ข่าว

กยท.เล็งไทยฐานแปรรูปยางกลุ่ม"ซีแอลเอ็มวี"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 เดินหน้า"ตลาดนำการผลิต"ยางพาราไทย เล็งไทยฐานแปรรูปยางกลุ่ม"ซีแอลเอ็มวี"

 

             แม้ขณะนี้สถานการณ์ราคายางพาราจะลดลง โดยยางแผ่นรมควันชั้น 3 ราคาเคลื่อนไหวอยู่ในระดับประมาณ 45 บาทต่อกิโลกรัมก็ตาม แต่ยางพารายังเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีอนาคตมากกว่าพืชอื่นๆ หลายชนิด เพียงแต่เกษตรกรชาวสวนยางจะต้องปรับปรุงและพัฒนาการปลูกยาง เพื่อลดต้นทุนการผลิตโดยจะต้องรวมกลุ่มแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ต้องใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้น 

กยท.เล็งไทยฐานแปรรูปยางกลุ่ม"ซีแอลเอ็มวี"

 

            “สิ่งที่เกษตรกรชาวสวนยางจะต้องเร่งทำคือ การรวมกลุ่มที่เข้มแข็งเพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เริ่มจากทำยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง ดีกว่าขายน้ำยางดิบหรือยางก้อนถ้วย ค่อยก้าวขึ้นไปสู่การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่ต้องใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้น เช่น ถุงมือยาง ยางล้อ ถุงยางอนามัย หมอนฟองน้ำยางพารา สนามฟุตซอล รองเท้า ซึ่งกยท.พร้อมที่จะให้การสนับสนุน ทั้งแหล่งเงินทุน เทคโนโลยี และตลาดที่จะรองรับ”

            เยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ รักษาการผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวถึงการแก้ปัญหาราคายางตกต่ำ โดยเกษตรกรจะต้องปรับเปลี่ยนจากวิถีเดิมๆ มารวมกลุ่มแล้วแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์แทนการขายน้ำยางสดหรือยางก้อนถ้วย ซึ่งไม่สามารถเก็บสต็อกไว้ได้ เพราะหากเกษตรกรชาวสวนยางสามารถรวมกลุ่มสร้างโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์จากยางได้มากเท่าไร ยิ่งจะช่วยลดการแข่งขันจากประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็น ลาว เมียนมาร์ และกัมพูชา ซึ่งประเทศเหล่านี้เพิ่งเริ่มปลูกยาง และมีพื้นที่จำกัด แม้การสร้างโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์จากยางนั้นจะต้องใช้ระยะเวลา แต่ประเทศไทยมีประสบการณ์ในการปลูกยางมายาวนาน มีความเข้มแข็งและมีความพร้อมมากกว่า ซึ่งจะได้เปรียบประเทศเพื่อนบ้าน

 

กยท.เล็งไทยฐานแปรรูปยางกลุ่ม"ซีแอลเอ็มวี"

            “ในทางตรงข้ามผลผลิตยางที่ออกสู่ตลาดจากประเทศเพื่อนบ้าน จะส่งผลดีต่อประเทศไทย ถ้าหากเกษตรกรชาวสวนยางประสบผลสำเร็จในการรวมกลุ่มสร้างโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์จากยางก็จะมีวัตถุดิบจากประเทศเพื่อนบ้านนำมาแปรรูปได้อย่างพอเพียง” เยี่ยมกล่าว

            การจัดตั้งบริษัทร่วมทุนระหว่าง กยท.กับเกษตรกรชาวสวนยาง โดยกลุ่มเกษตรกรหรือสหกรณ์ชาวสวนยาง เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะสร้างเสถียรภาพด้านราคา ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียดของการจัดบริษัทร่วมทุนดังกล่าว ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการสร้างเสถียรภาพด้านราคา เพราะจะทำหน้าที่ในการช่วยหาตลาดให้แก่ชาวสวนยางที่ผลิตยางแปรรูปให้ขายได้ราคาสูงขึ้น โดยมีเป้าหมายที่จะเป็นผู้กำหนดราคาเอง ไม่ใช่ถูกกำหนดโดยราคาซื้อขายล่วงหน้าเหมือนกับปัจจุบัน ซึ่งจะมีการตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลราคายางของประเทศไทยขึ้นมาพิจารณาว่า ราคายางแต่ละประเภทมีต้นทุนเท่าไรเกษตรกรควรจะขายต้องได้เท่าไหร่ เพื่อลดความเสี่ยงของเกษตรกรที่จะต้องขาดทุน

           ทั้งนี้ ราคาที่คณะกรรมการกำหนดจะเป็นราคาขั้นต่ำ โดยจะประกาศเป็นราคาของประเทศไทย ไม่อ้างอิงในราคาที่ซื้อขายในตลาดล่วงหน้า เพื่อให้บริษัทผู้ซื้อยางทั้งในประเทศและต่างประเทศ นำไปใช้เป็นราคาขั้นต่ำในการรับซื้อยางจากประเทศไทย อย่างไรก็ตาม การตั้งบริษัทร่วมทุนดังกล่าว จะต้องให้เกษตรกรมาขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกของบริษัท เพื่อที่จะคุมปริมาณผลผลิตไม่ให้ล้นตลาด โดยจะมีการประกันราคาให้แก่เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนอีกด้วย

          “ปัจจุบันยางไม่ได้ล้นตลาด เพราะแทบไม่มีสต็อกยางเหลืออยู่เลย แต่ที่ขายไม่ได้ราคาเพราะขายเป็นยางดิบ เราจะต้องทำการแปรรูปยาง ใช้ยางในประเทศมากขึ้น ส่งออกในรูปแบบยางดิบน้อยลง เราก็จะไม่มีปัญหาในราคาที่ตกต่ำ เพราะยางดิบมันไม่มีมูลค่าเพิ่ม แต่ยางแผ่นรมควัน ผลิตภัณฑ์ต่างๆ มันมีมูลค่าเพิ่มหลายร้อยเท่า ชาวบ้านก็จะมีรายได้มากขึ้นและไม่ต้องไปเสี่ยงกับราคายางดิบที่ตกต่ำ และนี่คือประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการตั้งบริษัทร่วมทุนดังกล่าว” รักษาการผู้ว่าการกยท.กล่าวย้ำ

            ถึงแม้ไทยยังคงครองผู้ส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์เป็นอันดับ 1 ของโลก นับตั้งแต่ปี 2534 เป็นต้นมา แต่ปัญหาราคายางตกต่ำในขณะนี้ เป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลจำเป็นต้องออกมาตรการแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง หวังช่วยกระตุ้นราคาให้เพิ่มขึ้น ล่าสุดรัฐบาลได้จัดสรรเงินจำนวน 250 ล้านบาท ให้แก่ตลาดกลางยางพาราของ กยท.ทั้ง 6 แห่ง คือ หาดใหญ่ ยะลา นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี หนองคาย และบุรีรัมย์ เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนจ่ายให้แก่ชาวสวนยางได้ทันทีเมื่อนำยางมาขายที่ตลาดกลาง ซึ่งจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางได้พอสมควร 

 

กยท.เล็งไทยฐานแปรรูปยางกลุ่ม"ซีแอลเอ็มวี"

          ขณะเดียวกันในส่วนของโรงงานแปรรูปยางพาราของกยท.มีอยู่ 6 แห่ง โดยอยู่ภาคใต้ 3 แห่ง ได้แก่ โรงงานแปรรูปยางแผ่นรมควัน โรงงานน้ำยางข้น และโรงงานผลิตยางแท่ง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 แห่ง ซึ่งเป็นโรงงานผลิตยางแท่งทั้งหมด กยท.จะใช้โรงงานทั้ง 6 แห่งซื้อยางดิบมาแปรรูปเป็นยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง น้ำยางข้น ส่งขายในตลาดต่างประเทศ โดยใช้ระบบการประมูลและขายตรงให้แก่ผู้ใช้ ซึ่งจะมีส่วนผลักดันให้ราคายางเพิ่มขึ้นสูงเช่นกัน

          “คาดว่า ในเดือนกรกฎาคม 2561 จะเริ่มมีการเปิดประมูลให้ผู้ซื้อมาซื้อยางโดยตรงจากกยท. โดยเฉพาะบริษัทผลิตยางล้อทั้งในและต่างประเทศ กยท.จะติดต่อให้มาซื้อกับกยท.โดยตรง ซึ่ง กยท.มีทั้งยางแท่ง ยางแผ่นรมควัน น้ำยางข้น ที่มีคุณภาพสูงได้มาตรฐาน พร้อมจะส่งมอบให้แก่ผู้ที่สนใจซื้อในปีหน้าเป็นต้นไป” ผู้ว่าการ กยท.กล่าว 

          อย่างไรก็ตาม กยท.มั่นใจว่า การประมูลซื้อขายยางดังกล่าว จะช่วยให้ราคายางสูงขึ้น เพราะสาเหตุที่ราคายางตกต่ำมาจากตลาดซื้อขายล่วงหน้าที่เซี่ยงไฮ้กดราคารับซื้อไม่สอดคล้องกับราคาซื้อขายจริง จึงส่งผลกระทบต่อราคาที่ส่งออก ซึ่งจะเห็นได้จากการซื้อขายยางแท่ง STR20 ของตลาดซื้อจริงในประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ที่มีราคาเพิ่มขึ้นสวนทางกับราคาในตลาดซื้อขายล่วงหน้า ดังนั้น กยท.จึงต้องนำกลไกของตลาดกลางยางทั้ง 6 แห่งและโรงงานที่มีอยู่อีก 6 แห่ง มาใช้ให้เป็นประโยชน์ในการขายยาง ซึ่งขณะนี้ กยท.ได้ให้โรงงานแปรรูปทั้ง 3 แห่งในภาคอีสาน ซื้อยางก้อนถ้วยจากเกษตรกรในราคาที่สูงกว่าผู้ซื้อในท้องถิ่นแล้ว 10 สตางค์ต่อ 1 กิโลกรัม ทำให้มียางเข้ามาในโรงงานมากขึ้น และชาวสวนยางยังได้รับการประกันราคาว่า กยท.จะรับซื้อไม่ต่ำกว่าต้นทุนบวกกำไร ส่วนภาคใต้ในเรื่องของยางแผ่นดิบ ยางแผ่นรมควันก็จะต้องดำเนินการในหลักการเดียวกันเช่นกัน 

          “เมื่อ 2 ปีที่แล้วมีการพยากรณ์ว่า ปีนี้(2561)และปีหน้า(2562)ผลผลิตยางของโลกจะมีปริมาณเพิ่มขึ้น แต่ปรากฏว่า อัตราการใช้ยางกลับเพิ่มขึ้นมากกว่าอัตราการผลิต ทำให้สต็อกยางที่มีอยู่ในโลกลดลงเพราะต้องเอายางจากสต็อกมาชดเชยส่วนที่ขาด นั่นแสดงให้เห็นว่าความจริงแล้วนั้นยางไม่ได้ล้นตลาดโลก ปริมาณการใช้ติดลบ 34% สต็อกตอนแรกมีอยู่ 3 ล้านตัน ขณะนี้ลดเหลือ 2.9 ล้านตัน นอกจากนี้ในปีหน้าคาดว่าจะติดลบ 47% แสดงว่าปริมาณผลผลิตยางไม่พอกับความต้องการ ซึ่งขณะนี้ปริมาณการใช้ยางเฉลี่ยจะอยู่ประมาณเดือนละกว่า 1 ล้านตัน” เยี่ยมย้ำทิ้งท้ายด้วยความมั่นใจ  

 

 

 เตรียมจัดถกคู่ค้ายางพาราโลกที่กระบี่

            เลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากนโยบายของกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ได้เน้นให้ความสำคัญกับแนวทาง “ตลาดนำการผลิต” เพื่อให้มั่นใจได้ว่าสินค้าที่ผลิตออกมานั้นตรงกับความต้องการของตลาด จึงได้สั่งการให้กำหนดจัดการประชุมโครงการสร้างเสริมศักยภาพเพื่อขยายตลาดคู่ค้ายางพาราไทยขึ้น ณ โรงแรมดุสิตธานี กระบี่ บีช รีสอร์ท จ.กระบี่ ระหว่างวันที่ 28–30 มิถุนายนนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงศักยภาพความเป็นผู้นำของไทยในฐานะผู้ผลิตยางคุณภาพและการส่งออกยางพารารายใหญ่ของโลก รวมทั้งเพื่อแสวงหาพันธมิตรคู่ค้าใหม่ในตลาดยางพาราโลก ตลอดจนสร้างความมั่นใจและประชาสัมพันธ์ถึงคุณภาพมาตรฐานและความหลากหลายของยางพาราไทย ซึ่งหากประสบความสำเร็จคาดว่าประเทศไทยจะได้ตลาดคู่ค้ายางพาราเพิ่มขึ้น และเกษตรกรได้รับประโยชน์จากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น พร้อมทั้งลดปัญหายางล้นตลาดและราคายางตกต่ำอีกด้วย โดยมีผู้เข้าร่วมโครงการประกอบด้วย คณะทูตานุทูตที่ประจำอยู่ที่ประเทศไทย ผู้ประกอบการยางจากต่างประเทศ โดยเฉพาะผู้นำเข้ายางรายใหม่ เช่น เม็กซิโก อินเดีย อิหร่าน เป็นต้น 

            นอกจากกระทรวงเกษตรฯ จะประชุมชี้แจงนโยบายของรัฐบาลไทย และมาตรการต่างๆ ของกระทรวงเกษตรฯ ในการพัฒนายางพาราของไทย ทั้งด้านการผลิต การแปรรูปวัตถุดิบ และผลิตภัณฑ์ยางพาราของไทยที่มีมาตรฐาน คุณภาพ และความหลากหลายของสินค้ายางพาราไทยให้นานาประเทศที่ร่วมงานครั้งนี้รับทราบแล้ว ยังมีกำหนดการลงพื้นที่ศึกษาดูงานการผลิตและแปรรูปยางทั้งระบบในพื้นที่ จ.ตรัง อาทิ การผลิตยางแผ่นรมควัน มาตรฐานจีเอ็มพี ยางเกรดพรีเมียม การผลิตยางอัดก้อน และการดำเนินงานของบริษัทเอกชน ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์จากยาง และที่สำคัญ ในวันที่ 30 มิถุนายน การยางแห่งประเทศไทยจะจัดกิจกรรมเจรจาธุรกิจ (Business Matching) ระหว่างสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตยาง กับผู้ประกอบการยางต่างประเทศ อีกด้วย 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ