที่ จ.ระยอง ส่วนพื้นที่ จ.จันทบุรี จะเข้าศึกษาดูงานพร้อมฝึกปฏิบัติ ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.จันทบุรี และเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จแล้วในการพัฒนากระบวนการผลิตตามแนวทางการส่งเสริมสนับสนุนของกรมส่งเสริมการเกษตร

              สำหรับเป้าหมายอีกประการของการจัดโครงการในครั้งนี้คือ การเปิดโอกาสให้ยุวเกษตรกรจากต่างประเทศได้มาเห็นถึงกระบวนการในการพัฒนาและความก้าวหน้าในด้านต่างๆ ของงานด้านการเกษตรของไทย ว่ามีแนวทางในการดำเนินงานเป็นอย่างไรและผลที่พึงได้รับเป็นอย่างไรบ้าง ทั้งนี้ เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันของยุวเกษตรกร โดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนด้านเทคโนโลยีทางการเกษตรและวัฒนธรรมด้านการประกอบอาชีพ การดำรงชีพและการดำรงชีวิตของเกษตรกร ซึ่งจะเป็นผลดีต่อทั้งยุวเกษตรกรของไทยและประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมโครงการ  

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ