ข่าว

 สทนช.บูรณาการหน่วยงานรุกแก้ปัญหาบึงใหญ่"บอระเพ็ด"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 สทนช.บูรณาการหน่วยงานรุกแก้ปัญหาบึงใหญ่"บอระเพ็ด" เร่งศึกษาทบทวนแผน"พัฒนา-ฟื้นฟู"

 

 

            สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ จับมือมหาวิทยาลัยนเรศวร เดินหน้าศึกษาทบทวนแผนการพัฒนาและฟื้นฟูบึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ จัดทำเป็นแผนแม่บทแก้ไขปัญหาในทุกๆ ด้านตามยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ลดความขัดแย้ง สร้างเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อมที่ดีอย่างยั่งยืน

            ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เผยภายหลังเป็นประธานพิธีเปิดการปฐมนิเทศโครงการศึกษาทบทวนแผนการพัฒนาและฟื้นฟูบึงบอระเพ็ด พร้อมติดตามแผนบูรณาการหน่วยงานเกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาการบุกรุก การใช้ประโยชน์เป็นที่ดินทำกิน และการเพิ่มพื้นที่เป็นแหล่งกักเก็บน้ำของบึงบอระเพ็ด ตามข้อสั่งการในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2561 ประกอบกับข้อห่วงใยของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการลงพื้นที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2 เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาในการแก้ปัญหาและพื้นฟูบึงบอระเพ็ดนั้นว่า

           ขณะนี้ สทนช.ร่วมกับมหาวิทยาลัยนเรศวร เร่งดำเนินโครงการศึกษาทบทวนแผนการพัฒนาและฟื้นฟูบึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ เพื่อจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาและฟื้นฟูบึงบอระเพ็ดที่ครอบคลุมตามยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยบูรณาการกับผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน รวมทั้งแผนการทำงานเป็นรายปีและหน่วยงานรับผิดชอบ เพื่อวิเคราะห์สภาพปัญหาของบึงบอระเพ็ดในด้านทรัพยากรน้ำ มลพิษ ระบบนิเวศ และการใช้ประโยชน์ที่มีผลกระทบต่อการพัฒนาบึงบอระเพ็ด พร้อมกำหนดเป้าหมายและแนวทางในการพัฒนาที่เหมาะสมและวางกรอบแนวทางในการพัฒนาและการฟื้นฟูที่มีความเหมาะสมก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนจะได้นำผลการศึกษาไปใช้เป็นแนวทางการพัฒนาบึงบอระเพ็ดในแนวทางเดียวกัน สอดคล้องและส่งเสริมซึ่งกันและกัน 

          และที่สำคัญคือ การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งกันในด้านผลประโยชน์ในพื้นที่บึงบอระเพ็ด ที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาและฟื้นฟูบึงเป็นอย่างมาก จึงจะต้องมีคนกลางที่ทุกฝ่ายยอมรับและไว้ใจ ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนในบึง ให้เข้ามาทำหน้าที่ประสานงานที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มต่างๆ เพื่อลดความขัดแย้ง และร่วมกันแสวงหาทางออกจากปัญหาอย่างเหมาะสม ซึ่งคาดว่าผลการศึกษาดังกล่าวจะแล้วเสร็จภายในกันยายนนี้อย่างแน่นอน

           “โครงการศึกษาฟื้นฟูบึงบอระเพ็ด เป็นรูปแบบในการจัดทําแผนแบบบูรณาการสหวิทยาการเชิงยุทธศาสตร์อย่างมีส่วนร่วม โดยจะมีการศึกษาทบทวน วิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลก่อนจัดทำเป็นแผนแม่บทการพัฒนาและฟื้นฟูบึงบอระเพ็ดที่นอกจากจะมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ให้ดีขึ้น ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีแล้ว จะต้องใช้ประโยชน์จากบึงบอระเพ็ดให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในแนวทางที่ถูกต้องและเหมาะสมอีกด้วย โดยหน่วยงานภาครัฐและเอกชนสามารถนำแผนแม่บทไปดําเนินการตามภาระหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน ภายใต้การมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของภาคประชาชนให้เห็นผลเป็นรูปธรรม" เลขาธิการสทนช.กล่าว

          ทั้งนี้ หากบึงบอระเพ็ดมีการพัฒนาในทิศทางที่เหมาะสมแล้ว จะสามารถตอบโจทย์การบริหารจัดการน้ำตามยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำได้อย่างครบถ้วน ดังนั้น การจัดทำแผนแม่บทในการพัฒนาและฟื้นฟูบึงบอระเพ็ด จึงมีความจำเป็นและสำคัญเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งดำเนินการโดยเร็วที่สุด เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาและพัฒนาบึงน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทยแห่งนี้ให้อยู่คู่ชาวจังหวัดนครสวรรค์ตลอดไป 

          อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นทางสทนช.จะเร่งบูรณาการแผนงานของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาพื้นที่บึงบอระเพ็ดในระยะเร่งด่วนคู่ขนานไปด้วย โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาน้ำแล้ง เนื่องจากมีความต้องการใช้น้ำถึง 127 ล้านลูกบาศก์เมตร จากเดิมมีพื้นที่ 132,737 ไร่ ปัจจุบันเหลือพื้นที่ 67,327 ไร่ ความจุ 180 ล้าน ลบ.ม. ที่ระดับเก็บกักสูง +24 ม.รทก. โดยส่วนใหญ่เพื่อการเกษตร มีราษฎรบุกรุกพื้นที่ เข้าไปใช้ประโยชน์รวม 5,635 แปลง มีตะกอนสะสมปีละ 2 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้บึงตื้นเขิน 

           ซึ่งกรมชลประทานดำเนินการขุดลอกตะกอนดินแล้วเสร็จเมื่อปี 2559 จำนวน 2.1 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่ในปี 2560 อีก 3.3 ล้าน ลบ.ม. อยู่ระหว่างดำเนินการ รวมถึงศึกษาแนวทางการยกระดับสันฝายจากระดับ +24 ม.รทก.อีก 1 เมตร ซึ่งสามารถเพิ่มความจุได้กว่า 300 ล้านลบ.ม. เพื่อให้บึงบอระเพ็ดมีศักยภาพส่งน้ำให้เป็นบึงอเนกประสงค์ที่สามารถบริหารจัดการรับน้ำหลาก และส่งน้ำให้พื้นที่เกษตรได้ 

          ขณะเดียวกัน จะพิจารณากรอบแผนงานกิจกรรมโครงการ ระยะกลาง-ยาวที่สำคัญ เช่น ปรับปรุงศักยภาพส่งน้ำคลองวังนา ต.ทับกฤช อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ ขุดลอกดินตะกอนในพื้นที่บึงบอระเพ็ด ก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียตามเส้นทางน้ำหลักที่ไหลลงสู่บึง 5 แห่ง ศึกษา สำรวจ ออกแบบ โครงการแก้ไขปัญหาตะกอนดินก่อนไหลลงสู่บึงบอระเพ็ด และฝายดักตะกอนรอบบึง รวมถึงก่อสร้างประตูน้ำยกระดับน้ำแม่น้ำน่านเข้าสู่บึงบอระเพ็ดด้วย  

 เตรียมแผนรับมือ5พันครัวเรือนรอบบึง 

         “บึงบอระเพ็ด” ได้ชื่อว่าเป็นบึงน้ำจืดธรรมชาติที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีเนื้อที่ประมาณ 132,737 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 3 อำเภอคือ อ.เมือง อ.ท่าตะโก และ อ.ชุมแสง ผลจากความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติของบึงในปัจจุบัน ทำให้สัตว์น้ำ พืชน้ำ บางชนิดสูญพันธุ์ คุณภาพน้ำและระบบนิเวศเสื่อมโทรม มีการลักลอบจับสัตว์น้ำ นกน้ำ และการตัดไม้ทำลายป่า ทำให้ไม่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเที่ยวชมได้

            จากสาเหตุดังกล่าว จึงมีความจำเป็นที่จะต้องศึกษาทบทวนแผนการพัฒนาและฟื้นฟูบึงอย่างเร่งด่วนตามยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำสำหรับพื้นที่ศึกษาโครงการดำเนินการรายรอบบึงบอระเพ็ดโดยครอบคลุมพื้นที่อ.ชุมแสง อ.ท่าตะโก และ อ.เมืองนครสวรรค์ โดยแบ่งออกเป็น 3 พื้นที่ ประกอบด้วย พื้นที่ที่ 1 ซึ่งเป็นพื้นที่ระดับน้ำ 24 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง(ม.รทก.)ของบึงบอระเพ็ดและเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด 

         พื้นที่ที่ 2 พื้นที่ถัดจากพื้นที่ที่ 1 ถึงขอบเขตบึง แบ่งตามเขตการปกครอง ได้แก่พื้นที่ศึกษา อ.เมืองนครสวรรค์ พื้นที่ศึกษา อ.ท่าตะโก และพื้นที่ศึกษาอ.ชุมแสง ส่วนพื้นที่ที่ 3 เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำบึงบอระเพ็ด ซึ่งเป็นเส้นทางน้ำที่ไหลเข้าบึง โดยแบ่งตามพื้นที่ 3 อำเภอ 7 ตำบล 32 หมู่บ้าน โดยมีครัวเรือนจำนวนทั้งสิ้น 5,108 ครัวเรือน ซึ่งโครงการดังกล่าวนี้มีระยะเวลาดำเนินการทั้งสิ้น 150 วัน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม-31 ตุลาคม 2561 ทั้งนี้ เพื่อจะได้เป็นกรอบแนวทางในการพัฒนาและฟื้นฟูบึงบอระเพ็ดที่มีความเหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป

 ปรับปรุงประตูระบายน้ำ-สถานีสูบน้ำทับกฤช 

          บึงบอระเพ็ดต้องอาศัยน้ำจากแม่น้ำน่านเข้ามาในบึง โดยผ่านประตูระบายน้ำ 2 แห่งและสถานีสูบน้ำอีก 1 แห่ง ซึ่งประกอบด้วยประตูระบายน้ำปากคลองบอระเพ็ด ประตูระบายน้ำบึงบอระเพ็ด และสถานีสูบน้ำทับกฤชหรือคลองวังนา โดยประตูระบายน้ำปากคลองบอระเพ็ดนั้นอยู่ในความรับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)นครสวรรค์ ขณะที่ประตูระบายน้ำบึงบอระเพ็ดสังกัดกรมประมง และสถานีสูบน้ำทับกฤชหรือคลองวังนาขึ้นกับกรมทรัพยากรน้ำ ซึ่งมีบทบาทหน้าที่ในการรักษาระดับน้ำในบึงบอระเพ็ด 

          สำหรับปัญหาประตูระบายน้ำปากคลองบอระเพ็ดมีปัญหาคือเป็นฝายที่สูงจากระดับพื้นคลองเดิม 183 ซม. ทำให้ช่วงฤดูน้ำหลาก(น้ำแดง) ทำให้ปริมาณน้ำจากแม่น้ำน่านไหลเข้ามาในบึงไม่เต็มศักยภาพ ทำให้เกิดความสูญเสียทั้งปริมาณน้ำ ลูกปลาและไข่ปลาไม่สามารถเข้าสู่บึงบอระเพ็ดได้ จึงควรให้มีการปรับปรุงแก้ไขบริเวณประตูระบายน้ำใหม่เพื่อให้น้ำสามารถไหลเข้าสู่บึงได้สะดวกยิ่งขึ้น ส่วนประตูระบายน้ำบึงบอระเพ็ดจะทำหน้าที่บังคับน้ำในบึงไม่ให้ไหลออกสู่แม่น้ำน่านในช่วงหน้าแล้ง แต่ไม่มีเสาวัดระดับน้ำ ทำให้ไม่สามารถทราบระดับน้ำของบึง ณ สถานที่ดังกล่าวได้ ขณะที่สถานีสูบน้ำทับกฤชหรือคลองวังนามีหน้าที่รับน้ำจากการสูบน้ำจากแม่น้ำน่านเข้าสู่บึงบอระเพ็ดเพื่อรักษาระบบนิเวศ โดยมีเครื่องสูบ 6 เครื่อง ในขณะที่คลองดินมีขนาดเล็กและแคบทำให้สูบน้ำได้ไม่เต็มศักยภาพ จึงควรปรับปรุงคลองดินให้กว้างกว่านี้ในระยะทาง 5 กิโลเมตรจากสถานีสูบน้ำถึงบึงบอระเพ็ด 

    

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ