ข่าว

"เกษตร"เร่งหามาตรการจำกัดเคมี 3 ชนิด

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กษ.ยันไม่มีอำนาจเสนอใครนั่งกก.วัถตุอันตราย ระบุไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนเร่งหามาตรการจำกัดเคมี 3 ชนิดลงเก็บตัวอย่างน้ำ จ.หนองบัวลำพู ไม่พบสารตกต้าง

22 มิถุนายน 2561 กษ.ยันไม่มีอำนาจเสนอใครนั่งกก.วัถตุอันตราย ระบุไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนเร่งหามาตรการจำกัดเคมี 3 ชนิดลงเก็บตัวอย่างน้ำ จ.หนองบัวลำพู ไม่พบสารตกต้างเผยลงเก็บตัวอย่างน้ำ จ.หนองบัวลำพู ไม่พบสารพาราควอตตกต้างในน้ำ แต่มีในตะกอนดินใช้เพาะปลูกไม่สูงกว่าค่าปกติ"   

 

นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่าได้เผยแพร่ทางเฟซบุ๊กของกรม เกี่ยวกับสารกำจัดวัชพืช 3 ชนิด พาราควอต-ไกลโฟเซต-คลอร์ไพริฟอส ที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายประกาศยังไม่ยกเลิกการใช้ แต่ให้กรมวิชาการเกษตรไปกำหนดหลักเกณฑ์จำกัดการใช้ภายใน 60 วัน ซึ่งการยกเลิกการใช้พาราควอตหรือไม่เป็นอำนาจของคณะกรรมการวัตถุอันตราย  แต่ได้มีมติให้จำกัดการใช้ ซึ่งมติดังกล่าวพิจารณาจากข้อมูลทางวิชาการของ คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการควบคุมวัตถุอันตราย 3 ชนิด

 

ทั้งนี้คณะอนุกรรมการชุดนี้ได้รวบรวมข้อมูลจากฝ่ายที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกการใช้พาราควอต ส่วนกรณีที่มีการกล่าวหาว่าคณะอนุกรรมการชุดดังกล่าวมีผลประโยชน์ทับซ้อนนั้น ยืนยันว่าการเสนอชื่อและแต่งตั้งโดยคณะกรรมการวัตถุอันตราย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไม่ได้เป็นผู้เสนอชื่อ และไม่มีอำนาจในการแต่งตั้งแต่อย่างใด ทั้งนี้คณะอนุกรรมการ มีทั้งสิ้น 14 ราย เป็นข้าราชการของกระทรวงเกษตรฯ เพียง 4 ราย 1 ใน 4 นั้นเป็นข้าราชการบำนาญ

 

ส่วนประเด็นที่มีการกล่าวอ้างผลงานวิจัยว่าพบสารพาราควอตตกค้างในแหล่งน้ำ และพื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกรในจังหวัดหนองบัวลำพูในระดับที่อันตรายนั้น กรมวิชาการเกษตร ร่วมกับกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้สุ่มเก็บตัวอย่างน้ำ ตะกอนดิน และดินที่ใช้เพาะปลูก ที่จังหวัดหนองบัวลำพูนำมาตรวจสอบ ไม่พบสารพาราควอตตกค้างในตัวอย่างน้ำ แต่พบในตัวอย่างตะกอนดิน และดินที่ใช้เพาะปลูกในระดับที่ไม่สูงกว่าปกติ

 

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลเปรียบเทียบ สารพาราควอต กับสารกลูโฟซิเนตที่มีการแนะนำให้ใช้แทนพาราควอด ว่า พาราควอตนั้นออกฤทธิ์ให้วัชพืชตายภายใน 1-2 ชั่วโมงหลังฉีดพ่น และมีระยะปลอดฝน(ระยะเวลาที่ฝนจะไม่ตกชะล้างสารเคมีก่อนที่ต้นพืชจะดูดซึมเข้าไป) เพียงครึ่งชั่วโมง ส่วนกลูโฟซิเนต ออกฤทธิ์ทำให้วัชพืชตายภายใน 2-3 วันหลังฉีดพ่น และมีระยะปลอดฝนถึง 6 ชั่วโมง ที่สำคัญคือ ถ้าใช้กลูโฟซิเนตจะทำให้ต้นทุนต่อไร่สูงกว่าการใช้พาราควอต 5-6 เท่า

 

เรื่องของต้นทุนการผลิต จะเป็นตัวชี้วัดว่าสินค้าเกษตรของไทยจะสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้หรือไม่ ถ้ายกเลิกใช้พาราควอต จะทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นเพราะอาจต้องใช้แรงงานคนที่มีค่าจ้างแรงงานสูงมาก อีกทั้งในสนธิสัญญาการค้าต่างๆ ก็ไม่ได้ระบุว่าห้ามใช้สารพาราควอตด้วย ส่วนที่มีการอ้างว่าประเทศมาเลเซียห้ามใช้พาราควอตนั้น ข้อเท็จจริงในขณะนี้มาเลเซียยอมให้ขึ้นทะเบียนใหม่แล้ว

 

สำหรับสถานภาพการใช้พาราควอต พบว่ามีการห้ามใช้ใน 51 ประเทศ อนุญาตให้ใช้ได้ใน 75 ประเทศ (รวมทั้ง สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น) จำกัดการใช้ใน 11 ประเทศ


ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ หรือ มกอช. ได้ชี้แจงข้อมูลที่ระบุว่าเป็นรายงานการศึกษาโดยคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการควบคุมวัตถุอันตรายพาราควอต คลอไพริฟอส และไกลโฟเซต

 

ในประเด็นข้อสงสัย ที่มีผลงานวิจัยอ้างว่าพาราควอตทำให้เกิดโรคเนื้อเน่า หนังเน่า นั้น ข้อเท็จจริงคือ โรคดังกล่าวไม่ได้เกิดจากการใช้สารพาราควอต และยังไม่มีข้อมูลยืนยันถึงความสัมพันธ์ของสารพาราควอตกับการเกิดโรคเนื้อเน่า หนังเน่าแต่อย่างใด รวมทั้งประเด็นของ โรคพาร์กินสัน และระบบประสาท ก็มีการยืนยันเช่นกันว่า ไม่พบความสัมพันธ์ ระหว่างการได้รับสารพาราควอตกับการเกิดโรคพาร์กินสัน และการมีผลต่อระบบประสาท

 

ต่อประเด็นที่ว่าพาราควอตมีพิษเฉียบพลัน ไม่มียาถอนพิษ มีผู้เสียชีวิตจากสารนี้จำนวนมาก ข้อเท็จจริงคือ องค์การอนามัยโลก จัดให้สารพาราควอตอยู่ในกลุ่มสารที่มีพิษปานกลาง ส่วนที่ทำให้เสียชีวิตนั้นเกิดจากการตั้งใจดื่มเพื่อฆ่าตัวตาย ไม่ได้เกิดจากการใช้สาร หรือ จากอาหารที่กินเข้าไป

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ