ข่าว

ล่องใต้ดู"เกษตรทฤษฎีใหม่"ที่ศูนย์พิกุลทอง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ล่องใต้สู่ปลายด้ามขวาน"นราธิวาส"    ดู"เกษตรทฤษฎีใหม่"ที่ศูนย์พิกุลทอง

 

                ทุกครั้งที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ จะมีรับสั่งถามทุกข์สุขของเกษตรกรและทอดพระเนตรพบสภาพปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการปลูกข้าว จึงเกิดแรงดลพระทัยอันเป็นแนวคิดขึ้นว่า ข้าวเป็นพืชที่แข็งแกร่งมาก หากได้น้ำเพียงพอจะสามารถเพิ่มเมล็ดข้าวได้มากยิ่งขึ้น หากเก็บน้ำที่ตกลงมาได้แล้วนำมาใช้ในการเพาะปลูก ก็จะสามารถเก็บเกี่ยวได้มากขึ้นเช่นกัน

ล่องใต้ดู"เกษตรทฤษฎีใหม่"ที่ศูนย์พิกุลทอง

              การสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่นับวันแต่จะยากที่จะดำเนินการได้ เนื่องจากการขยายตัวของชุมชนและข้อจำกัดของปริมาณที่ดินเป็นอุปสรรค หากแต่ละครัวเรือนมีสระน้ำประจำไร่นาทุกครัวเรือนแล้ว เมื่อรวมปริมาณกันก็ย่อมเท่ากับอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ สิ้นค่าใช้จ่ายน้อยและเกิดประโยชน์สูงสุดโดยตรงมากกว่า

               “ทฤษฎีใหม่” เป็นแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เกี่ยวกับหลักการในการบริหารการจัดการที่ดินและน้ำเพื่อการเกษตรในที่ดินขนาดเล็กให้เกิดประโยชน์สูงสุดและยั่งยืน เป็นหลักการในการบริหารการจัดการที่ดินและน้ำ เพื่อการเกษตรในที่ดินขนาดเล็กให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด มีการบริหารและจัดแบ่งที่ดินออกเป็นสัดส่วนที่ชัดเจน จัดการทรัพยากรระดับไร่นาอย่างเหมาะสม สร้างแหล่งน้ำในที่ดินสำหรับการทำการเกษตรแบบผสมผสานอย่างได้ผล โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็นส่วนๆ ได้แก่ พื้นที่น้ำ พื้นที่สำหรับปลูกข้าว พื้นที่สำหรับปลูกพืชไร่นานาพันธุ์ และพื้นที่สำหรับอยู่อาศัยและเลี้ยงสัตว์ ในอัตราส่วน 3:3:3:1 เพื่อให้เกษตรกรสามารถเลี้ยงตัวเองได้ ให้มีรายได้ไว้ใช้จ่ายและมีอาหารไว้บริโภคตลอดปี 

ล่องใต้ดู"เกษตรทฤษฎีใหม่"ที่ศูนย์พิกุลทอง

              “ท่องโลกเกษตร” ล่องใต้สู่ปลายด้ามขวานไปดูงานพัฒนาเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านโคกสยา ต.กะลุวอเหนือ อ.เมือง จ.นราธิวาส โดย "สายหยุด เพ็ชรสุข" ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ เล่าว่า ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ได้น้อมนำเอาแนวพระราชดำริเกี่ยวกับทฤษฎีใหม่มาจัดทำเป็นต้นแบบขึ้นภายในศูนย์ศึกษาฯ เป็นแปลงสาธิตบนพื้นที่ 23 ไร่ แล้วนำองค์ความรู้ด้านทฤษฎีใหม่มาประยุกต์ใช้เพื่อให้มีความเหมาะสมกับพื้นที่ เช่น ภาคใต้มีปริมาณน้ำฝนค่อนข้างมาก มีแหล่งน้ำมาก ก็ต้องปรับสัดส่วนของพื้นที่ โดยใช้สูตรตามหลักทฤษฎีใหม่มาดำเนินการ โดยใช้พื้นที่เป็นแหล่งน้ำ 20% ปรับเป็นพื้นที่นาข้าว 30% พื้นที่ถนนอาคารต่างๆ 10% ปลูกพืชผักพืชไร่อีก 40% ของพื้นที่ 

                 จากนั้นนำวิทยาการสมัยใหม่เข้ามาประยุกต์ใช้ เพื่อให้การผลิตในแต่ละแขนงได้รับการพัฒนา นับตั้งแต่การนำเทคโนโลยีที่ผ่านการศึกษาทดลองและประสบความสำเร็จแล้วมาประยุกต์ใช้ นำแนวทางในการปรับปรุงบำรุงดินที่เหมาะสมและถูกต้องมาพัฒนาพื้นที่เพาะปลูก นำความต้องการของตลาดมาเป็นแนวทางในการตัดสินใจต่อการเลือกประเภทพืช ชนิดพืช มาปลูก เป็นต้น จากนั้นก็ขยายผลสู่เกษตรกรทั้งการนำเกษตรกรเข้ามาศึกษาดูงานภายในศูนย์ และขยายผลการจัดทำเป็นแปลงเกษตรทฤษฎีใหม่ในพื้นที่การเกษตรของเกษตรกรโดยตรง แล้วตั้งเป็นศูนย์เพื่อรองรับการศึกษาดูงานและฝึกอบรมของเกษตรกรรายอื่นๆ อย่างต่อเนื่องต่อไป

               “อย่างของ จ.นราธิวาส เกษตรกรมีพื้นที่อยู่แล้ว มีบ่อปลา มีการปลูกพืชผัก ปลูกพืชไร่ ปลูกไม้ผล ในช่วงหน้าแล้งนำน้ำในบ่อมาใช้ประโยชน์ ก็จะนำหลักทฤษฎีใหม่มาประยุกต์ใช้ในการจัดแบ่งพื้นที่เพื่อใช้ประโยชน์ และการนำน้ำมาใช้แบบให้เอื้อต่อกันของแต่ละชนิดพืช เพื่อเป็นการสนองพระราชดำริของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการสืบสานงานเกี่ยวกับการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติใช้ โดยเฉพาะในเรื่องของเกษตรทฤษฎีใหม่ ก็ได้มีการจัดทำแผนในการดำเนินการโดยอย่างน้อยจะขยายผลในเรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่สู่พื้นที่ของเกษตรกรอย่างน้อย 3-5 รายต่อปี" ผอ.ศูนย์พิกุลทองอธิบายแนวทางการจัดการแปลงเกษตรตามทฤษฎีใหม่

               ทั้งนี้ ก่อให้เกิดประสิทธิภาพในประเด็นที่สำคัญคือ การพึ่งตนเอง ประหยัด และมัธยัสถ์ และการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติใช้ โดยการจัดสรรพื้นที่ให้สัมพันธ์และเกื้อกูลกัน ซึ่งเป็นการบริหารจัดการทรัพยากรที่ดิน น้ำ แรงงาน และรักษาสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้น อันจะนำไปสู่การผลิตที่เกิดรายได้และสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป

 

               พลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และประธานศูนย์ศึกษาการพัฒนาทั้ง 6 แห่ง กล่าวถึงการขับเคลื่อนเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ ภายหลังการประชุมศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริสัญจร ครั้งที่ 12 โดยระบุว่าแต่ละศูนย์ได้เปิดโอกาสให้เกษตรกรแต่ละสาขาเข้ามาศึกษาแล้วนำความรู้ในการทำการเกษตรตามหลักวิชาการ บนพื้นฐานของแต่ละภูมิสังคมในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกันไปปฏิบัติใช้ในการทำการเกษตรในพื้นที่ของตนเอง ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมาเกษตรทฤษฎีใหม่ได้รับการยอมรับจากทั้งฝ่ายราชการและประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง หลายพื้นที่มีการจัดทำเป็นแปลงสาธิตเพื่อให้เกษตรกรที่เข้ามาได้เรียนรู้อย่างเข้าใจได้อย่างรวดเร็วและเป็นรูปธรรม สามารถนำไปประยุกต์ต่อยอดใช้ได้ทันที 

ล่องใต้ดู"เกษตรทฤษฎีใหม่"ที่ศูนย์พิกุลทอง

             “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราโชบายให้สืบสานศาสตร์พระราชาในรัชกาลที่ 9 ให้รักษาศาสตร์เหล่านี้ไว้ รักษาปราชญ์ของแผ่นดินที่เป็นผู้ดูแลศูนย์เรียนรู้ต่างๆ และต่อยอดด้วยการขยายผลให้ศาสตร์พระราชาของในรัชกาลที่ 9 ได้ขยายไปสู่เกษตรกรให้มากขึ้นๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการน้อมนำทฤษฎีใหม่มาปฏิบัติใช้ ซึ่งพื้นที่การเกษตรเพื่อจะทำตามแนวทฤษฎีใหม่นั้นสามารถประยุกต์ได้หลากหลายแนวทาง บางพื้นที่อาจไม่เหมาะสำหรับการปลูกข้าวก็ทำอย่างอื่นทดแทน บางพื้นที่ขุดสระน้ำเก็บน้ำไม่อยู่ก็สามารถที่จะทำอย่างอื่นแทนได้เช่นกัน” องคมนตรี กล่าวย้ำทิ้งท้าย

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ